คุณคิดว่าคุณกับแฟนนิสัยเหมือนกันมากน้อยแค่ไหน?
บ้างอาจตอบว่าเพราะมีอะไรคล้ายกันเลยอยู่ด้วยกันได้ บ้างอาจตอบว่าเหมือนบางอย่างไม่เหมือนบางอย่าง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่เคยสร้างปัญหาอะไร แต่พอลองเดินถอยหลังออกจากคำถามนั้นมาหน่อย มองถึงคู่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเราเองล่ะ ความรู้สึกแรกเรามักจะมองว่า คนที่เหมือนกันสิถึงจะเข้ากันได้ แต่เมื่อมองไปรอบตัว คนช่างจ้อกับคนเงียบขรึม นักวางแผนกับคนสุดแสนจะชิล หมาโกลเด้นกับแมวดำ คู่รักที่มีสารพัดนิสัยที่ต่างกันอยู่รอบล้อมเราเต็มไปหมด
เอ หรือว่า ความแตกต่างของนิสัยจะไม่ใช่อุปสรรคในความสัมพันธ์อย่างที่เข้าใจนะ
Big 5 Personality Traits
หากเราถามตัวเองว่า เรามีลักษณะนิสัยแบบไหน แน่นอนว่าเราคงไม่อาจจำกัดความนิสัยตัวเองได้ด้วยตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เราอาจเป็นคนใจเย็นแต่ตัดสินใจไว อาจรับฟังแต่ก็ชอบตัดสินไปด้วยพร้อมๆ กัน แค่เพียงตัวเราเองก็มีเฉดนิสัยมากมายแล้ว กับมนุษย์อื่นใดในโลกนี้อีกล่ะ ลักษณะนิสัยที่พอจะนิยามขึ้นมาได้อาจยาวจนพันรอบโลกได้หลายรอบเชียวล่ะ
เหล่านักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ก็เคยตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับลักษณะนิสัยมากแล้วมากมาย ซับซ้อนเกินไปบ้าง ข้อมูลกองเท่าภูเขาบ้าง ท่ามกลางลักษณะนิสัยมากมายบนความหลากหลายของมนุษย์ หากจะพูดถึงทั้งหมดโดยไม่มีอะไรมาตีกรอบเสียหน่อยก็คงจะกว้างเกินไป งั้นเราขอยก ‘Big 5 Personality Traits’ ทฤษฎีเกี่ยวกับลักษณะนิสัยที่ผ่านมือผู้เชี่ยวชาญตบซ้ายตบขวาให้เข้าที่มาหลายสิบปี เข้ามาช่วยแบ่งให้เห็นภาพยิ่งขึ้นว่าคนเรามีนิสัย(คร่าวๆ)ประเภทไหนบ้าง
- Openness to experience เปิดกว้าง
มักมีความสนใจหลากหลาย อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกและผู้คนอื่นๆ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ และเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ใหม่ ทั้งในด้านปัญญา ความรู้ และอารมณ์ คนที่มีนิสัยลักษณะนี้สูง มักมีจินตนาการกว้างไกล กล้าลองและรับมือสิ่งใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ รับรู้ความรู้สึกได้เร็ว ในทางกลับกัน คนที่มีนิสัยนี้น้อย มักไม่ชอบสิ่งใหม่ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง - Conscientiousness มีสติสัมปชัญญะ
มีความรอบคอบ ควบคุมสถานการณ์ได้ดี และตระหนักรู้เป้าหมายหมายของตน จึงมักมีนิสัยที่เจ้าระเบียบ มีเป้าหมายชัดเจน เราเลยเห็นคนนิสัยทำนองนี้เป็นคนที่จัดการอะไรได้ดี ตรงเวลา เตรียมทุกอย่างได้พร้อม จัดเจนในรายละเอียด ในทางกลับกัน คนที่มีนิสัยนี้น้อยหน่อย ก็จะค่อนข้างยืดหยุ่น ไม่ชอบอะไรตายตัว ไปจนถึงผัดวันประกันพรุ่ง - Extraversion รักการเข้าสังคม
นี่ล่ะ คำยอดฮิตของชาวเนตก็มาจากสิ่งนี้เช่นกัน มันคือคำเดียวกันกับ Extrovert ที่เราเข้าใจนั่นแหละ คนที่ชื่นชอบการเข้าสังคม ได้พูดคุยกับมนุษย์แล้วเหมือนได้เติมไฟชีวิต เราจึงเห็นคนลักษณะนี้เป็นคนกระตือรือร้น เข้าสังคมเก่ง มั่นใจในตัวเอง และแสดงออกทางอารมณ์ได้ดี ในทางกลับกันของนิสัยนี้ก็คือ Introvert ผู้รักสันโดษ เข้าสังคมแล้วเหมือนโดนดูดพลังชีวิต - Agreeableness อยู่เป็น
เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ลื่นไหลไปกับสถานการณ์ใดๆ แม้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เน้นการมองภาพรวมสังคม ความเป็นกลุ่มก้อนเป็นหลัก มักเป็นคนที่ห่วงใยความรู้สึกผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ ชอบช่วยเหลือ ยอมรับธรรมชาติของแต่ละคน ในทางกลับกัน คนที่มีนิสัยนี้น้อยหน่อยก็จะไม่สนใจความรู้สึกหรือความสนใจของผู้อื่นสักเท่าไหร่ หากไม่เห็นด้วยจะไม่ลื่นไหล คล้อยตาม บางครั้งอาจพ่วงมาด้วยการตำหนิติเตียน หรือบงการผู้อื่นเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ - Neuroticism ไม่มั่นคงในอารมณ์
นิสัยเชิงลบที่อาจส่งผลเสียต่อชีวิตและความเป็นอยู่ มีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์ด้านลบรุนแรง เช่น อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล หงุดหงิด และเศร้าหมอง ในทางกลับกัน คนที่มีนิสัยนี้น้อยหน่อย มักมีความมั่นคงอารมณ์มากกว่า จึงไม่ค่อยเผชิญกับความเครียดและความกังวลสักเท่าไหร่ หรือต่อให้เจอขึ้นมา ก็จะจัดการอารมณ์ได้ดี
แม้จะไม่ครอบคลุมนิสัยทั้งหมดบนโลกใบนี้ก็ตาม แต่สิ่งนี้ก็พอจัดประเภทให้เห็นภาพได้มากขึ้นว่าเรากำลังพูดถึงอะไรอยู่ ซึ่งจากนิสัยทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เราไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองแค่แบบเดียว ใจมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง มีหรือจะนิยามได้จากหนึ่งนิสัย คนหนึ่งอาจปะปนไปด้วยนิสัยต่างๆ จับคู่อันนั้นอันนี้มากมาย ต่อให้เลือกนิสัยหนึ่งมาแล้ว อาจเป็นเฉดเบาบางหรือสุดโต่ง แบ่งย่อยลงไปอีกมาก
นิสัยส่งผลกับความสัมพันธ์แค่ไหน?
แน่นอนว่านิสัยเหล่านี้ ไม่ได้สำรวจมาเล่นๆ ทายนิสัยขำๆ สิ่งนี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์และความยั่งยืนของมันด้วย งานวิจัยหัวข้อ ‘It’s not just who you’re with, it’s who you are: Personality and relationship experiences across multiple relationships’ ตีพิมพ์บน Journal of Personality เมื่อปี 2022 บอกว่าจากนิสัย 5 แบบที่ร่ายยาวไปข้างต้น คนเราจะผสมผสานลักษณะบางอย่างเข้าด้วยกัน อาจจะมากขึ้นหรือน้อยลงในบางอย่าง สิ่งนี้มันส่งผลต่อความยั่งยืนของความสัมพันธ์ด้วย อาจจะยังงงๆ งั้นมาดูตัวอย่างกันหน่อย
สมมติว่า A ชอบเข้าสังคมมากและไม่ค่อยแสดงออกอารมณ์ด้านลบ ทำให้เขาดูเป็นคนมีชีวิตชีวา มั่นคงในอารมณ์ สมมติว่าจับคู่กับ B ที่เป็นคนเปิดกว้างรับอะไรใหม่ๆ พวกเขาก็จะพากันไปสู่กิจกรรมทางสังคมอย่างกระตือรือร้น
หรือจะลองอีกสักตัวอย่างกับ C อยู่เป็นขั้นสูง เข้าอกเข้าใจ เห็นใจผู้อื่นเสมอ ยินดีช่วยเหลือใครก็ตามที่เดือดร้อน มาปิ๊งรักกับ D ผู้เปี่ยมด้วยสติสัมปชัญญะ จัดการนู่นนี่ได้เก่ง ผสมนิดผสมหน่อย ออกมาเป็นความสัมพันธ์ที่มั่นคงทางอารมณ์และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะ D ช่างเป็นคนวางแผนได้อย่างพิถีพิถัน ส่วน C นึกถึงคนรอบข้างที่อยู่ในแผนนี้เสมอ เลยช่วยโอบอุ้มไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น
พอจะเห็นภาพมากขึ้นไหมว่า ต่อให้เรากับแฟนมีนิสัยไม่เหมือนกันในบางเรื่อง (หรือหลายเรื่อง) ไม่จำเป็นว่าเราจะเข้ากันไม่ได้เสมอไป เพราะมันแค่ไม่เหมือน หรือเหมือนแต่คนละเฉด อย่าง A ชอบเข้าสังคมมาก B ก็ชอบเหมือนกัน แม้จะไม่เท่า A แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่าทั้งคู่เป็นคนชอบเข้าสังคมไป
แล้วความไม่เหมือนกันนี้ จะเริ่มเป็นปัญหาเมื่อไหร่?
เราพูดถึงนิสัยในแง่ของความไม่เหมือนกันไปแล้ว แต่มันมีอีกมุมหนึ่งของความไม่เหมือน คือ ความขัดแย้ง ความไม่เหมือนมันยังแค่ในระดับที่เราบอกความแตกต่างได้ เธอเฉดนั้น ฉันเฉดนี้ แต่ความขัดแย้ง มันคือสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน เหมือนตัวอย่างนิสัยทั้ง 5 ซึ่งถ้านับจริงๆ คือ 10 เพราะใน 1 นิสัยจะตามมาด้วยนิสัยตรงข้ามนั้นด้วย
ความต่างจะเริ่มเป็นปัญหาเมื่อมันกลายเป็นความขัดแย้ง และความขัดแย้งที่ว่านั้น ไม่จำเป็นต้องนิสัยตรงข้ามกันอย่าง เข้าสังคมกับรักสันโดษมาเจอกันเสมอไป ลองนึกภาพคนที่ไม่มั่นคงทางอารมณ์ สวิงเหมือนชิงช้า มาเจอกับคนที่อยู่ไม่เป็น เย็นไม่ได้ ฉันไม่ตามน้ำหรือแสดงถึงความเข้าอกเข้าใจ มาเจอกันดูสิ มันจะชุลมุนวุ่นวายขนาดไหน
ความเข้าอกเข้าใจในนิสัยเบื้องต้นของแต่ละคน อาจช่วยให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่าทำไมแฟนเราถึงเป็นคนแบบนี้กันนะ แล้วทำไมเราถึงชอบคิด ชอบตัดสินใจแบบนี้ และเราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยล่ะว่านิสัยมันส่งผลต่อความยั่งยืนของความสัมพันธ์ หากนิสัยด้านลบมาเจอกัน หรือนิสัยที่ขัดกันมาเจอกัน ย่อมมีเหตุให้ขุ่นข้องหมองใจในความสัมพันธ์มากกว่าคู่อื่นๆ
เราปฏิเสธความแตกต่างไม่ได้ (และไม่จำเป็นด้วย)
ไตร่ตรองไปมา เรากับแฟนช่างแสนแตกต่าง แบบนี้แล้วกลับบ้านไปต้องแยกทางกันเลยไหมนะ? อย่าเพิ่งให้มันถึงขั้นนั้น อันนี้เราเพียงอธิบายลักษณะนิสัยบางแง่มุมโดยคร่าว ให้เราได้เข้าใจมนุษย์แฟนและมนุษย์โลกคนอื่นบ้างเท่านั้น แรนดี กุนเธอร์ (Randi Gunther) นักจิตวิทยาคลินิก ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตคู่ กล่าวอย่างติดตลกว่า “ในชีวิตการทำงานกว่า 40 ปีของฉัน ฉันเจอคู่รักที่นิสัยตรงข้ามกันบ่อยกว่าเสียอีก”
และยังให้ความเห็นในเรื่องความแตกต่างในความสัมพันธ์ไว้ว่า แม้มันจะทำให้เกิดความท้าทาย ทำให้เรื่องราวมันยุ่งยากไปบ้าง แต่มันก็สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้เหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราจะต้องการกันและกันมากแค่ไหน และจะหาทางออกนี้ร่วมกันยังไง บางครั้งความต่างมันก็เป็นความดึงดูดบางอย่าง เราได้เห็นเขาใช้ชีวิตในแบบที่เราไม่เคยมี กล้าคิดกล้าทำในแบบที่เรากลัวมาตลอด อะไรเหล่านี้มันอาจช่วยเติมเต็มสิ่งที่เราไม่เคยมีและช่วยให้ความสัมพันธ์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ในทางกลับกัน การที่คนสองคนเหมือนกันเกินไป เหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว ก็ไม่ได้การันตีว่าความสัมพันธ์นั้นจะประสบความสำเร็จเสมอไป งานวิจัยหัวข้อ ‘Actor, partner, and similarity effects of personality on global and experienced well-being’ ตีพิมพ์บน Journal of Research in Personality เมื่อปี 2019 ได้ศึกษาคู่รักต่างเพศกว่า 2,578 คู่ จนได้ข้อสรุปว่า ความคล้ายคลึงกันของนิสัยไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดหรือจุดสิ้นสุดของความเข้ากันได้ มันส่งผลต่อความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่สิ่งที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์มากกว่าคือความส่งเสริมกันของนิสัยต่างหาก (อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น)
นั่นหมายความว่า เราไม่ต้องไปซีเรียสเรื่องไทป์ บททดสอบนิสัย บุคลิกภาพ อะไรมากขนาดนั้น เอาแค่ว่านิสัยของเรามันส่งเสริมกันไหม หรือต่อให้นิสัยไม่ได้เกื้อกูลกันขนาดนั้น แค่มันไม่ขัดกันเสียจนไม่มีความสุขในความสัมพันธ์นั่นก็เพียงพอแล้วหรือเปล่า
ในแง่หนึ่งของการได้มีแฟนที่มีนิสัยต่างกันกับเรา เราได้เข้าใจความคิดความอ่านผู้คนมากขึ้น ได้รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอ ได้แก้ปัญหาไปด้วยกัน และยังเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาจากเขาที่ช่างต่างจากเราได้ด้วย ซึมซับความแตกต่างของกันในหลายด้าน เหมือนได้มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาให้เรียนรู้อยู่เสมอ
ความรักไม่เคยมีสูตรตายตัว ว่าคนแบบนี้ต้องคู่กับคนแบบนี้เท่านั้น หรือคู่นี้มาเจอกันแล้วจะระเบิดตัวเองทิ้ง ลองเปิดใจสักหน่อยกับรสชาติรักที่ไม่คุ้นเคย
อ้างอิงจาก