หากคนรักของเราบอกว่า จริงๆ แล้วเขานั้นเป็นคนประเภท ‘รักนะแต่ไม่แสดงออก’ เราจะรู้สึกแบบไหนดีนะ ส่วนหนึ่งอาจดีใจที่เขามีความรักให้ แต่อีกใจก็สงสัย ถ้าไม่แสดงออกแล้วจะรู้ได้อย่างไรนะว่ารัก หรือความรักมันไม่จำเป็นต้องแสดงออกก็ได้?
ลองนึกถึงในชีวิตจริงของเรา ในวันธรรมดาทั่วไป คนรอบตัวไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่เพิ่งเจอกัน แต่ละคนต่างมีวิธีแสดงออก สื่อสาร พูดคุย แตกต่างกันออกไป บ้างชอบคุยกับคนแปลกหน้า บ้างชอบช่วยเหลือคนอื่นเสมอ หรือบ้างก็เฮฮาแค่กับคนสนิท สิ่งเหล่านี้คือวิธีที่แต่ละคนเลือกแสดงออกต่อคนรอบข้าง ว่าอยู่ในสถานการณ์นี้จะแสดงออกแบบนี้ อยู่กับคนสนิทอีกระดับหนึ่งก็แสดงออกอีกแบบหนึ่ง
ในความสัมพันธ์กับคนรักก็เช่นกัน ต่างคนต่างมีวิธีแสดงออกถึงความรักต่างกันออกไป (และยิ่งซับซ้อนไปกว่านั้น) บ้างเลือกแสดงออกผ่านคำพูดแสนหวาน บ้างแสดงออกด้วยการกระทำมากกว่าคำพูด บ้างใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้มาก จนมันส่งผลกับบรรยากาศในความสัมพันธ์ที่ต่างกันไปเลยล่ะ
รักที่อยู่กับคนที่แสดงออกด้วยคำพูด อาจเต็มไปด้วยแชตหวานชื่น รักที่อยู่กับคนแสดงออกด้วยการกระทำ อาจเต็มไปด้วยการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ทุกคู่ ทุกแบบ ต่างเปี่ยมไปด้วยความรักทั้งนั้น เพียงแต่แสดงออกต่างกันเท่านั้นเอง
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะเข้าใจว่านั่นคือการแสดงความรักทุกครั้งไป ในเมื่อต่างคนต่างมีวิธีแสดงออกต่างกัน และอาจมีความเคยชินว่า การแสดงออกแบบที่ฉันคิดสิถึงจะเรียกว่ารัก ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องอาศัยการเรียนรู้กันและกันให้เกิดความเข้าใจในตัวอีกฝ่าย ให้เข้าใจว่าการกระทำแบบนี้คือการแสดงความรักสำหรับเขานะ แม้จะไม่เหมือนกับของเรา หรือแม้จะไม่ใช่แบบที่เคยเจอมาก่อนก็ตาม
ทำความรู้จักภาษารัก
ต่างคนต่างมีวิธีแสดงความรักของตัวเอง เป็นแฟนกันแล้วก็ใช่ว่าจะแสดงออกเหมือนกัน เมื่อความรักสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ เราจะรู้ได้ไงนะว่า แบบไหนคือภาษารักที่อีกฝ่ายมอบให้มา?
งั้นเรามาทำความเข้าใจสิ่งนี้กับทฤษฎี ‘The Five Love Languages’ จากหนังสือในชื่อเดียวกัน โดย แกรี่ แชปแมน (Gary Chapman) นักเขียนชาวอเมริกัน ซึ่งว่าด้วยรูปแบบของการแสดงออกถึงความรักในความสัมพันธ์ ที่สามารถแบ่งออกเป็นภาษารัก 5 แบบ ดังนี้
- คำหวานบอกความรู้สึก (Words of affirmation)
ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นแค่การบอกรักเท่านั้น แต่หมายถึงคำพูดที่แสดงออกถึงความรัก ความเป็นห่วง ความสนใจ อาจเป็นคำพูดที่ช่วยชุบชูใจอีกฝ่าย อย่างคำชื่นชมหรือการให้กำลังใจ - การใช้เวลาร่วมกัน (Quality time)
พยายามหาเวลาร่วมกันให้มากและใช้มันอย่างมีคุณภาพเมื่ออยู่ด้วยกัน จะเป็นช่วงเวลาที่ได้พูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกันก็ได้ ไม่ใช่เพียงอยู่ในห้องเดียวกัน แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ ต่อกัน - สัมผัสทางกาย (Physical touch)
สัมผัสทางกายช่วยสร้างความใกล้ชิดทางใจ นอกจากคำหวานจากปากแล้ว บางคนยังมีภาษารักเป็นการโอบกอด สัมผัส ที่ไม่ได้มีเรื่องวาบหวามทางเพศมาเกี่ยวข้อง เพียงแค่อยากใกล้ชิดและมอบความอบอุ่นให้อีกฝ่ายจากสัมผัสทางกายเท่านั้น - ดูแลด้วยการกระทำ (Acts of service)
อาจเป็นทั้งเรื่องเล็กน้อย อย่างการบีบยาสีฟันไว้ให้ เตรียมกาแฟแก้วโปรดในตอนเช้า ยินดีไปรับ-ส่งในวันที่มีธุระ ไปจนถึงมอบความช่วยเหลือในเรื่องใหญ่อื่นๆ เพื่อให้อีกฝ่ายสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย และแสดงถึงความใส่ใจที่มี - มอบของขวัญ (Receiving gifts)
จะไปไหนมาไหนก็มีของฝากติดไม้ติดมือ เห็นอะไรแล้วนึกถึงกันก็อยากจะเอาไปฝาก แม้จะไม่ใช่วันสำคัญอะไรก็สามารถมอบของขวัญให้กันได้ เป็นการแสดงถึงการครอบครองพื้นที่ในใจของอีกฝ่ายได้ดีทีเดียว
หากถามว่าแล้วมีการแสดงความรักในรูปแบบอื่นอยู่ไหม แน่นอนว่าอาจจะมี เพราะมันไม่อาจจำกัดอยู่แค่ 5 รูปแบบที่ว่าไปนี้ แต่เราอยากนำเสนอให้ทุกคนได้ลองสำรวจวิธีแสดงความรักของตัวเองเบื้องต้น ด้วยทฤษฎีที่เข้าใจง่ายๆ กันก่อน เพื่อพูดคุยกันในเรื่องที่เราสงสัยกันในข้างต้น ว่ารักแล้วไม่แสดงออกได้ไหม? หรือทำไมบางคนรักแต่กลับไม่แสดงออก?
รักแต่ไม่แสดงออก หรือไม่แสดงออกว่ารัก
ลองสำรวจภาษารักในแบบของเราดูว่า เรามีภาษารักแบบไหนกันนะ แล้วลองเทียบกับคนรัก เพื่อน คนรอบตัวของเรา ว่าเขามีภาษารักแบบเดียวกันไหม แน่นอนว่าแต่ละคนต่างมีวิธีแสดงออกแตกต่างกันไป สำหรับชาวคำหวานคือความรัก อยากจะมอบแต่คำพูดรื่นหู ยืนยันให้ฟังจนกว่าจะเชื่อว่ารัก หรือสำหรับชาวดูแลด้วยการกระทำ อาจไม่ได้พูดเลยว่ารัก แต่ก็ไม่บกพร่องในการดูแลกันและกัน ซึ่งถ้าดูเผินๆ แล้วจะเห็นว่าทั้งคู่ต่างมีวิธีแสดงความรักที่ดีทั้งนั้นนี่ แล้วเรื่องนี้เป็นปัญหายังไงนะ?
เกมอาจจะเปลี่ยนเล็กน้อย เมื่อ ‘ความคาดหวัง’ เข้ามากวนน้ำให้ขุ่น ลองนึกภาพว่า คนที่มีภาษารักเป็นคำหวานบอกความรู้สึก มาเป็นคนรักกับชาวดูแลด้วยการกระทำดูสิ ในเมื่อต่างฝ่ายต่างมีภาษารักของตัวเอง ทีนี้เราก็จะเชื่อว่าวิธีแบบที่เราทำสิถึงจะเรียกว่ารัก จนอาจไม่คุ้นชินมาก่อนว่าวิธีอื่นๆ ก็เป็นการแสดงความรักได้เหมือนกัน ชาวคำหวานบอกความรู้สึกอาจเห็นแล้วล่ะ ว่าเขาดูแลเราได้ดีทุกวัน แต่เราก็อยากฟังคำให้กำลังใจกันในวันเหนื่อยๆ คำบอกรักยืนยันในวันอ่อนไหว แค่คำพูดแค่นี้ ทำไมแสดงออกให้กันไม่ได้นะ อีกฝ่ายอย่างชาวดูแลด้วยการกระทำก็อาจไม่เข้าใจว่า บริการเยี่ยมเป็นโรงแรมห้าดาวขนาดนี้แล้ว ถ้าไม่รักจะทำไปทำไมนะ
ไม่มีใครผิดในเรื่องนี้เลย แค่ต่างฝ่ายต่างมีมุมมองต่อการแสดงออกต่างกันเท่านั้น เลยทำให้เกิดความคาดหวังต่ออีกฝ่ายในแบบที่ไม่ตรงใจ แน่นอนว่าเราเองไม่ได้กำลังจะบอกว่า สิ่งไหนคือการแสดงความรักที่ถูก สิ่งไหนผิด สิ่งไหนต้องทำ หรือสิ่งไหนเลิกทำ เพียงแต่บางครั้ง ที่เรามองว่าอีกฝ่ายไม่แสดงออกว่ารักเลย อาจเป็นเพียงภาษารักคนละแบบเท่านั้นเอง เขาอาจแสดงออกในรูปแบบของเขาไปแล้ว แต่กลับไม่ใช่แบบที่เราอยากให้เป็น จนทำให้รักที่แสดงออกไปเลยไปไม่ถึงกันและกัน
งั้นแปลว่าเราต้องรักกับคนที่มีภาษารักเดียวกับเราเท่านั้นหรือเปล่า?
เมื่อมุมมองต่อรักไม่เหมือนกัน งั้นเราก็เลือกคนที่คิดเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกันสิ นั่นอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด แต่คนที่ภาษารักคนละแบบจะไม่มีสิทธิ์ได้รักกันเลยก็คงไม่ใช่ คนที่มีภาษารักต่างกัน ก็ยังดำเนินความสัมพันธ์ไปด้วยกันได้ แต่ต้องเริ่มจากการวางความคาดหวังลง แล้วทำความเข้าใจธรรมชาติของอีกฝ่าย ว่าเขามีมุมมองต่อความรักแบบไหน เขาใช้วิธีไหนในการแสดงออกว่ารัก ทีนี้ก็หันกลับมาถามตัวเองว่า มันเพียงพอหรือเปล่า อีกฝ่ายเองก็อาจต้องเลือกวิธีแสดงออกในแบบที่อีกฝ่ายอยากเห็นบ้างเท่าที่เต็มใจจะทำ ต่างฝ่ายต่างลองต้องก้าวและถอยไปตามจังหวะความสัมพันธ์ของตัวเอง
ลองนึกถึงในวันที่เราเหน็ดเหนื่อยใจ กำลังใจจากคนข้างๆ ช่วยชุบชูใจแค่ไหน หรือในวันที่ตกอยู่ในอันตราย หน้าสิ่วหน้าขวาน ความช่วยเหลือจากคนที่เรารัก ยิ่งยืนยันว่าเขาอยู่ข้างเราเสมอ เมื่อความสัมพันธ์ทำให้เรารู้จักกันมากพอ เราย่อมรู้ว่าในสถานการณ์แบบนี้อีกฝ่ายต้องการอะไร แล้วเราจะดื้อดึงไม่ทำสิ่งนั้น เพียงเพราะมันไม่ใช่ภาษารักของเราไปทำไมล่ะ
การแสดงออกว่ารักในภาษารักของอีกฝ่าย ก็เป็นอีกภาษาหนึ่งที่เราเองได้รับมาตลอดไม่ใช่หรือ หากเราจะมอบมันกลับไปให้เขาบ้าง เหมือนที่เขาทำให้เรามาตลอดมันจะเป็นอะไรไป
อ้างอิงจาก