7 สิงหาคม – ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล
คดีนี้เกิดจากการส่งคำร้องโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมาว่า การเสนอแก้ ม.112 เท่ากับล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขณะที่พรรคก้าวไกลแถลงสรุปอีกครั้ง โดยมีสาระสำคัญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ และการยื่นคำร้องคดีนี้โดย กกต. ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ก็ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดียุบพรรค
ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงอาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งพรรคในหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ
ก่อนจะถึงวันนัดอ่านคำวินิจฉัย The MATTER พูดคุยกับ 3 นักวิชาการ – เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า – ถึงคดียุบพรรคที่กำลังจะมาถึง
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง: “การยุบพรรคในบ้านเราทำผิด [มาตรฐานสากล] มาตลอด 20 ปี”
“ต่อให้ไม่ยุบ ศาลรัฐธรรมนูญก็สั่งอยู่แล้วว่า ห้ามแก้ไข ม.112 ด้วยวิธีนี้อีก ห้ามชุมนุมเรียกร้องเรื่องนี้อีก กฎหมาย ม.112 ก็ยังอยู่ นิรโทษกรรมก็มีวี่แววว่าพรรคการเมืองด้วยกันจะไม่ยอมให้นิรโทษ ม.112” เข็มทองอธิบาย
“พูดง่ายๆ ต่อให้ไม่ยุบพรรค ความเสี่ยงที่อำนาจของผู้มีอำนาจในไทยจะถูกสั่นคลอนมีน้อยมาก คือมันไม่ได้เปลี่ยนอะไรสำหรับผู้มีอำนาจ”
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่า “การยุบพรรคในบ้านเราทำผิด [มาตรฐานสากล] มาตลอด 20 ปี ถ้าเกิดทำให้มันถูกได้สักครั้งหนึ่ง มันก็จะเป็นตัวอย่างอันดี เป็นจุดเริ่มต้นใหม่
“สำหรับประชาชน ผมรู้สึกว่า บรรยากาศมันจะเปลี่ยนมหาศาล ถ้าเกิดศาลรัฐธรรมนูญสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า สามารถตัดสินตามหลักสากลได้ คือทำให้บ้านเมืองเรามีมาตรฐานทางนิติศาสตร์ ซึ่งมันสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
“แต่ถ้าเกิดยุบ ไม่มีอะไร คือทุกคนคาดหมายแล้วว่ายุบ ไม่มีความน่าตื่นเต้นใดๆ อำนาจของผู้มีอำนาจก็ยังอยู่เท่าเดิม แต่ช่องทางของประชาชนก็น้อยลง ความคับข้องใจก็เหมือนเดิม มันเพิ่มความตึงเครียดในระบบขึ้นโดยไม่จำเป็น”
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์: “[คำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล] จะสร้างความตระหนักต่อความไม่เป็นประชาธิปไตยให้กับรัฐบาลของชาติที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น”
หากมองไปหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ธำรงศักดิ์มีความเห็นว่า “แรงกดดันจากนานาชาติอาจจะไม่ได้แสดงออกอย่างเปิดเผยและฉับพลัน
“แต่ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ มันก็จะสร้างความตระหนักต่อความไม่เป็นประชาธิปไตยให้กับรัฐบาลของชาติที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีกระบวนการ กลไกกดดัน ผ่านเครื่องมือทางเศรษฐกิจ แบบที่นานาชาติตะวันตกเคยใช้ในการกดดันหลังการรัฐประหาร คสช.
“และข้อสำคัญก็คือ ประเทศไทยจะสามารถแสดงตัวตนได้อย่างภาคภูมิใจในเวทีนานาชาติได้อย่างไร ในกระแสการกดดันเช่นนี้”
เขามองว่า “ถ้ายุบพรรค ก็หมายความว่า ระบอบเก่าไม่ยอมรับแนวทางประนีประนอมกับพลังทางการเมืองแบบใหม่
“ซึ่งเป็นการยืนยันว่า นอกเหนือจากการใช้วิธีการรัฐประหาร เพื่อหยุดยั้งกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้ว ยังตัดสินใจใช้กระบวนการทางกฎหมายที่จะปราบปรามหรือทำลายกลไกทางการเมืองของประชาชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“ถ้าไม่ยุบพรรค หมายความว่า ระบอบเก่ากำลังไตร่ตรองทางความคิดมากขึ้น” เขาว่า “แต่ไม่ได้หมายความว่า ระบอบเก่าจะไม่หาทางทำลายพรรคการเมืองที่ตนเชื่อว่า เป็นคู่ต่อสู้ที่เข้มแข็งในการทำลายรากฐานความมั่นคงและมั่งคั่งของระบอบเก่า”
ปิยบุตร แสงกนกกุล: “การยุบพรรคกลายเป็นเรื่องปกติในการเมืองไทยแล้ว”
“การยุบพรรคมันกลายเป็นเรื่องปกติในการเมืองไทยแล้ว ทั้งๆ ที่โดยเนื้อแท้มันเป็นเรื่องผิดปกติ” คือความเห็นของปิยบุตร เลขาธิการคณะก้าวหน้า ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ
“คนที่ไม่ชอบก้าวไกลก็รู้สึกว่าการยุบพรรคเป็นเรื่องปกติ แม้กระทั่งคนชอบก้าวไกล แน่นอนไม่อยากให้ยุบ แต่ก็ชินชากับมันแล้วว่า ไม่เป็นไร ยุบตั้งใหม่ๆ
“อยากจะให้สังคมพยายามมองการยุบพรรคในลักษณะที่ว่ามันเป็นสิ่งผิดปกตินะ ทุกวันนี้ทุกคนดูชินชากับมันมากเลย ดูว่ามันเหมือนเทศกาล เหมือนโอลิมปิก เหมือนฟุตบอลโลก 4 ปีมาครั้ง เดี๋ยวมันก็เวียนมา ลองดูอนาคตใหม่ ปี 2563 นี่ก็ 2567 พอดี
“ทุกคนก็ชินชากับมันว่า ก็เป็นอย่างนี้ ก็พรรคมันเป็นอย่างนี้ มันก็ต้องโดน ถ้าไม่อยากโดนก็ทำพรรคอีกแบบหนึ่ง ก็ลดระดับ ลดเพดานลงมา คุณก็ไม่โดน คุณก็กลายเป็นพรรคที่น่ารัก”
ปิยบุตรกล่าวต่อมาว่า “ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามสังคมไทยรู้สึกว่า ไม่มีความหวังแล้ว เราเอาตัวรอดไปวันๆ ดีกว่า ถ้าคิดแบบนี้เมื่อไหร่ กลุ่มคนผู้มีอำนาจมันก็จะสบายมากขึ้น เขาก็ประคองไปอย่างนี้
“แต่ถ้าเราคิดว่า โลกนี้ต้องเปลี่ยนให้ดีขึ้นกว่าเดิม การตัดสินใจในทางการเมือง หรือการเลือกตั้ง สามารถเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงได้ ก็ต้องช่วยกัน ช่วยกันรณรงค์อย่างนี้ต่อไป”