“เนทันยาฮู (นายกรัฐมนตรีอิสราเอล) สร้างความเจ็บปวด และทำลายล้างกาซา รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในปาเลสไตน์ จนหลักการ 2 รัฐตกอยู่ในอันตราย” เปโดร ซานเชส นายกรัฐมนตรีสเปนกล่าว ว่าจะรับรองสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ พร้อมกันกับนอร์เวย์ และไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
โดยในวันนี้ (28 พฤษภาคม 2567) นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และสเปน จะรับรองสถานะความเป็นรัฐของ ‘ปาเลสไตน์’ อย่างเป็นทางการ
The MATTER จึงขอชวนมาทำความเข้าใจว่า การรับรอง ‘รัฐปาเลสไตน์’ นั้นสำคัญยังไง ทำไมหลายประเทศมารับรองเพิ่มขึ้น หลังสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2566
ย้อนกลับไปในปี 1947 สหประชาชาติ (UN) มีมติที่ประชุมให้แบ่งพื้นที่ปาเลสไตน์เป็น 2 ส่วน ให้กับชาวปาเลสไตน์ และชาวยิว ซึ่งภายหลังชาวยิวประกาศเอกราชและตั้งชื่อประเทศว่า อิสราเอล แต่ชาวปาเลสไตน์ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นจึงเกิดความขัดแย้ง แย่งชิงพื้นที่ระหว่าง 2 ฝ่ายมาเรื่อยๆ ผ่านการก่อความวุ่นวาย การประท้วง และสงครามความรุนแรง
แต่เมื่ออิสราเอลได้รับชัยชนะและได้สัดส่วนพื้นที่ปาเลสไตน์มาเป็นของตัวเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการก่อตั้งองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Pelastine Liberation Organization – PLO) ขึ้น โดยเน้นเข้าไปสร้างความวุ่นวายในอิสราเอล แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร และรังแต่จะสร้างความสูญเสีย
ในปี 1988 ช่วงต้นของเหตุการณ์อินติฟาดา (Intifada – การลุกฮือประท้วงของชาวปาเลสไตน์ต่ออิสราเอล) ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) ประธาน PLO ในขณะนั้น จึงได้สถาปนา ‘รัฐปาเลสไตน์’ เป็นรัฐเอกราช โดยมีกรุงเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง แต่ความขัดแย้งและต้นตอของปัญหาก็ยังคงดำเนินต่อไป
หลังจากนั้น 85 ประเทศได้ประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์ โดยประเทศแรกคือแอลจีเรีย และประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ที่ยอมรับ ในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต
สำหรับประเทศไทย ได้รับรองรัฐปาเลสไตน์แล้วเช่นกัน เมื่อปี 2012 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-ปาเลสไตน์
ปัจจุบัน ถ้ารวมประเทศที่รับรองล่าสุดอย่างนอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และสเปน ก็นับว่ามี 146 ประเทศทั่วโลกแล้วที่รับรองรัฐปาเลสไตน์ โดยเป็นประเทศในสหภาพยุโรป (EU) รับรองแล้ว 10 ประเทศ จากทั้งหมด 27 ประเทศ
แล้วทำไมจะต้องรับรองรัฐปาเลสไตน์? หลายประเทศมองว่า หากปาเลสไตน์เป็นรัฐเอกราชได้โดยแท้จริงก็จะเป็นการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง ตามแนวทาง 2 รัฐ (two-state solution) คือการอิสราเอล-ปาเลสไตน์ มีสถานะเป็นรัฐเอกราชอย่างเท่าเทียมกัน และการรับรองยังถือเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองว่าประเทศนั้นมีจุดยืนอย่างไร
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่รับรองรัฐปาเลสไตน์ นั่นคือมหาอำนาจตะวันตก และหลายประเทศที่คนไทยน่าจะคุ้นหูกันดี เช่น อิสราเอล สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมาจากหลายเหตุผล บ้างมองว่ารัฐปาเลสไตน์ควรเกิดขึ้นจากการเจรจาไม่ใช่การรับรอง บ้างก็ไม่รับรองเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับอิสราเอล
แต่แม้ว่าจะยังไม่รับรองความเป็นรัฐ อิสราเอลได้รับรอง ‘องค์การบริหารปาเลสไตน์’ (PA) ในฐานะผู้แทนตามกฎหมายของชาวปาเลสไตน์ ตามข้อตกลงสันติภาพออสโล (The Oslo Accords) ในปี 1993 ซึ่งจริงๆ แล้วกระบวนการสันติภาพนี้มีเป้าหมายในการสร้างรัฐปาเลสไตน์ให้ได้ในปี 1998 แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะยังมีปัญหาขัดแย้งหลายประการ
มีประเทศรับรองมากขึ้นแล้ว แล้วหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป? ต้องบอกว่าการรับรองนั้น จริงๆ แทบไม่มีผลโดยตรงอะไรต่อสงครามที่ดำเนินอยู่ในตอนนี้ เพราะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ทางการเมืองเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนให้ความเห็นว่า อาจเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้อิสราเอลยุติการโจมตีได้ เพราะจากคำประกาศของนอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และสเปน ทำให้ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังพิจารณาว่าจะรับรองต่อไป โดยเฉพาะสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) อย่างสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี
“มันเหมือนเป็นการให้รางวัลจากการก่อการร้าย ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้จะไม่นำมาซึ่งสันติภาพ และไม่สามารถหยุดยั้งเราจากการเอาชนะฮามาสได้” เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) โต้ตอบการเคลื่อนไหวนี้
หลังจากนี้จึงต้องติดตามท่าทีของอิสราเอล และการเคลื่อนไหวของประเทศอื่นๆ ต่อไป ว่าการกดดันครั้งนี้จะเป็นผลให้สงครามที่ดำเนินมากว่า 7 เดือน และความขัดแย้งหลายปีสามารถหาทางคลี่คลายลงได้ จนกลายเป็นสันติภาพในตะวันออกกลางตามที่คาดหวังจริงหรือเปล่า
อ้างอิงจาก