พอบทจะจริงจัง เธอก็ดันทำตัวชิลซะงั้น
เวลามีเรื่องทะเลาะกับแฟนทีไร อีกฝ่ายก็มักจะนั่งฟังเฉยๆ ปล่อยให้เราพูดอะไรต่างๆ นานา ส่วนเขาน่ะหรอ ก็แค่เออๆ ออๆ ตามไปเราไปงั้น วางมาดชิลๆ แล้วก็นั่งรอให้เราหยุดพูดเอง
ฟังดูก็คงดีเหมือนกันนะ ถ้าจะมีแฟนเป็นคนชิลๆ ไม่คิดอะไรมากมายเท่าไหร่ พอมีปัญหาอะไรกันสักอย่าง ก็มักเป็นคนยังไงก็ได้ เพราะไม่อยากให้เรื่องราวต้องใหญ่โตและบานปลายไปมากกว่านี้
แม้การเป็นคนชิลๆ เรื่อยๆ จะช่วยให้เราทั้งคู่ผ่านแต่ละสถานการณ์อันน่ากระอักกระอ่วนมาได้ แต่ในระยะยาว มันอาจไม่ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเท่าไหร่นัก เพราะปัญหาชวนปวดหัวมากมายไม่ได้ถูกแก้ไขลง แถมยังสะสมจนเป็นภูเขากองโตหลังชีวิตคู่ไม่รู้จบ
เมื่อการเป็นคนชิลๆ ดันส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์
มันก็คงเป็นความสัมพันธ์ที่ดีอยู่หรอก หากเราทั้งคู่ต่างเป็นคนชิลๆ เพราะมันสามารถช่วยผ่อนเรื่องหนักให้เป็นเบาได้ แต่หลายต่อหลายครั้ง พอมีปัญหากันทีไร เมื่อต้องการจะจับเข่ามาคุยกันจริงจัง อีกฝ่ายดันตีเมิน ปล่อยชิลใส่ซะงั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ปัญหาก็คงยังคาราคาซัง ไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววันนี้หรอก
เมื่อความชิลของเราไม่เท่ากัน ทำให้บางครั้งการเป็นคนชิลๆ อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้หมดเสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำตัวชิลจนเกินไป ก็อาจนำไปสู่ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักได้ด้วยเช่นกัน เพราะคงจะไม่มีใครชอบเท่าไหร่นัก เวลาเราอยากชวนคุยให้รู้เรื่อง ถึงปัญหาต่างๆ นานา แล้วอีกฝ่ายดันมองหน้าเรานิ่งๆ ทำเหมือนหูทวนลม แล้วปิดท้ายบทสนทนาว่า “เอาตามที่สบายใจได้เลย”
เจฟฟรีย์ คิชเนอร์ (Jeffrey Kishner) นักจิตบำบัด จากนิวยอร์ก อธิบายว่า การเป็นคนชิลๆ มากเกินไปในความสัมพันธ์ อาจเพราะเวลามีปัญหา ก็อยากให้มันผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว หรืออยากให้ตนเองดูเป็นคนง่ายๆ สบายๆ ไม่ได้เรื่องมาก และพร้อมยอมให้อีกฝ่ายตลอด อาจนำไปสู่ผลเสียต่อความสัมพันธ์ของเราได้ โดยเขาได้ยก 3 ผลกระทบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อทำตัวชิลเกินไปกับคู่รัก ดังนี้
- เกิดความรู้สึกไม่จริงใจ
พอเราเริ่มรับรู้ถึงปัญหาบางอย่างในความสัมพันธ์ แล้วอยากจะคุยกับแฟนอย่างจริงจัง แต่อีกฝ่ายดันทำเหมือนไม่ได้สนใจคำพูดเราเลย เพียงแต่พยักหน้ารับเฉยๆ เหมือนอยากให้ทุกอย่างจบลงโดยไว นี่จึงอาจทำให้ถูกมองว่า เป็นการแสดงออกอย่างไม่จริงใจได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเจฟฟรีย์อธิบายว่า บางครั้งการทำตัวชิลจนเกินไป อาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกราวกับกำลังใส่หน้ากากเข้าหาก็เป็นได้ เพราะพฤติกรรมลักษณะนี้ อาจถูกอีกฝ่ายตีความได้ว่าเป็นการยอมและทำไปเพื่อต้องการจบปัญหา โดยไม่แสดงออกถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเองออกมา
- ไม่สื่อสาร ก็ยังทำแบบเดิม
การทำตัวชิล แล้วตีเมินเวลามีปัญหากัน มันก็อาจทำให้สถานการณ์อันแสนตึงเครียด ณ ตอนนั้น ทุเลาลงได้บ้างไม่มากก็น้อย ทว่าการแสดงพฤติกรรมในลักษณะนี้บ่อยครั้งเขา มันอาจกลายเป็นปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างกัน จนนำไปสู่ปัญหาได้ในระยะยาว อย่างเช่น เวลาต้องตัดสินใจอะไรสักอย่างร่วมกับแฟน แล้วแฟนดันเอานิสัยความชิลๆ ขึ้นมาใช้ บอกว่าเลือกอะไรก็ได้ เพราะไม่อยากดูเป็นคนเรื่องมาก ท้ายที่สุดพอเราทำในสิ่งที่เขาไม่พอใจ ก็นำไปสู่การประชดประชันหรือการเย็นชาใส่กันแทน นั่นเป็นเพราะการไม่สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมากันตั้งแต่แรก โดยเจฟฟรีย์มองว่า มันอาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ตลอดจนบั่นทอนความสัมพันธ์ในระยะยาวได้
- กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ลึกซึ้ง
นานวันเข้า หากแฟนเรายังคงทำตัวชิลๆ จนเกินไป ไม่เลือกหรือตัดสินใจอะไรสักอย่างในความสัมพันธ์ อาจทำให้เรารู้สึกว่า เขาไม่มีความคิดเป็นของตัวเองหรือมีจุดยืนที่ชัดเจนเท่าไหร่นัก จนเข้าไม่ถึงตัวตนที่แท้จริง และกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยลึกซึ้ง
สำหรับเจฟฟรีย์ การเป็นคนชิลเกินไป มันทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกเหมือนถูกปรับตัวให้เข้าหาตนมากเกินไป จนไม่สามารถมองเห็นตัวตนจริงๆ ของอีกฝ่าย นำไปสู่การมองว่า คนเหล่านั้นไม่ชัดเจนและไม่มั่นคงพอในความสัมพันธ์ระยะยาว จนอาจทำให้หลายคนเลือกจบความสัมพันธ์กับผู้คนที่แสดงออกในลักษณะนี้นั่นเอง
ความชิล ก็เป็นแขนงหนึ่งใน Passive-Aggressive
พอถามหาข้อสรุปถึงปัญหาต่างๆ ในเรื่องความสัมพันธ์กับแฟน เราก็คาดหวังว่าให้อีกฝ่ายแสดงความคิดเห็นสักเล็กน้อย จะได้รู้ว่าเขาต้องการให้ปรับตัวอย่างไรต่อไป สรุปอีกฝ่ายดันตอบมาแค่ว่า “ยังไงก็ได้อยู่แล้ว”
ย้อนกลับไปครั้งก่อนหน้านี้ อีกฝ่ายก็เลือกเงียบใส่ ไม่พูดไม่จาอะไรสักอย่าง พยักหน้ารับลูกเดียว ทำเหมือนกับเราเป็นฝ่ายเดียวที่มีปัญหาร้อยแปดอย่าง ทั้งๆ ที่ มองแล้วก็รู้ว่า อีกฝ่ายก็รู้สึกไม่โอเคหรือไม่พอใจเช่นเดียวกัน แต่กลับเลือกเงียบหรือตอบปัดๆ ทำหน้าที่เป็นผู้ฝังที่ดีแทน การแสดงออกในลักษณะนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมแบบ Passive-Aggressive ซึ่งสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเราได้
หากพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น Passive-Aggressive ก็คือพฤติกรรมที่คนคนหนึ่งพยายามควบคุมการแสดงออกถึงความไม่พอใจของตนเอง ทำให้ผู้มีพฤติกรรมในลักษณะนี้จะดูเหมือนเป็นคนใจเย็น โกรธยาก และไม่มีความก้าวร้าว ทว่าพวกเขาเอง ก็ได้มีแสดงออกถึงพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งแฝงไปด้วยความไม่พอใจอยู่ด้วยเช่นกัน
เคนดรา เชอร์รี่ (Kendra Cherry) ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูจิตสังคม ได้อธิบายไว้ว่า การนิ่งเงียบ การแสดงออกว่าทุกอย่างปกติดี การทำท่าทีเข้าใจ แต่ก็ไม่ทำตาม หรือการตอบแบบขอไปที เพื่อหยุดบทสนทนา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพฤติกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีนิสัยแบบ Passive-Aggressive
ทั้งนี้ทั้งนั้น การแสดงออกถึงพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว ยังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์สำหรับคู่รักในได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ รีเบคก้า โรช (Rebecca Roache) เกี่ยวกับพฤติกรรมแบบ Passive-Aggressive ว่ามันนำไปสู่ประสิทธิภาพในการสื่อสารในความสัมพันธ์ที่ลดลง พอมีปัญหาหรือความขัดแย้ง อาจทำให้ความสัมพันธ์ตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาไม่ได้สื่อสารและแลกเปลี่ยนถึงความต้องการของกันและกัน
นอกจากนี้ การนิ่งเงียบ ทำตัวปล่อยปะละเลยสถานการณ์ตรงหน้า ยังทำให้เกิดวงจรความขัดแย้งในความสัมพันธ์วนไปวนมา เพราะปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกจุด เมื่อความขัดแย้งต่างๆ ไม่ได้ยุติลง แถมยังสะสมเพิ่มไปเรื่อยๆ คู่รักบางคู่ก็อาจหงุดหงิดใส่กันและกันมากขึ้น ซึ่งกระทบไปสู่ความมั่นคงในความสัมพันธ์ในระยะยาวได้
แล้วไม่อยากให้ความชิล ส่งผลกระทบความสัมพันธ์ ทำอย่างไรได้บ้างนะ?
คงจะไม่ดีแน่ หากความชิลจะกลายเป็นพฤติกรรมแบบ Passive-Aggressive ที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเรา
ถ้าเรายังอยากมีกันและกันต่อไป ก็อาจต้องหาทางปรับทั้งเราและเขา ช่วยกันหาจุดกึ่งกลางระหว่างความสัมพันธ์ โดย แอนเดรีย แบรนต์ (Dr. Andrea Brandt) นักบำบัดเกี่ยวกับคู่แต่งงานและครอบครัว ได้แนะนำวิธีสำหรับให้คู่รักได้ลองปรับพฤติกรรมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ความชิลเข้ามากระทบต่อความสัมพันธ์ของเรา ไว้ 3 วิธี ดังนี้
- อย่ามัวคาดเดาความรู้สึกของกันและกัน
เมื่อมีปัญหาหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน แทนที่จะมานั่งลองเชิง คาดเดาว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไรหรือกำลังคิดอะไรอยู่ อาจลองพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับถามกันและกันว่า แท้จริงแล้วรู้สึกอย่างไรอยู่กันแน่ เพื่อให้ทั้งคู่สามารถรับรู้ถึงความคิดและความรู้สึกของอีกฝ่าย หากไม่พอใจอะไรกัน จะได้หาทางแก้ไขกันต่อไป
เช่น เวลาเรากำลังพูดถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในความสัมพันธ์กับแฟน อาจลองถามอีกฝ่ายไปตรงๆ เลยว่า รู้สึกอย่างไรหรือกำลังคิดอะไรอยู่ พร้อมกับบอกให้เขาได้รู้ว่า เราอยากให้เขาจริงจังกับเรื่องตรงหน้ามากขึ้นสักนิด เพราะมันเหมือนกับเขาไม่ได้สนใจฟังเราเท่าไหร่ แต่เราอาจต้องพูดด้วยความใจเย็น เพื่อไม่ให้เป็นการกดดันอีกฝ่ายมากจนเกินไป
- ระดมความคิด
เอาล่ะ เมื่อรับรู้ถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายแล้ว ก็ลองมาร่วมระดมความคิดด้วยกันไปเลย ถึงแนวทางหรือวิธีการสำหรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่า การมีแฟนก็คือการมีเพื่อนคู่คิดคนหนึ่งนี่แหละ ฉะนั้นแล้ว หากเริ่มมีปัญหาก่อตัวขึ้นในความสัมพันธ์ ก็ควรรีบหาทางจัดการโดยเร็วที่สุด ก่อนมันจะรุนแรงไปมากกว่านี้
พอเรารู้แล้วว่า ปัญหาคืออะไร เราอาจชวนแฟนมาช่วยกันหาทางแก้ในแต่ละจุดกัน ถ้าแฟนเป็นคนติดชิลเกินไป อาจลองให้เขาทำตัวจริงจังขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์จริงจัง เพราะสิ่งนี้มันอาจจะดีกับตัวเขาเอง และความสัมพันธ์ของเรา หรืออาจจะรวมไปถึงหน้าที่การงานของเขาได้ด้วย พยายามหาข้อดีของการเปลี่ยนแปลงมาพูดคุยกัน
- แลกเปลี่ยนลิสต์ความต้องการ
เมื่อลองคุยกัน และเริ่มมองเห็นถึงปัญหาในความสัมพันธ์ของตนเองแล้ว อาจลองมานั่งลิสต์ความต้องการของแต่ละฝ่ายดู พร้อมกำหนดระยะเวลาในการปรับตัว แล้วค่อยมาพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง เพื่อให้ทั้งเราสามารถปรับตัวเขาหากันได้
ถ้าในกรณีที่แฟนของเราทำตัวชิลเกินไป เรากับแฟนอาจมานั่งลิสต์ว่าแต่ละฝ่ายตองการอะไรจากกันบ้าง เช่น เราอาจต้องการให้เขาจริงจังขึ้น ส่วนแฟนก็อยากให้เราไม่จริงจังเกินไปในทุกเรื่อง เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งก็ค่อยมาดูกันว่า เราและแฟนสามารถปรับตามอีกฝ่ายได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว ส่งคำชมให้กันสักนิด เติมความรักลงไปในการปรับตัวของเราทั้งคู่ วิธีนี้นอกจากจะทำให้รักของเรายังมั่งคงแล้ว ยังช่วยให้เราได้สะท้อนความต้องการของกันและกัน เพื่อหาจุดที่เหมาะสม สำหรับให้แต่ละฝ่ายได้เดินหน้าหรือถอยเข้าหากันได้ดียิ่งขึ้นด้วย
สุดท้ายแล้ว การเป็นคนชิลๆ ก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด เพราะมันก็มีข้อดีไม่น้อยเหมือนกัน ทว่าในแง่ของความสัมพันธ์ถ้ามันมากเกินไปก็ใช่ว่าจะดี ทางออกที่เหมาะสม อาจเป็นการมองหาความสมดุลในความสัมพันธ์ที่ทั้งเราและอีกฝ่ายต่างก็สบายใจ เพื่อให้ความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่ไปต่อได้อย่างมีความสุข
อ้างอิงจาก