ชีวิตทำเหมือนคุณเป็นเพื่อนเล่น! มันผลักให้คุณตกบันไดหกคะเมนตีลังกา จากนั้นก็หัวเราะแห้งๆ จากไป ปล่อยให้คุณค่อยๆ เก็บแขนเก็บขาและหัวใจที่กระจัดกระจายขึ้นมาประกอบเอง
ในทุกครั้งคุณอยากจะเริ่มต้นใหม่ กลับมาเป็นนายของตัวเองอีกครั้ง แต่ภายใต้ความบอบช้ำนั้น ทำอย่างไรที่คุณจะค่อยๆ จัดการชีวิตอย่างไม่เสียสมดุล โดยไม่ต้องพยายามมากนัก เพราะคุณเองก็ไม่อยากประกอบตัวเองใหม่แบบสลับหัว หัวสลับหาง ยิ่งต่อยิ่งพัง เราปล่อยให้คุณทำแบบนั้นไม่ได้จริงๆ
ดังนั้นเรามาจิบไวน์แดง อ่านคำแนะนำจากแวดวงประสาทวิทยา (Neuroscience) และจิตวิทยากันดีกว่า เพราะต่อให้คุณล้มลงไม่เป็นท่า แต่ไวน์แดงในมือก็ไม่เคยกระฉอกสักหยด
1. ยอมรับซะว่า ‘ล้มเหลว’
หัวใจประการแรก อาจจะท้าทายมากที่สุดเลยก็ได้ ยอมรับเถอะว่า คุณไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลใดๆเลย ดังนั้นจงโอบกอดความเจ็บปวดนั้นเสียโดยดี ลิ้มรสประสบการณ์ที่คุณต้องอดกลั้นมันไว้ ความล้มเหลวมันฉลาดพอที่จะควบคุมเราให้คิดได้ไม่กว้างนัก ทุกๆ อย่างที่เพิ่งเผชิญมันไม่ใช่ความจริง มันทำให้เราด้านชา ลดขวัญกำลังใจ และปิดประตูโอกาสอื่นๆ จนแสงแห่งความหวังมันริบหรี่เสียเหลือเกิน
ในเชิงจิตวิทยาแล้ว การทำความเข้าใจกับความล้มเหลวคือการตระหนักรู้ตัวเองว่า “ผลกระทบที่ตามมาจะเจ็บปวดกว่า” สิ่งที่คุณจะทำต่อไปส่งผลกระทบกับคนรอบข้าง ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม ดังนั้นคนที่คุณควรอยู่ด้วยมากที่สุด คือ ตัวคุณเอง
2. กวาดอะไรที่ไม่ใช่ออก
ในหนังสือของนักประสาทวิทยา Daniel Levitin ชื่อ The Organized Mind (2014) แนะนำการจัดการง่ายๆ โดยเริ่มจากของในบ้านหรือโต๊ะทำงานของคุณ จัดการกวาดของที่รกรุงรังออกซะบ้าง “ผมรู้สึกสติแตกซ้ำสอง เมื่อเห็นของต่างๆ มันอยู่ผิดที่ผิดทาง” แต่คุณไม่จำเป็นต้องทิ้งทุกอย่าง เขาแนะนำว่าคุณควรสร้าง ‘จุดเก็บบางแห่ง’ ในการจัดการของเหล่านี้ โดยไม่ต้องทิ้งทั้งหมด ในที่นี้อาจเป็นลิ้นชักพิเศษที่คุณกวาดทุกๆ อย่างมารวมกันได้ หรือตู้เล็กๆ สักใบ โดยไม่จำเป็นต้องละเอียดถึงขั้นว่า ‘แยกสิ่งของ 20 ประเภท’ จะกลายเป็นว่าคุณมีตู้บ้าบออะไรเต็มไปหมด
การแยกข้าวของออกบ้าง ทำให้สมองคุณจดจำได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนในช่วงเวลาที่สมองคุณเหนื่อยล้าที่สุด ส่วนของเบ็ดเตล็ดต่างๆ ก็กวาดมันรวมไว้จุดเดียวกัน เพื่อการจัดการอันมีประสิทธิภาพ
3. ลดมลภาวะทางสายตาด้วยการ ‘จัดกลุ่ม’
ดวงตาของคุณโหยหา input ตลอดเวลา เพื่อป้อนข้อมูลเข้าสู่สมอง ความยุ่งเหยิงทางการมองเห็นเป็น visual noise ทำให้สมองรับภาระเพิ่มมากขึ้นในทุกครั้งที่กวาดสายตา แต่การ ‘จัดกลุ่ม’ สิ่งต่างๆ ที่คุณมองเห็นเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิด visual clutter ที่ช่วยให้เราตัดสินใจง่ายขึ้นในเวลาที่อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก
งานศึกษาการทำงานของสมองผ่านเทคโนโลยี MRI ของ Stephanie McMains จากมหาวิทยาลัย Princeton ในปี 2011 พบว่าสมองของเราจัดข้อมูลได้ง่ายกว่า เมื่อดวงตามองเห็นการจัดกลุ่มสิ่งของต่างๆ เข้าด้วยกัน ลดความวอกแวกลง และง่ายต่อการจดจำ
ลองจัดข้าวของที่วุ่นวายให้เป็นระบบดู จากขนาด สีสัน หรือวัตถุประสงค์การใช้สอย file ในหน้า desktop จัดใส่ folder ให้เรียบร้อยบ้างก็ไม่เลว สีต่างๆ จะทำให้คุณจดจำง่ายขึ้นโดยไม่เป็นภาระสมอง
4. จำกัดเวลาตัวเอง ในโลกออนไลน์
ไม่มีอะไรเรียกร้องความสนใจได้เก่งเท่าโทรศัพท์สารพัดประโยชน์ในมือของคุณ มันสะดีดสะดิ้งทุกวินาที ถ้าไม่ส่งเสียง ก็สั่นหงึกๆ ระบบแจ้งข้อความต่างๆใน feed ทำให้คุณรู้สึกกำลังถูกยึดป้อม แม้คุณจะรับทุกข้อความก็ตาม แต่ความวิตกกังวลก็ไม่ได้จางหายไป
งานวิจัยจากปี 2015 จากมหาวิทยาลัย Florida State นักวิจัยได้ทดลองให้อาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาทำแบบทดสอบชุดหนึ่งอยู่ แต่พวกเขาจะถูกขัดจังหวะด้วยระบบการเตือนจากสมาร์ทโฟนตลอดเวลา งานวิจัยพบว่า อาสาสมัครทำแบบทดสอบผิดพลาดถึง 25% มากกว่ากลุ่มที่ปล่อยให้ทำแบบทดสอบอย่างเงียบๆ เสียอีก
digital input ดึงความสนใจของเราไปและมันใช้พลังงานค่อนข้างสูง หัวใจสำคัญในการจัดการตัวเองในช่วงเวลาที่ย่ำแย่ คือการที่รู้ว่า เราควรใช้เวลาไปกับอะไร
5. จิตใจก็เหมือนกล้ามเนื้อ มันต้องการกลูโคสและพักผ่อน
ถึงจิตใจคุณจะเข้มแข็งขนาดไหน มันก็มีวันอ่อนล้า หากถูกใช้อย่างไม่บันยะบันยัง เอาจริงๆ มันก็เหมือนกล้ามเนื้อที่ต้องการพักผ่อนและแหล่งพลังงานกลูโคสดีๆ
เซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดใช้กลูโคส (Glucose ) เป็นแหล่งพลังงาน โดยเฉพาะสมองของคุณที่โหยหาในปริมาณมากที่สุด เมื่อมันได้รับไม่เพียงพอ การตระหนักรู้ การวางแผนจัดการ และการตัดสินใจ ซึ่งเปรียบเสมือนทรัพยากรที่เรียกว่า Cognitive Resources จะทำงานลดลง มันจึงเป็นเหตุผลสำคัญเมื่อคุณเผชิญหน้ากับความเครียด สมองจะเรียกร้องอาหารดีๆ เพื่อเยียวยา บางครั้งการตามใจสมองซะบ้างก็ไม่ใช่เรื่องผิดมหันต์ แต่ให้รู้ว่าลิมิตขนาดไหนถึงเพียงพอ (และพอใจ) อย่าให้ถึงขั้นติดนิสัยที่ต้องกินทุกครั้งเวลาเครียด เพราะมันเป็นการผลักภาระให้ร่างกายส่วนอื่นมากกว่า
อย่าลืมหาช่วงเวลาๆ ดีเพื่อนอนให้หลับสัก 1 ตื่น มันทำให้สมองคุณพร้อมจะกลับมารับมือยุ่งยากได้อีก ยังไงมันก็ไม่ได้หนีไปไหนอยู่แล้วนี่! ไอ้ปัญหาเนี่ย
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Organized Mind: Thinking Straight in the Age of Information Overload