“หนังสือพิมพ์จีนที่ก่อตั้งมา เป็นเรื่องของการสื่อสาร เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กัน คนอพยพมา คนที่มาอยู่ หลายแซ่หลายตระกูลติดต่อสื่อสารกันลำบาก พอมีหนังสือพิมพ์จีนขึ้นมา มันก็เป็นสื่อกลาง ทำให้คนติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น” สมนึก ผู้จัดการทั่วไปซิงเสียนเยอะเป้า กล่าว
หากพูดถึงหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน หลายคนอาจรู้สึกว่ามันเริ่มเลือนหายไป หรือในสักวันหนึ่งอาจจะหายไปตลอดกาลก็ได้ เนื่องด้วยการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไปของผู้คน ที่จะเน้นไปที่การใช้สมาร์ทโฟนติดต่อสื่อสาร ตามข่าว ซึมซับความบันเทิง และอีกมากมายได้อย่างไม่มีสิ้นสุด
ทว่าในปัจจุบันยังมีหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจอยู่ 5 เจ้าด้วยกัน ซึ่งเดิมทีมีทั้งหมด 6 เจ้า แต่ ชื่อ เจี้ย ยื่อ เป้า (Shijie Ribao) เปิดกิจการมา 69 ปี ปิดตัวลงเมื่อปลายปี 2024
อย่างไรก็ตาม The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ สมนึก จันทร์เฉิด ผู้จัดการทั่วไปของหนังสือพิมพ์จีนซิงเสียนเยอะเป้า เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์จีนในทุกแง่มุม เพื่อเป็นการฉายภาพสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ ที่สักวันหนึ่งอาจหายไปให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

สมนึก จันทร์เฉิด ผู้จัดการทั่วไปของหนังสือพิมพ์จีนซิงเสียนเยอะเป้า
จุดกำเนิดของหนังสือพิมพ์จีนในไทย
หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทยถือกำเนิดขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน และกลุ่มชาวจีนอพยพที่อาศัยอยู่นอกแผ่นดินจีน โดยเริ่มเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีกลุ่มแต้จิ๋วอาศัยอยู่
นับตั้งแต่ปี 1903 เมื่อหนังสือพิมพ์จีนฉบับแรกในประเทศไทยเริ่มก่อตั้งขึ้น หนังสือพิมพ์จีนอื่นๆ ก็เริ่มทยอยเปิดตัวตามกันมามากมาย ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ดังกล่าว มีบทบาทสำคัญโดยทำหน้าที่เป็น ‘สื่อกลาง’ ในการเสนอข่าวสารของประเทศจีน และเชื่อมโยงวัฒนธรรมจีนของชาวจีนโพ้นทะเลเข้ากับสังคมไทยเข้าด้วยกัน รวมถึงยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้ชาวจีนในไทย มีความสนใจต่อการเมืองทั้งของจีนและของไทย
เช่นการกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมของจีน ในช่วงเวลาก๊กมินตั๋งเรืองอำนาจ และกำลังเตรียมการปฏิวัติ ซึ่งนำโดย ดร.ซุน ยัตเซ็น ที่เขาก็ได้รับความสนับสนุนจากชาวจีนโพ้นทะเลในไทย

โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ ตั้งอยู่บริเวณย่านตลาดน้อย
อย่างไรก็ดี บุคคลซึ่งนับเป็นผู้นำด้านหนังสือพิมพ์จีนในไทยคือ เซียวโฟเช็ง ที่ในปี 1906 มีการตั้งโรงหนังสือพิมพ์ชื่อ เหม่ย-หนันยิเป้า ขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้แก่ขบวนการเตรียมปฏิวัติ จนสร้างความกังวลให้กับทางการไทย
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดสงครามระหว่างจีนและญี่ปุ่นในปี 1937 หนังสือพิมพ์และผู้นำชาวจีนในไทยมีการปล่อยโฆษณาชวนเชื่อ มีการเรี่ยไรเพื่อนำไปช่วยในการรบในจีน และหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จีนถูกปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ทิศทางของหนังสือพิมพ์จีนในไทยเปลี่ยนไปคือ หันไปสนับสนุนระบอบดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่
ทว่าต่อมาหนังสือพิมพ์จีนในไทย ก็ปรับเปลี่ยนท่าทีให้คล้อยตามความนิยมของผู้อ่าน และความต้องการของรัฐบาลไทย ที่มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ด้วยการปรับจุดยืนให้ ‘เป็นกลาง’ หรือ ‘เอนเอียงฝ่ายขวามากขึ้น’ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคุมเข้มและถูกสั่งปิดโดยภาครัฐไทย
“หนังสือพิมพ์จีนที่ก่อตั้งมา เป็นเรื่องของการสื่อสารกัน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กัน เพราะเมื่อก่อนการสื่อสารมันลำบาก พอมีหนังสือพิมพ์จีนขึ้นมา มันก็เป็นสื่อกลาง มันทำให้คนติดต่อกันได้ง่ายขึ้น” สมนึก ระบุ
ซิงเสียนเยอะเป้า หนังสือพิมพ์จีนที่เก่าแก่ที่สุด

โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ ตั้งอยู่บริเวณย่านตลาดน้อย
ทั้งนี้ เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่ละยุคสมัย ความพร้อมของบุคลากรที่มีความรู้ทางภาษาจีน ช่องทางการจำหน่าย และกลุ่มผู้อ่านที่จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของกลุ่มชาวจีน รวมถึงการพัฒนาของสื่อเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้หนังสือพิมพ์จีนที่ยังยืนหยัดจนถึงปัจจุบันมีเพียง 5 ฉบับเท่านั้น ได้แก่
1) ซิงเสียนเยอะเป้า (Xingxian Ribao)
2) เกียฮัวตงง้วน (Jinghua Zhongyuan Lianhe Ribao)
3) ตงฮั้ว (Zhonghua Ribao)
4) ซิงจงเอี๋ยน (Xinzhongyuan Bao)
5) เอเซียนิวส์ไทม์ (Yazhou Ribao)
ผู้จัดการทั่วไปเสริมว่า ซิงเสียนเยอะเป้าเป็นหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งก่อกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องชาวฮกเกี้ยน เมื่อปี 1949 เท่ากับว่าปีนี้เป็นปีที่ 76 แล้ว
ยุคสมัยเปลี่ยน เนื้อหาก็ต้องเปลี่ยนด้วย

หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า
เนื้อหารายงานข่าวสารของหนังสือพิมพ์จีน แต่ละฉบับในภาพรวมมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ทุกฉบับต่างมีการรายงานข่าวสารของประเทศไทย ประเทศจีน และต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นการรายงานข่าวสารเศรษฐกิจ เช่น การค้า การเงิน การลงทุน ตลาดหุ้น
หรือการรายงานข่าวสารการเมือง กิจกรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ข้อมูลข่าวสารของไต้หวัน รวมถึงการรายงานข่าวศิลปะ-บันเทิง วรรณกรรม งานเขียน นวนิยาย และภาพข่าวโฆษณา ซึ่งเนื้อหาข่าวมาจากแหล่งข่าวทั้งในและต่างประเทศ
สมนึกเล่าว่า สมาชิกของซิงเสียนเยอะเป้าชอบอ่านข่าวสารทั่วๆ ไป “เมื่อก่อนเท่าที่ผมทราบมา ลูกค้าชอบอ่านนิยาย การ์ตูน เหมือนกับว่าสมัยก่อนการรับข่าวสาร การรู้เรื่องอะไร ช่องทางมันน้อย แต่ว่าเรามีนิยาย มีละคร เหมือนการอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง”
เขาเสริมว่า เริ่มต้นหนังสือพิมพ์จะมีประมาณ 60 หน้า มีครบเลยทั้งเรื่องของข่าวสารทั่วไป ข่าวสังคม ข่าวต่างประเทศ และก็นิยาย ส่วนใหญ่จะเป็นนิยาย แต่สำหรับเขาแล้ว ซิงเสียนเยอะเป้าจะไม่เน้นการเมือง เพราะสมัยก่อนหนังสือพิมพ์ถูกปิดเยอะ เพราะมีเรื่องของการเมืองมาเกี่ยวข้อง

สมนึก จันทร์เฉิด ผู้จัดการทั่วไปของหนังสือพิมพ์จีนซิงเสียนเยอะเป้า
“เมื่อยุค 60-70 ปีที่แล้ว เราก็พอจะทราบว่าเป็นยุคของสังคมนิยม ยุคของคอมมิวนิสต์ เรา [ประเทศไทย] ต่อต้านคอมมิวนิสต์ มันอาจจะมีผลในส่วนตรงนี้”
ในปัจจุบันซิงเสียนเยอะเป้า มีความยาวเหลือ 16 หน้า เนื่องด้วยเรื่องของต้นทุนและค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี หากพูดถึงหน้าหนึ่งที่ต้องอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ต้องเป็นข่าวที่ตามกระแส หรือเป็นประเด็นที่ลูกค้าดูสนใจมากกว่า
เราไม่ได้เน้นการเมือง เน้นเสนอเรื่องความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง เพราะมีคนไทยเชื้อสายจีนมาอยู่เมืองไทยหลายตระกูลหลายแซ่ เนื้อหาส่วนใหญ่จึงเป็นข่าวสังคม โดยเฉพาะการอวยพรกันในวันเกิด ในวันรับตำแหน่ง
เราเคยได้รับฟีดแบกจากสมาชิก เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ที่การเมืองแรงๆ ระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ถ้าเราลงเอนไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะโดนฟีดแบกกลับมาจากสมาชิก เพราะเขามองว่า “เอ้าทำไมหนังสือพิมพ์จีน ลื้อทำไมการเมืองเยอะ มันแรง ไม่อยากอ่าน ไม่อยากดูแล้ว” แต่เราจะไม่นำเสนอมันก็ไม่ได้ เพราะหนังสือพิมพ์ทุกฉบับลง
ลูกค้าอยู่ในรูปแบบสมาชิก ที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน
สมนึกเล่าว่า เดิมทีหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า กลุ่มเป้าหมายลูกค้าจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่มาอยู่ในเมืองไทย หรือช่วงยุคคุณพ่อเราหรือรุ่นก่อนหน้า ซึ่งกลุ่มลูกค้าเราจะเป็นในรูปแบบ สมาชิกอย่างเดียว ไม่สามารถ walk in เข้ามาซื้อ หรือซื้อตามแผงทั่วๆ ไป เหมือนกับหนังสือพิมพ์ไทย
“หนังสือพิมพ์จีนอยู่ได้ก็เรื่องของโฆษณา ยิ่งหน้าเยอะ แปลว่ามีโฆษณาเยอะ พอโฆษณาน้อยลง จาก 60 ก็มาเหลือ 48 หน้า มันก็เป็นช่วงเป็นยุคไป หนังสือพิมพ์จีนทุกฉบับอยู่ได้เพราะกลุ่มพวกนี้ กลุ่มพ่อค้า กลุ่มสมาคม ตระกูลโน่น ตระกูลนี้”
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังพูดถึงการปรับตัวของซิงเสียนเยอะเป้า ว่าเรามีการนำเนื้อหาไปลงที่เฟซบุ๊ค Weibo และ WeChat เพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้าทั้งคนไทย คนไทยเชื้อสายจีน คนจีนที่อยู่ในไทย และคนจีนแผ่นดินใหญ่
เช่น ข่าวในช่วงนี้จะเป็นเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย และจีนในการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ หรือข่าวการเมืองโลกที่สำคัญ อย่างการดำเนินนโยบายของโดนัล ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ ตั้งอยู่บริเวณย่านตลาดน้อย
อนาคตของหนังสือพิมพ์จีน
สมนึกบอกว่า มันเป็นความจริงว่า “กลุ่มที่อ่านจริงๆ คือรุ่นผู้ใหญ่ รุ่นคุณพ่อเรา คุณปู่เรา” ผู้สูงอายุบางคนสายตาเริ่มไม่ดีแล้ว เขาก็เริ่มอ่านไม่ไหว เราเจอปัญหาอย่างนี้บ้าง
“เคยรับโทรศัพท์ ลูกๆ ของสมาชิกโทรมาบอกว่า คุณพ่อเสีย งดรับ [หนังสือพิมพ์] เราก็เข้าใจ ดังนั้นผลกระทบหลักเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะผู้อ่านของเราเป็นผู้สูงอายุ”
ผู้จัดการทั่วไปเล่าต่อว่า หนังสือพิมพ์จีนเป็นแบบสมาชิกตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แต่ว่าสมัยนี้สมาชิกเราลดน้อยลง ขณะที่เมื่อก่อนเรายอดพิมพ์ร่วมแสน ตอนนี้ยอดพิมพ์เหลือเพียงหลักหมื่น
ทั้งนี้ เขาย้ำว่าไทยรัฐอันดับหนึ่ง ซิงเสียนเราก็อันดับหนึ่ง เพราะความเก่าแก่ไล่เลี่ยกัน 75-76 ปีเหมือนกัน ข่าวก็เหมือนกัน “ที่เขาพูดๆ กันคือ เราเหมือนไทยรัฐภาคภาษาจีน เนื้อหาข่าวครอบคลุมหมด สังคม เศรษฐกิจ บันเทิง”

โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ ตั้งอยู่บริเวณย่านตลาดน้อย
โดยสรุปแล้ว หนังสือพิมพ์จีนมีบทบาทสำคัญต่อชาวจีนในประเทศไทย ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ทั้งบทบาทการเป็นสื่อที่นำเสนอข้อมูลข่าวสาร จากประเทศจีนให้แก่ชาวจีนในประเทศไทย ได้รับรู้ในช่วงยุคเริ่มต้น บทบาทในการแสดงออกถึงพลังสามัคคี ความรักชาติของชาวจีนในยุคที่ประเทศจีนกำลังอ่อนแอ บทบาทในการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสร้างความเข้าใจ และเชื่อมโยงวัฒนธรรมระหว่างชาวจีนในประเทศไทยเข้ากับสังคมไทย
“ยอมรับว่าหนังสือพิมพ์อีก 10 ปี มันอาจจะอยู่กันไม่ได้ มันมีเรื่องของต้นทุน เรื่องของอะไรหลายๆ อย่าง แต่ข่าวยังไงก็ต้องมีอยู่ และยังไงก็ต้องมีซิงเสียนเยอะเป้าอยู่” สมนึกพูดปิดท้าย
อ้างอิงจาก
ยุพเรศ มิลลิแกน. (1969). หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย. Faculty of Political Science (JSS), 6(1), 89-96.
ธุมวดี สิริปัญญาฐิติ, จันทิมา จิรชูสกุล และ มนัสนันท์ ฉัตรเวชศิริ. (2021). ย้อนรอยหนังสือพิมพ์จีนของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 29 ฉบับที่ 1.