ถึงช่วงเวลานั้นของปีอีกครั้ง ช่วงเวลาที่คณะกรรมการรางวัลแมน บุคเกอร์ ไพรซ์ (Man Booker Prize) รางวัลหนังสือที่ยิ่งใหญ่แห่งเกาะอังกฤษประกาศรายชื่อหนังสือที่ผ่านเข้ารอบแรก
หนังสือที่ได้รับรางวัลนี้กลายเป็นหนังสือดัง และคลาสสิกสำหรับวงการวรรณกรรมร่วมสมัยหลายชิ้นมากๆ เช่น Midnight’s Children ของ ซัลมาน รุชดี (Salman Rushdie), The Remains of the Day ของ คะซุโอะ อิชิงุโระ (Kazuo Ishiguro), The God of Small Things ของ อรุณธตี รอย (Arundhati Roy), Disgrace ของ เจ เอ็ม คุทซี (J. M. Coetzee), หรือ Life of Pi ของ ยานน์ มาร์เตล
มาดูกันว่าในปีนี้ หนังสือที่จะเข้ารอบแรก สิบสามเล่มสุดท้าย มีอะไรน่าสนใจบ้าง ในสายตาดิฉันนะคะ (ผลงานของนักเขียนบางคน ดิฉันก็ต้องขอสารภาพตามตรงว่าไม่เคยอ่าน ต้องกราบขออภัยถ้าพูดผิดไปบ้าง)
โดยรวมๆ แล้ว ผู้เขียนปีนี้น่ากลัวมากๆ สำหรับดิฉัน บางคนเคยได้รับรางวัลนี้มาแล้ว (การรับสองรอบเคยเกิดขึ้นมาแล้ว คุทซีเคยรับสองรอบมาแล้ว ฮิลารี แมนเทล (Hilary Mantel) ก็ด้วย) บางคนเคยได้รับรางวัลจากที่อื่นมาแล้วด้วย บางคนก็เป็นนักเขียนดังมากๆ มาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าแต่ละคนเป็นใครยังไงบ้าง คงจะเก็งไม่ได้นะคะว่าใครจะชนะ หรือใครจะแพ้ แต่ก็ขอใช้พื้นที่ตรงนี้แนะนำนักเขียน และให้ทุกท่านได้ลองหาโอกาสประเมินนักเขียนเหล่านี้เองจะดีกว่า
4 3 2 1 – พอล ออสเตอร์ (Paul Auster)
พอล ออสเตอร์ (Paul Auster) ส่ง 4 3 2 1 (เล่มเบ้อเริ่มเลยค่ะ) มาเข้าชิง พูดถึงผู้ชายสี่คน ชื่อนามสกุลเดียวกัน ว่าอาร์ชิบาล ไอแซค เฟอร์กูสัน (Archibald Isaac Ferguson) ดีเอ็นเอเดียวกัน แต่มีชีวิตสี่แบบ ไม่เหมือนกันเลย แถมหลงรักผู้หญิงสี่คน ชื่อเอมี ชไนเดอร์มัน (Amy Schneiderman) ดีเอ็นเอเดียวกัน แต่ทั้งสี่คนก็ไม่เหมือนกันอีก
ความเห็น : พออ่านเรื่องย่อก็รู้สึกได้ว่านี่คือป๋าออสเตอร์ ออสเตอร์เป็นเจ้าของผลงาน City of Glass วรรณกรรมหลังสมัยใหม่ (postmodern) เล่มคลาสสิก ส่วนหนึ่งของ New York Trilogy วรรณกรรมเรื่อง City of Glass เต็มไปด้วยตัวละคร double ที่ชวนสับสน มีตัวละครนักเขียนชื่อแดเนียล ควินน์ (Daniel Quinn) ที่ใช้ชื่อปลอมว่าพอล ออสเตอร์ เพื่อทำงานเป็นนักสืบ แต่ไปเจอกับพอล ออสเตอร์ที่เป็นนักเขียนจริงๆ คนที่ต้องตามสืบก็ดันมีคนหน้าคล้ายกันสองคน เหมือนกับเมืองนี้เป็นเมืองกระจกสะท้อนไปมา การสืบสวนของควินน์จะนำไปสู่อะไร หรือจะนำไปสู่อะไรบ้างไหม วรรณกรรมเรื่องนี้ตั้งคำถามกับการอ่านวรรณกรรมสัจนิยมหรือวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนที่เรารู้จัก นอกจากนี้ยังชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์อเมริกันด้วย จากการทำความรู้จักนวนิยายเล่มนี้ของดิฉัน ดิฉันคิดว่าออสเตอร์ไม่ธรรมดาแน่นอน ไม่คิดว่าจะเป็นวรรณกรรมว่าด้วยผู้ชายสี่คนชื่อเดียวกันแล้วก็สะท้อนไปสะท้อนมาให้เรางงเฉยๆ ป๋ามีอะไรมากกว่านั้นมากค่ะ
Days Without End – เซบาสเตียน แบร์รี (Sebastian Barry)
เซบาสเตียน แบร์รี (Sebastian Barry) ส่ง Days Without End นวนิยายที่ว่าด้วยสงครามกลางเมืองอเมริกัน ตัวเอกอย่างโธมัส แมคนัลที (Thomas McNulty) เด็กหนุ่มอายุยังไม่ถึงสิบเจ็ดดี อพยพจากไอร์แลนด์หลังเผชิญกับสภาวะความหิวโหยครั้งใหญ่ (The Great Hunger) เพราะไอร์แลนด์เจอกับโรคระบาดในมันฝรั่ง โธมัสเดินทางมายังอเมริกาและสมัครเป็นทหารในกองทัพอเมริกัน ร่วมรบในสงครามอินเดียน (Indian Wars) และสงครามกลางเมือง (Civil Wars) โธมัสได้พบเจอกับเพื่อนทหารอย่างจอห์น โคล (John Cole) ทั้งสองได้ผูกพันใช้ชีวิตร่วมกัน และได้พบเจอกับเด็กหญิงชาวซิอูกซ์ (Sioux) ที่ทั้งคู่ร่วมกันเลี้ยงจนกลายเป็นเหมือนครอบครัว ท่ามกลางไฟสงคราม
ความเห็น : หนังสือเล่มนี้ชนะรางวัลมาแล้วหนึ่งรางวัลค่ะ นั่นคือ Costa Book Awards จากร้านกาแฟคอสตา มีทั้งความเป็นไปได้ว่าจะได้รางวัล เพราะมีรางวัลอื่นการันตี และอาจจะไม่ได้รางวัลเพราะได้รางวัลอื่นมาแล้ว งานของแบร์รีนั้นน่าสนใจและเล่นกับประเด็นสงครามบ่อยครั้ง รวมทั้งเรื่องอัตลักษณ์คนไอริชด้วย งานชิ้นหนึ่งที่ทำให้แบร์รีได้เข้าชิงรางวัลบุคเกอร์ ไพรซ์ ชื่อว่า The Secret Scripture ว่าด้วยหญิงอายุหนึ่งร้อยปีนาม โรซานน์ แมคนัลที (Roseanne McNulty) ผู้อาศัยอยู่โรงพยาบาลจิตเวชมานานกว่าห้าสิบปี เธอตัดสินใจจะเขียนอัตชีวประวัติของตัวเอง รวมทั้งเรื่องราวของพ่อแม่เธอ ซึ่งเกิดที่เมืองซลิโก (Sligo) ในไอร์แลนด์ เธอซ่อนสิ่งที่เธอเขียนไว้ใต้พื้น เนื้อเรื่องส่วนแรกเป็นของโรซานน์ อีกส่วนเป็นของ นายแพทย์กรีน (Grene) หัวหน้านักจิตบำบัดประจำโรงพยาบาลที่ต้องตัดสินใจให้ผู้ป่วยบางคนกลับสู่สังคมเพราะโรงพยาบาลกำลังจะถูกทุบทำลายในอนาคต นายแพทย์กรีนเกิดเป็นห่วงโรซานน์ขึ้นมา และคิดจะอ่านเรื่องราวของเธอ เรื่องนี้เล่าชีวิตผู้หญิงที่มีชีวิตในช่วงเวลาการเมืองผันผวนในไอร์แลนด์ได้อย่างน่าสนใจ ดิฉันเลยคิดว่า Days Without Ends ไม่น่าจะทำให้คนชอบอ่านวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ผิดหวัง แบร์รีเองได้พยายามเปิดพื้นที่ให้กับเสียงที่ไม่เคยเล่าในประวัติศาสตร์กระแสหลักด้วย ครั้งนี้ก็เช่นกัน (ลองคิดดูสิคะ เด็กหนุ่มสองคน รับเด็กผู้หญิงมาเลี้ยงเป็นครอบครัว นี่มัน LGBT นะเนี่ย)
History of Wolves – เอมิลี ฟริดลันด์ (Emily Fridlund)
เอมิลี ฟริดลันด์ (Emily Fridlund) ได้เข้าชิงด้วยนวนิยายเล่มแรกของเธอ ชื่อ History of Wolves ซึ่งเล่าเรื่องราวของเด็กสาวชื่อลินดาและการเผชิญโลกของเธอ เธออยู่ในป่าแถบมินนิโซตา เป็นคนที่แปลกแยกจากสังคมและแทบจะไม่มีเพื่อนนอกจากลิลี (Lily) เพื่อนลึกลับ และอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์ชื่อมิสเตอร์เกรียร์สัน (Mr. Grierson) ภายหลังเธอได้เป็นพี่เลี้ยงเด็กให้แก่ครอบครัวการ์ดเนอร์ (Gardner) ด้วย ที่มาพร้อมกับความลับบางอย่างด้วย
ความเห็น : ไม่รู้จักนักเขียนคนนี้เลย เพราะเธอมือใหม่ แต่เธอได้รางวัลแมกกินนิส ริทชี (McGinnis-Ritchie) สำหรับบทแรกของนวนิยายเล่มนี้ ใครชอบนวนิยายชีวิต และอยากลองอ่านนักเขียนมือใหม่ งานชิ้นนี้ก็น่าน่าสนใจค่ะ
Exit West – โมชิน ฮามิด (Moshin Hamid)
โมชิน ฮามิด (Moshin Hamid) นักเขียนดังจากเอเชียใต้ ก็มีนิยายเข้าชิง นั่นคือ Exit West ซึ่งเล่าเรื่องราวของนาเดีย (Nadia) กับซาอีด (Saeed) ผู้พบรักกันในช่วงเวลาที่ประเทศที่ตัวเองอยู่กำลังเข้าสูสภาวะสงครามกลางเมือง แต่ในที่สุด เมื่อสงครามปะทุ ทั้งสองก็ตัดสินใจเดินทางอพยพออกไปยังดินแดนใหม่
ความเห็น : ฟังดูเหมาะกับช่วงนี้มากๆ เลยว่าไหมคะ โดยเฉพาะวิกฤตซีเรียที่ทุกคนทราบกันดีอยู่และปัญหาผู้ลี้ภัยที่เป็นข่าวกันบ่อยๆ ฮามิดมีงานสร้างชื่ออย่าง The Reluctant Fundamentalist นวนิยายว่าด้วยการก่อการร้ายและอคติทางชาติพันธุ์ในอเมริกา ตัวเอกอย่างชางเกซ (Changez) เป็นคนที่รักอเมริกามากๆ แต่กลับถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 9/11 เรื่องนี้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วยนะคะ ใครสนใจเรื่องชาติพันธุ์และสนใจนักเขียนเอเชียใต้ Exit West ก็น่าจะเป็นหนังสือที่น่าสนใจสำหรับคุณค่ะ
Solar Bones – ไมค์ แมคคอร์แมค (Mike McCormack)
ไมค์ แมคคอร์แมค (Mike McCormack) นักเขียนไอริชได้รับเลือกเข้าชิงรางวัลจากหนังสือเล่มที่ห้าในชีวิตของเขา Solar Bones ซึ่งเป็นนวนิยายว่าด้วยวันรวมวิญญาณ (All Soul’s Day) ซึ่งเป็นวันที่ผู้ตายจะกลับมายังโลกมนุษย์ ระยะเวลาหนึ่งชั่วโมง ณ ช่วงเวลานั้นเอง คือช่วงเวลาที่มาร์คัส คอนเวย์ (Marcus Conway) ได้รับรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสะพาน ระบบของธนาคาร ตลอดจนชีวิตสมรส ถูกประกอบสร้างขึ้นมาอย่างไร และแตกสลายลงได้อย่างไร ด้วยสายตาของวิศวกรแบบเขา นวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะเป็นจินตนิยาย (Fantasy novel) ที่เล่นกับพิชานหรือสำนึกรู้ (consciousness) ของมนุษย์ด้วยค่ะ
ความเห็น : ดิฉันคิดว่าแมคคอร์แมคดูจะสนใจสมองและจิตใจของมนุษย์มากๆ จนมีคนบอกว่าเล่มล่าสุดของเขาเป็นนวนิยายเขียนโดยกลวิธีแบบกระแสหลังสำนึก (stream of post-consciousness) งานชิ้นที่เคยเข้าชิงรางวัลไอริช ไทมส์ อวอร์ด (Irish Times Award) ของเขา ซึ่งมีชื่อว่า Notes from a Coma ว่าด้วยการเปลี่ยนคุกเป็นสภาวะโคมาแทน นักโทษไม่ต้องอยู่ในคุกอีกแล้ว แต่จะทำให้อยู่ในสภาวะโคมา ถ้าใครชอบงานแนววรรณกรรมวิทยาศาสตร์ จินตนิยาย หรือสนใจหรือสนใจเรื่องสำนึกรู้ของมนุษย์ งานของแมคคอร์แมคน่าสนใจค่ะ
Reservoir 13 – จอน แมคเกรเกอร์ (Jon McGregor)
จอน แมคเกรเกอร์ (Jon McGregor) นักเขียนอังกฤษได้รับคัดเลือกเข้าชิงจากนวนิยายเรื่อง Reservoir 13 ว่าด้วยการหายตัวไปของเด็กสาวคนหนึ่งที่เดินทางมาเที่ยวต่างจังหวัด ชาวบ้านในท้องที่ก็ออกตามหา แต่ชีวิต ไม่ว่าจะของมนุษย์หรือสัตว์ ก็ต้องเดินทางต่อไป กลายเป็นว่าการหายตัวไปของเด็กสาวคนนี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงชีวิตชาวบ้านทั้งหลายเป็นเวลาสิบสามปี เกิดอะไรขึ้นกันแน่
ความเห็น : แมคเกรเกอร์เคยได้เข้าชิงรางวัลบุคเกอร์แล้วหนึ่งครั้งจากนวนิยายเล่มแรก ชื่อ If Nobody Speaks of Remarkable Things ซึ่งว่าด้วยเหตุการณ์โหดร้ายบางอย่างซึ่งกลายเป็นแผลในใจให้แก่ชาวเมืองที่ได้พบเห็น แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่จนกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่ง น่าสนใจตรงที่ จุดร่วมของงานสองชิ้นนี้คือการเล่าเหตุการณ์ธรรมดาๆ ของคนธรรมดาๆ แต่กลับแฝงประเด็นใหญ่ๆ เอาไว้ได้ ตามชื่อเรื่องของนวนิยายที่เข้าชิงเล่มแรกของเขา Remarkable Things หรือสิ่งน่าสนใจนั้นอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่พอจนกลายเป็นข่าวใหญ่โต แต่มันบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงและชีวิตมนุษ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว ใครชอบนวนิยายแนวเล่าไปเรื่อยๆ แต่ให้อารมณ์ความรู้สึกที่หนักอึ้ง คิดว่างานของแมคเกรเกอร์จะน่าสนใจทีเดียวนะคะ
Elmet – ฟิโอนา มอซลีย์ (Fiona Mozley)
ฟิโอนา มอซลีย์ (Fiona Mozley) นักเขียนมือใหม่ ชนิดงานยังไม่ออกจากโรงพิมพ์ (แต่ส่งถึงกรรมการแมนบุคเกอร์แล้ว) เขียนนวนิยายชื่อ Elmet ว่าด้วยครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณตอนกลางค่อนไปทางเหนือของประเทศอังกฤษ Elmet เป็นชื่อเดิมของราชอาณาจักโบราณในอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลยอร์กเชอร์ (Yorkshire) เรื่องเล่าชีวิตของครอบครัวหนึ่ง ชายป่า อยู่ในบ้านไม้ที่สร้างเอง สองพี่น้องแดเนียลและเคธี ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่พ่อของตนมีกับคนในชุมชน
ความเห็น : ดิฉันคิดว่านวนิยายแนวอังกฤษเก่า ในดินแดนชนบทมีอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้าเสียด้วยซ้ำ พื้นที่ธรรมชาติแบบพื้นบ้าน เรียบง่าย มักถูกเชื่อมโยงกับความเป็นอังกฤษ ถ้าจำได้ พิธีเปิดโอลิมปิกที่ลอนดอนปี 2012 ก็เริ่มขึ้นด้วยฉากท้องทุ่ง มีชาวบ้านวิ่งเล่น ใช้ชีวิตเรียบง่าย ถ้าใครสนใจนวนิยายที่พูดถึงโลกปิด วิพากษ์ความเป็นอังกฤษ และความขัดแย้งระหว่าง ‘ในบ้าน’ และ ‘นอกบ้าน’ ลองอ่านดูค่ะ (รอเดือนพฤศจิกานะคะ ยังไม่ตีพิมพ์)
The Ministry of Utmost Happiness – อรุณธตี รอย (Arundhati Roy)
อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) คุณแม่ของเรา คุณแม่กลับมาคราวนี้พร้อมนิยายเล่มใหญ่ The Ministry of Utmost Happiness ซึ่งเป็นเรื่องราวของตัวละครมากมาย ไม่ว่าจะอันจุม ผู้อาศัยอยู่ในสุสาน ติโล สาวสวยที่มีชายหนุ่มมาหลงรัก เป็นต้น หลังปกนิยาย คุณแม่บอกว่า “How to tell a shattered story? By slowly becoming everybody. No. By slowly becoming everything.” หรืออาจแปลได้ว่า “เราจะเล่าเรื่องราวที่แตกเป็นเสี่ยงได้อย่างไร เล่าโดยค่อยๆ กลายเป็นทุกคนหรือ เปล่าเลย เล่าโดยค่อยๆ กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างต่างหาก”
ความเห็น : คุณแม่หายหน้าหายตาไปนานจากวงการวรรณกรรม เล่มแรกที่คุณแม่เขียน The God of Small Things ได้รับรางวัลแมนบุคเกอร์ ไพรซ์และกลายเป็นหนังสือดังขายดิบขายดี ใช้ในชั้นเรียนวิชาวรรณกรรมสารพัด ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมเอก วรรณกรรมร่วมสมัย วรรณกรรมหลังอาณานิคม ฯลฯ เรื่องราวของเล่มนี้ว่าด้วยตัวละครฝาแฝดหญิงชาย เอสเธอร์ (Esther) และราหา (Raha) ซึ่งมีความหลังดำมืดเกี่ยวข้องกลับกลิ่นกุหลาบเก่าๆ แม่ของตนเอง และชายจัณฑาลชื่อเวลูธา (Velutha) เรื่องราวของนวนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่การตามหาความจริง แต่เป็นเรื่องราวที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ของการพยายามเล่าบาดแผลในอดีต ซึ่งเกิดจากโครงสร้างอุดมการณ์ต่างๆ ในสังคมที่กดทับและกดขี่คนทุกคน แม้แต่ผู้กดขี่เองก็ตาม งานวรรณกรรมชิ้นใหม่ของคุณแม่ เป็นชิ้นที่สอง หลังจากพิมพ์งานเขียนแนวการเมืองมานาน ใครสนใจงานที่ว่าด้วยอำนาจในด้านชนชั้น เพศสถานะ ชาติพันธุ์ ความเจ็บปวด และเรื่องราวของผู้คนในสังคมอันบิดเบี้ยว ขอให้ลองอ่านเล่มนี้ดูนะคะ (มีลูกศิษย์คนหนึ่งบอกมาว่าสนุกมาก เชียร์ให้คุณแม่ได้รางวัลบุคเกอร์รอบสองสุดใจเลยทีเดียว)
Lincoln in the Bardo – จอร์จ ซอนเดอร์ส (George Saunders)
จอร์จ ซอนเดอร์ส (George Saunders) คนนี้ก็ไม่เบา เรื่องสั้นเขาโดดเด่นมาก วันนี้ ซอนเดอร์สมากับนิยายเล่มแรกชื่อ Lincoln in the Bardo นิยายเล่มนี้ดัดแปลงมาจากชีวิตของวิลลี ลินคอล์น ลูกชายอายุสิบเอ็ดขวบของอับราฮัม ลินคอล์น วิลลีเสียชีวิตท่ามกลางไฟของสงครามกลางเมือง แต่สิ่งที่ซอนเดอร์สเพิ่มเข้าไปคือ ความเหนือธรรมชาติ เพราะวิลลีต้องเผชิญหน้ากับภูตผีวิญญาณต่างๆ ในแดนชำระบาป (หา!) และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกภพภูมิที่เรียกตามหลังพุทธแบบทิเบต (หา!) ว่า the Bardo
ความเห็น : จริงๆ ดิฉันไม่รู้จักซอนเดอร์สมากนัก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์กลายเป็นประเภทนวนิยายที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับนักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัย การเขียนประวัติศาสตร์คราวนี้ก็เป็นการเล่นกับระนาบความจริงความลวง ประวัติศาสตร์ที่เรารู้หรือมองว่าเป็น ‘ความจริง’ ถูกแต่งเติมอย่างจงใจเพื่อสะท้อนอะไรบางอย่างหรือเปล่า กรณีนี้ ใครเห็นชื่อ Lincoln in the Bardo ก็ต้องนึกถึงพ่อก่อน ใครจะไปนึกถึงลูกเนาะ ถ้าอย่างนั้น ทำไมพ่อจะต้องอยู่ในสภาวะเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณด้วยหรือ แบบเดียวกับลูกหรือ แล้วเกี่ยวอะไรกับการมองประวัติศาสตร์อเมริกา ใครสนใจอเมริกา น่าอ่านค่ะ
Home Fire – คามิลา แชมซี (Kamila Shamsie)
คามิลา แชมซี (Kamila Shamsie) นักเขียนปากีสถานอีกคน (เคียงคู่มากับฮามิด) ได้รับคัดเลือกจากนวนิยายเรื่อง Home Fire (ตีพิมพ์วันที่ 7 กันยา 2560) วาด้วยชีวิตของอิสมา (Isma) พี่สาวคนโตของครอบครัวปากีสถานที่อพยพมาอังกฤษ เธอเป็นกังวลเรื่องน้องของเธอ หลังจากแม่เสียชีวิต แต่เธอกำลังได้รับโอกาสไปทำฝันให้เป็นจริงและเดินทางไปอเมริกา ในขณะที่อนีคา (Aneeka) น้องสาวของเธอ เป็นคนดื้อรั้นและชวนให้เธอกังวลใจ ปาร์เวซ (Parvaiz) น้องชายของเธอกลับทำให้เธอกังวลใจมากยิ่งกว่า เพราะเขาไปเข้าร่วมกับนักรบจีฮัด ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อของทั้งสามเป็น (แต่ทั้งสามไม่เคยเห็นหน้าพ่อ) อิสมาได้พบกับเอมมอน (Eammon) ลูกชายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ เธอได้แค่คาดหวังว่าเอมมอนจะช่วยเหลือน้องชายเธอได้ แต่เธอก็ไม่แน่ใจนัก
ความเห็น : ขอสารภาพว่าไม่เคยอ่านหรือได้ยินชื่อแชมซีมาก่อนเลย แต่เมื่อค้นดูก็พบว่างานของเธอน่าสนใจ โดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่องอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ Kartography นวนิยายเล่มที่สามของเธอได้เข้าชิงรางวัลจอห์น เลเวลิน รีสอะวอร์ด (John Llewellyns Rhy Award) นวนิยายเรื่องนี้ว่าด้วยความผูกพันของลูกพี่ลูกน้องชาวปากีสถานอย่างราฮีน (Raheen) และคาริม (Karim) เมื่อครอบครัวคาริมต้องเดินทางไปอังกฤษ ทั้งคาริมและราฮีนต่างพยายามเยียวยาความเจ็บปวดที่ต้องพรากจากกัน คาริมเยียวยาด้วยการเรียนรู้แผนที่ ส่วนราฮีนค้นหาความลับเกี่ยวกับพ่อแม่ของตัวเอง จนกลายเป็นการเปิดโปงประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศปากีสถาน จากเรื่องย่อนวนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนคิดว่า แชมซีจะเล่นกับประเด็นชาติพันธุ์และการพบปะของโลกตะวันออกตะวันตกอยู่เสมอๆ ใครชอบแนวนี้และคิดว่าแนวนี้น่าจะถูกใจกรรมการก็ขอให้เชียร์ และขอให้รอซื้อกันได้ค่ะ (ถ้าใครสนใจเทพปกรณัมกรีก เรื่อง Home Fire ดัดแปลงมาจากตำนาน Antigone นะคะ)
Autumn – อาลิ สมิธ (Ali Smith)
อาลิ สมิธ (Ali Smith) คุณแม่อีกคน คราวนี้ นักเขียนงานแปลกประหลาดอย่างคุณแม่มากับนวนิยายชื่อ Autumn ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสี่ฤดูของคุณแม่ นวนิยายเล่มนี้ว่าด้วยอังกฤษ หลังการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป ผ่านสายตาของสองตัวละคร แดเนียล ผู้มีอายุหนึ่งร้อยปี และอลิซาเบธ อายุสามสิบกว่าๆ
ความเห็น : งานคุณแม่เป็นงานแปลก เล่นกับวิธีการเขียนที่แปลก How to be Both นวนิยายที่เคยเข้าชิงบุคเกอร์ของคุณแม่เล่มนี้ก็ประหลาด ว่าด้วยชีวิตสองชีวิตที่แตกต่าง คนละยุค คนละสมัย เรเนสซองส์กับทศวรรษ 1960 วิธีการเขียนของคุณแม่ก็พิสดาร แต่เก๋และชวนคิดมาก ใครชอบงานแนวทดลอง และสนใจอังกฤษยุคหลังประชามติ ไม่ควรพลาดค่ะ
Swing Time – ซาดี สมิธ (Zadie Smith)
ซาดี สมิธ (Zadie Smith) คุณแม่อีกหนึ่งท่าน (ปีนี้มันน่ากลัวจริงๆค่ะ) นักเขียนอังกฤษเชื้อสายจาไมกา มากับนวนิยายชื่อ Swing Time ว่าด้วยชีวิตของเด็กสาวผิวสีสองคน เทรซี (Tracey) และ Aimee (เอมี) ทั้งสองอยากจะเป็นนักเต้น แต่เทรซีเป็นคนเดียวที่มีพรสวรรค์และกลายเป็นนักเต้น ได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของสาวๆ คอรัส ในขณะที่เอมีได้เป็นผู้ช่วยนักร้องดังคนหนึ่ง และมีความคิดจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เชื้อสายแอฟริกัน เธอจึงได้เดินทางไปแอฟริกาตะวันตก และพบเจอกับนักท่องเที่ยวแอฟริกาพลัดถิ่น ที่ต้องการตามหารากเหง้าของตนเอง การเดินทางครั้งนี้ทำให้เอมีนึกถึงเทรซีและเข้าใจรากเหง้าของความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในโลก
ความเห็น : ซาดี สมิธเป็นคุณแม่นักเขียนมือทองจริงๆ ถึงเธอจะไม่เคยได้บุคเกอร์ ไพรซ์ แต่เธอเคยได้รางวัลมาแล้วสี่รางวัลจากนวนิยายเล่มแรกที่เธอตีพิมพ์นั่นคือเรื่อง White Teeth ซึ่งเล่าเรื่องราวของครอบครัวชาวบังคลาเทศและอังกฤษที่สนิทสนมกันในลอนดอน ถึงแม้นวนิยายเล่มนี้จะหนา แต่ได้รับคัดเลือกไปทำซีรีส์ออกช่องสี่ที่อังกฤษด้วย ดิฉันคาดเดาว่าความสนุกสนานจากเรื่องราวของคุณแม่ซาดี สมิธจะดึงดูดให้คนที่สนใจเรื่องราวชีวิตครอบครัว ผู้หญิงและชาติพันธุ์สนุกไปกับมันได้ ใครสนใจแนวนี้ แนะนำ Swing Time (และชิ้นอื่นๆ) ของคุณแม่เลยค่ะ
Underground Railroad – โคลสัน ไวท์เฮด (Colson Whitehead)
โคลสัน ไวท์เฮด (Colson Whitehead) นักเขียนอเมริกันได้รับคัดเลือกจากนวนิยายเรื่อง The Underground Railroad นวนิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องการผจญภัยของคอรา ทาสผิวสีในไร่ฝ้ายที่ถูกเหยียดจากทาสด้วยกันเอง เธอได้ทางหนีจากซีซาร์ ทาสมาใหม่ ทั้งสองหนีไปผ่านทาง “ทางรถไฟใต้ดิน” ซึ่งเป็นคำเรียกบ้านและที่หลบภัยสำหรับทาสจากรัฐทางใต้ในอเมริกาขึ้นมาทางเหนือ (แต่ในกรณีนี้ มีรางรถไฟลับจริงๆ อยู่ใต้ดินด้วย) ระหว่างการเดินทาง คอราได้ฆ่าเด็กหนุ่มผิวขาวที่พยายามจะจับกุมเธอ ทำให้เธอถูกตามล่า ริดจเวย์ คนล่าทาสก็ตามเธอมาติดๆ เธอจึงต้องเดินทางหนีไปเรื่อยๆ ทีละรัฐ ทีละรัฐ จนกว่าจะเป็นอิสระ
ความเห็น : นี่คือคู่แข่งที่น่ากลัวอีกคน ทำไมน่ะหรือ ก็ไวท์เฮดเขาขนะรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer) กับรางวัลหนังสือแห่งชาติ (National Book Award) มาแล้วน่ะสิ รางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสองรางวัลสำหรับนักเขียนอเมริกันเลยก็ว่าได้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ไวท์เฮดเขียนงานแนววรรณกรรมวิทยาศาสตร์มาก่อน ถ้าอย่างนั้น ความมหัศจรรย์แฟนตาซีจะมาอยู่ใน The Underground Railroad หรือเปล่า แล้วความมหัศจรรย์นี้จะมาช่วยเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การค้าทาสอย่างไร และอธิบายชีวิตทาสในมุมมองที่เราไม่เคยเห็นแบบไหน ไวท์เฮดก็เป็นอีกคนที่ไม่ควรพลาดจริงๆ ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากๆ
ปีนี้ แมน บุคเกอร์ ไพรซ์ดุเดือดมากๆ ชนิดนองเลือดเลยก็ว่าได้ นักเขียนแต่ละคนชวนให้ขนลุกขนชันไปหมด สิ่งที่พอจะสรุปได้คืองานแนวชาติพันธุ์และวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์มีเยอะขึ้นทุกปีๆ นักเขียนเหล่านี้ รวมไปถึงกรรมการงานบุคเกอร์คงอยากจะให้เราย้อนมองกลับไปยังข้อผิดพลาดหรือเรื่องราวที่ถูกลบเลือนในอดีต และชวนให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเคยรู้เคยเชื่อมาก่อน วรรณกรรมไม่เคยเป็นเรื่องจริง แต่ทรงพลัง และบอกเล่าอะไรมากมาย ชนิดที่งานประเภทอื่นๆเล่าไม่ได้
ไม่ว่าเล่มไหนจะชนะ แต่แนวโน้มของวรรณกรรมที่ว่าด้วยการมองย้อนหลังกลับไปถึงความขัดแย้งต่างๆ ทั้งในระดับปัจเจกและระดับชาติพันธุ์กำลังเพิ่มขึ้น โลกวรรณกรรมคงอยากจะถามว่าเราหลงลืมอะไรบางอย่างไปหรือเปล่า การมองย้อนอาจจะเสนอทางออกให้แก่เขาวงกตที่เราต้องเดินทุกวันๆก็เป็นได้