งานวิจัยใหม่พบว่า คนจะแก่ลงอย่างรวดเร็ว เมื่ออายุ 44 และ 60 ปี! ไม่นานมานี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เปิดเผยว่าการแก่ชรา ไม่ใช่กระบวนการที่ช้าและคงที่ แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 2 ช่วงอายุนี้
ศึกษาอย่างไร?
การศึกษาดังกล่าวได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับอายุ ในอาสาสมัครจำนวน 108 คน อายุระหว่าง 25 ถึง 75 ปี โดยใช้ตัวอย่างมากกว่า 5,400 ตัวอย่าง จากผิวหนัง ปาก จมูก เลือด และอุจจาระ ที่ถูกเก็บห่างกันไม่กี่เดือน และเก็บเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 1 ถึงเกือบ 7 ปี
จากนั้นนักวิจัยใช้ตัวอย่างที่เก็บได้ เพื่อประเมินโมเลกุล (RNA โปรตีน และเมตาบอไลต์) พร้อมกับประเมินจุลินทรีย์ (แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราที่อาศัยอยู่ในลำไส้และบนผิวหนัง) ที่รวมแล้วอาจมากกว่า 135,000 ชนิด
ผลการวิจัยเป็นอย่างไร?
“ปรากฏว่าช่วงกลางวัย 40 ปีเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่นเดียวกับช่วงต้นวัย 60 ปี และนั่นเป็นจริงเหมือนกันหมด ไม่ว่าคุณจะประเมินโมเลกุลประเภทใดก็ตาม” ศาสตราจารย์ไมเคิล สไนเดอร์ (Michael Snyder) นักพันธุศาสตร์ และหนึ่งในผู้ศึกษากล่าว
ผู้วิจัยพบว่า โมเลกุลและจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามลำดับเวลา แต่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนและมากที่สุด เมื่อผู้คนมีอายุประมาณ 40 ปี และ 60 ปี
การแก่ลงกลางวัย 40 ปี
อาจเรียกได้ว่า เป็นการแก่ลงอย่างมากครั้งแรกของมนุษย์ โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงความสามารถในการเผาผลาญคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และไขมัน ก็เปลี่ยนแปลง
การแก่ลงต้นวัย 60 ปี
เกิดการเปลี่ยนแปลงในโมเลกุล ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และการทำงานของไต และกล่าวได้ว่าผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับหลักฐานก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า ความเสี่ยงต่อโรคบางชนิดอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงอายุหนึ่ง เช่น โรคอัลไซเมอร์ เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี
นอกจากนี้ยังพบการเปลี่ยนแปลงในโมเลกุล ที่ส่งผลต่อการแก่ของผิวหนังและกล้ามเนื้อ ในทั้งสองช่วงอายุ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้วิจัยจะพบว่าการแก่ลงอย่างมากในทั้งสองช่วงอายุนั้น อาจเป็นผลมาจากโมเลกุลและจุลินทรีย์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านพฤติกรรม หรือไลฟ์สไตล์ของคน เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นในคนวัย 40 กลางๆ ซึ่งอาจเป็นช่วงชีวิตที่เครียด อาจส่งผลต่อการเผาผลาญแอลกอฮอล์ได้
อ้างอิงจาก