กางนิ้วมานั่งนับ เอ๊ะ…เราว่างงานมากี่เดือนแล้วนะ?
พอได้รับสถานะว่างงานมาสักพัก หลายอย่างที่เคยทำก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ราวกับมีอะไรบางอย่างในชีวิตร่วงหล่นหายไประหว่างทางที่ผ่านมา
ตอนแรกก็คิดว่าดีเสียอีกที่ว่างงาน เราจะได้ใช้ช่วงเวลานี้พักกายพักใจ แต่พอมานั่งนึกดู การสูญเสียงานก็พาเราสูญเสียอะไรหลายอย่างไปเหมือนกัน แน่นอนว่าหลักๆ ก็คงเป็นเรื่องรายได้ รองลงมาคือสังคม ความมั่นใจในตัวเอง และอาจรวมไปถึง ‘ตัวตน’ ของเราซึ่งเป็นเหมือนกับจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งของชีวิต เมื่อมันสูญหายไป ชีวิตก็ไม่สมบูรณ์ดังเดิม
เมื่อสูญเสียงานอาจทำให้เราสูญเสียตัวตน
ย้อนกลับไปวันก่อนเรายังก้มหน้าก้มตาขะมักเขม้นทำงานจนหัวหมุนอยู่เลย พอมาวันนี้เรากลับทำได้แค่นั่งเหม่อมองฟ้าอยู่บ้าน เพราะเป็นคนตกงานอย่างเต็มตัวซะแล้ว
บางครั้งเกิดเป็นความรู้สึกว่างเปล่าราวกับตัวตนบางส่วนของเราได้หายไป อาจมาจากการที่เราผูกโยงมันไว้กับหน้าที่การงานอย่างแนบแน่น มีงานศึกษาเกี่ยวกับการสูญเสียตัวตนจากการว่างงานของ Tbilisi State University อธิบายไว้ว่า หลายคนอาจยึดโยงตัวตนของตัวเองไว้กับบทบาทหน้าที่ในการทำงาน ทั้งในเรื่องของความสำเร็จ เป้าหมายในชีวิต และคุณค่าในตัวเอง ทำให้การมีงานทำไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ความมั่นคงทางการเงินเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนเข็มทิศกำหนดทิศทางและความหมายในชีวิตอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคนก็อาจไม่ได้ผูกตัวตนไว้แค่กับตัวเนื้องานเพียงอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงกับกลุ่มคนและสังคมในที่ทำงานได้ด้วยเช่นเดียวกัน ตามแนวคิดทางจิตวิทยาสังคมอย่างทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Theory) พูดถึงการที่เราผูกโยงตัวเองเอาไว้กับสังคมใดสังคมหนึ่ง ในที่นี้หมายถึงสังคมการทำงาน เมื่อเราตกงานหรือไม่ได้ทำงานแล้ว การเชื่อมโยงตัวตนในส่วนนี้ก็จะขาดลง ไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคมนี้อีกต่อไป ด้านสถานะทางสังคมก็จะถูกลด และกลายเป็นคนว่างงาน
เมื่อสูญเสียงานไป หลายคนจึงรู้สึกเหมือนว่าได้ทิ้งตัวตนของตัวเองไปพร้อมกับงานด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้เราเคยทำงานเป็นพนักงานบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง มีความก้าวหน้าในอาชีพ เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในสายงานนี้ กลายเป็นหน้าเป็นตาและความภาคภูมิใจ ผู้คนจดจำเราได้ในฐานะส่วนหนึ่งของบริษัทแห่งนี้ จนหลอมรวมเป็นตัวตนเรา แต่พอเราไม่ได้ทำงานนี้ต่อไป เราก็อาจเกิดความรู้สึกเหมือนถูกขับออกจากกลุ่มสังคมที่เคยอยู่ บุคคลอื่นอาจมองเราเปลี่ยนไป หรือแม้แต่ตัวเราเองด้วยก็ตาม จากความภูมิใจก็อาจกลายเป็นการตั้งคำถามถึงการยังคงอยู่ของความสำเร็จ รวมไปถึงเรื่องของคุณค่าในตัวเอง
ยิ่งไปกว่านั้นงานศึกษาข้างต้นยังชี้ให้เห็นอีกว่า นอกจากเราจะสูญเสียตัวตนไปจากงานแล้ว เรายังต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานะใหม่ในฐานะคนว่างงานด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจในด้านต่างๆ โดยจากงานศึกษาข้างตนได้มีการสำรวจในกลุ่มคนว่างงาน และพบว่าตัวเลขคะแนนความนับถือตัวเองโดยเฉลี่ยของบุคคลที่ว่างงานอยู่ที่ 27.53% ซึ่งต่ำกว่าค่าปกติของคนในสังคมจอร์เจีย (ประเทศจากงานศึกษา) อยู่ที่ 29.54% ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ว่า การว่างงานส่งผลให้ความนับถือตัวเองและการมีความมั่นใจลดลง นอกจากนี้การสูญเสียงานยังส่งผลกระทบในด้านการเข้าสังคมด้วย เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 64.5% เชื่อว่าการว่างงานมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชีวิตประจำวัน ที่ส่งผลให้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของพวกเขามีจำกัด
นี่จึงอธิบายได้ว่า ทำไมหลายคนที่เพิ่งตกงานมาถึงรู้สึกเหมือนขาดบางสิ่งบางอย่างไปในชีวิต รวมถึงรู้สึกแปลกแยกออกจากสังคมที่เคยอยู่ เพราะถ้าตัวตนของเราถูกผูกไว้กับงานที่ทำ เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหายไป อีกสิ่งก็ยอมสูญเสียไปพร้อมกันด้วย
ถ้าไม่อยากรู้สึกสูญเสียตัวตนจะรับมือยังไงดี?
ทำงานมาก็ตั้งนาน ประสบความสำเร็จมาก็อีกมากมาย จะไม่ให้เราผูกพันหรือเชื่อมโยงกับงานที่เคยทำเลยก็คงเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าวันหนึ่งเราบังเอิญต้องสูญเสียงาน จนกลายเป็นสูญเสียตัวตนไปด้วย จะดีกว่าไหมหากมีวิธีรับมือกับสถานการณ์อันน่าลำบากนี้เตรียมเอาไว้
เพื่อให้เราได้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้แม้เสี้ยวหนึ่งของตัวตนเราจะหล่นหาย รีเบคก้า ซุคเกอร์ (Rebecca Zucker) โค้ชด้านการพัฒนาศักยภาพทางอาชีพ ได้แนะนำวิธีสำหรับผู้คนที่สูญเสียตัวตนจากการตกงาน ให้ได้ลองไปทำตามกันดู ดังนี้
- ทลายความเชื่อของตัวเอง
เมื่อตกงานและสูญเสียตัวตน เราอาจไม่มีความมั่นใจเหมือนแต่ก่อน รวมทั้งอาจรู้สึกด้อยค่าตัวเองในหลายๆ ด้าน ดังนั้น เพื่อดึงเอาคุณค่าในตัวเองกลับมาให้ได้ รีเบคก้าจึงแนะนำให้เรามองหาบุคคลที่เคยเชื่อในตัวตนด้านอื่นๆ ของเรา เช่น เพื่อน เพื่อนร่วมงานที่เคยทำงานด้วยกันมา หรือหัวหน้างานที่สนิทกัน มาร่วมพูดคุยและถามพวกเขาถึงตัวตนและคุณค่าในตัวเรา ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เราได้มองเห็นคุณค่าในตัวเอง และทลายความรู้สึกเชิงลบเกี่ยวกับตัวเองลงได้
- มีส่วนร่วมในกิจกรรมหลากหลายขึ้น
เมื่อก่อนเราอาจจริงจังกับงานมากเกินไป หายใจเข้าออกก็เป็นงาน พอครั้งนี้เราว่างงานแล้วให้ลองใช้โอกาสนี้ทำอะไรใหม่ๆ ดู เพราะเราอาจค้นพบจุดมุ่งหมาย หรือตัวตนใหม่ๆ จากกิจกรรมเหล่านี้ก็ได้ ซึ่งมันอาจเข้ามาเติมตัวตนที่ขาดหายไปของเราได้
- มองไปเห็นตัวเองในอนาคต
ตกงานครั้งนี้ก็ใช้ว่าทุกอย่างจะจบหมดเสียเมื่อไหร่ วันข้างหน้าอาจมีเรื่องดีๆ รอเราอยู่ ถ้าวันนี้เราสูญเสียตัวตนไปกับงานที่เคยทำมา ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหนักหนา เพราะตัวตนของเราไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มันจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา รีเบคก้าจึงแนะนำให้เราลองมองไปข้างหน้าเรื่อยๆ ตั้งเป้าหมาย หรือวางแผนชีวิตของตัวเองเอาไว้ ไม่หยุดคิดแค่ปัจจุบัน ทั้งหมดนี้จะทำให้เราได้เห็นถึงตัวตนใหม่ๆ ของตัวเรา
- ตระหนักต่อคุณค่าหลักในตัวเองเสมอ
แม้การสูญเสียงานในครั้งนี้จะทำให้ต้องตัวตนบางส่วนของเราไป แต่อย่าลืมว่าเรายังมีตัวตนที่แท้จริงอันเป็นแก่นของเราอยู่ รีเบคก้าอยากให้ทุกคนตระหนักและยึดมั่นต่อคุณค่าส่วนนั้นของตัวเองเสมอ ไม่เพียงเพราะแค่มันคือคุณค่าสำคัญในตัวเราเองเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญของการมีอยู่ของตัวตนที่เหลือ ตลอดจนตัวตนซึ่งเราจะค้นเจอในอนาคตด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว แม้การผูกโยงตัวตนของเรากับงานจะไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้งานเข้ามาควบคุมและเป็นทุกอย่างในชีวิตของเรามากเกินไป เพราะเรายังมีอีกหลายมุมในชีวิตที่พร้อมกลายมาเป็นตัวตนใหม่ๆ ในชีวิตของเรา เพียงแค่วันนี้ยังไม่ถูกค้นพบแค่นั้นเอง
เราต้องไม่ลืมที่จะรักษาตัวตนหลัก และมองเห็นคุณค่าในตัวเองเอาไว้เสมอ เพราะวันใดวันหนึ่งหากเราสูญเสียเสี้ยวหนึ่งของตัวตนเราไป สิ่งเหล่านี้นี่แหละจะคอยกอบกู้ตัวเราขึ้นมา ให้เราสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
อ้างอิงจาก