อายหมอ กลัวเจ็บ ยังเด็กเกินไป .. สารพัดเหตุผลที่ทำให้หลายคนไม่กล้าไปตรวจภายใน
การตรวจภายใน ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของผู้หญิง บางครั้งแม้ร่างกายจะไม่ได้แสดงอาการใดๆ ออกมา แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งโรคภัยอะไรหรอกนะ และยิ่งเรารู้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งหาทางรักษาได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
The MATTER จึงไปพูดคุยกับเหล่าคนที่เคยไปตรวจภายใน ด้วยอาการต่างๆ เช่น มดลูกผิดปกติ ติดเชื้อในช่องคลอด มีแผลที่มดลูก พร้อมพูดคุยกับ พญ.เมสิตา สุขสมานวงศ์ หรือหมอเมษ์ จากเพจใกล้มิตรชิดหมอ เพื่อหาคำตอบในปัญหาที่หลายคนสงสัย ทั้งเรื่องการเตรียมตัว ความถี่ในการตรวจ ไปจนถึงข้อกังวลต่างๆ
ประสบการณ์ตรวจภายในของแต่ละคน
การตรวจภายใน เป็นการตรวจอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง โดยตรวจทั้งอวัยวะภายนอกและภายใน ได้แก่ บริเวณภายนอกของอวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ และเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ อวัยวะดังกล่าว
การตรวจนี้เป็นไปเพื่อหาความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกซึ่งเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย และความผิดปกติอื่นๆ เช่น กรณีของหญิงวัย 24 ปีที่ประจำเดือนมานานกว่าปกติ จนบังเอิญคุยกับหมอ แล้วหมอส่งให้ไปตรวจภายใน แล้วพบว่า มีเลือดออกในมดลูก
“ประจำเดือนเรามาที 10-20 กว่าวัน แล้วก็มีปัญหาเรื่องมาบ้าง ไม่มาบ้าง นานสุดคือเต็มเดือนเลย อย่างรอบล่าสุดก็เป็นตั้งแต่วันที่ 10-30 แต่เลือดที่ออกมาไม่ได้เยอะเหมือนประจำเดือน มันเหมือนเป็นประจำเดือนแค่ 3 วันแรก แล้วหลังจากนั้นจะเป็นแค่นิดหน่อย ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัย แต่เป็นนาน 20 กว่าวัน แล้วเข้าใจมาตลอดว่า นี่คือประจำเดือน”
เธอเล่าต่อว่า กรณีของเธอ หมอยังหาไม่เจอว่าแผลอยู่บริเวณไหน ต้องรอให้เธอมีประจำเดือนอีกครั้งถึงจะหาแผลเจอได้ โดยหมอจะใช้วิธีขูดมดลูกเพื่อหาแผล ซึ่งกรณีแบบนี้โดยมากมีสาเหตุจากความผิดปกติของมดลูก
เช่นเดียวกับ หญิงวัย 62 ปีที่เคยมีประวัติแผลในมดลูก จนทำให้เลือดออกในช่วงมีประจำเดือนมากกว่าปกติเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้เป็นยาวนานถึง 1 เดือน 10 วัน และมีเลือดออกมาจนตัวซีดเซียว
นอกจากนี้ หญิงคนดังกล่าวยังเล่าอีกว่า ปกติเธอจะตรวจภายในพร้อมกับการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งช่วงหลังจากหมดประจำเดือน ก็พบว่ามดลูกอักเสบ จึงต้องรักษาด้วยการกินยา และหลังจากนั้นมาก็ยังตรวจอยู่เรื่อยๆ ทุกปี เพื่อคอยระวังมะเร็งปากมดลูก
อีกหนึ่งกรณีของหญิงวัย 26 ปีที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนหนักอยู่ประจำ โดยเป็นมาตั้งแต่ช่วงที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือน และเคยไปหาหมอเพื่ออัลตราซาวด์ จึงรู้ว่ารูปร่างของมดลูกผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก หมอจึงบอกว่า ถ้าโตแล้วค่อยกลับไปตรวจใหม่
พอเข้าสู่ช่วงทำงาน ก็ได้ตรวจภายในพร้อมตรวจสุขภาพประจำปี แล้วเมื่ออายุ 25 ปี ก็มีอาการปวดท้องหนัก พร้อมกับตกขาวและหนอง จึงรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจภายใน ทำให้ทราบว่ามีมดลูกสองอัน
“คนปกติจะมีมดลูก 1 อัน รูปร่างคล้ายๆ สามเหลี่ยมคว่ำ ตรงปลายสามเหลี่ยมคือปากมดลูก แต่มดลูกเราคือจะแบ่งเป็นสองฝั่งด้วยผนังกั้นตรงกลาง ฝั่งนึงมีปากมดลูก อีกฝั่งนึงตัน ปกติรังไข่จะผลิตไข่ออกมา ไข่ที่ไม่ได้ใช้จะกลายเป็นเลือด ส่งมาที่มดลูก ทีนี้พอมดลูกเราตันหนึ่งฝั่ง ทุกครั้งที่มีประจำเดือน เลือดจากฝั่งนึงไม่สามารถระบายออกมาได้ ทำให้เกิดการสะสมเลือดมาตลอด จนวันนึงมันล้นทำให้เราปวดท้องมากๆ และมีหนองออกมา”
เธอเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเจาะช่องตรงมดลูกให้ประจำเดือนระบายออกมาได้ แต่ก็ยังคงมีผนังกั้นกลางอยู่ ทำให้ยากต่อมีลูกในอนาคต เพราะเซลล์จะโตได้ในพื้นที่แค่ครึ่งเดียว ทั้งยังเสี่ยงต่อการแท้งอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เธอมองเห็นถึงความสำคัญของการตรวจภายในอย่างยิ่ง
“คุณหมอบอกว่า ส่วนใหญ่กว่าผู้หญิงจะรู้ถึงความผิดปกติของมดลูก ก็คือตอนมาตรวจภายในช่วงแต่งงานแล้ว หรือแพลนจะมีลูก ซึ่งสำหรับบางคนอาจช้าเกินไปและมีเวลารักษาน้อยลง”
ขณะที่หญิงอีกคนหนึ่งเล่าถึงการไปตรวจภายในว่า เธอมีอาการปวด คัน และหน่วงๆ บริเวณปากช่องคลอด และมีก้อนสีขาวลักษณะคล้ายลิ่มเลือด พอได้ตรวจจึงทราบว่า เป็นเชื้อราจากการใส่แผ่นอนามัยทุกวัน ซึ่งมันทำให้อับชื้น หมักหมม และเกิดการระคายเคือง
เธอเล่าว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอได้ตรวจภายใน แต่เป็นครั้งแรกที่ต้องใช้ ‘คีมปากเป็ด’ ซึ่งแม้หน้าตาของเครื่องมือจะดูน่ากลัว แต่เธอไม่ได้รู้สึกเจ็บมาก ถึงอย่างนั้นเธอก็มองว่า ความเจ็บเป็นเรื่องส่วนบุคคล และน้ำหนักมือของหมอผู้ตรวจ
นอกจากนี้ เธอยังบอกด้วยว่า ช่วงหลังๆ มานี้เธอได้ตรวจภายในบ่อยขึ้นเพราะได้บริจาคไข่ ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือแบบเดียวกับการอัลตราซาวด์ในคนตั้งครรภ์ ไม่ใช้คีมปากเป็ดแล้ว และก็ได้พบว่ามดลูกของเธอผิดปกติ
“ก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีอาการอะไร นอกจากเครียดแล้วประจำเดือนไม่มา แล้วก็มีอาการ PMS ค่อนข้างรุนแรง แต่พอไปตรวจ หมอก็บอกว่า มดลูกผิดปกติ ถ้าอยากมีลูกต้องรีบมีก่อนอายุ 30 นะ เพราะว่ามดลูกเราไม่เหมือนคนอื่น”
ดังนั้นแล้ว การตรวจภายในจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เธอยกตัวอย่างกรณีของตัวเองว่า หากเธอไม่ได้ตรวจแล้วมารู้หลังจากอายุ 30 ว่าจะมีลูกยาก ถ้าอยากมีลูกก็คงไม่ทันแล้ว ซึ่งถ้าใครไม่กล้าไปตรวจ แล้วมารู้ว่ามีโรคอะไรหลังจากที่อาการกำเริบหนักแล้ว ก็จะยากต่อการรักษา
เหมือนกันกับกรณีของหญิงวัย 25 ปี อีกคนหนึ่งที่ปวดท้องประจำเดือนหนัก จนถึงวันนึงที่มีอาการปวดท้อง แต่ไม่ได้อยู่ในช่วงที่ประจำเดือนมา จึงลองค้นหาข้อมูลและปรึกษากับแม่ ซึ่งแม่ของเธอเคยมีอาการเดียวกันและเป็นช็อกโกแลตซีสต์ เลยคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเหมือนกัน
“ตอนกำลังไปตรวจไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็น เพราะตอนนั้นเราเพิ่งอายุ 21 ย่าง 22 เท่านั้นเอง กลัวมาก กังวลทุกอย่าง แล้วก็อายที่จะตรวจภายใน ด้วยความที่ไม่เคยตรวจภายในเลยสักครั้ง เราคิดแค่ว่าตัวเองยังเด็กเรื่องตรวจภายในไม่น่าจะสำคัญเท่าไหร่ และตัวเราเองก็ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน”
พอไปหาหมอแล้วได้พูดคุยกับหมอ หมอก็ให้ตรวจแบบอัตราซาวด์ แม้หมอจะแจ้งว่า การตรวจแบบนี้อาจจะไม่ชัดเจนเท่าการตรวจสวนภายใน แต่เธอก็ยอมรับ แล้วก็พบว่าเป็นช็อกโกแลตซีสต์จริงๆ โดยหมออธิบายว่า ซีสต์ที่เป็นไม่ใช่เนื้อร้าย และเป็นสิ่งที่เกิดได้กับผู้หญิงทุกคน แถมต่อให้เอาออกไป ก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นใหม่อยู่ดี เพราะฉะนั้น เธอจึงมองว่าผู้หญิงทุกคนควรต้องตรวจภายในอยู่เสมอ
“เรื่องนี้ทำให้เราหันมาใส่ใจกับการตรวจภายในมากขึ้น จากคนที่คิดว่าตัวเองยังเด็กอยู่ไม่น่าจะเกิดอะไรแบบนี้ และร่างกายก็ดูปกติ ไม่ได้ผิดปกติใดๆ อาการปวดท้องประจำเดือนก็ดูปกติทั่วไปแบบที่ทุกคนเป็น แต่จริงๆ เรื่องภายในร่างกาย คุณหมอก็บอกว่าคนที่ไม่ปวดท้องประจำเดือนก็สามารถเป็นได้เช่นกัน ดังนั้น อาการที่แสดงออกมานั้นไม่สามารถบอกเราได้ทั้งหมดจริงๆ เรื่องภายในหากไม่ตรวจเราก็จะไม่ทราบเลย หากรอให้แสดงอาการผิดปกติก่อนค่อยไปโรงพยาบาล ในตอนนั้นอาจจะยากที่จะรักษาไปแล้วก็ได้”
ตรวจภายในสำคัญอย่างไร แล้วต้องทำอะไรบ้าง?
แน่นอนว่า การตรวจภายในเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิง หลายคนจึงมีคำถามต่างๆ มากมาย ตั้งแต่วิธีการตรวจ การเตรียมตัว ไปจนถึงเรื่องที่ทำได้และไม่ได้ในการตรวจภายใน
พญ.เมสิตา สุขสมานวงศ์ หรือหมอเมษ์ จากเพจใกล้มิตรชิดหมอกล่าวว่า อยากให้ทำความรู้จักการตรวจภายในก่อนว่ามีสองขั้นตอนที่ต้องแยกกันนิดนึง หนึ่งคือการตรวจภายในเพื่อดูว่าขนาดมดลูก รังไข่ ปากมดลูก ช่องคลอดเป็นยังไง
สองคือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ ซึ่งกรณีที่คัดกรองมะเร็งปากมดลูก คุณหมอแนะนำว่า อยากให้ผู้หญิงทุกคนได้ตรวจ จะได้ตรวจเจอโรคตั้งแต่ระยะแรก และจะได้รักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งระยะลุกลาม ซึ่งจะรักษายากขึ้น
สำหรับขั้นตอนของการตรวจภายใน หมอเมษ์เล่าว่า การตรวจภายในที่เป็นแบบประจำปี ประกอบด้วยการตรวจภายในและตรวจมะเร็งปากมดลูก โดยการตรวจมะเร็งปากมดลูกนั้น จะเก็บเซลล์ที่ปากมดลูก เพื่อที่จะดูว่าตรงบริเวณปากมดลูก มีเซลล์ผิดปกติหรือเปล่า เมื่อเก็บเซลล์เสร็จ ก็จะเอาตัวอย่างเซลล์ไปตรวจอีกทีนึงว่ามีเซลล์ที่ผิดปกติไหม และในขั้นตอนเดียวกันนี้ คุณหมอจะใช้มือในการคลำว่าขนาดมดลูก ขนาดรังไข่ปกติหรือเปล่า มีก้อนหรืออะไรยื่นออกมาไหม ซึ่งตรงนี้เป็นขั้นตอนการตรวจภายในโดยทั่วไป
ส่วนเรื่องของความถี่ในการตรวจภายใน หมอเมษ์อธิบายว่า สำหรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยเฉพาะ ก็ต้องดูว่า เป็นการตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบไหน ถ้าเป็นการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) จะแนะนำให้ตรวจ 3 ปี/ครั้ง แต่ถ้าเป็นการตรวจแบบแปปสเมียร์ (Pap Smear) ร่วมกับการตรวจหา DNA ของเชื้อ HPV ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคมะเร็งปากมดลูก ที่เรียกว่าโคเทสต์ (Co-testing) ก็แนะนำว่าตรวจ 5 ปี/ครั้ง
แต่สำหรับการตรวจภายในเพื่อจะดู ขนาดมดลูก ขนาดรังไข่ หรือดูว่ามีพยาธิสภาพอื่นๆ ร่วมด้วยหรือเปล่า หมอเมษ์ก็แนะนำว่าควรตรวจทุกปี
แล้วการตรวจภายใน เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
คำถามนี้ หมอเมษ์ให้คำตอบไว้ว่า ถ้าตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คำแนะนำจากต่างประเทศจะระบุว่าสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป เพราะมะเร็งปากมดลูกสัมพันธ์กับอายุที่มีเพศสัมพันธุ์ครั้งแรก ฉะนั้นต่างประเทศเขาจะมีคำแนะนำที่ค่อนข้างเร็ว คืออายุ 21 ปีขึ้นไป ของไทยก็อิงจากต่างประเทศ แต่ก็ต้องดูตามความเสี่ยงของแต่ละเคสอีกทีนึงเหมือนกัน
ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าจะมีแต่วิธีการสอดเครื่องมือเข้าไปตรวจในช่องคลอดอย่างเดียว เพราะต้องดูอาการนำของคนไข้ก่อนกว่า มาหาหมอด้วยอาการอะไร แล้วจำเป็นต้องตรวจภายในด้วยการสอดมือเข้าไปในช่องคลอดหรือไม่
“ถ้าในกรณีที่สมมตินักเรียนเพิ่งมีประจำเดือน แล้วปวดท้องหนักมาก โดยที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน เราอาจจะไม่ได้นึกถึงกลุ่มโรคที่จำเป็นจะต้องตรวจภายใน แล้วก็อาจจะตรวจอย่างอื่นแทน เช่น ตรวจอัลตราซาวด์ หรือตรวจทางหน้าท้อง”
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การตรวจภายในจะไม่จำเป็นต่อเด็กที่อายุน้อยมากๆ นะ เพราะคุณหมอยกตัวอย่างว่า สมมติเด็กอายุ 1-2 ขวบที่อยู่ในวัยซุกซน แล้วมีหนองออกมาทางช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการใส่ลูกปัดเข้าไปในช่องคลอดแล้วกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมตกค้างอยู่ จนกลายเป็นหนองติดเชื้อ กรณีแบบนี้ถือว่าจำเป็นต้องตรวจภายใน ซึ่งถ้าเป็นเด็กที่เล็กมาก หมอก็จะมีวิธีในการตรวจที่แตกต่างไป
หมอเมษ์ยังเล่าด้วยว่า คนส่วนใหญ่มักจะเขินอาย จนไม่กล้ามาตรวจภายใน เพราะต้องเปิดให้หมอหมอดู แต่ความจริง นี่ก็เป็นงานที่หมอทำจนชินกันแล้ว หมอส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจว่าอวัยวะเพศของแต่ละคนมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และมักมองว่าเป็นเพียงอวัยวะหนึ่งเหมือนกันทุกคนเท่านั้น
“กับบางส่วนก็กลัวจะเจ็บ ซึ่งจริงๆ หมอจะพยายามบอกคนไข้เสมอว่า คนไข้ต้องให้ความร่วมมือในการตรวจด้วยการไม่เกร็ง ไม่ขมิบ เพราะเวลาที่เราใส่เครื่องมือเข้าไป ถ้าคุณเกร็งหรือขมิบมันจะเหมือนต้องออกแรงต้านกัน ถ้าให้นึกภาพง่ายๆ คือเหมือนเวลาที่คุณไปทำฟัน แล้วคุณหมอกำลังใส่เครื่องมือให้เราอ้าปาก แล้วเราไปหุบปากจะงับเครื่องมือ เราก็จะเจ็บ ช่องคลอดเองก็เหมือนกัน บางทีเราใส่เครื่องมืออยู่ แล้วเกิดการขมิบช่องคลอด หรือเกร็งก็จะเจ็บ สิ่งที่จะช่วยให้การตรวจทำได้ง่ายและไม่เจ็บ คือต้องผ่อนคลาย ถ้าคนไข้ผ่อนคลาย ไม่เกร็งก็จะตรวจได้ไว จากประสบการณ์ ถ้าคนไข้ให้ความร่วมมือดี คนไข้มักบอกว่า ไม่ได้เจ็บเท่าที่คิด”
ส่วนขั้นตอนของการตรวจภายใน หลายคนมักมองว่า เราต้องทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นให้ดี โกนขนให้เรียบร้อย แต่คุณหมออธิบายว่า ในความเป็นจริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย คนไข้สามารถเดินเข้าไปตรวจได้เลย ไม่ต้องโกนขน แค่ทำความสะอาดเหมือนตอนที่เข้าห้องน้ำตามปกติ ไม่จำเป็นว่า จะตรวจภายในแล้วต้องทำความสะอาดใหม่อีกรอบ
แต่หากวางแผนว่าจะตรวจมะเร็งปากมดลูก หมอเมษ์แนะนำว่า ต้องเลือกระยะเวลาให้ประจำเดือนหมดสนิทก่อน ถ้าให้ดีก็คือช่วงกึ่งกลางของรอบเดือน เช่น ประจำเดือนหมดสัก 1-2 สัปดาห์ ให้หมดสนิทก่อน จึงจะเป็นช่วงที่เหมาะกับการตรวจมะเร็งปากมดลูก และต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 2-3 วัน เพื่อจะได้ไม่ต้องมีน้ำอสุจิตกค้าง ยกเว้นว่าใช้ถุงยาง
“ถ้ามีอาการผิดปกติอื่น แล้วจำเป็นจะต้องตรวจภายใน อย่างเช่น มีเลือดออกผิดปกติ มีตกขาว มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ อันนี้สามารถมาตรวจได้ทันที แต่ถ้าจะตรวจมะเร็งปากมดลูกต้องทำอย่างที่บอก มีแค่นี้ที่ต้องเตรียม ที่เหลือก็แค่เตรียมใจเฉยๆ”
ส่วนกรณีของผู้หญิงทรานซ์เจนเดอร์ คุณหมอแนะนำว่า ตอนนี้ยังไม่ได้จำเป็นต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกหรือตรวจภายในแบบทั่วไป เพราะกลุ่มทรานซ์ไม่มีปากมดลูกตามธรรมชาติที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ แต่ช่องคลอดเทียมเองก็ต้องดูว่าจะทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง ซึ่งเรื่องนี้ ต้องดูในแง่ของการมอนิเตอร์กลุ่มทรานซ์เจนเดอร์อีกทีหนึ่ง
นอกจากนี้ หมอเมษ์ยังเล่าถึงเคสของคนไข้รายหนึ่งที่เป็นตกขาวแบบเป็นๆ หายๆ อยู่หลายปี แต่คนไข้ไม่กล้ามาตรวจภายใน จึงไปซื้อยามารักษาตัวเอง ซึ่งความจริงแล้ว การรักษาอาการตกขาวจะมีตัวยาเฉพาะแตกต่างกันไป
“คนไข้รายนี้ก็เหมือนหลายคนที่กลัวการตรวจภายใน เลยไปซื้อยามาเหน็บเอง แต่มันไม่ได้รักษาตรงจุด เขาเลยไม่หาย แล้วเขาน่าจะทนไม่ไหว ก็ต้องมาตรวจภายใน ตอนแรกก็ให้การรักษาแบบปกติไป แต่พอนัดมาติดตามก็ยังไม่หายอยู่ดี เราก็เลยต้องตรวจเพิ่มเติม เก็บชิ้นเนื้อไปตรวจดูว่าเป็นอะไร สุดท้ายที่เจอคือ เขาเป็นวัณโรคที่ปากมดลูก ซึ่งการใช้ยาธรรมดาทั่วไปไม่สามารถรักษาได้อยู่แล้ว พอได้ผลตรวจชิ้นเนื้อ ก็ให้ยารักษาวัณโรคเขาไป คนไข้ก็หายจากตกขาวเลย”
คุณหมอเสริมว่า คนที่มาตรวจภายในประจำปีจะจำว่า เขามีตกขาวมาแล้วกี่ครั้ง เช่น ปีนี้มีมาแล้วกี่ครั้ง พอหายแล้วก็มาหาหมอ แต่หมอเมษ์ย้ำว่า ถ้ามีตกขาว อยากให้รีบมาตอนที่มีอาการ หมอจะได้ทราบว่าคนไข้ติดเชื้ออะไร สมมติเป็นสี่ครั้งต่อปี ทั้งสี่ครั้งนี้เป็นเชื้อตัวเดียวกันไหมหรือคนละตัว หมอก็จะได้ตรวจได้ แต่ถ้ามาตอนหายแล้ว หมอก็จับเชื้อไม่ได้ แล้วจะให้คำแนะนำได้ยาก
หมอเมษ์ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องอายที่จะมาตรวจภายใน เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งเราอาจจะมีโรคอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ แล้วหากไม่ได้มาตรวจเพื่อทำการรักษา ก็จะไม่หาย หรือรักษาไม่ตรงจุด ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้