ความสุขอย่างหนึ่งของเราคือ การได้เห็นแมวจอมเวทย์ตัวกลมๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่งานศิลปะที่เรายอมรับจากการสรรสร้างของเอไอ แมวจอมเวทย์น่ารักที่เสกคาถาสารพัด จนมีมีมหนึ่งล้อว่าร้อยปีก่อนเทคโนโลยีคงพาโลกไปด้วยรถยนต์ลอยฟ้า แต่ทุกวันนี้เรากลับใช้พลังความก้าวหน้าไปกับเจ้าแมวน้อย
อย่างแรกเลยคือ ห้ามว่าแมวจอมเวทย์ อย่างที่สองคือ อันที่จริง มนุษย์เราก็นำพาความก้าวหน้าด้วยการสร้างและใช้เทคโนโลยี ซึ่งถ้าคนเมื่อร้อยปีก่อน หรือคนจากทศวรรษ 1900s มาดูผลผลิตจากเหล่าลูกหลาน เขาเหล่านั้นก็น่าจะตื่นตาตื่นใจกับความสำเร็จของพวกเรา ทั้งการปฏิวัติดิจิทัล พลังของเอไอที่แทรกซึมอยู่ในความสะดวกสบายโดยไม่ใช่แค่การสร้างภาพแมว ไปจนถึงความก้าวหน้าด้านสุขภาพ และคุณภาพของชีวิต
ทว่า ในความตลกก็มีมุมที่น่าคิดว่า คนศตวรรษก่อนเขามองเรา หรือมองโลกศตวรรษที่ 21 ของเราไว้อย่างไรบ้าง แล้วเราดำเนินตามรอยฝันและภาพจินตนาการของคนร้อยปีก่อนไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าเรามองย้อนไป เราจะเห็นว่าในช่วงปี 1900 โดยเฉพาะทศวรรษ 1970 นั้นเต็มไปการวาดภาพอนาคตที่ล้ำสมัยสำคัญ เช่น รถลอยฟ้า หุ่นยนต์แม่บ้าน หรืออาณานิคมบนดาวอังคารที่เฟื่องฟูขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
Retrofuturism อดีตของการจินตนาการโลกอนาคต
การทำนายอนาคตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะเสมอกับมวลมนุษยชาติ แต่การวาดภาพโลกและชีวิตในอนาคตอย่างที่เรามักนึกถึงอนาคตต่อเนื่องไปในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในบริบทของศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะทศวรรษ 1960-1970 ในห้วงเวลาที่มนุษย์เราเริ่มมองเห็นศักยภาพ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ซึ่งเกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาการที่ก้าวกระโดดอย่างไม่มีเคยมีมาก่อน
ในทศวรรษ 1960 เกิดคำว่า retrofuturism ขึ้นจากงานเขียนชื่อ Retro-Futurism ของที.อาร์. ฮินช์ลิฟฟ์ (T.R. Hinchliffe) ซึ่งเป็นการสำรวจภาพอดีตที่ถูกสร้างขึ้นในยุคก่อนหน้า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มนุษย์เรากำลังเฟื่องฟูด้วยวิทยาศาสตร์ และเริ่มมองว่าวิทยาการต่างๆ จะพาเราไปในโลกที่ดีขึ้น อนาคตในช่วงนี้จึงนับเป็นอนาคตที่เกิดขึ้นใหม่ จากบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนการคิด และการมองโลกของมนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง
จุดหนึ่งของการมองอนาคตจากศตวรรษที่ 20 คือการที่เราเริ่มมองเส้นของยุคสมัยแบบก้าวหน้า เราเริ่มมองว่าอดีตที่อยู่ข้างหลังของเราอย่างศตวรรษที่ 19 คือช่วงเวลาที่เทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้าก่อตัวขึ้น แต่ก็เป็นอดีตที่ความก้าวหน้าของเรางอกงามขึ้น และต้นศตวรรษที่ 20 คือช่วงเวลาแห่งความก้าวหน้า หรือ Golden Age ที่จะสืบสานยาวนานไปจนถึงศตวรรษต่อไปในยุคสมัยแห่งอวกาศ หรือ Space Age
จุดร่วมของการจินตนาการอนาคตสัมพันธ์กับการมองโลก คือสังคมและเส้นเวลาของมนุษย์แบบมองไปข้างหน้า ทำให้ลักษณะร่วมของอนาคตในช่วงนี้มีลักษณะมองโลกในแง่ดี ภาพวาด ภาพประกอบ โปสการ์ด ข้อเขียน หรือนวนิยายไซไฟ มักให้ภาพโลกอนาคตที่หลากหลาย จนกลายเป็นภาพจำของความก้าวหน้าในใจเรา เช่น ภาพรถยนต์บินได้ บ้านที่ทำความสะอาดตัวเอง การเดินทางข้ามดวงดาว หรือชีวิตที่สะดวกสบาย
ปี 1970 เป็นปีสำคัญซึ่งเราได้สร้างนวัตกรรมที่ทำให้โลกในยุคนั้นเปลี่ยนไป จากการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ หรือการปฏิสนธิเด็กหลอดแก้ว ความก้าวหน้าที่น่าทึ่งทำให้เราคิดว่าแล้วในอีก 100 ปี เราจะไปได้ไกลแค่ไหน ภาพอนาคตในยุคนั้นจึงค่อนข้างเป็นไปในเชิงบวกและมองโลกในแง่ดี แม้ว่าทั้งนวนิยายไซไฟและสงครามเวียดนามจะเริ่มทัดทาน จนทำให้เราตั้งคำถามต่อวิทยาศาสตร์ แต่ด้านหนึ่ง การจินตนาการถึงอนาคตก็เป็นเงื่อนไขสำคัญหนึ่งของความก้าวหน้า
มรดกของการวาดภาพอนาคตอันสดใสก็มีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลต่อเนื่องมา อย่างหนังสำคัญ เช่น สตาร์วอร์ส และที่ใกล้ตัวเรามากๆ เลยคือ การวาดภาพความสะดวกสบายที่เดินทางมาจากอนาคตผ่านเจ้าโดราเอมอน (1969) ที่เราคุ้นเคย ไปจนถึงภาพของหุ่นยนต์ การเดินทางไปในอวกาศ การเดินทางไปในห้วงกาลเวลา และพลังของเทคโนโลยีที่ไม่รู้จบ ก็ล้วนเป็นจินตนาการจากศตวรรษก่อนหน้า
รถบินได้ โลกไร้สาย และอนาคตที่ไม่น่าผิดหวัง
นอกจากแมวจากเอไอแล้ว เราในฐานะโลกอนาคตถือว่าเป็นช่วงเวลาที่บรรลุคำทำนายจากทศวรรษก่อนหน้าได้ โดยงานศึกษาจาก Japan Science and Technology Agency พบว่า นวัตกรรม 135 อย่างที่ถูกวาดไว้ในช่วงปี 1960 บรรลุกลายเป็นนวัตกรรมจริงราว 40% ในปี 2010 แต่ก็มีบางอย่างที่มนุษย์ในปัจจุบันได้อิทธิพลของภาพอนาคตจากในอดีต เป็นนวัตกรรมที่น่าจะมาถึงได้แล้ว แต่กลับยังมาไม่ถึง
หนึ่งในนวัตกรรมสำคัญที่ถือเป็นภาพหลักของการใช้ชีวิตในโลกอนาคต คือ ‘รถยนต์บินได้ (flying car)’ ซึ่งจริงๆ รถบินได้ถือเป็นภาพแทนสำคัญของความก้าวหน้าที่เรารอกันมาอย่างยาวนาน มีมเรื่องการนำเอไอไปทำอะไรตลกๆ ก็มีการนำไปเทียบกับรถบินได้ที่ยังไม่มาสักที ซึ่งแน่นอนว่ารถบินได้หรืออากาศยานขนาดเล็ก ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพเมืองอนาคต
จินตนาการของรถบินได้ ด้านหนึ่งคือการที่เรามีความก้าวหน้าด้านอากาศยาน จากเครื่องบินโดยสารสู่อากาศยานในชีวิตประจำวัน ไม่น่าใช่พัฒนาการที่พ้นจากจินตนาการไป ความหวังที่ว่าวันหนึ่งเราจะเดินทางไปในอากาศ แก้ปัญหารถติด และข้อจำกัดด้านการเดินทาง ด้วยรถบินได้จึงเป็นส่วนประกอบของภาพอนาคต ทั้งแบบยูโทเปียและดิสโทเปีย โดยยูโทเปียให้ภาพรถบินได้เป็นตัวแทนของความสะดวกสบาย การทลายข้อจำกัด แต่ในโลกดิสโทเปียเอง รถบินได้ก็อาจเป็นตัวแทนของความไม่เทียม เมื่อมีแค่คนบางกลุ่มที่จะครอบครองมันได้
ถ้าเรามองย้อนไปในศตวรรษก่อน เรามีทั้งข้อเขียนและวรรณกรรมที่วาดภาพปัจจุบันไว้ ช่วงเวลาหนึ่งถึงขนาดเต็มไปด้วยการคาดการณ์ความเป็นไปของอีก 100 ปีข้างหน้า เช่น บทความโลกจะเป็นแบบไหนในอีกร้อยปี (What the World Will Be Like in a Hundred Years) ของวอลเตอร์ ไลออเนล จอร์จ (Walter Lionel George) ซึ่งเป็นเรื่องเด่นถึงขนาดขึ้นปกนิตยสาร The New York Herald ในปี 1992
แม้ภาพที่เขาจินตนาการไว้จะไม่ค่อยมองอนาคตในแง่ดีนัก ด้วยการบอกว่ายิ่งค้นพบ โลกก็ยิ่งถูกทำลายและใช้งานไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เขาวาดภาพได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ การบอกว่าสายไฟต่างๆ ที่เคยระโยงระยางจะหายไป ท้องฟ้าสีฟ้าสดใสของเราจะไม่มีอะไรมาบดบัง ตรงนี้เองก็สอดคล้องกับการมาถึงของโลกไร้สาย โทรคมนาคมต่างๆ แต่บ้านเราส่วนใหญ่ก็ยังไม่เป็นไปตามคำทำนายนี้
นอกจากสายสัญญาณที่หายไป บทความจากปี 1992 ยังบอกว่าการทำงานบ้านในอีก 100 ปีจะง่ายมากขึ้น เรื่องงานบ้านดูเป็นอีกหนึ่งความฝันของมนุษยชาติ เมื่อเรามีภาพของหุ่นยนต์แม่บ้าน และในปัจจุบันเราก็มีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นซึ่งถือว่าทำงานได้ใกล้เคียง หากนับจาก 100 ปีก่อน นวัตกรรมงานบ้านของเราถือว่าก้าวหน้าตอบโจทย์ นับตั้งแต่เครื่องซักผ้า และอีกหลายเครื่องครัวเครื่องใช้ที่ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นจริงๆ
อีกบทความซึ่งจินตนาการอนาคตที่น่าสนใจ และว่าด้วยการครัวและงานบ้านคือ บทความจากนิวยอร์กไทม์ในปี 1996 ชื่อว่าในโลกไร้เงินสด หุ่นยนต์จะทำอาหารให้เรากิน (In a Cashless Future, Robots Will Cook) ภาพอนาคตจากปี 1996 เปิดข้อเขียนว่า ในวันธรรมดาหนึ่งของปี 2006 (It’s a typical day in the year 2006) ความมหัศจรรย์ของบทความวาดภาพโลกในปี 2000 ได้ค่อนข้างแม่นยำ แต่ภาพนั้นกลับค่อนข้างมาเป็นจริงในปี 2020 ของเรา
ภาพปี 2006 ให้ภาพของการเจรจาธุรกิจที่เราเจรจากับคู่ค้าทั้งฮ่องกง ลอนดอน และมอสโคที่เชื่อมต่อมายังย่านบรองซ์ หรือที่ไหนๆ ก็ได้ ภาพจังหวะการทำงาน (ซึ่งคือการทำงานที่บ้าน) เราทำเพียงแค่กดปุ่ม และปุ่มนั้นจะตรวจวัดสุขภาพของเรา ค่าความดัน คอเลสเตอรอล และตัดส่วนไขมันต่อน้ำหนักตัว ส่วนในครัว เราเพียงกดปุ่มและหุ่นยนต์ในครัวก็จะทำการปรุงอาหารที่เหมาะสมให้ โดยภาพครัวเองก็มีตู้เย็น มีไมโครเวฟ ที่ล้วนนิยามด้วยคำว่า ‘สมาร์ท’ ส่วนในหัวข้อบทความ คำว่า สังคมไร้เงินสด คือการที่ผู้เขียนทำนายการมาถึงของ Smart Card ซึ่งจะมาแทนที่การใช้เงินสด ตรงนี้นอกจากจะทำนายการมาถึงของบัตรเครดิตแล้ว ภาพการทำงานที่บ้าน ข้าวของต่างๆ ที่ฉลาดขึ้น ง่ายขึ้น ก็เป็นภาพการทำนายที่ค่อนข้างแม่นยำ และสอดคล้องกับภาพชีวิตในทุกวันนี้
สุดท้ายจากมีมว่าโลกอนาคตยังไม่ตอบโจทย์ ซึ่งเป็นภาพอันน่าสนใจของหลายนวัตกรรมที่เป็นภาพแทนของความเป็นอนาคต ยังไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เราเองก็อาจจะยังไม่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในโลกอนาคตเท่าไหร่ ด้วยภาพสำคัญของความก้าวหน้า เช่น รถลอยได้ การเดินทางไปในอวกาศ การไม่แก่ไม่ตาย หุ่นยนต์ที่เหมือนหรือทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนมนุษย์
แต่การกลับไปสำรวจจินตนาการของอดีตที่มีต่อปัจจุบัน ก็เป็นอีกหนึ่งการสำรวจความคิดที่เปลี่ยนไป ไปจนถึงหลายความคิดก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา เช่น การมองว่าโลกแบบไหนคือโลกแห่งอนาคต
อ้างอิงจาก