ฉีด HPV ไปรึยัง? ถ้าจะฉีด ควรฉีดตอนไหน? เป็นผู้ชายก็ฉีดได้เหรอ?
สารพัดคำถามกับวัคซีน HPV ที่เป็นเหมือนเรื่องเล่าปากต่อปากว่า ‘นี่เป็นวัคซีนสำคัญนะ’ แล้วผู้คนก็พากันไปหาข้อมูล ศึกษาเอง แล้วเลือกหาที่ฉีดวัคซีนกันเอง
แม้ว่า ปัจจุบัน ในกลุ่มนักเรียนหญิงที่อายุ 9 ปี หรือศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จะมีบริการฉีดวัคซีน HPV ฟรีไม่เสียเงิน แต่หลายคนที่เลยช่วงวัยนั้นมาแล้ว ก็ต้องไปหาวัคซีนมาฉีดกันเอง แถมราคาที่เจอก็มักแพงหูฉี่ จนบางคนล้มเลิกความตั้งใจไป ยิ่งกว่านั้น บางคนมารู้เรื่องวัคซีนนี้ก็ตอนที่อายุเลยวัยที่วัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดไปเสียแล้ว
The MATTER เลยอยากชวนมาดูข้อมูลของวัคซีน HPV วัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งองคชาต หูดหงอนไก่ และชวนทำความเข้าใจกับข้อควรรู้ในการฉีดวัคซีน รวมไปถึง สำรวจราคาของวัคซีนนี้ว่า หากเราจะต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้ฉีดวัคซีนนี้ เราควรเตรียมเงินไว้เท่าไหร่กันนะ
วัคซีน HPV คือเป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ในหลายส่วนของร่างกาย ไวรัสชนิดนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งเชื้อ HPV แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
ชนิดที่ก่อมะเร็ง เกิดจากสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง เช่น สายพันธุ์ 16,18, 31, 33, 35, 45, 52, 58 ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย ด้วยอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 14 คน/วัน ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดมะเร็งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับเพศชายได้ด้วย เช่น มะเร็งองคชาต และมะเร็งลำคอ
ชนิดที่ไม่ก่อมะเร็ง เกิดจากสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคหูดหงอนไก่ที่บริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก และเป็นโรคที่พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
วัคซีนมีแบบไหนบ้าง
- ชนิด 2 สายพันธุ์
เหมาะกับผู้หญิงอายุ 9-45 ปี แต่อาจไม่เหมาะกับผู้ชายเนื่องจากไม่สามารถป้องกันโรคหูดหงอนไก่ได้ แต่สามารถป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
ราคาต่อเข็มประมาณ 2,000-3,000 บาท
- ชนิด 4 สายพันธุ์
เหมาะกับผู้หญิงและผู้ชายอายุ 9-45 ปี เป็นวัคซีนเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16, 18, 6 และ 11ซึ่งป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 70% และป้องกันมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่เกิดจากเชื้อ HPV ได้ รวมถึงป้องกันโรคหูดหงอนไก่ได้ด้วย
ราคาต่อเข็มประมาณ 2,200-3,500 บาท
- ชนิด 9 สายพันธุ์
เหมาะกับผู้หญิงและผู้ชายอายุ 9-45 ปี เป็นวัคซีนเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58, 6 และ 11 โดยสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 90% และป้องกันมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่เกิดจากเชื้อ HPV ได้ รวมถึงป้องกันโรคหูดหงอนไก่ได้
ราคาต่อเข็มประมาณ 5,900-8,500 บาท
สำหรับวัคซีน HPV จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดในช่วงอายุ 9 – 15 ปี ซึ่งสามารถฉีดได้แค่ 2 เข็ม แต่ถ้าอายุเกิน 15 ปี ต้องฉีด 3 เข็ม ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นจะมีการจัดสรรวัคซีนแบบไม่มีค่าใช้จ่ายให้แก่เด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งจัดสรรให้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558
หรือถ้าหากอายุเกิน 45 ปีแล้ว แพทย์ส่วนมากมักแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปีแทนการฉีดวัคซีนที่อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพดีพอแล้ว
ขณะเดียวกัน วัคซีน HPV ก็จะมีประสิทธิภาพสูงเมื่อฉีดก่อนอายุ 26 ปีและยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หากมีเพศสัมพันธ์แล้วจะฉีดวัคซีนนี้ไม่ได้นะ แค่ประสิทธิภาพในการป้องกันอาจลดลง แต่ยังสามารถป้องกันได้อยู่ ส่วนกลุ่มคนที่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน คือผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือแพ้วัคซีน
อย่างไรก็ดี สาเหตุที่ราคาของวัคซีน HPV นี้แพงจนเบียดเบียนรายได้รายเดือนของใครหลายคน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน ระบุว่า เป็นเพราะความล้มเหลวในการต่อรองราคายา ทำให้ยาและวัคซีนหลายอย่างมีราคาแพงเกินไป ขณะเดียวกัน ในต่างประเทศก็เคยมีการเรียกร้องให้ลดราคาของวัคซีน HPV ด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าราคาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะลดลงมาแล้ว องค์การแพทย์การกุศล (Doctors Without Borders) ก็มองว่าราคาของวัคซีนนี้ยังเเพงเกินไปอยู่ดี
ผลข้างเคียงของวัคซีน
วัคซีน HPV นั้นเป็นวัคซีนเชื้อตายที่ผ่านการทดสอบมาหลายครั้ง หากได้รับแล้วก็อาจมีอาการข้างเคียง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการฉีดวัคซีน โดยอาการเหล่านี้มักจะหายได้เอง และไม่เป็นอันตรายใดๆ
- บวมแดงในบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- เป็นไข้
- อ่อนเพลีย
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดศีรษะ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน และเชื้อ HPV
- สามารถฉีดได้ทั้งชายและหญิง เพื่อป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งเชื้อ HPV สามารถติดต่อได้จากหลายช่องทาง แต่ช่องทางที่ติดต่อได้ง่ายที่สุด คือการมีเพศสัมพันธ์
- ไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งก่อนฉีดวัคซีน สามารถไปฉีดได้เลย แต่แน่นอนว่า เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกแล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปพร้อมๆ กัน
- ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือไม่คิดจะมีเพศสัมพันธ์ ก็ควรฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันเชื้อ HPVไว้ก่อน
- ถุงยางอนามัยป้องกันเชื้อ HPV ไม่ได้ เพราะเชื้ออยู่ในอวัยวะอื่นๆ ด้วย
อ้างอิงจาก