วนกลับมาอีกแล้ว กับฤดูกาลที่ค่าไฟมักจะพุ่งสูงราวจะแข่งกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว
บางบ้านอาจเพิ่มขึ้นมากถึง 2-3 เท่าในทุกๆ ปี ทำเอาหลายคนสะดุ้งตอนเห็นใบแจ้งค่าไฟ จนอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่าต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหนทำไมค่าไฟถึงแพงขนาดนี้
ความจริงการไฟฟ้าไม่ได้หมกเม็ดแอบขึ้นค่าไฟฟ้าเพื่อฉวยโอกาสจากประชาชนแต่อย่างใด แต่มีหลากหลายเหตุผลที่ทำให้ค่าไฟบานปลาย ทั้งๆ ที่เราอาจรู้สึกว่าตัวเองใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้ต่างไปจากเดิม
สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้างนั้น เราอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบและวิธีแก้ไขจากบทความนี้ไปพร้อมๆ กัน
อากาศยิ่งร้อน เครื่องใช้ไฟฟ้ายิ่งกินไฟฉ่ำ
สาเหตุเริ่มต้นง่ายๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม คืออุณภูมิที่สูงขึ้นทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าแทบทุกชนิดต้องทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทให้ความเย็นอย่างเครื่องปรับอากาศ ที่ยิ่งอากาศร้อนยิ่งต้องใช้ระยะเวลาในการบูสเครื่องนาน แม้แอร์รุ่นใหม่ๆ จะมีระบบเซ็นเซอร์ช่วยลดการทำงานเมื่อภายในห้องอุณภูมิคงที่ แต่กว่าแอร์จะทำความเย็นจนคนรู้สึกเย็นฉ่ำ ก็กินไฟไปแบบอิ่มหน่ำแล้ว หรือตู้เย็นที่ต้องทำงานเพื่อรักษาความเย็นอยู่เสมอ ในหน้าร้อนแบบนี้ก็ยิ่งกินพลังงานมากขึ้นตามแบบช่วยไม่ได้จริงๆ
ไม่ได้ตั้งใจ แค่เผลอ (ใช้ไฟ) มากไป
อีกเหตุผลที่มักถูกมองข้ามคืออาการ ‘เผลอ’ นอกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าจะกินไฟมากขึ้นแบบเลี่ยงได้ยากในฤดูร้อนแล้ว อุณภูมิที่สูงก็ทำให้เราเองอาจเผลอใช้ไฟมากขึ้นกว่าเดิมโดยไม่รู้ตัว
อากาศร้อนแบบนี้ เราก็มักเปิดตู้เย็นหาอะไรดื่มเพิ่มความสดชื่นบ่อยๆ เป็นธรรมดา แต่การเปิดตู้เย็นบ่อยๆ เนี่ยแหละที่ทำให้ตู้เย็นต้องทำงานหนักแล้วก็กินพลังงานมากขึ้นไปอีก หรืออาการที่รู้ทั้งรู้ว่าเปิดแอร์ 26 องศาช่วยประหยัดไฟได้มากกว่า แต่อากาศร้อนนี่นาเลยขอแอบปรับเป็น 20 องศาแล้วกัน แอร์เย็นฉ่ำ ค่าไฟก็ฉ่ำเช่นกัน แล้วไหนช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงปิดเทอมพอดีอีก บ้านไหนที่มีน้องเด็ก หรือน้องหมาน้องแมวขนยาว ก็ยิ่งต้องเอาใจใส่เปิดแอร์คลายร้อนทั้งวัน เพราะหวั่นฮีทสโตรก
เอาเป็นว่ามองมุมไหนก็มีแต่เหตุที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าบานปลายไม่มีวี่แววลดได้เลยจริงๆ
แล้วจะทำยังไงเพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟพุ่งแบบจุกๆ ได้บ้างล่ะ?
คำตอบอาจจะดูเชยเพราะเป็นเรื่องที่เคยได้ยินมานักต่อนักแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผ่านการคอนเฟิร์มโดยผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงแล้วว่าช่วยประหยัดไฟได้จริง
อย่างแรกคือเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของตัวเอง เช่นช่วยลดความร้อนของบ้านด้วยการเปิดหน้าต่างรับลมธรรมชาติ ให้ภายในบ้านอากาศถ่ายเท ช่วยระบายความร้อน แทนการโหมใช้แต่เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา หรือหากเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็ช่วยลดการทำงานหนักของเครื่องด้วยการปรับให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือปรับไว้ที่ 26 องศา ที่อากาศเย็นกำลังพอดีแต่ประหยัดไฟมากกว่า เปิดพัดลมช่วยกระจายความเย็น ที่สำคัญคือไม่ละเลยการล้างแอร์ ที่ควรทำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง หรือการไม่เปิดตู้เย็นบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ตู้เย็นต้องทำงานหนักเกินไป และหมั่นตรวจสอบตัวเองว่าเผลอเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้ในห้องที่ไม่มีคนอยู่หรือเปล่า เป็นต้น
ต่อมาคือการลงทุนระยะยาวเพื่อการประหยัดไฟฟ้าที่ยั่งยืน อย่างการลงทุนกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟน้อยกว่า เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานที่ได้มาตรฐาน, ปลูกต้นไม้รอบบริเวณบ้านเพื่อเพิ่มความร่มรื่น, เปลี่ยนผ้าม่านในบ้านให้เป็นชนิดที่ป้องกันแสง UV ไปจนถึงการลงทุนกับพลังงานทางเลือกอย่างการติดโซลาร์เซลล์ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะสามารถช่วยประหยัดไฟในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
PEA Smart Plus เช็กชัวร์ให้ค่าไฟไม่บานปลาย
ข้อสุดท้ายคือเลือกใช้แอปพลิเคชันเป็นตัวช่วยให้เราควบคุมการใช้ไฟฟ้าของตัวเองได้ง่ายขึ้น อย่าง ‘PEA Smart Plus’ โดยเราสามารถตรวจสอบตัวเองแบบง่ายๆ ไม่ต้องไปสะดุ้งทีเดียวตอนเห็นใบแจ้งค่าไฟฟ้า สามารถตรวจสอบค่าไฟในทุกๆ เดือนได้ด้วยตัวเอง ไม่เพียงช่วยให้เกิดความตระหนักรู้ต่อการประหยัดไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แอปพลิเคชันนี้ยังช่วยอำนวยความสะดวกครอบคลุมด้านต่างๆ ของการใช้ไฟฟ้า ทั้งยังสามารถแจ้งปัญหาไฟฟ้าขัดข้องผ่านช่องทางออนไลน์ มีระบบแจ้งเตือนก่อนถึงกำหนดชำระค่าไฟ แถมยังสามารถชำระค่าไฟผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นด้วย
สุดท้ายแล้วปัญหาค่าไฟพุ่งที่ในหน้าร้อนอาจจะเกิดจากการที่เราติดกับดักของอากาศร้อนๆ ที่ล่อหลอกให้เราใช้ไฟฟ้าสิ้นเปลืองแบบหน้ามืดตามัว แต่สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยื่นด้วยการปรับพฤติกรรมง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการลงทุนปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวในวันนี้ เพื่อการประหยัดพลังงานที่ยั่งยืนในวันหน้า
ที่สำคัญคือต้องหมั่นหาความรู้ความเข้าใจในการใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัยและประหยัด ให้เกิดการตระหนักรู้ก่อนค่าไฟหน้าร้อนจะพุ่งจนต้องร้อง อู้หู!