รู้หรือไม่? ใน 1 เดือน ประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินเดือนให้ สว. รวม 22,720,540 บาท!
ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ นอกจากที่คนจะจับตามองว่าใครจะได้เป็น สว.บ้างแล้วนั้น อีกประเด็นที่คนพูดถึงอย่างกว้างขวาง คือการตั้งคำถามกับการทำงานของ สว.ว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง และการทำงานเหล่านั้นได้รับค่าตอบแทนเท่าไร คุ้มค่ากับการใช้เงินภาษีประชาชนหรือเปล่า?
ดังนั้น ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลรับรอง 200 รายชื่อ สว.ชุดใหม่ The MATTER จะขอพาไปสำรวจเงินเดือนและสวัสดิการของคนเป็น สว.กัน!
สมาชิกวุฒิสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่ม เดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท แต่สำหรับประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาจะได้เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มมากกว่า รวมเป็นเดือนละ 119,920 บาท และ 115,740 บาทตามลำดับ
นั่นหมายความว่าถ้าหากเรามี สว.200 คน ซึ่ง 2 คนในนั้นเป็นประธานฯ และรองประธานฯ ใน 1 เดือน ประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินเดือนให้ สว.รวมเดือนละ 22,720,540 บาท
นอกจากนั้น สว.ยังมีรายรับอื่นๆ อีก เช่น เบี้ยประชุมกรรมาธิการครั้งละ 1,500 บาท และยังสามารถแต่งตั้งผู้ช่วยได้ โดยเงินเดือนเริ่มต้นคนละ 15,000 บาท และยังได้รับสวัสดิการอีกมากมาย รวมถึงเงินทุนเลี้ยงชีพหลังไม่ได้เป็น สว.แล้ว โดยจะได้รับตามระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง 9,000-35,600 บาท/เดือน
เหล่านี้ทำให้คนหันมาตั้งคำถามว่า เงินและสวัสดิการเหล่านี้ถือว่า ‘มากเกินไป’ หรือเปล่า เพราะแม้ว่า สว.จะมีความรับผิดชอบสูงเพราะมีหน้าที่สำคัญ เช่น มีบทบาทในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เสียงส่วนหนึ่งก็เห็นว่าภาระงานไม่ได้มากขนาดนั้น และไปถึงขั้นการตั้งคำถามว่า หรือความเป็นจริงเราอาจไม่จำเป็นต้องมี สว.ก็ได้ โดยเสนอให้ไทยใช้รูปแบบสภาเดี่ยว (มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร) แทน
หลังจากนี้จึงน่าจับตาว่าหลังจากมีการรับรอง สว.ชุดใหม่แล้ว การทำงานจะมีความเหมือนหรือแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ ว่าจะสามารถลบข้อครหาเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการที่มากเกินไปได้หรือเปล่า
แล้วคุณคิดว่าจำนวนเงินและสวัสดิการเหล่านี้ สมเหตุสมผลไหม?