ผมเป็นคนชื่นชอบการดูหนังในโรงหนังมาตั้งแต่ไหนแต่ไร สมัยที่เป็นนักศึกษาก็ยอมหิ้วร่างเดินทางไกลจากทุ่งรังสิตมาซื้อตั๋วหนังราคามิตรภาพที่อดีตโรงหนังใจกลางสยาม แต่หลังจากลูกชายลืมตาดูโลก ผมก็ต้องจำใจทิ้งจอใหญ่มาฝากชีวิตไว้กับบริการสตรีมมิ่งซึ่งความจริงแล้วทดแทนกันไม่ได้เลย
เวลาสองปีเศษผ่านไปไวเหมือนโกหก ผมน้ำตาซึมส่งเจ้าตัวเล็กเข้าเรียนเตรียมอนุบาลแล้วจึงจูงมือภรรยาพากันไปฉลองที่โรงหนังย่านปริมณฑล เราต่างตื่นตะลึงกับราคาตั๋วหนังที่เดินทางมาไกลก่อนจะควักธนบัตร 500 บาทซื้อตั๋วสองที่นั่ง รับเงินทอนเป็นแบงก์เขียวไม่กี่ใบ แล้วจำใจหยิบธนบัตรสีแดงอีกหนึ่งใบเพื่อซื้อขนมขบเคี้ยวทานในโรงหนัง
ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่โรงหนัง ความสนุกที่มหาชนควรเข้าถึงได้ถึงกลายเป็นบริการราคาแพง?
ตั๋วหนังเมืองไทยแพงแค่ไหนกัน?
เดี๋ยวจะตำหนิว่าผมกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม หากใครเคยไปอาศัยใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนคงจะคุ้นเคยกับราคาตั๋วหนังที่แพงแบบกระเป๋าฉีกจนอยากจองไฟลท์กลับมาไทยให้รู้แล้วรู้รอด ผมเองก็เคยต้องถอยกรูดออกจากโรงหนังในเนเธอร์แลนด์เพราะเห็นราคาตั๋วเฉียด 10 ยูโร ที่สวีเดนราคาตั๋วก็ร่วม 120 โครนา สหรัฐอเมริการาว 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนออสเตรเลียอยู่ที่ 14 ดอลลาร์ออสเตรเลีย กล่าวคือราคาตั๋วหนังในประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ราว 300 บาทไทย+++
หันกลับมาเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลล่าสุดของเว็บไซต์ NetCredit พบว่าราคาตั๋วหนังโดยเฉลี่ยของไทยครองอันดับสามของภูมิภาค รองจากสิงคโปร์ที่ราคาตั๋วหนังสูงกว่าไทยเกือบ 3 เท่าและเมียนมาร์ที่สูงกว่าไทยเกือบสองเท่า หากเรามองสองประเทศนี้เป็นค่าสุดโต่ง (outliers) ประเทศไทยก็จะครองแชมป์ตั๋วหนังแพงที่สุดในภูมิภาคได้อย่างภาคภูมิใจ สนนราคา 240 บาทต่อที่นั่ง
แต่ผมคงถูกตำหนิหากเทียบราคาแบบกำปั้นทุบดิน เพราะเรายังต้องมองค่าครองชีพประกอบด้วย ผมจึงไปค้นข้อมูลรายได้เฉลี่ยของบางประเทศแล้วแปลงกลับมาเป็นรายได้ต่อชั่วโมง เพื่อคำนวณหาคำตอบว่าโดยเฉลี่ยแล้วประชากรในแต่ละประเทศจะต้องทำงานยาวนานแค่ไหนจึงจะได้เงินไปซื้อตั๋วหนังหนึ่งใบ[i]
ประเทศ | เวลาที่ใช้ทำงานเพื่อซื้อตั๋วหนังหนึ่งใบ |
ตุรกี | 50 นาที |
เยอรมัน | 50 นาที |
แคนาดา | 1 ชั่วโมง |
ออสเตรเลีย | 1 ชั่วโมง 15 นาที |
มาเลเซีย | 1 ชั่วโมง 20 นาที |
สวีเดน | 1 ชั่วโมง 20 นาที |
เกาหลีใต้ | 1 ชั่วโมง 30 นาที |
สหรัฐอเมริกา | 1 ชั่วโมง 30 นาที |
ญี่ปุ่น | 1 ชั่วโมง 40 นาที |
บราซิล | 2 ชั่วโมง |
เม็กซิโก | 2 ชั่วโมง |
เวียดนาม | 2 ชั่วโมง 45 นาที |
ไทย | 3 ชั่วโมง 20 นาที |
ฟิลิปปินส์ | 6 ชั่วโมง 45 นาที |
ผู้เขียนเลือกหยิบประเทศแบบตามสะดวกเท่าที่ข้อมูลจะหาได้ แล้วก็พบประเด็นที่น่าสนใจว่า ถึงในประเทศพัฒนาแล้วค่าตั๋วหนังแต่ละใบจะราคาแพงมหาโหดเมื่อเทียบกับประเทศไทย แต่หากย้อนกลับไปมองเทียบกับรายได้เฉลี่ยกลับพบว่า ตั๋วหนังเมืองไทยแพงกว่าค่อนข้างมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นประเทศแคนาดา สวีเดน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ก็ใช้เวลาทำงานน้อยกว่า 2 ชั่วโมงเพื่อซื้อตั๋วหนังหนึ่งใบ ในขณะที่คนไทยต้องทำงานยาวนานถึง 3 ชั่วโมง 20 นาที ซึ่งนานกว่าการได้ใช้เวลาสุขสบายในโรงหนังเสียด้วยซ้ำ
หากเทียบกับเหล่าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาเลเซียและเวียดนาม ต่างก็ใช้เวลาทำงานเพื่อซื้อตั๋วหนังหนึ่งใบน้อยกว่าคนไทยทั้งนั้น ส่วนประเทศที่รายได้ใกล้เคียงกับไทยอย่างบราซิลและเม็กซิโกก็สามารถซื้อตั๋วได้ในราคาประหยัดกว่าโดยเปรียบเทียบ มีเพียงชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องทำงานถึง 6 ชั่วโมง 45 นาที ซึ่งมากกว่าประเทศไทยเกือบสองเท่าตัว
ตัวชี้วัดอีกหนึ่งประการที่ยืนยันว่าตั๋วหนังไทยราคาแพงกว่าประเทศอื่นคืออัตราการดูหนังในโรงหนังที่น้อยมาก โดยไม่ถึง 1 เรื่องต่อคนต่อปีเสียด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ที่ดูหนังในโรงเฉลี่ย 2–4 เรื่องต่อคนต่อปี
อ่านถึงตรงนี้ผมคงสามารถพูดได้อย่างฉะฉานว่าตั๋วหนังเมืองไทยนั้น ‘ราคาแพง’ หากอิงจากระดับรายได้ ส่วนสาเหตุของความแพงนั้นนอกจากต้นทุนสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นเพราะภาวะตลาดคู่แข่งน้อยรายในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์
ปัญหาของตลาดคู่แข่งน้อยราย
“ทุนนิยมที่ไม่มีการแข่งขันย่อมไม่ใช่ทุนนิยมแต่เป็นการเอารัดเอาเปรียบ หากไม่มีการแข่งขันที่มากพอ ผู้เล่นรายใหญ่ย่อมสามารถปรับคุณภาพและเปลี่ยนราคาได้ตามต้องการ อีกทั้งยังปฏิบัติต่อพวกคุณทุกคนแบบไม่เห็นหัวใคร” — โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
คนจำนวนไม่น้อยคิดว่า ‘ทุนนิยมเสรี’ หมายถึงเอกชนทำอะไรก็ได้โดยที่รัฐไม่เอื้อมมือเข้าไปยุ่ง แต่ความเข้าใจดังกล่าวนั้นผิดถนัดเพราะหัวใจของทุนนิยมเสรี คือ การที่บริษัทจำนวนมากแข่งขันเพื่อสรรค์สร้างสินค้าที่ดีกว่าและราคาถูกกว่า เมื่อขาดแคลนการแข่งขัน ประชาชนที่ไร้ทางเลือกอื่นก็ต้องจำยอมก้มหน้ารับราคาที่เจ้าตลาดกำหนด
เพื่อให้เห็นภาพว่าตลาดที่มีการแข่งขันสูงนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ผมขอชวนให้นึกถึงบรรยากาศงานสัปดาห์หนังสือระดับชาติที่เหล่าสำนักพิมพ์ต่างเลือกเฟ้นหนังสือแต่ละปกเพื่อตอบรสนิยมแต่ละแบบ ตั้งแต่นิยายตาหวาน นิยาย Y นิยายเพื่อชีวิต นิยายแปลหลากรส หนังสือวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ความรู้ทั่วไป และอีกสารพัดที่ต่างตีพิมพ์ออกมาล่อตาล่อใจนักอ่านหลากหลายกลุ่ม ส่วนร้านหนังสือเล็กใหญ่ต่างก็งัดทุกยุทธวิธีเพื่อจำหน่ายหนังสือตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการจ้างนักขายมือทอง เขียนโน้ตหลากสีแนะนำนักอ่านหน้าใหม่ หรือเชิญชวนนักเขียนให้มานั่งแจกลายเซ็น
แต่หากเราใช้พื้นที่เดียวกันเพื่อจัดงานสัปดาห์โรงภาพยนตร์แห่งชาติ พื้นที่ 70% จะถูกยกให้กับเครือเมเจอร์ ส่วน 30% ที่เหลือจะเป็นบูธของเครือเอส เอฟ[ii] ส่วนโรงภาพยนตร์อิสระรวมกันหลบอยู่ตรงซอยเล็กๆ ข้างห้องน้ำ แล้วเราจะคาดหวังอะไรกับอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ที่มีผู้เล่นรายใหญ่ไม่กี่ราย
เมื่อมีการแข่งขันอย่างเสรีและเข้มข้น ผลประโยชน์หลักก็จะตกอยู่ที่ผู้บริโภคเพราะเหล่าผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างต้องแข่งขันกันลดต้นทุนหั่นราคา พัฒนาผลิตภัณฑ์ และรังสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทั้งกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย รวมถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่อาจไม่มีใครเคยนึกถึงมาก่อน แต่เมื่อไม่มีการแข่งขัน ผู้บริโภคก็เป็นฝ่าย ‘จำยอม’ โอนอ่อนผ่อนตามการตัดสินใจของรายใหญ่เพราะไม่มีทางเลือกอื่น
แม้ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะไม่ได้มีกฎหมายกีดกันการแข่งขันอย่างอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ หรือผูกขาดโดยรัฐอย่างอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค แต่สภาพกึ่งผูกขาดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือผลงานของรัฐบาลในอดีตที่ปล่อยให้เกิดการควบรวมระหว่างเครือเมเจอร์และอีจีวีเมื่อปี พ.ศ.2547 ทั้งที่มีกฎหมายให้อำนาจกำกับดูแลเรื่องการแข่งขัน[iii]แต่กลับไม่บังคับใช้ คล้ายคลึงกับอีกหลายดีลในปัจจุบันซึ่งรัฐไม่กล้าฟันทั้งที่ค่อนข้างชัดเจนว่าบริษัทจะมีอำนาจเหนือตลาดมหาศาลหลังจากควบรวมสำเร็จ
อำนาจเหนือตลาดของบริษัทโรงภาพยนตร์ยังกระทบต่อคู่ค้าต้นน้ำ อุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทยที่หดตัวสวนทางกับการเติบโตของธุรกิจโรงภาพยนตร์ นับเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เหล่าคนทำหนังในไทยแทบไม่มีอำนาจต่อรองกับรายใหญ่ในตลาด การจัดแบ่งรอบฉายในโรงจึงเป็นไปเพื่อผลกำไรสูงสุดโดยไม่เหลือที่ยืนให้กับหนังไทยที่ต้องการพื้นที่เช่นกัน ถึงขั้นเคยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เข้ามาจัดโควตาสำหรับฉายหนังไทยแต่ก็ไม่ประสบผล
นี่คือปัญหาคาราคาซังในแวดวงหนังไทยที่ขาดแคลนการแข่งขัน ด้วยสภาพตลาดในปัจจุบัน หากรัฐไม่เข้ามาผลักดันให้เกิดธุรกิจโรงภาพยนตร์หน้าใหม่ซึ่งต้องใช้เงินทุนมหาศาล หรือเสริมอำนาจต่อรองของผู้บริโภคและเหล่าผู้ผลิตหนังไทย เราก็คงทำได้เพียงก้มหน้ารับชะตากรรม
หรือตั๋วหนังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย?
คนจำนวนไม่น้อยอาจมองว่าตั๋วหนังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยกล่าวคือการไม่ได้ไปดูหนังในโรงหนังคงไม่ทำให้ใครถึงตาย แต่หากคิดเช่นนี้ มื้ออาหารหรูหรา รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ บ้านสองชั้น และอีกสารพัดก็คงเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นกัน
ผมเองก็เคยตัดสินการใช้จ่ายเงินของคนอื่นด้วยทัศนคติอันคับแคบ ก่อนจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่จากเรื่องเล่าของอาจารย์ อภิจิต แบนเนอร์จี (Abhijit Banerjee) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่ทำงานคลุกคลีกับคนยากจน
ครั้งหนึ่งเขาเคยพูดคุยกับชายที่ใช้ชีวิตอย่างหิวโหยในโมรอคโค อาจารย์อภิจิตถามว่าถ้าเขาได้รับเงินจะเอาไปทำอะไร คงเดาไม่ยากว่าคำตอบคือเอาไปซื้ออาหาร แต่เมื่ออาจารย์อภิจิตเข้าไปสำรวจในบ้านของชายคนนั้นกลับต้องประหลาดใจเมื่อเจอโทรทัศน์ เสารับสัญญาณ และเครื่องเล่นดีวีดีจนอดไม่ได้ที่จะถามออกไปว่าจะซื้อของเหล่านี้มาทำไมในเมื่อยังมีกินไม่อิ่มท้อง ชายคนนั้นตอบว่าสำหรับเขาแล้ว “โทรทัศน์สำคัญกว่าอาหาร”
เราอาศัยอยู่บนโลกที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่ละคนย่อมมีรสนิยมและความต้องการที่ไม่เหมือนกันจึงไม่มีใครที่มีอำนาจเหนือใครในการจะชี้นิ้วบอกว่าสิ่งไหน ‘จำเป็น’ หรือสิ่งไหน ‘ฟุ่มเฟือย’ เพราะคงไม่มีใครรู้จักตัวเองดีไปกว่าตัวของเราเอง
‘ตั๋วหนังแพง’ จึงเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการตอบส่งๆ ว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ต้องยกระดับการแข่งขันในอุตสาหกรรมเพื่อให้ประชาชนคนไทยสามารถพักผ่อนหย่อนใจในโรงหนังได้ในราคาที่เป็นธรรม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[i] คำนวณโดยอ้างอิงข้อมูลรายได้มัธยฐานและจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยจากเว็บไซต์ World Population Review และราคาตั๋วหนังเฉลี่ยจากเว็บไซต์ NetCredit
[ii] ข้อมูลจากแบบฟอร์ม 56-1 ปี 2563 ของบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
[iii] พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542
Illustration by Manita Boonyong