เฮ้อ…ไม่อยากทำงานกับพี่คนนี้เลย
พอถึงเวลาต้องทำโปรเจ็กต์กลุ่มทีไร เราก็มักโดนจิ้มให้มาร่วมทีมที่ไม่ค่อยได้เลือกเองตลอดเลย หนำซ้ำในบางครั้งก็ยังต้องร่วมงานกับ ‘พี่คนนั้น’ อีก งานนี้จะรอดไหม?
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ก็ย่อมมีอคติ แม้แต่ในที่ทำงานซึ่งเป็นสถานที่ที่หลายคนมักต้องการ หรือคาดหวังความเป็นมืออาชีพจากกันและกัน แต่หลายต่อหลายครั้ง เวลาต้องเผชิญหรือมีส่วนร่วมในสถานการณ์บางอย่าง อคติต่อเพื่อนร่วมงานบางคนก็อาจก่อตัวขึ้นมาได้
หรือกระทั่งคนเป็นหัวหน้าเองก็สามารถมีอคติได้ด้วยเช่นกัน โดยผลสำรวจของ McDonough School of Business จาก Georgetown University ระบุว่า ผู้บริหารระดับสูงกว่า 92% มีการเลือกปฏิบัติในการเลื่อนตำแหน่งให้แก่พนักงาน ซึ่ง 1 ใน 4 ของผู้บริหารเหล่านี้ยอมรับว่า ตนเคยเลือกปฏิบัติในบริษัทของตนเอง
จากผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เราได้เห็นว่า อคติของหัวหน้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั่วไปในออฟฟิศ เกิดเป็นลูกรัก หรือพนักงานคนโปรดขึ้นมา และสิ่งเหล่านี้นี่เองก็อาจนำไปสู่ผลกระทบอันไม่เป็นธรรมได้
และคงจะน่าปวดหัวไม่น้อย หากลูกน้องคนโปรดคนนั้นของหัวหน้าดันเป็นเพื่อนร่วมงาน ซึ่งทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนักในออฟฟิศ จนบางทีเราเองก็ถึงขั้นไม่อยากร่วมงานด้วย ในฐานะเด็กนอกสายตาแบบเราจะจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้ยังไงดีนะ?
ลูกรักของบอส แต่ดันกระทบถึงเรา
ตำแหน่งลูกรักของหัวหน้าที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ บางครั้งก็มาจากเส้นสาย (Connection) บางครั้งอาจมาจากความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ บางครั้งอาจเกิดจากการถูกโฉลกกันผ่านหน้าตา หรือบางคนก็อาจเกิดจากการมีความชอบหรือความสนใจในเรื่องเดียวกัน ทั้งหมดนี้สามารถทำให้หัวหน้าบางคนเกิดความชอบพอ และให้ความเอ็นดูต่อพนักงานคนนั้นเป็นพิเศษได้
หลายคนอาจยิ่งสัมผัสกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ชัดเจนมากขึ้น จนก่อเป็นความไม่พอใจต่อเพื่อนร่วมงาน หรือกระทั่งตัวหัวหน้าของเราเองได้ เมื่อหัวหน้าเริ่มเลือกปฏิบัติ เกิดเป็นความลำเอียงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชมกันออกหน้าออกตา หรือเวลาอีกฝ่ายทำงานผิดพลาดก็ไม่ค่อยถูกตำหนิ มิหนำซ้ำบางครั้งยังออกโรงปกป้อง ซึ่งแตกต่างจากพนักงานคนอื่นๆ หากทำงานพลาดขนาดนี้ คงโดนตำหนิ หรือทำตึงใส่ไปตั้งนานแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ความหงุดหงิดของพนักงานทั่วไปอย่างเราๆ ต่อความลำเอียงของหัวหน้า ยังอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อต้องมาทำงานร่วมกับผู้เป็นลูกรักของหัวหน้าคนนี้ และได้ค้นพบว่า ตัวพี่แกเองไม่ได้ทำงานดีเลิศเท่าไหร่นัก หรือบางทีอาจทำงานได้แย่กว่าเราและคนอื่นๆ เสียด้วยซ้ำ
การต้องทำงานร่วมกับลูกรักของหัวหน้าแบบนี้ จึงอาจทำให้เราต้องกุมขมับมากขึ้นกว่าเดิมได้ โดยงานศึกษาเกี่ยวกับการมีลูกรักหรือคนโปรดของหัวหน้าในที่ทำงาน และความยั่งยืนของพนักงาน จาก MDPI อธิบายว่า การเล่นพรรคเล่นพวก หรือการมีคนโปรดในที่ทำงานของหัวหน้า อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานคนอื่นลดลงได้ ทั้งยังอาจมีระดับความเครียด และความไม่พึงพอใจต่อการทำงานสูงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การต้องทำงานกับพนักงานที่เป็นคนโปรดของหัวหน้า แต่ดันทำงานไม่เก่ง ยังอาจส่งผลกระทบต่อไปในวงกว้างได้มากกว่าแค่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนร่วมงาน โดยงานศึกษาข้างต้นยังชี้ให้เห็นอีกว่า เมื่อพนักงานเริ่มไม่ได้รับความเป็นธรรมในที่ทำงาน ก็อาจมีแนวโน้มที่จะเก็บความรู้ไว้กับตัวเองมากขึ้น (Knowledge Hiding Behavior) ซึ่งจะไม่ยอมแบ่งปันข้อมูล หรือความรู้ใหม่ๆ ให้กับเพื่อนร่วมงาน เพราะพนักงานเหล่านี้เชื่อว่าองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับความสามารถของพวกเขามากเพียงพอ
หากสถานการณ์ยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในระยะยาว ตัวองค์กรเองมีแนวโน้มที่จะสูญเสียพนักงานที่มีศักยภาพจริงๆ ไปด้วย เพราะคนที่ถูกเลือกปฏิบัติจากหัวหน้า คงไม่อยากทำงานในองค์กรที่ไม่สามารถปฏิบัติกับพนักงานได้อย่างเท่าเทียม
รับมือกับหัวหน้ายังไงเมื่อเขามีลูกรักคนโปรด
แม้จะท้าทายชวนกุมขมับมากแค่ไหน แต่เราคงไม่สามารถเลือกที่จะไม่ร่วมงานกับคนนู้นคนนี้ได้ The Muse แพลตฟอร์มที่ให้คำแนะนำด้านอาชีพและการหางาน ได้เสนอแนวทางหนึ่งที่อาจช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์นี้ได้ โดยใช้ ‘หัวหน้า’ เป็นตัวกลางในการจัดการ
- โปรโมตตัวเองบ้างเมื่อจำเป็น
หลายคนอาจมองว่า การเอาหน้ากับหัวหน้าไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่นัก แต่บางครั้งถ้าเราเป็นคนเก่งและทำงานดี เราก็สมควรจะได้รับคำชมเช่นกัน เราอาจลองนำเสนอตัวเองบ้างเล็กน้อย อาจไม่ต้องออกหน้าออกตาจนเกินไป เช่น การนำเสนอไอเดียใหม่ๆ แก่ทีม หรือแสดงผลงานที่สำเร็จของเราให้อีกฝ่ายดู เพื่อแสดงออกให้หัวหน้าได้มองเห็นความสามารถและคุณค่าในตัวเรามากขึ้น
- ทำตามความต้องการของหัวหน้า
ถ้าคนโปรดของหัวหน้ายังทำงานไม่เก่ง ทำงานไม่เลิศเท่าเรา แต่เขายังคงถือหางและออกตัวปกป้องตลอด เราเองอาจลองหาวิธีเรียนรู้ว่า หัวหน้ากำลังมองและให้คุณค่ากับอะไรอยู่ แล้วนำมาปรับให้เข้ากับสไตล์การทำงานของเขามากขึ้น
- พูดคุยกับหัวหน้าโดยตรง
วิธีนี้อาจต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพสักเล็กน้อย ถ้าการทำงานร่วมกับลูกรักหัวหน้าดันสร้างปัญหาจนเราทนไม่ไหว ให้ลองหาทางพูดคุยกับหัวหน้าที่เป็นคนดูแล ที่สำคัญคือเราต้องไม่ใช้อารมณ์ หรือพูดให้ร้ายกับใคร และควรต้องสามารถชี้จุดผิดพลาดต่างๆ ในงานของอีกฝ่ายออกมาได้อย่างชัดเจน เพราะนี่อาจเป็นวิธีที่ช่วยให้เราได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาด้วย
แล้วกับการทำงานล่ะ เราจะรับมือได้อย่างไร
ก่อนหน้านี้คือวิธีที่ใช้หัวหน้าเป็นตัวกลางในการรับมือไปแล้ว แต่ในส่วนของตัวเราเอง ผู้ต้องทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานคนนั้นโดยตรง เราจะรับมือแบบไหนดีนะ? งั้นลองมาดูวิธีบางส่วนจาก The Muse และ Culture Monkey องค์กรด้านการพัฒนาพนักงานและบุคลากร กันหน่อย
- แสดงความเป็นมืออาชีพในการทำงานอยู่เสมอ
‘ความเป็นมืออาชีพ’ เป็นสิ่งที่ควรมีไม่ใช่แค่การทำงานกับคนที่เป็นลูกรักของหัวหน้าเท่านั้น แต่รวมถึงการทำงานกับทุกๆ คนในองค์กร เราควรแสดงความเป็นมืออาชีพออกไปให้ชัดเจน ผ่านทั้งการทำงานและผลงานของเรา พร้อมกับทำงานในส่วนของเราให้ออกมาดีที่สุด
- กำหนดขอบเขตการทำงานให้ชัดเจน
เมื่อรู้ว่าจะต้องร่วมงานกับอีกฝ่าย แถมรู้มาล่วงหน้าด้วยว่าเขาทำงานไม่เลิศเท่าไหร่ เราอาจลองกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนเลย ว่าเราจะรับผิดชอบส่วนไหนบ้าง และอีกฝ่ายต้องรับผิดชอบส่วนไหน เพื่อเป็นข้อพิสูจน์เชิงประจักษ์ ตลอดจนเป็นการเปรียบเทียบผลลัพธ์ให้หัวหน้าได้เห็นจากผลงานที่เกิดขึ้น
- พูดคุยกับฝ่ายบุคคล
ถ้ารู้สึกว่าสถานการณ์อันชวนอึดอัดนี้อยู่เหนือการควบคุมของเราแล้ว จนไม่สามารถรับมือไหวจริงๆ เราอาจลองมองหาคนที่มีอำนาจมากพอจะจัดการเรื่องนี้ได้ เช่น ฝ่ายบุคคล ที่ต้องทำการประเมินและตรวจสอบพนักงานภายในองค์กร เราสามารถพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ฝ่ายบุคคลเสนอทางออก หรือจัดการตามความเหมาะสม
การทำงานร่วมกับพนักงานคนโปรดของหัวหน้าอาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับหลายคน แต่ถ้าเราแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพ โฟกัสในงานที่เราทำอย่างเต็มศักยภาพ สิ่งเหล่านี้อาจช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ชวนปวดหัวนี้ไปได้
และทางฝั่งคนเป็นหัวหน้าเองก็ควรจะระมัดระวังถึงการแสดงออก หรือการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานด้วยเช่นกัน เพราะเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะนำมาซึ่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างที่กล่าวไปข้างต้น แต่อาจยังแสดงออกถึงความไม่เป็นมืออาชีพในฐานะหัวหน้าด้วย เพราะในการทำงาน หัวหน้าควรวางตัวให้เหมาะสม และปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมในเรื่องของการทำงาน
ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์อะไร ความเป็นมืออาชีพต่อบทบาทและหน้าที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญของทุกคนเอง
อ้างอิงจาก