จำครั้งล่าสุดที่คุณเสียน้ำตาได้ไหม? ในวินาทีที่น้ำตาจำนวนหนึ่งมิลลิลิตร (เขาวัดกันได้ประมาณเท่านี้ หากไม่ปล่อยโฮหนัก) ขณะน้ำตากำลังไหลเอ่อดวงตาทั้งสอง หัวใจคุณส่งสัญญาณลับบอกอะไร เหตุผลของการเสียน้ำตาอาจมาจากความยินดีเปี่ยมล้นอันไม่เคยพบพาน หรือเป็นความเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่ยากจะบรรยาย
คุณอาจรู้สึกปลอดภัยกว่าหากเก็บงำน้ำตาไว้ใต้ผ้าห่ม แต่บางคนกลับร้องไห้ได้ดีกว่าท่ามกลางผู้คน หรือยืนอยู่บนเวที กล้องยิ่งจับมากเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะน้ำตาของข้านี้สื่อ ‘ภาพลักษณ์’
‘ลุงกำนัน’ – สุเทพ เทือกสุบรรณ หลั่งน้ำตาอาบแก้ม โดยกล่าวว่าเป็นน้ำตาแห่งการเสียสละเพราะต้องกลับมาสู่เวทีการเมืองอีกครั้ง ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) แต่อาจเป็นน้ำตาจากการ ‘ตระบัดสัตย์’ ที่เคยบอกเมื่อปี 2556 ว่าจะไม่เล่นการเมืองอีกแล้ว ภาพลุงกำนันน้ำตานองอาบแก้มกลายเป็นไวรัลในเพียงไม่กี่นาที หลายเสียงบอกว่าเป็นน้ำตาของลูกผู้ชาย แต่อีกไม่น้อยที่คิดว่าลุงกำนันน่าจะเศร้าจริงๆ ตามที่แกว่า เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมาชีวิตลุงกำนันก็ไม่ได้จะมีอะไรดีขึ้นมา
เอาล่ะ! พวกเราล้วนมีธรรมชาติแห่งการร้องไห้ที่ไม่เหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ น้ำตา (tear) สามารถเปลี่ยนชะตาชีวิตคนได้ตลอดกาล หากหลั่งออกมาได้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกวาระ ผู้นำในโลกหลายคนใช้น้ำตาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารสู่มวลชนไม่แพ้คำพูดคำจา
แม้น้ำตาจะมีธรรมชาติของอารมณ์ แต่สามารถมี ‘วาระซ่อนเร้น’
ความหมายของน้ำตา
สัตว์ส่วนใหญ่บนผืนพิภพที่มีโครงสร้างร่างกายซับซ้อนหลั่งน้ำตาได้ทั้งนั้น หากเราจะลองสำรวจกว้างๆ ตั้งแต่สัตว์เลื้อยคลานยันสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม น้ำตาช่วยปกป้องดวงตาจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดระคายเคือง เพราะลูกตาเองมีระบบชีวนิเวศที่แตกต่างจากร่างกายอยู่หลายประการ พวกมันจึงเป็นเอกเทศ และจำเป็นต้องได้รับการปรนนิบัติเป็นพิเศษ แต่มนุษย์(น่าจะ)เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์พิเศษที่สามารถร้องไห้ได้โดยอาศัยแรงขับเคลื่อนทางความรู้สึก ไม่ได้เพื่อปกป้องดวงตาจากจุลชีพหรือสิ่งแปลกปลอมเพียงอย่างเดียว
ที่สำคัญเราไม่จำเป็นต้องร้องไห้เพื่อบรรเทาความโศกเศร้า แต่สามารถเสียน้ำตาในยามสุขได้เช่นกัน
นักคิดหลายท่านในอดีตล้วนหนเวียนหาคำตอบกลไกการร้องไห้อันเป็นปริศนาของมนุษย์ แต่ส่วนใหญ่ฟังแล้วไม่ค่อยจรรโลงใจเสียเท่าไหร่ ออกจะไปทางอคติอยู่หน่อยๆ
นักปริชญากรีก อริสโตเติล (Aristotle) กล่าวว่า การร้องไห้ก็เปรียบเสมือนการขับปัสสาวะผ่านดวงตา แม้ฟังดูพิลึกพิกลแต่กลับฝังรากลึกข้ามศตวรรษสู่กลุ่มนักคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (psychoanalytic theory) โดยในปี 1940 นักจิตวิเคราะห์ชาวอเมริกัน ฟิลลิส กรีนาเคอร์ (Phyllis Greenacre) กล่าวว่า การร้องไห้ของเพศหญิงเป็นอาการหนึ่งของความอิจฉาองคชาตเพศชาย (penis envy) โดยผู้หญิงจะร้องไห้ประดุจการปัสสาวะ (ก็ไม่น่าฟังอยู่ดี ถ้าเอามาพูดในยุคนี้ก็คงจะโดนกด report ไม่น้อย)
คำนิยามที่ดูจะน่าฟังขึ้นหน่อย คือของ ชาลส์ ดาวิน (Charles Darwin) ที่เอามุมมองวิวัฒนาการมาจับให้น่าฟังขึ้นเมื่อเขากล่าวว่า การร้องไห้เป็นผลพวงจากวิวัฒนาการที่ช่วยหล่อลื่นดวงตาอย่างมีนัย ปลดเปลื้องเราจากความทุกข์โศกผ่านการระบายออก (cathartic) แต่เขาเองก็ไม่ทราบที่มาที่ไปของกลไกนี้แน่ชัด เว้นที่ว่างๆ ให้นักคิดคนอื่นๆ มาช่วยกันตอบ แต่ต้องยอมรับว่าการระบายออกเป็นนิยามที่ยอมรับกันมากที่สุด ซึ่งเป็นการปลดเปลื้องอารมณ์ที่เขม็งตึงผ่านกลไกทางธรรมชาติของร่างกายคล้ายการแสดงออกทางอารมณ์อื่นๆ ความโกรธ ความสุข ความเหงา เพื่อให้บุคคลนั้นคลายปมทางอารมร์ภายในจิตใจ
จนกระทั่งปี 1980 นักชีวเคมี วิลเลียม เฟรย์ (William Frey) คือคนแรกๆ ที่ศึกษากลไกทางเคมีของน้ำตาด้วยการทดลองวิทยาศาสตร์ เขาพบความเชื่อมโยงว่าการปล่อยน้ำตาช่วยลดองค์ประกอบทางเคมีที่มีผลเชิงลบต่อร่างกาย เช่น ฮอร์โมนเครียด เกิดเป็นน้ำตาที่มาจากอารมณ์ (emotional tear) ซึ่งจะมีคุณสมบัติทางเคมีที่ต่างจากน้ำตาที่ผ่านกลไกป้องกันระคายเคือง (non-emotional tear) โดยมีโปรตีนที่มากกว่า แต่อย่าเพิ่งฟันธงไปเสียทีเดียว เพราะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Tilburg University ได้ลองทดสอบสมมติฐานนี้ แต่ยังไม่สามารถหาโปรตีนจำเพาะนั้นมายืนยันได้ว่า ไอ้โปรตีนที่ว่ามันคืออะไร
น้ำตาแห่งอารมณ์ยากที่จะศึกษาและเก็บตัวอย่างในห้องทดลอง หากสิ่งเร้าตัวเดียวเปลี่ยนไปก็อาจขัดจังหวะทำให้พวกเราหยุดร้องโดยทันที แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า emotional tear มีโครงสร้างที่ซับซ้อนอยู่ โดยมีสมมติฐานว่า น้ำตาแห่งอารมณ์มีฮอร์โมนโพรแลกตินที่ควบคุมด้านการเจริญเติบโต ควบคุมวงจรประจำเดือนในเพศหญิงและสร้างน้ำนม รวมไปถึงฮอร์โมน ‘แอดรีโนคอร์ติโคทรอพิก’ ที่มีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรีย
แต่การร้องไห้ทำให้รู้สึกดีขึ้นจริงๆ หรือเปล่า?
มีความเป็นไปได้ที่น้ำตาทำให้รู้สึกดีขึ้น โดยระหว่างที่เราร้องไห้ ความรู้สึกที่แตกหักจะค่อยๆ ฟื้นฟูกลับมาอยู่ในร่องในรอยอีกครั้งราวพยายามปีนขึ้นจากหลุมบ่อแห่งความเศร้า มีหลักฐานว่า การร้องไห้ช่วยผ่อนคลายระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (parasympathetic nervous system) อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทอัตโนมัติที่รวมอยู่ในระบบประสาทส่วนปลาย ช่วยในการทำงานของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ให้อยู่ในสมดุล ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ลดการบีบตัวของลำไส้ ลดอัตราการหายใจ ลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ช่วยให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลายจากความตึงเครียด จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้หากมนุษย์เผชิญสถานการณ์ยากลำบากเป็นเวลานาน ระบบประสาทอัตโนมัติจะเรียกร้องให้คุณร้องไห้ออกมาบ้าง เพื่อให้ร่างกายกลับสู่สมดุล วิวัฒนาการอันแยบยลนี้ทำให้มนุษย์ดึงดูดกับน้ำตา จนน้ำตาสามารถเป็นเครื่องมือในการสื่อสารหรือหว่านล้อมได้เช่นกัน
สื่อสารด้วยน้ำตา จริตต้องมา
ในอีกแง่มุมหนึ่งของน้ำตาถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่แยบยล (หากคุณสามารถเรียกน้ำตาได้อย่างแนบเนียน) ผู้นำยุคใหม่ในหลายประเทศใช้น้ำตาสื่อสารกับมวลชน สื่อมวลชนชอบภาพวินาทีแห่งการหลั่งน้ำตา มันดูรุ่มรวยไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ภาพน้ำตาของผู้นำขายได้ราคาดีเสมอ หากคุณยิงชัตเตอร์ได้ทัน
‘บารัค โอบามา’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เรียกน้ำตาจากกรณียื่นร่างกฎหมายควบคุมอาวุธปืนพร้อมยกเหตุผลแสดงความเสียใจจากเหตุกราดยิงใส่ฝูงชนที่เกิดบ่อยครั้งในสหรัฐอเมริกา
บุรุษเหล็กแห่งรัสเซีย ‘วลาดีมีร์ ปูติน’ ประธานาธิบดีรัสเซียที่ว่าเป็นผู้นำที่แสดงออกทางสีหน้าน้อยมาก ยังสามารถหลั่งน้ำตาเอาใจผู้สนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อได้อีกวาระ
‘ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี’ อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลีผู้อื้อฉาว ร้องไห้ขอความเห็นใจจากผู้สนับสนุนในกรณีที่เขาเลี่ยงภาษี ทั้งๆ ที่แบร์ลุสโกนี (และน้ำตาของเขา) ถูกวิจารณ์ว่าครอบงำสื่ออิตาลีระหว่างเขาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งยังขายทรัพย์สินของบริษัทเพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน ความเป็นผู้นำของเขาถูกบ่อนทำลายลงโดยกรณีอื้อฉาวทางเพศ และแน่นอน เขาใช้น้ำตาหลายครั้งผ่านสื่อเพื่อขอความเห็นใจจากชาวอิตาลี
มีงานวิจัยที่น่าสนใจจาก Tilburg University ระบุว่า น้ำตาที่มาจากใบหน้าอันเศร้าหมอง แม้จะมีคนเห็นเพียง 50 มิลลิวินาที ก็เพียงพอที่จะเรียกร้องความเห็นใจจากผู้พบเห็น “น้ำตาแสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นต้องการความช่วยเหลือ ต้องการความเห็นใจ”
แล้วทำไมคนเล่นการเมืองต้องหาจังหวะร้องไห้ให้ตัวเอง
นักวิจัยด้านพฤติกรรม จูดิ เจมส์ (Judi James) กล่าวว่า นักการเมืองมักเชื่อว่าน้ำตาสามารถเรียกพลังสนับสนุนจากผู้คน กระชับพื้นที่ความใกล้ชิดให้ตัวเองเป็นมนุษย์ที่สัมผัสได้มากขึ้น มีความรู้สึกเฉกเช่นเดียวกับกลุ่มเป้าหมายที่เขาต้องการหว่านล้อม ยิ่งเป้าหมายนั้นใช้อารมณ์เป็นรากฐานในการตัดสินใจมากเท่าไหร่ น้ำตาก็หว่านล้อมได้ดีไม่แพ้คำปลุกใจฮึกเหิม
โดยพื้นฐานแล้ว การหลั่งน้ำตาใช้หว่านล้อมได้ดีเพราะมีรูปแบบคล้ายกลไกตามธรรมชาติในการเรียกร้องความสนใจแบบเด็ก (babies) ที่ต้องการความเอาใจใส่จากพ่อแม่ และการดูแลอันฝังรากลึกนี้อยู่ในวิวัฒนาการอุ้มชูของสังคมฝูง แต่ไม่ทุกครั้งที่น้ำตาของนักการเมืองจะทำสำเร็จ เพราะสมองของพวกเราที่ไตร่ตรองอยู่เสมอ อาจกระโดดเข้ามาขวางสร้างความสงสัยใคร่พิจารณาว่า ผู้กำลังที่กำลังหลั่งน้ำตานั้น ต้องการอะไรจากพวกเราหรือไม่
หากน้ำตาถูกใช้บ่อยในสถานการณ์เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า น้ำตาก็มีแต่จะเสื่อมอำนาจลง
คนส่วนใหญ่ดูออกว่า คนร้องไห้แสร้งบีบน้ำตา (faking) อาจมีสัญญาณ เมื่อเขาเริ่มรู้ตัวว่าการร้องไห้นั้นไม่ได้ผล ไม่สามารถเรียกร้องความสนใจได้ เขาจะฮึบน้ำตาคืนกลับไปได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า ‘blinking back the tears’ เหมือนกับว่าความเศร้ากระจายหายไปในทันที มันต่างจากการร้องไห้เพื่อระบายอารมณ์ (emotional tear) ที่ไม่ค่อยสนใจการรับรู้ของคนอื่นๆ
หรือสัญญาณที่ขัดแย้งกันระหว่างร่างกายและการแสดงออก คือน้ำตากับร่างกายไม่ไปด้วยกัน คนส่วนใหญ่เมื่อร้องไห้จะพยายามหลบ เอามาปิดป้อง ตัวห่อเล็กลง เพื่อปกปิดความรู้สึกโศกเศร้า แต่นักการเมืองกลับลืมกลไกตามธรรมชาติเหล่านี้ไปโดยร้องไห้อย่างเปิดเผย เพื่อให้ผู้คนเห็นน้ำตาอย่างแจ่มชัด เป็นการสื่อสารมากกว่าเป็นการร้องไห้อย่างธรรมชาติเพื่อระบายความทุกข์ของอารมณ์
มนุษย์มีความย้อนแย้ง เราต้องการผู้นำที่เข้มแข็งและสามารถนำพวกเราไปสู่เป้าหมายใหม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการผู้นำที่มีความเป็นมนุษย์จับต้องได้ หลายคนหาความสมดุลในเรื่องนี้ได้ยาก จุดที่จะไม่มากเกินไปจนเจ้าอารมณ์ ไม่น้อยเกินไปจนเป็นแท่งศิลา
แต่หัวใจความสำเร็จของน้ำตาคือ ‘ความจริงใจ’ ที่ยากจะเลียนแบบหรือ fake ให้เหมือน
หากคุณบีบน้ำตาด้วยความเสแสร้งไปแล้วครั้งหนึ่ง น้ำตานั้นจะประทับภาพลักษณ์บนใบหน้าไปตลอดกาล ต่อให้ร้องไห้อีกครั้ง น้ำตาหมดเป็นลิตรๆ ก็ไม่สามารถเรียกร้องความเห็นใจจากใครเขาได้ เพราะน้ำตาคุณเสื่อมพลังแล้ว
เรามีสิทธิอย่างชอบธรรมที่จะสงสัย ‘น้ำตา’ ไม่ว่าจะออกมาจากดวงตาของใครก็ตาม พวกเราร้องไห้ได้ดีกว่าเมื่ออยู่ใต้ผ้าห่ม แต่นักการเมืองกลับร้องไห้เก่งเมื่อยืนอยู่บนเวที
แต่จะมองแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับสังคมของเราว่ามีรากฐานบนอารมณ์หรือบนเหตุผลมากกว่ากัน ถ้าอารมณ์เสพได้ง่ายกว่า คุณอาจจะเห็นนักการเมืองร้องไห้เก่งกว่านักแสดงละครทีวี
อ้างอิงข้อมูลจาก
- American Academy of Ophthalmology 2018
https://www.aao.org/eye-health/tips-prevention/all-about-emotional-tears
- world leaders crying in public
http://www.businessinsider.com/photos-of-politicians-crying-obama-2016-1