ฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1b (mokeypox: mpox) เชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการใกล้ชิด หรือการแพร่กระจายจากสิ่งแวดล้อมสู่คนผ่านสิ่งของและพื้นผิวที่สัมผัสที่มีเชื้อ
ไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า การระบาดของฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1b ในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกา เป็น ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ’ เพราะมีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นราย และผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสนี้ไปแล้วอย่างน้อย 450 ราย
ทั้งนี้ ฝีดาษลิง หรือ เอ็มพอกซ์ แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์หลักคือ Clade 1 และ Clade 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ Clade 2 มีความรุนแรงน้อยกว่า Clade 1 อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว การกลายพันธุ์นำไปสู่การเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า Clade 1b ซึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หากเทียบกับ 2 สายพันธุ์ข้างต้น จน Clade 1b ถูกระบุว่าเป็น “สายพันธุ์ที่อันตรายที่สุดในตอนนี้”
The MATTER จึงรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1b ทั้งอาการ กลุ่มเสี่ยง การแพร่กระจาย และการป้องกัน ให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ยิ่งขึ้น
อาการ
บุคคลที่ได้รับเชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1b มีอาการดังนี้
- ผื่นขึ้น (เหมือนแผลพุพอง) ตามใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ขาหนีบ บริเวณอวัยวะเพศ และทวารหนัก
- เป็นไข้
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ปวดหลัง
- อ่อนเพลีย
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
อาการข้างต้นเป็นเพียงอาการหลักๆ เท่านั้น เพราะผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้มีแผลกระจายทั่วร่างกาย โดยเฉพาะในปาก ดวงตา และอวัยวะเพศ และที่สำคัญอาการเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการผื่นขึ้น และหลังจากนั้นถึงเป็นไข้ก็ได้
ส่วนใหญ่แล้วอาการของฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1b จะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์ (ราว 2-4 สัปดาห์) ด้วยการดูแลแบบประคับประคอง เช่น การกินยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาต้านไวรัส ทว่าสำหรับผู้ป่วยบางกลุ่มความเจ็บป่วยอาจรุนแรง จนนําไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและถึงขั้นเสียชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยง
- ทารกแรกเกิด
- เด็ก
- ผู้ตั้งครรภ์ (ผู้ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อให้ทารกในครรภ์)
- ผู้ที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกันพื้นฐาน เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี (HIV) ขั้นรุนแรง
การแพร่กระจาย
เชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1b จะแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการใกล้ชิด ได้แก่
- การสัมผัสทางผิวหนัง เช่น การแตะเนื้อต้องตัว การมีเพศสัมพันธ์
- การสัมผัสทางปากกับผิวหนัง เช่น จูบ
- การเผชิญหน้ากับผู้ที่เป็นโรคไข้ทรพิษ (จัดเป็นโรคกลุ่มเดียวกับฝีดาษลิง) ด้วยการพูดหรือหายใจใกล้กัน ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ
- การสัมผัสสิ่งของที่ยังมีเชื้อไวรัสอยู่ เช่น บนเสื้อผ้า เครื่องนอน ผ้าขนหนู วัตถุ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจัยที่เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อง่ายยิ่งขึ้นคือ ผู้ที่สัมผัสสิ่งของมีบาดแผลและรอยถลอก หรือการนำเชื้อไปสัมผัสที่ ตา จมูก ปาก ดังนั้น การล้างมืออย่างสม่ำเสมอ การทําความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิว/วัตถุ จึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
- การสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อ (ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่า)
- ผ่านระบบทางเดินหายใจ ไอ จาม และหายใจ
เกย์ ไบเซ็กชวล หรือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย มีความเสี่ยงสูงจริงหรือ?
WHO ชี้ว่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1b ไม่ได้จํากัดเฉพาะผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ หรือเป็นเกย์ ไบเซ็กชวล หรือผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเท่านั้น เพราะใครก็ตามที่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการ ล้วนมีความเสี่ยงเฉกเช่นเดียวกัน แต่ WHO ระบุว่า ผู้ที่มีคู่นอนหลายคนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด
และแม้ว่าเคยมีการค้นพบไวรัสฝีดาษลิงในน้ําอสุจิ แต่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า เชื้อสามารถแพร่กระจายผ่านน้ําอสุจิหรือของเหลวในช่องคลอดได้หรือไม่ ฉะนั้นการสวมถุงยางอนามัยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ
ท้ายที่สุดแล้ว เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1b องค์กรอนามัยโลกพยายามเชิญชวนบริษัทผลิตยาให้ขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันไวรัสดังกล่าวเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพราะขณะนี้วัคซีนครอบคลุมแค่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น
อ้างอิงจาก