คนพิการมีลูกได้ด้วยหรอ จะเลี้ยงลูกยังไง แล้วคนพิการมีเซ็กซ์ได้หรือเปล่านะ?
คำถามและมุมมองของสังคม ที่เกิดจากการถูกปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรม กลายเป็นแนวคิดฝังรากลึก จนกลายเป็น ‘ความจริงที่ไม่จริง’ เกี่ยวกับคนพิการ และตีตราคนกลุ่มหนึ่งให้ยิ่งมีสถานะต่ำกว่า
เพราะพิการจึงทำงานไม่ได้ เพราะพิการจึงเรียนไม่ได้ เพราะพิการจึงใช้ชีวิตไม่ได้ และ เพราะพิการจึงมีลูกไม่ได้
แต่ภายใต้ความคาดหวัง(ไปเอง)ของสังคม คนพิการก็ได้ทลายกรอบนั้นออกมา เพื่อจะบอกกับทุกคนว่า “คนพิการก็คือคน และทำทุกอย่างได้เหมือนๆ กับคนไม่พิการนั่นแหละ” เรื่องเพศและการมีลูก ก็เช่นกัน เพียงแต่อุปสรรคใหญ่ที่มาขวางกั้น คือมุมมองที่สังคมกำลังตัดสินก็เพียงเท่านั้น
The MATTER ชวนไปชมเรื่องราว ประสบการณ์ และมุมมองทางสังคมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจสังคม และตอบคำถามใจเรื่องเพศของคนพิการ
ความไม่เท่าเทียม การตีตรา การปฏิบัติ สารพัดปัญหาคนที่พิการต้องเผชิญจากสังคม
ต้นตอของปัญหาอาจฟังดูซ้ำซาก แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างชายเป็นใหญ่ และความไม่เท่าเทียมทางอัตลักษณ์ ยังคงเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ ‘คนพิการ’ ต้องเผชิญกับการตีตรา
สุรีพร ยุพา มิยาโมโตะ คุณแม่ลูกสอง และเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวก็เช่นกัน
“เราเกิดมาเป็นผู้หญิง ก็เหมือนถูกวางในตำแหน่งหนึ่งที่แบบว่าไม่ได้เท่าเทียมกับผู้ชายอยู่แล้ว แล้วยิ่งเรามามีความพิการเพิ่มเข้ามาอีก มันก็เหลื่อมล้ำในความเป็นมนุษย์ของเรามากขึ้น” สุรีพรกล่าว พร้อมระบุว่า แม้คนพิการเองจะใช้พลังใจในการก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ยังมีมุมมองจากสังคมที่มากดทับอยู่ดี
ขณะที่ รุ่งรัศมี วงษ์งาม นักศึกษา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคนพิการทางการมองเห็น ก็เห็นถึงปัญหาในมุมที่คล้ายกัน
เธอเล่าว่า ผู้หญิงพิการนั้นเสี่ยงต่อการโดนล่วงละเมิดทางเพศง่ายคนไม่พิการ โดยเฉพาะคนตาบอด ที่ไม่เห็นคนที่เข้ามาช่วยเหลือ จึงไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนคนนั้นเข้ามาในเจตนาที่ดีหรือไม่ดี และสำหรับผู้พิการด้านอื่น เช่น คนพิการทางการเรียนรู้ ก็ยิ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ง่ายขึ้น
และประการถัดมา ในด้านมุมมองที่สังคมมีต่อคนพิการ เมื่อพูดถึงเรื่อง ‘เพศสัมพันธ์’ สังคมมักจะมีมุมมองว่า ‘พิการแล้วมีเพศสัมพันธ์ได้ด้วยหรอ หรือว่ามีแล้วมียังไง’ ซึ่งสุรีพรระบุว่า “จริงๆ แล้วคือเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นเหมือนคนทั่วไป การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปเขามีกัน เพราะฉะนั้นไม่อยากให้มองว่า ถ้าเป็นคนพิการแล้วจะต้องมีอะไรที่ผิดแปลกจากมนุษย์ทั่วไป มันคือเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนสามารถมีได้”
คนพิการเป็นในสายตาของสังคมไทย จากปัจจัยการปลูกฝังวัฒนธรรมและศาสนา
ในมุมของวิชาการแล้ว รศ. ดร. เพ็ญจันทร์ ประดับมุข เชอร์เรอร์ คณะสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงเรื่องมุมมองที่สังคม มีต่อคนพิการว่า ปัญหาหลักมาจาก มายาคติว่า ‘พิการ เท่ากับ ไม่ปกติ’ กล่าวคือ ไม่ได้มีร่างกายอย่างที่สังคมคาดหวังว่าควรจะเป็น
จึงส่งผลให้เกิดอคติต่อคนพิการในหลายประการ โดยเฉพาะด้านความสามารถ ทั้งถูกมองว่าทำงานไม่ได้ เรียนหนังสือไม่ได้ รวมถึงไม่สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทเรื่องเพศได้
มุมมองเช่นนี้ ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากวัฒนธรรม โดยเฉพาะจากแนวคิดทางศาสนาที่มองว่าความพิการเกิดจากการมีกรรม ไม่ได้มองว่าเป็นคนเท่ากัน จนคนในสังคมมองและให้ความช่วยเหลือคนพิการในลักษณะของ ‘การสงเคราะห์’
นอกจากนั้น ชุดความรู้ทางการแพทย์ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินได้ อย่างในมิติทางเพศ คนอาจยังไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่าคนพิการนั้นจะสามารถมีกิจกรรมทางเพศได้อย่างไรบ้าง ความพิการแบบใดบ้างที่จะส่งต่อสู่ลูก เพราะไม่ใช่ทุกความพิการที่จะส่งต่อไปสู่ลูกได้ แต่สังคมกลับเข้าใจไปแบบนั้น และเกิดการตีตราว่าคนพิการไม่ควรมีลูก
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นทางเพศของคนพิการนั้น ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่มากจากสังคม
ในทางสังคมศาสตร์ ‘เพศ’ เป็นแนวคิดที่ถูกประกอบสร้างขึ้น ว่าเพศที่ดี เหมาะสม ควรจะเป็นเพศแบบไหน กล่าวคือ ต้องเป็นเพศที่สามารถ ‘ใช้งาน’ ได้ ดังนั้นคนพิการทางกายยิ่งถูกกดทับ เช่น คนที่พิการโดยเป็นอัมพาตท่อนล่าง ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีสิทธิที่จะได้รับความพึงพอใจจากกิจกรรมทางเพศ อย่างในต่างประเทศก็ให้ความสำคัญกับสิทธิเรื่องนี้ ถึงขั้นที่หลังจากออกจากโรงพยาบาล จะมีการติดตามและให้คำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรกับกิจกรรมทางเพศ
สุรีพรให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยให้ความเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า เมื่อเรื่องความพิการกับเรื่องเพศมาผูกรวมกัน ซึ่งเป็น 2 เรื่องที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของสังคมมากนัก ยิ่งทำให้กลายเป็นปัญหาที่คนจะขาดความเข้าใจอย่างยิ่ง และหากเป็น ‘ผู้หญิง’ ก็ยิ่งมีอัตลักษณ์ทับซ้อนที่จะทำให้ถูกอคติเพิ่มเติมเข้าไปอีก
มุมมองเรื่องเพศที่สังคมมีต่อผู้พิการ จึงได้กลับมากระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาและเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเพศในกลุ่มคนพิการอีกด้วย เนื่องจากในหลักสูตรการศึกษของไทย ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ และไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องเพศศึกษาอย่างครบถ้วนหรืออย่างตรงไปตรงมา และยิ่งเป็นคนพิการ ก็อาจถูกปิดกั้น เพราะมองว่า ‘ไม่จำเป็นต้องรู้หรอก’
ด้าน สุรีพร บอกว่า เธอเริ่มได้รับรู้ข้อมูลจริงๆ ก็ในช่วงที่ทำงานกับกลุ่มที่ขับเคลื่อนสิทธิทางเพศ สตรี และอนามัยวัยเจริญพันธุ์ จึงเริ่มเข้าใจว่าผู้หญิงพิการยก็มีสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดีได้ สามารถที่จะมีบุตรได้ และสามารถที่จะมีครอบครัวได้
ประสบการณ์ครั้งหนึ่ง คือตอนไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น แล้วมีการจัดกิจกรรมที่ผู้หญิงพิการมาตั้งวงพูดคุยถึงเรื่องเพศอย่างลึกซึ้ง เช่น เวลามีเพศสัมพันธ์จะต้องทำอย่างไร “มันช่วยเปิดหูเปิดตาให้เราเข้าใจและมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับเรื่องเพศ” สุรีพรกล่าว พร้อมเสริมว่าเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเจอในประเทศไทย แต่เมื่อได้รับข้อมูล จึงทำให้ ‘กล้าตัดสินใจที่จะมีลูก มีครอบครัว’
เพราะได้รับข้อมูล และการสนับสนุน จึงกล้าตัดสินใจมีลูก
“ถ้าเราไม่ได้มาทำงานเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ก็คิดว่าตัวเองก็คงไม่กล้าที่จะตัดสินใจมีลูก” สุรีพรในฐานะคุณแม่ลูกสองเล่าย้อนกลับไปในอดีต ว่าเพราะว่าข้อมูลข่าวสารที่มี ทำให้ไม่รู้เลยว่าสำหรับคนพิการควรจะมีลูกหรือไม่ ไปจนถึงในรายละเอียดอย่าง การดูแลครรภ์ วิธีการคลอด ที่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเข้าใจรอบด้าน จึงจะมั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงลูกได้ดี
สุรีพรเริ่มจากการปรึกษาแพทย์ และมีขั้นตอนการวางแผนครอบครัวตามปกติ โดยแพทย์ไม่ได้มีคำแนะนำอะไรเป็นพิเศษในฐานะที่เป็นคนพิการ
ในด้านครอบครัวและคนรอบตัว ที่ได้คุยกับมารดาว่าหากตั้งท้องจะว่าอย่างไร “แม่บอกก็ดีสิจะได้มีหลาน ก็รู้สึกว่าทุกคนก็ยินดีนะที่จะให้เรามีลูก” สุรีพรเล่าพร้อมยิ้มแย้ม พร้อมกล่าวว่า เธอเองก็ไม่รู้ว่าคนภายนอกจะคิดอย่างไร แต่ในเมื่อครอบครัวและสามีไม่มีปัญหาอะไร เธอก็คิดว่าพร้อมแล้วที่จะมีลูก
รุ่งรัศมี ให้ความเห็นต่อกรณีการตัดสินใจมีลูกของคนพิการ ที่มักจะโดนตัดสินจากคนในสังคม ว่า “เรารู้สึกว่ามันคือการด้อยค่าตัวเรา เราเป็นคนพิการก็จริง แต่เราก็เป็นคน เราก็อยากดูแลรับผิดชอบตัวเองได้เหมือนกับทุกคนบนโลกนี้” โดยยกตัวอย่างบิดาและมารดาของตนเองซึ่งเป็นคนพิการเช่นกัน แต่ก็สามารถเลี้ยงดูตนให้เติบโตมาได้อย่างดี
ซึ่งขณะที่มารดาของรุ่งรัศมีตั้งครรภ์ ก็มีญาติพี่น้องที่แสดงความเห็นว่า “ไม่น่าปล่อยให้เกิดมาเลย เพราะจะเพิ่มประชากรพิการอีกคนในครอบครัว แต่แม่ของหนู เขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาไร้ศักยภาพที่จะเลี้ยงดู”
ในด้านของสุรีพร ขณะที่ตัดสินใจมีลูก เธอมั่นใจว่าความพิการของตนนั้นจะไม่ส่งต่อไปยังลูก แต่หากลูกเกิดมาพิการจากสาเหตุอื่นซึ่งไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ ก็เป็นสิ่งที่ตั้งใจไว้แล้ว ว่าจะเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด โดยสามีก็ให้ความมั่นใจเช่นกันว่าจะรักและดูแลลูกอย่างดี ซึ่งเธอบอกว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ยิ่งทำให้กล้ามีลูก เพราะคนรอบตัวสนับสนุน
ปัญหาของคุณแม่พิการ ที่ไม่ได้ต่างจากคุณแม่คนอื่นๆ
หนึ่งในคำถามที่หลายคนคงจะสงสัย คือ แล้วคนพิการจะเลี้ยงลูกได้อย่างไร เพราะหากตาบอดก็อาจมองไม่เห็นว่าลูกทำอะไร หรือหากพิการทางการเคลื่อนไหวก็จะเดินเหินไปไหนมาไหนเพื่อเลี้ยงลูกไม่ได้
สุรีพรเล่าถึงประสบการณ์ตรงขณะที่เลี้ยงลูกเล็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ว่าอาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ในขณะนั้นที่เธอเองต้องเลี้ยงลูกคนเดียว เนื่องจากไม่ได้อยู่กับสามีหรือมารดาของตน ก็จะต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่เธอก็ได้ขอคำปรึกษาจากเพื่อนคนพิการที่มีลูกเช่นกัน ก็ได้รับคำแนะนำจากกลุ่มคุณแม่ เช่น หากลูกร้องไห้แล้วเราจะต้องไปชงนมควรจะทำอย่างไร ก็ได้แนะนำให้ใช้เป้อุ้มเด็กช่วย หรือหากโตกว่านั้นอาจใช้รถเข็นเด็ก ซึ่งสามารถเข็นพาไปด้วยได้ทุกที่ ที่จริงๆ แล้วก็เป็นปัญหาทั่วไปที่ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่คนพิการหรือคนไม่พิการ ก็ย่อมต้องเผชิญไม่ต่างกัน
“คิดว่าคุณแม่ทุกคน คุณแม่ที่พิการ มีใจที่จะเลี้ยงลูกอยู่แล้ว มันก็ต้องมีวิธีพลิกแพลง ไม่เฉพาะเรื่องของการเลี้ยงลูกเนอะ การใช้ชีวิตของเรามันก็พลิกแพลงทุกวัน” สุรีพรกล่าว เพราะด้วยการเป็นคนพิการที่มีร่างกายไม่เหมือนคนอื่นๆ ทำให้ในชีวิตประจำวันหลายอย่างก็ต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับวิธีการที่ตนเองจะทำได้ ดังนั้น การเลี้ยงลูกก็ใช้แนวคิดในการปรับตัวที่ไม่ต่างกัน
อุปสรรคที่คาดไม่ถึง แต่กำลังเกิดขึ้นกับคุณแม่พิการ คือการใชัชีวิตร่วมในสังคมกับลูก โดยสุรีพรเล่าว่า แม้อยู่ที่บ้านจะไม่มีปัญหา แต่ด้วยโครงสร้างต่างๆ ในประเทศไทยไม่ได้เอื้อต่อคนพิการขนาดนั้น เช่น เรื่องการเดินทาง และ Universal Design (การออกแบบเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้)
เช่น เมื่อเธอจะต้องไปเข้าร่วมงานวันแม่ที่โรงเรียนของลูก แต่สถานที่จัดงานอยู่ที่ห้องประชุม ซึ่งเป็นชั้น 3 ของอาคาร แต่กลับไม่มีการจะทำลิฟต์หรือทางลาดสำหรับรถเข็น ทำให้เธอขาดโอกาสในการไปร่วมงานทันที หรือหากไป ก็จะรู้สึกไม่ดีที่ต้องลำบากให้คนอื่นช่วยยกรถเข็นขึ้นไปถึง 3 ชั้น และกลัวว่าเพื่อนๆ ของลูกจะตัดสิน และยังมีสถานการณ์อื่นๆ เช่น การไปนอนเฝ้าลูกที่โรงพยาบาล ซึ่งหากไม่ใช่ห้องพิเศษ ผู้ใช้รถเข็นก็ไม่สามารถเข้าไปได้อย่างสะดวก
ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้าง เพื่อคุณภาพชีวิตของคนพิการ และของคนทุกคน
ปัญหาเรื่องการสนับสนุนคนพิการนั้น แน่นอนว่าการสนับสนุนในด้านสวัสดิการต่างๆ จากรัฐย่อมเป็นสิ่งจำเป็น และควรพัฒนารูปแบบหรือจำนวนเงินให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตจริง แต่นอกจากนั้น โครงสร้างของสังคมก็เป็นประเด็นสำคัญไม่แพ้กัน ที่จะทำให้คนพิการใช้ชีวิตอย่างปกติได้
สุรีพรกล่าวถึงประสบการณ์การเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ว่า อย่างน้อยในทุกวันนี้ สถานที่ต่างๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพราะถูกกำหนดด้วยกฎหมาย เช่น ทุกที่มีห้องน้ำคนพิการ มีทางลาด “เราก็คิดว่า ถ้าเป็นเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เราทำหน้าที่แม่ได้ดีเท่านี้ไหม ต้องขอบคุณที่กฎหมายต่างๆ ของไทยดีขึ้น” เธอเล่า
แต่ก็ยังมีจุดที่เป็นปัญหาที่คนพิการอาจยังไม่สามารถเข้าถึงได้อยู่บ้าง เช่น ฟุตบาทที่แคบจนรถเข็นไม่สามารถขึ้นได้ กลายเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ที่ลูกของสุรีพรต้องเดินบนฟุตบาท และจับมือกับเธอที้ใช้รถเข็นอยู่บนระดับพื้นถนน ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายอย่างยิ่ง แต่ไม่มีทางเลือกอื่น
นอกจากโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมแล้ว โครงสร้างสังคมอันเกิดจากมุมมองก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากคนมีความเข้าใจต่อคนพิการที่ถูกต้อง ก็จะนำมาสู่สิทธิที่ทุกคนควรจะได้รับอย่างเหมาะสม และเคารพซึ่งกันและกัน
รุ่งรัศมีเสริมในประเด็นที่ว่า ในประเด็นเรื่องเพศ คนพิการเองก็ควรได้รับข้อมูลความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างถูกต้องและรอบด้าน รวมถึงความรู้เรื่องการมีลูก
เพราะนอกจากองค์ความรู้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตทางเพศของคนพิการแล้ว ยังช่วยให้คนพิการรู้เท่าทันปัญหาที่อาจเกิดได้อย่างการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้อีกด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สังคมควรตระหนักและเสริมความปลอดภัยให้คนพิการด้วยเช่นกัน
รศ. ดร. เพ็ญจันทร์ ให้ข้อสรุปว่า การจะให้เกิดความเท่าเทียมกับคนพิการได้จริงๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาทุกองค์ประกอบทางสังคมอย่างรอบด้าน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการปรับมุมมองของคนในสังคมที่มีต่อคนพิการให้ถูกต้อง
เริ่มได้ตั้งแต่คนในครอบครัว เพราะวิธีการเลี้ยงลูก หรือวิธีที่ครอยครัวปฏิบัติต่แบูกที่เป็นคนพิการนั้น ส่งเสริมต่อความมั่นใจและภูมิใจในตัวเอง ซึ่งจะกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนพิการเองต่อไปในอนาคต ที่ถ้าหากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถเติบโตไปอย่างดีและใช้ชีวิตอย่างปกติไดั
และผู้มีอำนาจก็เช่นกัน ที่สามารถกำหนดความเป็นไปของสังคมได้ตั้งแต่เรื่องการศึกษา การเดินทาง เศรษฐกิจ และ ‘สิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์’ ที่ยังถูกมองข้ามไป
“พิการร่างกายได้ แต่อย่าให้เป็นพิการทางสังคม”
รศ. ดร. เพ็ญจันทร์ กล่าว เพราะคนพิการก็มีความสามารถและใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนไม่พิการทุกประการ แต่เพราะโครงสร้างต่างๆ ของสังคมต่างหากที่ละเลย จนกลายเป็นภาวะพิการทางสังคม ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มทึ่ ทั้งที่คนพิการก็คือคนเช่นกัน
บทความชิ้นนี้ผลิตโดยนักข่าวที่
Editor: Thanyawat Ippoodom
Graphic Designer: Manita Boonyong