เมื่อไม่นานมานี้ หลายคนคงติดตามเห็นข่าวตำรวจบุกตรวจค้นปาร์ตี้ในโรงแรมหรูแห่งหนึ่ง และพบคนมีชื่อเสียงหรือมีฐานะดีหลายคนเข้าไปพัวพันกับสารเสพติด ทั้งไอซ์ ยาอี ยาเคตามีน จนนำไปสู่การตั้งคำถามมากมาย โดยเฉพาะ “ทำไมคนรวยถึงต้องเล่นยา?”
The MATTER จึงสอบถามพูดคุยกับอดีตเจ้าหน้าที่ ที่เคยทำงานด้านปราบปรามยาเสพติด ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเพราะเหตุใดคนที่มีสถานะทางสังคมที่ดีถึงต้องใช้สารเสพติด และชนิดของยายึดโยงกับฐานะทางสังคมอย่างไร
คนมีหน้ามีตาในสังคมนิยมใช้สารเสพติด
เอก (นามสมมติ) อดีตเจ้าหน้าที่ ที่เคยทำงานด้านปราบปรามยาเสพติด เปิดเผยกับเราว่า ในปัจจุบันด้วยกระแสบริโภคนิยมและวัตถุนิยม ทำให้ผู้คนมุ่งที่จะหารายได้ แข่งขันกันเพื่อยกระดับฐานะทางชนชั้นและสังคม แต่ผลที่ตามมาของการแข่งขันกันสูงคือ ก่อให้เกิดความเครียดตามมา จึงหันไปใช้สารเสพติดเพื่อปลดปล่อยโดยเฉพาะอารมณ์ในเรื่องของความเครียด
เขาเสริมว่า ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐฯ ที่คนชนชั้นกลางจนถึงชนชั้นสูง ก็มีการใช้สารเสพติดเพื่อผ่อนคลายอารมณ์และเพื่อนันทนาการ “เราจะเห็นว่าในสังคมตะวันตก ผู้มีชื่อเสียงหลายคนโดยเฉพาะซูเปอร์สตาร์ นักแสดง ก็ใช้สารเสพติดกันทั้งนั้น”
ทั้งนี้ ด้วยประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับการปราบปรามยาเสพติด เอกแบ่งผู้ใช้สารเสพติดในไทยออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรก คือ แรงงาน นักเรียน และนักศึกษา ที่ยังมีรายได้ไม่มากนัก มักจะใช้ยาบ้า กัญชา หรือเฮโรอีน
ต่อมากลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่มีหน้ามีตาในสังคม ซึ่งเขามองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย เพราะเกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะในสถานบันเทิงที่จะมีทั้งยาเคและยาอี
“ส่วนโคเคนจะไม่พบในสถานบันเทิงสักเท่าไหร่ เพราะยาชนิดนี้มักเป็นที่นิยมในกลุ่มคนที่มีฐานะ”
สอดคล้องกับ รายงานที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในหมู่คนรวย ที่ระบุว่า บุคคลที่ร่ำรวยประสบกับภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าในระดับที่สูงขึ้น ยิ่งในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทำให้บุคคลบางส่วนจึงหันมาใช้ยาเสพติดเพื่อรับมือกับแรงกดดัน ความเครียด และยังเพื่อหลบหนีจากความคาดหวังที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตอันมีชื่อเสียงของพวกเขา
ชนิดของสารเสพติดที่ใช้ สะท้อนสถานะทางสังคม
เอกยอมรับว่า ในปัจจุบันการแพร่ระบาดของสารเสพติดมีเยอะพอสมควร อย่างไรก็ตาม การใช้ยาตัวไหนจะมีชนชั้นและระดับฐานะของคนที่ใช้มาเกี่ยวข้อง “คนมีเงินหน่อยก็จะใช้โคเคนและยาอีเป็นหลัก ส่วนคนไม่มีเงินก็จะใช้ยาบ้าเป็นหลัก”
เขาระบุว่า ขณะที่โคเคนถือเป็นยาเสพติดที่มีราคาสูงที่สุด เม็ดหนึ่งตกประมาณ 500-600 บาท และวิธีการใช้ก็ง่าย เพียงแค่สูดเข้าทางจมูกก็ออกฤทธิ์ ไม่ต้องมีกรรมวิธีในการใช้เหมือนกับไอซ์ ที่จำเป็นต้องนำไปเผาบนกระดาษหรือบ้อง
สารเสพติดหาซื้อง่ายมากขึ้น
เขากล่าวว่า การหาซื้อยาโดยเฉพาะยาราคาแพงจะรู้กันอยู่แค่ในหมู่ผู้ใช้ อาทิ ย่านทองหล่อ หรือเรียกง่ายๆ ว่าย่านคนรวยที่จะมีการซื้อขายยาก ส่วนใหญ่ต้องซื้อผ่านคนกลางก่อน เพราะจะไปซื้อกับคนขายโดยตรงเลยถือเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ การซื้อขายสารเสพติดยังปรากฏในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก
เอกยอมรับว่าการซื้อขายในระบบออนไลน์ถือเป็นปัญหาใหญ่ ที่ยากจะแก้ไข เนื่องจากเวลาที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะเข้าไปดำเนินการ ร้านค้าออนไลน์เหล่านี้มักไหวตัวทันและก็ปิดหนีหายไป
คนหันไปพึ่งสารเสพติด เพราะด้วยปัญหาสุขภาพจิต
เขาพูดว่า เวลาคนเรามีความเครียดหรือภาวะที่ไม่สามารถจัดการปัญหาของชีวิตได้ ก็อาจเริ่มที่จะลองใช้ อย่างไรก็ตาม ยาเสพติดไม่ว่าจะตัวไหน คนที่เริ่มใช้มักจะเริ่มจากตัวที่ออกฤทธิ์น้อยก่อน หลังจากนั้นถึงจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น จนนำไปสู่อาการเสพติด
“ผมเคยพูดคุยกับสามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่มีหน้าที่การงานอยู่ในระดับสูง แต่วันๆ ไม่ได้ทำอะไรมาก จึงมีเวลาที่จะหายาและเสพยาอย่างไม่จำกัด ทว่าหลังจากนั้นภรรยาทนไม่ไหว ต้องการความช่วยเหลือ เพราะสามีมีอาการเมายาและจะทำร้ายตนและลูก”
“สังคมไทยเราบางทีมีค่านิยมที่ผิดๆ ว่าถ้ามีรายได้สูง และใช้ยาตัวนี้จะทำให้ตัวเองดูดีขึ้น บางครั้งเหมือนได้เงินมาเยอะๆ ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็เลยหันไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแทน”
สอดคล้องกับรายงานของกรมสุขภาพจิต ปี 2024 ที่ระบุว่า ผู้คนมีแนวโน้มประสบปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น โดยพบว่า ผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทยกว่า 70% มีปัญหาเรื่องของการใช้สารเสพติดร่วมด้วย ซึ่งมี 2 แบบ คือ จากคนปกติ แต่มีการใช้สารเสพติดมานาน ทำให้เกิดผลกระทบกลายมาเป็นผู้ป่วยจิตเวชในภายหลัง
กับอีกกรณีคือ เป็นผู้ป่วยจิตเวชอยู่แล้ว ก็ยังมีการใช้สารเสพติดหรือเหล้าร่วมด้วย เพื่อหวังว่าจะลดอาการบางอย่าง ทำให้เกิดปัญหาคู่กัน ซึ่งขณะนี้พบราวๆ 60% ที่เกิดปัญหาคู่กัน
“มันแย่ลงเมื่อช่วง 4-5 ปีหลังนี้ จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยปัญหายาเสพติด สารเสพติดเพิ่มขึ้นทุกปี ทุกๆ พื้นที่ของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาสารเสพติดหลายชนิด” ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการฯ กรมสุขภาพจิต กล่าว
ทำไมผู้ใช้สารเสพติดบางกลุ่ม ถึงยังใช้ชีวิตและทำงานอย่างปกติ?
“ไม่ว่ายาชนิดอะไร ถ้าไม่ได้ใช้ในปริมาณที่มากเกินไป ก็สามารถไปทำงานและดำเนินชีวิตอย่างปกติได้ทั้งสิ้น ผู้ที่ใช้ยาบ้าหรือกระท่อมในปริมาณที่พอเหมาะ ก็สามารถไปทำงานได้” เอกระบุ
พร้อมอธิบายเพิ่มว่า สารเสพติดจะช่วยให้กระชุ่มกระชวย มีเรี่ยวแรง แต่พอใช้ไปนานๆ มันจะมีฤทธิ์ของอาการเสพติด ทำให้ผู้ใช้ต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้น ในทำนองเดียวกับคนที่ถือว่าเป็นไฮโซ มีหน้ามีตาในสังคม ที่พยายามใช้ในจำนวนที่พอเหมาะ ไม่ใช้ขนาดที่จะฟุบหลับไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ไปปาร์ตี้หรือพบปะกลุ่มเพื่อนจะมีแนวโน้มที่จะใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้น
“ตอนนั้นพวกเขาจะใช้เยอะเพราะไม่ได้ใช้แค่สารเสพติด แต่ยังมีพวกเหล้า ไวน์ ที่ผสมปนเปกันหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”
อดีตเจ้าหน้าที่ฯ ชี้ว่า ตามปกติของผู้ใช้สารเสพติด ตอนแรกมักจะเริ่มใช้ในปริมาณที่น้อย แต่ไม่นานก็จะเสพติด ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องของสมอง
ทั้งนี้สารเสพติดแต่ละตัวจะออกฤทธิ์ต่างกันไป กลุ่มกระตุ้นทำให้ตื่นตัวก็เช่น ไอซ์ โคเคน ยาบ้า ส่วนกลุ่มที่กดประสาทที่ทำให้เกิดอาการซึมจะมี มอร์ฟีน เฮโรอีน และกลุ่มที่ออกฤทธิ์ผสมผสานที่ตอนแรกจะกระตุ้นดี แต่พอใช้ไปนานๆ ก็จะหลอนประสาท อาทิ กัญชา
“อย่างไรก็ดี รูปแบบการใช้ยาในปัจจุบันมักไม่ใช้เพียงตัวใดตัวหนึ่ง แต่จะใช้ผสมกัน ซึ่งส่งผลกระทบค่อนข้างมาก อยู่ดีๆ กระตุ้น สักพักกดประสาทและหลอนประสาท โดยปรากฏการณ์การใช้ยาลักษณะนี้มักเกิดขึ้นในสถานบันเทิง เพราะมีทั้งเหล้า เบียร์ และสารเสพติดชนิดอื่นๆ เพิ่มเข้ามาด้วย”
“ถ้าคนมีฐานะใช้ยาบ้าก็คงไม่ได้ เพราะตอนนี้ถือเป็นยาที่ราคาถูกมาก ประมาณ 3 เม็ดร้อย สำหรับผมชนิดของสารเสพติดที่ใช้ สามารถบ่งบอกถึงสถานะและชนชั้นทางสังคม”
วิธีบรรเทาปัญหาให้ลดน้อยลง
เอก มองว่า การให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเป็นปัจจัยที่จะช่วยลดการหันไปพึ่งพายาเสพติดมากที่สุด “ถ้าครอบครัวมีความอบอุ่นเข้มแข็ง เราก็จะมีเกาะป้องกันบางอย่างที่จะหลีกเลี่ยงการใช้มัน แม้จะมีกลุ่มเพื่อนที่ใช้ยา”
เขาปิดท้ายว่า อย่างไรก็ตามมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้สารเสพติดยังคงแพร่ระบาด เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปราบปรามยาเสพติดมีจำนวนน้อย ผู้ประกอบการสถานบันเทิงเริงรมย์ยังคงละเลยเรื่องนี้ หรือการที่เจ้าหน้าที่รัฐหวังประโยชน์กับสิ่งเหล่านี้ ล้วนทำให้ปัญหาดังกล่าวดำเนินต่อไป