อนาคตของโรงหนังขนาดเล็ก และหนังนอกกระแส จะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อกฎหมายที่มีอยู่ดูเหมือนจะไม่เอื้อให้ไปต่อได้?
วันที่ 16 ธันวาคม 2024 เฟซบุ๊กเพจ Doc Club & Pub. ได้โพสต์ว่า Doc Club & Pub. จะหยุดให้บริการในส่วนของ ‘พื้นที่ฉายภาพยนตร์’ แล้วเพราะเผชิญกับเงื่อนไขของ กฎกระทรวงที่ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ
ในโพสต์ได้เล่าย้อนไปถึงความตั้งใจที่ริเริ่มให้มีการฉายภาพยนตร์ขึ้นมา ว่าต้องการให้มีพื้นที่สำหรับ ‘หนังนอกกระแส’ แต่ด้วยเป็นขาดความรู้เพราะเป็นกิจการที่ไม่เคยทำ จึงทำให้ Doc Club & Pub. ไม่เคยทำเรื่องขออนุญาตเป็น ‘โรงมหรสพ’ นำมาสู่คำถามว่า กฎเกณฑ์ที่ว่านี้เป็นอย่างไร และมีผลต่อการทำโรงหนังขนาดเล็กมากน้อยแค่ไหน?
ถ้าจะอธิบายแบบกระชับ กฎกระทรวงฉบับนี้ ในใจความสำคัญ เช่น
1) นิยามของโรงมหรสพ ตาม พ.ร.บ.อาคาร คือ เป็นอาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับฉายภาพยนตร์ แสดงละคร แสดงดนตรี หรือการแสดงรื่นเริงอื่นใด และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าชมการแสดงนั้นเป็นปกติธุระ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
2) กฎกระทรวง ระบุถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะต้องทำตามด้วยจุดประสงค์ด้านความปลอดภัย เช่น กำหนดลักษณะของที่ดิน บันไดหนีไฟ ไปจนถึงกำหนดแบบแปลนอาหาร ผังไฟ ปริมาณส่งจ่ายน้ำ จำนวนทางออก ฯลฯ รวมถึงมีการกำหนดวิธีการขอใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาต ฉบับละ 500 บาท
Doc Club & Pub. ได้ตั้งคำถามว่า ดังนั้น ไม่ว่าจะมีจำนวนผู้ชมเท่าไร หรือถูกมองว่าเป็นโครงการเล็กใหญ่แค่ไหน หากเข้าข่ายว่ามีการทำการแสดงเป็นประจำ ก็จะต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับต่างๆ ของกฎกระทรวง
“อุปสรรคสำคัญที่สุดที่จะทำให้ micro cinema เกิดขึ้นได้ยากนั้น ไม่ใช่เรื่องของโลเคชั่น ทุน หรือแม้แต่คอนเทนต์ มากเท่ากับการที่พรบ.ภาพยนตร์และกฎกระทรวงในปัจจุบันซึ่ง “ใช้หลักเกณฑ์ในการอนุญาตตัวอาคารและโรงมหรสพ เกณฑ์เดียวกันทั้งหมด” Doc Club & Pub. ระบุ
ได้ส่งตัวแทนไปใบอนุญาตแล้ว แต่เมื่อเป็นเพียงโรงหนังขนาดเล็ก ย่อมไม่ผ่านการพิจารณาในหลายประการ ทำให้ Doc Club & Pub. ไม่ได้รับใบอนุญาต และต้องหยุดให้บริการในส่วนของการฉายหนังไป
เมื่อเกิดข่าวนี้ขึ้น ได้มีข้อสังเกตต่อกรณีนี้ โดยเฉพาะเรื่องของกฎกระทรวง ที่ยังถูกเขียนขึ้นมาในยุคสมัยที่ยังไม่มีแนวคิด ‘Micro Cinema’ ทำให้กลายเป็นว่าใช้หลักเกณฑ์เดียว ถูกบังคับใช้กับโรงหนังทุกรูปแบบตั้งแต่โรงในระดับใหญ่จนถึงระดับเล็ก
ในโพสต์ดังกล่าว ทิ้งท้ายด้วยการเรียกร้องว่า
“เรายังขอยืนยันว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้น จำเป็นที่สุดที่จะต้องถูกแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อให้พื้นที่ฉายหนังขนาดเล็กเกิดขึ้นได้อย่างเป็นอิสระ หรืออย่างน้อยก็อยู่ภายใต้กฎกติกา (โดยเฉพาะเรื่องอาคารและความปลอดภัย) ที่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่และจำนวนผู้ใช้บริการตามลักษณะของโรงนั้นตามจริง และที่สำคัญคือ กฎหมายควรมุ่งเน้นการส่งเสริม ไม่ใช่มุ่งปราบปรามทำลาย”
หลังจากประกาศดังกล่าวถูกเผยแแพร่ออกไป ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ทั้งบนเฟซบุ๊กเอง และขยายไปพูดคุยต่อในวงกว้างมากขึ้น เช่น บนแพลตฟอร์ม เสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ากฎหมายนี้มีความล้าหลัง และเอื้อให้กับนายทุนใหญ่เท่านั้น ควรมีการปรับแก้ให้ทันยุคทันสมัย ไม่ให้เกิดปรากฏการณ์คอขวด หรือการติดกับดักกฎหมายที่ทำให้คนตัวเล็กไม่สามารถดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องได้
ในขณะที่อีกคนอีกส่วนหนึ่ง มองว่า กฎหมายนี้ก็มีขึ้นเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั้งนั้น เพราะในโรงมหรสพเป็นการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก จึงควรมีมาตรการความปลอดภัยที่ครอบคลุม เช่น หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะต้องมั่นใจได้ว่าอาคารมีความสามารถในการระบายคนออกได้ทันท่วงที
หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านละครและซีรีส์ แสดงความเห็นว่า กฎกระทรวงฉบับนี้ มีปัญหากับ Micro Cinema อย่างมาก ทั้งที่จริงๆ แล้วควรจะมีรูปแบบที่ชัดเจน โดยจะต้องไปคุยกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างปลัด รัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้อตอ โดยไม่ให้เรื่องเงียบหายไป
โดยให้ความเห็นเสริมใต้กล่องแสดงความคิดเห็น ที่มีผู้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน ว่า Micro Cinema มีหลายรูปแบบ เช่น ตั้งจอฉายเล็กๆ ดูในร้านกาแฟ โดยมีผู้ชมเพียง 5 คนก็เป็น Micro Cinema ได้ แต่หากจะให้สร้าง 5 ที่นั่งตามแบบของกฎหมายก็จะเป็นไปได้ยาก จนกลายเป็นการปิดกั้นโรงหนังขนาดเล็กไปเลย
หลังจากนั้น อนุกรรมการภาพยนตร์ฯ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (THACCA) ก็ออกมาชี้แจงทันทีหลังผ่านไปเพียง 3 ชั่วโมงที่เริ่มมีประเด็นเกิดขึ้น ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ THACCA-Thailand Creative Culture Agency
ระบุใจความสำคัญว่า อนุกรรมการได้พูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีลักษณะนี้เป็นระยะ และในร่าง พรบ.ภาพยนตร์ฯ ฉบับใหม่ที่จะมีการนำเสนอโดยพรรคการเมือง ก็ได้คำนึงถึงการแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นสำคัญ และได้นัดคุยกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว
อนุกรรมการฯ ระบุด้วยว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ทั้งในระยะเร่งด่วน และในระยะยาว ทำให้คนเข้ามาแสดงความยินดีที่ประเด็นนี้จะถูกผลักดันต่อไป แต่ยังคงต้องการให้ THACCA บอกรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น และแจ้งความคืบหน้าเป็นระยะหลังจากมีการหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว
หลังจากนี้จึงจะต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงมหรสพหรือไม่ อย่างไร เพราะก็จะเป็นส่วนที่มีผลชี้ชะตาว่า งานศิลปะและวัฒนธรรมไทยจากคนตัวเล็กจะไปได้ไกลอีกเพียงไหน
อ้างอิงจาก