ดีใจก็ร้องไห้ ปราบปลื้มใจก็ร้องไห้ หรือสูญเสีย เสียใจหนักๆ ก็ต้องร้องไห้ ถ้าพูดถึงประเทศที่หลั่งน้ำตาได้กับแทบทุกสถาณการณ์เราคงต้องยกให้กับ ‘เกาหลีเหนือ’
แม้ว่าเกาหลีเหนือจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ดูลึกลับ ไปท่องเที่ยวก็ห้ามถ่ายรูปในที่ๆ ไม่ได้รับอนุญาต มีแต่สื่อและช่องทีวีของรัฐที่ถูกควบคุม แต่ภาพส่วนใหญ่ของประชาชนในประเทศที่ถูกเปิดเผยออกมา ก็มักจะมีรูปเหตุการณ์ตอนร้องไห้อยู่เสมอไป ทั้งในช่วงเวลาเสียใจ และดีใจ จนแทบจะเรียกได้ว่า เป็นประเทศที่ประชาชนหลั่งน้ำตาออกมามากที่สุดแห่งหนึ่ง
น้ำตาแห่งการสูญเสีย
บ่อยครั้ง ที่เราร้องไห้ให้กับการสูญเสีย ประชาชนเกาหลีเหนือเองก็เช่นกัน เมื่อยามที่การสูญเสียผู้นำประเทศสูงสุดมาถึง ประชาชนต่างก็ต้องพร้อมใจกันหลั่งน้ำตาออกมาให้มากที่สุด ส่งเสียงร้องคร่ำครวญให้ดังที่สุด พร้อมท่าทางที่ดูเศร้าที่สุดด้วย
โดยก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือ มีเหตุการณ์สูญเสียผู้นำประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง คือสมัยคิมอิลซุง ในปี 1994 และ คิมจองอิล ในปี 2011 ซึ่งหลังการเสียชีวิตของผู้นำสูงสุด โดยเฉพาะในสมัยของคิมจองอิล ซึ่งประเทศได้มีช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัยถึง 3 ปี และเมื่อสื่อของรัฐได้มีการเผยแพร่ภาพชาวเกาหลีเหนือแต่งกายไว้ทุกข์ ก้มกราบพื้น ร้องไห้หน้าซบดิน ส่งเสียงทุกระทมต่อการจากไปของท่านผู้นำ จนเกิดเป็นกระแสไวรัลบนอินเทอร์เน็ต ที่ทั่วโลกตั้งคำถามว่า ชาวเกาหลีเหนือร้องไห้ทำไม และน้ำตาของพวกเขาเป็นของจริงแค่ไหน
การร้องไห้ให้กับการจากไปของผู้นำเกาหลีเหนือ ถูกมองในหลายประเด็น อย่างสำนักข่าว CNN มองว่า มีสาเหตุจากระบบการปกครองแบบเผด็จการ ที่มักเรียกร้องการหลอกลวงจากผู้ที่ถูกกดขี่ เพราะการแสดงออกเช่นนั้น ทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ง่าย คือต้องแสดงถึงความรักชาติ และหากไม่ทำเช่นนั้น ก็เสี่ยงที่จะถูกข่มเหง จึงเป็นทางเลือกเดียวที่ชาวเกาหลีเหนือหลายคนต้องทำตามตลอด 2 ทศวรรษการปกครองของคิม จองอิล
ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน สำนักข่าวแท็บลอยด์ DailyMail ก็เปิดเผยว่า แหล่งข่าวในเกาหลีเหนือ ระบุว่า ทางการของเกาหลีเหนือเตรียมลงโทษต่อประชาชนที่ไม่ร้องไห้ ร้องไห้ไม่จริงจัง รวมทั้งคนที่ไม่เข้าชุมนุมแสดงความไว้อาลัยในพิธีศพคิม จองอิล ด้วยการส่งตัวไปยังค่ายฝึกแรงงานอย่างน้อย 6 เดือนด้วย
Barbara Demick ผู้เขียนหนังสื่อเรื่อง ‘Nothing to Envy’ ที่เล่าถึงชีวิตของชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ ว่าในช่วงการเสียชีวิตของคิม อิลซุง ผู้อาศัยในเมือง Chongjin ได้นำดอกไม้มาวางไว้บริเวณรูปปั้นของคิม อิลซุง ที่ทำด้วยทองสัมฤทธิ๋ และต้องปล่อยน้ำตาอย่างมหาศาลราวกับปล่อยน้ำลงทะเล สลับกับการทุบตีพื้น แสดงความทุกข์ระทม เหมือนการแข่งขันกันว่าใครร้องไห้ได้มากที่สุด ดังที่สุด ซึ่งมีช่องทีวีของรัฐถ่ายทอดเหตุการณ์อยู่ สลับกับภาพของฟ้าผ่า และสายฝนที่ไหลริน
นักเรียนคนหนึ่ง ได้เล่าให้เธอฟังว่า “มันเป็นเหมือนกับการแข่งขัน ต้องจ้องมอง ร้องไห้ จ้องมอง และร้องไห้ออกมา จนในที่สุด มันกลายเป็นกลไกอัตโนมัติของร่างกาย ที่ข้ามาแทนที่ในจิตใจ และทันใดนั้นมันกลายเป็นเหมือนการร้องไห้จริงๆ”ซึ่งเขารู้สึกว่าตัวเองต้องล้มตัวโยก สะอื้นไปเหมือนกับคนอื่นๆ
Demick ยังเล่าว่า ประชาชนบางคน ก็ร้องไห้ออกมาด้วยความวิตกกังวลกับสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขาในอนาคต เนื่องจากในตอนนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก คิม จองอึน ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำใหม่ จึงทำให้เกิดความกังวลถึงชีวิตความเป็นอยู่ ภายใต้การปกครองของผู้นำสมัยหน้า เช่นเดียวกับ Park Jong-Chul นักวิเคราะห์แห่งสถาบันแห่งชาติในโซล ที่มองว่า น้ำตาพวก เป็นของจริง แต่ก็มีประชาชนบางส่วนที่ร้องไห้ เพราะคิดว่าพวกเขาต้องร้องไห้ และรู้สึกว่าพวกขถูกจับตาดูอยู่ จึงต้องร้องไห้
อีกมุมมองหนึ่ง เกี่ยวกับการร้องไห้ของ Hazel Smith ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ ผู้อาศัยอยู่ในเกาหลีเหนือเป็นเวลา 2 ปี ก็มองว่า ผู้ที่ร้องไห้เป็นตัวแทนชนกลุ่มน้อยที่ได้ประโยชน์ภายใต้กฎของผู้นำ เช่นภาพการร้องไห้ของนักเรียนมัธยมอันดับ 1 ของเปียงยาง ที่เป็นโนงเรียนชั้นสูง และภาพเหล่านี้มักถูกนำไปออกอากาศ แสดงให้ทั้งโลกเห็นความโศกเศร้าของการสูญเสียผู้นำด้วย
น้ำตาแห่งความปลื้มปิติ
น้ำตา ไม่ได้ไหลออกมาเพียงแค่เวลาเราเสียใจ หรือสูญเสีย สำหรับเกาหลีเหนือก็เช่นกัน ประชาชนไม่ได้ร้องไห้ออกมาเมื่อพวกเขาสูญเสียผู้นำสูงสุดเท่านั้น แต่ในเวลาที่พวกเขาได้พบ ได้สัมผัส ได้มีต แอนกรี๊ดกับผู้นำ เราก็มักเห็นภาพของประชาชนร่ำไห้ด้วยความปลื้มปิติ ซึ่งเป็นตั้งแต่ในสมัยคิม อิลซุง มาถึงคิม จองอึนเลยด้วย
Yvonne Schulz Zinda ศาสตร์จารย์ ด้านเกาหลีศึกษา แห่งมหาวิทยาลัย Hamburgระบุว่า ภาพการน้ำตาไหลด้วยความปิติยินดีเหล่านี้ ไม่ใช่การแสดงที่แปลก อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิของแสดงตัวตนของผู้นำในเกาหลีเหนือที่เริ่มต้นโดยคิม อิลซุง ปู่ของคิม จองอึน ที่ทำให้สถานะผู้ปกครองเกินจริงเกือบจะเหมือนพระเจ้า
ซึ่ง Park Jong-Chul เอง ก็มองว่า มีประชาชนที่ต้องแกล้งร้องไห้ในงานสูญเสียผู้นำ ในภาพแห่งความปิติ ก็ต้องมีประชาชนที่ต้องร้องไห้เสมือนปิติยินดี แม้ว่าน้ำตาทุกหยดจะไม่ใช่น้ำตาแห่งความปิติด้วย เช่นกัน
และไม่ใช่เพียงภาพของการปิติยินดี ได้พบผู้นำ แต่เกาหลีเหนือยังมีการร้องไห้ที่แสดงถึงความปิติยินดีกับความเป็นชาติเกาหลีเหนือ เมื่อได้ยินเพลงชาติ ในการแข่งขันกีฬานานาชาติด้วย ซึ่งมีกรณีที่น่าสนใจคือการร้องไห้ของนักฟุตบอล Jong Tae-Se ระหว่างเพลงชาติเกาหลีเหนือ ในนัดแข่งกับบราซิล ในรายการ FIFA World Cupปี 2010
กรณีของ Jong แตกต่างจากการร้องไห้ของชาวเกาหลีเหนือคนอื่นๆ ที่มักถูกใช้เป็นภาพแสดงความรักชาติของประเทศ เพราะว่า Jong นั้นไม่ใช่ชาวเกาหลีเหนือ! แต่กลับร้องไห้อย่างปิติ เมื่อได้ยินเพลงชาติเกาหลีเหนือ ซึ่งเขาเกิดในญี่ปุ่น มีพ่อแม่เป็นชาวเกาหลีใต้ โดยเขาได้ใช้ชีวิตในญี่ปุ่น และเล่นใน J-League ก่อนจะมาเล่าให้กับทีมฟุตบอลของเกาหลีเหนือ หลังคืนสิทธิการเป็นพลเมืองเกาหลีใต้ และมอบหนังสือเดินทางเล่มใหม่ให้กับสถานกงสุลเกาหลีเหนือในโตเกียว ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่
แม้จะไม่มีใครรู้ว่า แท้จริงแล้ว ทำไม Jong ถึงร้องไห้กับเพลงชาติเกาหลีเหนือ แต่ก็มีความคิดเห็นบางส่วนที่มองว่า น้ำตาเหล่านั้นเป็นพลังรักชาติอย่างแท้จริง แม้ว่าจะเป็นน้ำตาให้กับประเทศที่เขาไม่ได้อาศัยอยู่จริงๆ ด้วย
น้ำตาของผู้นำ
เมื่อพูดถึง คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ หลายครั้งเราจะนึกภาพของผู้นำที่โหดร้าย เกรี้ยวกราด โมโหง่าย แต่คิม เองก็เคยแสดงออกในด้านที่อ่อนแอ และเสียน้ำตาให้เราเห็นเช่นกัน
โดยในช่วงการเสียชีวิตของ คิม จองอิล ผู้เป็นพ่อ ท่ามกลางการเสียน้ำตาที่มากมายของชาวเกาหลีเหนือ เราก็ได้เห็นภาพการร้องไห้ของคิม จองอึนเช่นกัน ซึ่งหลังจากนั้น ภาพการเสียน้ำตาของคิม ก็แทบไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย จนกระทั่งมีข่าวเมื่อต้นปี 2018 ว่า คิม ได้ร้องไห้ให้กับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศด้วย
มีการปล่อยภาพวิดีโอการร้องไห้ของคิม จองอึน ที่ถูกอธิบายว่าเป็นการร้องไห้ให้กับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศ โดยเป็นช่วงก่อนที่ คิม จะได้พบปะกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน. ของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ซึ่งสำนักข่าว Asahi Shinbun ของญี่ปุ่นระบุว่า คลิปฟุตเทจนี้ถูกปล่อยจากชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ ที่มีการติดต่อกับสมาชิกระดับสูงในพรรค ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า นี่อาจจะเป็นข้อความทางการของคิม ที่ต้องการส่งไปให้สมาชิกพรรคด้วย
ทั้งยังมีการมองว่า การเสียน้ำตาของคิมในครั้งนี้ ถ้าหากเป็นการร้องไห้จริงๆ ก็จะเป็นก้าวสำคัญของการเมืองระหว่างประเทศในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือมีความตึงเครียด ซี่งเกาหลีเหนืออาจถูกคว่ำบาตรได้ หรือการร้องไห้ในครั้งนี้ แท้จริงอาจจะเป็นเรื่องของการส่งสารทางการเมืองด้วยก็เป็นได้
นอกจากการหลั่งน้ำตาของผู้นำ น้ำตาของประชาชนที่ร้องไห้ให้กับการสูญเสียผู้นำ ปิติยินดี และรักชาติแล้ว ยังมีน้ำตาอีกหลายที่เราเห็นเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาของชาวเกาหลีเหนือและใต้ ที่ได้พบกันในงานรวมญาติที่จัดขึ้น หลังต้องพัดพรากกันเมื่อเหนือ—ใต้แยกประเทศ น้ำตาของชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ที่หนีออกจากประเทศสำเร็จ
และเราเชื่อว่า ยังมีน้ำตาของชาวเกาหลีเหนือ ที่ต้องอาศัยอยู่ในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ ที่พวกเขาไม่สามารถส่งเสียงร้องไห้ออกมาให้โลกได้รู้ และเราเองก็ไม่สามารถรับรู้ถึงการร้องไห้ของพวกเขาได้เลย
อ้างอิงจาก