บางคนมองเห็นมนุษย์เพียงแค่ ‘คนแปลกหน้า’ แต่อีกคนกลับมองทุกชีวิตเป็น ‘เพื่อนร่วมโลก’ มีคนจำนวนมากที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่กลับยอมเสี่ยงชีวิตเข้าแลกเพื่อช่วยคนอื่น ทั้งๆ ที่สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติควรจะ ‘รักตัวกลัวตาย’ มิใช่หรือ? แต่ในวินาทีที่ตัดสินทุกอย่าง อะไรแบ่งแยกคนกล้าและคนขลาดออกจากกัน คุณเองจะเป็นคนไหนเมื่อถูกเรียกร้อง?
มันใช้เวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้นที่ชายแปลกหน้าคนหนึ่งกระโจนเข้ามาลากร่างแม่ของผม (ผู้เขียน) ออกจากรถที่กำลังลุกไหม้ ถ้าเขาปรากฏตัวช้ากว่านี้อีกสักนิด แม่คงถูกเผาไปพร้อมๆ รถกระบะที่หุ้มไปด้วยกองเพลิงแล้ว
เมื่อราว 11 ปีที่แล้ว แม่ผมหลับในขณะขับรถกระบะออกต่างจังหวัด ชนเข้ากับตอม่อแถวๆ ถนนจังหวัดสมุทรปราการ เครื่องยนต์ยุบเข้ามาถึงห้องผู้โดยสารตรึงยึดร่างแม่ไว้ น้ำมันรั่วเกิดประกายไฟลุกไหม้ แต่ในช่วงเวลาที่ความเป็นความตายมาเคาะประตูชีวิต ชายแปลกหน้าผู้หนึ่งกระโจนเข้ามางัดร่างแม่ออกจากซากรถที่กำลังระอุเป็นกองเพลิง
แม่จำชื่อของผู้ชายคนนี้ไม่ได้ และดูเหมือนเขาจะไม่สนใจกับการขอบคุณใดๆ ชาวบ้านละแวกนั้นกรูกันเข้ามาช่วยดับไฟโดยทิ้งงานทิ้งการที่พวกเขาทำอยู่ แม่บาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภายใต้ความชุลมุนวุ่นวายชายผู้นั้นหายไปท่ามกลางผู้คน ‘ฮีโร่’ ที่ไม่จำเป็นต้องการการกล่าวขานหรือสรรเสริญใดๆ พวกเขาเองก็คือคนธรรมดาเหมือนพวกเรา
และสักวันหนึ่ง คุณเองก็อาจจะเป็น ‘ฮีโร่’ ของใครสักคน โดยที่ไม่เคยเตรียมใจมาก่อนเลย
ช่วงหนึ่งที่ผมทำสารคดีเกี่ยวกับทีมกู้ภัยและดับเพลิง พวกเขาเป็นมนุษย์กลุ่มน้อยที่วิ่งฝ่าเปลวไฟ ในขณะที่มนุษย์ส่วนใหญ่พยายามวิ่งออกมา ทำไมคนธรรมดาๆ ถึงยอมเสี่ยงภัยที่อาจถึงชีวิตเพื่อช่วยคนอื่นๆ คำตอบที่มักได้ยินคล้ายๆ กันคือ “ไม่รู้” ไม่มีใครรู้เลยว่าทำไมพวกเขาต้องทำเช่นนั้น ทำไมสัญชาตญาณถึงสั่งการอย่างฉับไวเพื่อตอบสนองไปแบบนั้น อะไรแยกคนธรรมดาที่พยายามเอาชีวิตรอดเพื่อตัวเอง กับฮีโร่ที่พยายามทำเพื่อคนอื่น?
ไม่ว่าจะไฟไหม้ รถชน ตึกถล่มแผ่นดินไหว หรือผู้คนเผชิญกับความอยุติธรรม มักมีคนที่กล้าหาญก้าวออกมาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ แต่คนเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมพวกเขาถึงลงมือทำ แทนที่จะนิ่งดูดายปล่อยให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นตามเวรตามกรรม
ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดามีการมอบรางวัลสดุดีให้แก่ผู้กล้าหาญที่ทำเพื่อผู้อื่นภายใต้หน่วยงานชื่อ Carnegie Hero Fund Commission ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ได้รางวัลกลับไม่ใช่เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เชี่ยวชาญการรับมือกับสถานการณ์วิกฤต แต่เป็นเพียงคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ เป็นพนักงานบริษัท แม่บ้าน หรือแม้แต่เด็กนักเรียน โดยความเชื่อพื้นฐานของ Andrew Carnegie ผู้ก่อตั้งกองทุนและรางวัลนี้เชื่อว่า “ไม่มีคำนิยายใดๆ สำหรับฮีโร่ พวกเขาเป็นคนธรรมดาที่ถูกกระตุ้นอย่างฉับพลัน ที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว”
แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องราวของความกล้าหาญกลับเป็นปริศนาที่ลึกลับน่าสนใจในมิติวิทยาศาสตร์ แรงกระตุ้นฉับพลัน (impulsive) ใดทำให้คนยอมเอาตัวเองไปเสี่ยงเพื่อคนอื่น มีเรื่องน่าสนใจของชายผู้หนึ่งที่เป็นคนสายวิชาการคนแรกๆ ที่ศึกษาเรื่องแรงกระตุ้นสู่การเป็นฮีโร่ โดยเขาเองก็เป็นผลพวงจากการรอดชีวิตจากฮีโร่เองเช่นกัน
ถูกฮีโร่ช่วยชีวิต สู่การศึกษาแรงขับของฮีโร่
นักสังคมวิทยา แซมูเอล โอไลเนอร์ (Samuel Oliner) จากมหาวิทยาลัย Humboldt State University เป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่ศึกษาแรงกระตุ้นจากคนธรรมดาสู่การเป็นฮีโร่จำเป็น ตัวเขาเองและครอบครัวก็เป็นเหยื่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเช่นกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ย้อนไปในปี 1942 เขาถูกทหารนาซีจับพร้อมกับครอบครัวในขณะที่มีอายุเพียง 12 ปี โดนกวาดต้อนออกจากประเทศโปแลนด์มายังค่ายชาวยิวที่แออัดยัดเยียดนานถึง 2 เดือน ก่อนที่นาซีจะบังคับให้ชาวยิวแต่ละคนเดินออกมาถนนหน้าค่ายเพื่อลั่นไกสังหารทีละคน แม่เลี้ยงของแซมูเอล โอไลเนอร์ อาศัยจังหวะที่ทหารนาซีเผลอ ผลักเขาออกมาจากขบวน แล้วขอให้เขาวิ่งหนีไปให้เร็วที่สุดก่อนตัวเองจะถูกยิงที่ศีรษะ
แซมูเอลวิ่งไม่คิดชีวิตไปหลบตามหลังคาของหมู่บ้านต่างๆ คืนแล้วคืนเล่า จนกระทั่งไปพบกับหญิงชาวคาทอลิกนามว่า Balwina Piecuch ที่ช่วยเหลือเขาโดยให้ที่หลบซ่อน ให้น้ำและอาหาร พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเขาใหม่เพื่อหลบเลี่ยงตำรวจเกสตาโพของนาซี
ความเมตตาของเธอทำให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของชีวิต และเปลี่ยนการมองโลกไปอย่างสิ้นเชิง แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความตาย ความขัดแย้งอันน่าเกลียดชัง แต่มันยังมีพื้นที่แห่งความหวังอันงดงามเช่นกัน เมื่อความเมตตาของมนุษย์สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
หลังสงครามจบลง แซมูเอลเดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาสานต่องานสายวิชาการ โดยอุทิศความรู้ทั้งหมดเพื่อศึกษาความเมตตาและความไม่เห็นแก่ตัวของมนุษย์ เฉกเช่นครอบครัวหญิงคาทอลิกที่เคยช่วยเขาไว้ตอนครั้งยังเป็นเด็ก
การเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น (altruism) เป็นปริศนาที่ลึกลับในวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ทำไมคุณถึงช่วยคนที่ไม่ได้แม้จะมีความผูกพันทางสายเลือด ไม่มีรางวัลใดๆ ตอบแทนให้ คำตอบพื้นฐานที่สุดคือ พฤติกรรมนี้เป็นการปรับปรุงคุณภาพการอยู่เป็นฝูงที่เพิ่มโอกาสรอดชีวิต แต่มีคำตอบที่ดีกว่านี้ไหม?
มหาวิทยาลัย Humboldt State University มีสถาบันที่ศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะในชื่อ Altruistic Personality and Prosocial Behavior Institute โดยริเริ่มศึกษาในอาสาสมัครกว่า 406 คนที่เคยมีส่วนร่วมช่วยเหลือชาวยิวให้รอดชีวิตในช่วงสงครามโลก และอีก 72 คนที่ไม่ได้ช่วยเหลือใครเลยในช่วงสงครามขณะนาซียึดครองอยู่
พวกเขาพบว่า คนที่ช่วยเหลือ (rescuers) มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์เป็นพื้นฐาน ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม และรู้สึกต้องรับผิดชอบในการมีชีวิตของคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตอบใกล้เคียงว่า “เรียนรู้มาจากพ่อแม่”
มากไปกว่านั้นพวกเขาจะไม่มองผู้อื่นในลักษณะแบ่งจำพวก (พวกฉัน พวกเธอ) แต่จะมองทุกชีวิตเป็นองค์รวม แม้จะไม่มีความเกี่ยวพันใดๆ เลยก็ตาม บางคนมองเห็นมนุษย์เพียงแค่ ‘คนแปลกหน้า’ แต่อีกคนที่มีบุคลิก altruistic กลับมองทุกชีวิตคือ ‘เพื่อนร่วมโลก’
ในหนังสือของ อีวา ฟอเกลแมน (Eva Fogelman) ชื่อ Conscience and Courage: Rescuers of Jews During the Holocaust ที่ศึกษาผลกระทบของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้บันทึกการสนทนากับผู้คนที่เคยยื่นมือช่วยเหลือชาวยิวราว 300 คน ก็ช่วยยืนยันว่า พวกเขามีพื้นฐานที่เป็น role model มาจากครอบครัวที่มักเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม สามารถยอมรับความแตกต่างของมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นพื้นฐานที่สุดของการดำรงชีวิตอันเห็นคุณค่าของสิ่งมีชีวิต งานวิจัยชุดหลังๆ ก็สนับสนุนว่า การเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็กเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกขึ้นมาอย่างงดงาม โดยเด็กๆ จะเห็นแบบอย่างจากผู้ใหญ่ที่เสียสละเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม
แม้จะมีปัจจัยเชิงชีวภาพบ้าง แต่ก็ยังมีบทบาทลึกๆ โดยงานศึกษาของนักประสาทวิทยา Abigail Marsh จากมหาวิทยาลัย Georgetown University พบว่า ผู้คนที่อาสาบริจาคไตให้กับผู้อื่น มักมีสมองส่วนอะมิกดาลาด้านขวา (Amygdala) ใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งมีอิทธิพลควบคุมความรู้สึกกลัวและการแสดงออกทางสีหน้า หรือหมายความว่า พวกเขาสามารถสัมผัสถึงความหวาดกลัวของผู้อื่นได้ละเอียดถี่ถ้วน จนอยากจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเพื่อลดความวิตกกังวลดังกล่าว ซึ่งในกรณีของคนที่มีอาการไซโคพาธ (psychopath) มักมีสมองอะมิกดาลาด้านขวาเล็ก อาจเป็นปัจจัยทำให้พวกเขามองข้ามความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของผู้อื่น ไม่แยแสความกลัวหรือความเจ็บปวด
อย่างไรก็ตาม แซมูเอล โอไลเนอร์เรียกบุคลิกภาพเบื้องต้นนี้ว่า Altruistic personality ที่ก่อตัวขึ้นค่อนข้างถาวร และเติบโตไปพร้อมๆ กับบุคลิกอื่นๆ ตลอดชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นคำถามดั้งเดิมที่เกริ่นกันมายาวนานว่า คนที่กล้าเสี่ยงเพื่อคนอื่นจะมีอุปนิสัย altruistic เป็นพื้นฐานหรือไม่? แซมูเอลเชื่อว่าอุปนิสัยติดตัวนี้ทำงานเหมือนเป็นดินประสิว รอจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ฉับพลันบางอย่างที่เป็น ‘เชื้อไฟ’ จุดให้ไฟของคุณลุกพรึบขึ้น (ซึ่งมันก็ยังทดลองให้แจ่มแจ้งได้ยากอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะคนทั่วไปก็ไม่ได้ช่วยชีวิตใครบ่อยๆ) แต่เมื่อสิ่งที่คุณทำสำเร็จ มีแนวโน้มที่คุณจะทำซ้ำเรื่อยๆ เพื่อเป็นการย้ำเตือนบุคลิกภาพ หรือคนที่ถูกช่วยเหลือก็มักจะหวนถึงวีรกรรมที่เกิดขึ้นในรูปแบบที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาจนไปเปลี่ยนทัศนคติการมองโลกบางอย่างในชีวิต
แม้บุคลิก altruistic จะมีอิทธิพลต่อการกระตุ้นความเป็นฮีโร่ แต่อาศัยตัวมันเองโดดๆ ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันที่มั่นใจได้นัก เพราะหากคุณส่งคนเดิมไปพบสถานการณ์ซ้ำๆ ทุกวัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาผู้นั้นจะยอมเสี่ยงชีวิตเสมอไป แต่ต้องมีภาวะทางใจในเงื่อนไขที่เหมาะสมด้วย คุณอาจต้องมีความกล้าได้กล้าเสีย (thrill-seeking) ที่เรียกว่าบุคลิกภาพ Type T ควบคู่ด้วย ถึงแม้คุณจะเป็นพวกรักความตื่นเต้นกล้าได้กล้าเสีย แต่ปราศจากความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คุณก็มีแนวโน้มจะปล่อยเหตุการณ์เลวร้ายนั้นผ่านพ้นไป หรือแม้กระทั่งคุณมีเมตตาและเห็นความลำบากของมนุษย์มากล้น แต่ไม่กล้าเสี่ยงหรือลงมืออะไรเกิดผลกระทบต่อตัวเอง คุณก็ไม่ขอไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาในท้ายสุด
ความกล้าหาญเพื่อช่วยคนอื่นจึงเป็นเหมือน ‘ค็อกเทล’ ที่เข้มข้นและลงตัว ถูกเขย่าไว้อย่างดี รอคอยจังหวะที่จะเปิดออกมาเมื่อชีวิตถึงจุดพลิกผัน
ปัจจุบันกองทุน Carnegie fund ได้มอบเหรียญกล้าหาญไปแล้วกว่า 10,000 เหรียญในระยะเวลา 110 ปี ซึ่งใน 20% ของเหรียญทั้งหมดคือผู้กล้าที่เสียชีวิตระหว่างช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่น ดังนั้นมันจึงไม่ได้รับรองว่า หากคุณจะเป็นฮีโร่แล้วจะมีลมหายใจกลับมาทุกครั้ง ‘ชีวิตต่อชีวิต’ ยังมีค่าใช้จ่ายราคาแพงที่เราไม่มีทางรู้ว่าจะเรียกอะไรบ้าง
แต่ในเหล่าทหารที่พุ่งในสงครามถือเป็นความกล้าหาญแบบ altruistic ที่ถูกกระตุ้นหรือไม่? หลายเสียงกล่าวว่า วีรบุรุษสงคราม (war heroes) มักถูกกระตุ้นความกล้าหาญจากเพื่อนพ้องทหารในสังกัดหน่วย ที่ไม่เหมือนกับฮีโร่จำเป็นเดินดินแบบคนทั่วไป วึ่งเห็นอกเห็นใจต่อคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนโดยไม่มีการแบ่งฝ่าย ดังนั้นวีรบุรุษสงครามอาจไม่ได้แชร์บุคลิกร่วมกันกับคนบุคลิกแบบ altruistic ก็เป็นได้
มันพูดยากที่จะชวนใครก็ตามไปเป็นฮีโร่ด้วยกัน มันไม่ง่ายขนาดนั้น ไม่มีใครคว้าผ้าคลุมแล้วแต่งตัวเป็นฮีโร่มาจากบ้าน หรือพูดกับตัวเองว่า “วันนี้ฉันจะช่วยคน” และไม่มีหลักสูตรใดๆ บนโลกนี้ที่สอนให้คุณเป็นฮีโร่ในแบบที่คุณหวังไว้
แต่สิ่งที่ทำได้เลย และน่าจะเป็นทิศทางที่งดงาม คือการปลูกฝังคนรอบข้างของคุณ โดยเฉพาะเด็กๆ ให้เติบโตท่ามกลางผู้ใหญ่ที่เห็นคุณค่าของทุกชีวิต เห็นการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อระหว่างคนในสังคมจนเป็นเรื่องปกติ
และเมื่อนั้นเอง ‘ฮีโร่’ ที่หลบซ่อนจะตื่นขึ้นมา โอบอุ้มผู้คนที่ต้องการเขามากที่สุดในเสี่ยววินาทีแห่งชีวิต
อ้างอิงข้อมูลจาก
Conscience and Courage: Rescuers of Jews During the Holocaust by Eva Fogelman
Narrow Escapes: Childhood Memories of the Holocaust and Their Legacy : Samuel P. Oliner
Paragon Press, St. Paul, MN, 2000
Dr. Samuel P. Oliner
www2.humboldt.edu/altruism/samuel