โดเรมอนกับโนบิตะ กำลังช่วยลูฟี่ตามหากระเป๋าตังค์ที่หายไป ก่อนจะออกเดินทางต่อไปในโลกเวทมนตร์ของแฟรี่เทล
นี่ไม่ใช่การจับการ์ตูนมายำเล่นๆ หรอกนะ แต่เป็นเรื่องราวที่ถูกดัดแปลงขึ้นมา เพื่อเปิดการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้กว้างขึ้น เหมือนการผจญภัยของตัวการ์ตูนเหล่านี้ต่างหาก
จากคาบเรียนที่บรรยากาศชวนให้เด็กง่วงนอน กลายเป็นห้องเรียนที่เต็มไปด้วยสีสันมากขึ้น เมื่อ พศิน คงภัคพูน ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษจากโรงเรียนเบญจมราชาลัย หยิบยืมเอาตัวการ์ตูนชื่อดังมาดัดแปลง เพื่อสร้างโลกแห่งการเรียนรู้ใบใหม่ ด้วยการนำการ์ตูนมาสอดแทรกเป็นเนื้อหา และให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้น ผ่านภารกิจในเกมที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่
หรืออาจเปรียบได้ว่า ห้องเรียนแห่งนี้ของครูพศิน มีประตูทุกหนแห่งตั้งเอาไว้ ให้คุณครูพานักเรียนออกผจญภัยร่วมกัน ไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้อีกแห่งหนึ่งก็ว่าได้
เล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับตัวเองให้ฟังหน่อย
ผมจบจากคณะครุศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชาภาษาอังกฤษ ตอนนี้ก็สอนมาได้ 8 ปีแล้ว ปกติเวลาว่างก็จะอ่านหนังสือ เล่นเกม ก่อนหน้านี้ผมสอนอยู่ที่โรงเรียนฤทธิณรงค์รอน ผมเพิ่งมาสอนที่โรงเรียนเบญจมราชาลัยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้จะสอนแต่ ม.ปลาย พอมาอยู่ที่นี่ก็ได้สอนชั้น ม.1 กับ ม.5
แล้วไอเดียที่เอาการ์ตูนกับเกม มาใช้ในการสอน เริ่มมาจากไหน?
ผมเห็นเด็กที่โรงเรียนเก่า เวลาเรียนภาษาอังกฤษ ทุกคนจะมีกำแพงอยู่ เขาจะมองว่ามันเป็นวิชาที่น่าเบื่อ เพราะอย่างแรก เขาแปลไม่ออก อย่างที่สอง เขาได้เรียนแต่เรื่อง tense เรื่อง structure พวกโครงสร้างภาษา พอเห็นหน้าเด็ก ผมก็สงสารที่เด็กต้องมานั่งเรียน เท้าคางจะหลับ ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงให้มันแหวกแนวได้มากขึ้น ทำยังไงให้มันเข้ากับเด็กได้มากยิ่งขึ้น ก็เลยลองดูว่า ทบทวนตัวเองว่าทำไมเราถึงเรียนภาษาอังกฤษรู้เรื่อง
ผมพบว่า ตอนผมเรียนภาษาอังกฤษ ก็ไม่ได้เอาความรู้จากห้องเรียนมา 100% ตอนเด็กๆ ผมจะเล่นเกมพวก JRPG พวก Suikoden หรือ Final Fantasy ซึ่งผมได้ภาษาจากตรงนั้นมาเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องของคำศัพท์ ก็เลยคิดว่า ถ้างั้นเราลองเริ่มจากเกม เกมที่เด็กสมัยใหม่เล่น ก็จะเป็นพวก PUBG หรือ Free Fire ซึ่งภาษาอังกฤษมันไม่ได้เยอะเหมือนเมื่อก่อน ก็เลยคิดว่า เราจะเอาอะไรเข้ามาได้อีก ก็เลยทำเป็นคล้ายๆ เกมให้มีตัวละครคุยกัน แล้วก็จับเอาตัวละครมาเป็นตัวนำเนื้อหาที่เรียนอีกทีนึง ประกอบกับการเล่นเกมของเด็กเปลี่ยนไป ก็เลยเป็นที่มาที่ทำให้ผมทำบอร์ดเกมจากเกมมือถือด้วย
แล้วเลือกการ์ตูนที่เอามาสอนอย่างไร?
ปกติจะให้เด็กโหวตก่อนเริ่มเลย คือก่อนเริ่มปีการศึกษาใหม่ ผมจะติดต่อนักเรียนที่รู้จักกันอยู่แล้ว ให้เขาเอาแบบสอบถามนี้ไปให้เพื่อนในห้องทำ ซึ่งในนั้นก็จะมีคำถามว่า นักเรียนชอบดูการ์ตูนเรื่องใดบ้าง ถ้าจะเอาการ์ตูนมาสอนในห้องเรียน นักเรียนอยากให้เป็นเรื่องใด แล้วก็ให้เลือกมา 3 เรื่อง รวมไปถึงว่า นักเรียนอยากให้มีเกมหรือกิจกรรมใดในห้องบ้าง ก็ให้เด็กเลือกมา แล้วก็เอาผลจาก Google form นั่นแหละ มาดูกันว่า คะแนนส่วนไหนเยอะสุด
ปีแรกๆ การ์ตูนที่ได้รับความนิยมสุด คือวันพีซ แต่ปีหลังๆ มาเริ่มเป็นโดราเอมอน ซึ่งค่อนข้างยากกว่าวันพีซ ที่ยังมีเรื่องของการผจญภัย ให้สามารถแทรกได้ ก็เลยดูการ์ตูนลำดับที่ 2 3 4 ว่า ที่เขาชอบลำดับต่อมามีอะไรบ้าง ซึ่งก็มีเรื่องวันพีซ แฟรี่เทล และนารูโตะ เป็นการ์ตูนสายโชเน็น สายญี่ปุ่นหมดเลย ผมก็เอาโดราเอม่อนมาเป็นธีมหลัก แล้วก็เข้าผจญภัยไปในโลกของการ์ตูนพวกนั้น จากนั้น ผมก็ต้องหาวิธีผูกเรื่องให้ได้ว่า แต่ละเรื่องเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร เหมือนกับผมต้องมานั่งแต่งนิยาย นิทาน ก็แปลกดี ก็สนุกดีเหมือนกัน
แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ คือผมเอาตัวละครจากเกมมาใช้ แล้วมันยังไม่ว้าว หมายถึงว่า เด็กชอบ แต่เด็กยัง ไม่รู้จัก เกมยุคของเขา กับเกมยุคของผมมันคนละเกมกัน ผมยกตัวอย่าง คลาวด์ สไตรฟ์ จาก Final Fantasy 7 เด็กก็ไม่รู้จักแล้ว รู้จักแต่ Free Fire หรือ ROV ก็จับเข้าด้วยกันยาก ผมเลยต้องเอาการ์ตูนมาจับอย่างนี้แทน
มันมีเรื่องของยุคด้วย?
ใช่ครับ คือช่องว่างของยุค ต้องบอกว่า ผมจะอยู่ในช่วงที่เหมือนจะลำบากหน่อย เพราะเป็นยุคที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เกิดมาในยุคคร่อมระหว่างอนาล็อกกับดิจิตอล ซึ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสไตล์การ์ตูน ความชอบ สังคม เหมือนเป็นยุคที่เชื่อมต่ออยู่ตรงกลางเลย
แล้วการ์ตูนและเกม มาโยงเข้ากับเนื้อหาการสอนได้อย่างไร
อันนี้ขออธิบายเป็นสองโรงเรียน ของโรงเรียนฤทธิณรงค์รอน ต้องเอาตัวอาชีพเป็นตัวตั้ง ซึ่งอันนี้ผมก็จะทำสำรวจว่า นักเรียนทำงานที่ไหน นักเรียนโตไปสนใจอาชีพอะไรบ้าง คำตอบที่ได้ก็หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นครู เป็นแอร์โฮสเตส เป็นพนักงานเซเว่น แม่ค้าอยู่ตลาดนัด เพราะเด็กส่วนใหญ่เขาอาศัยอยู่ในชุมชนด้วย ก็มาจับว่า ถ้าเป็นอาชีพตำรวจ ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับตำรวจจะอยู่ตรงไหนบ้าง ถ้าเป็นพ่อค้า แม่ค้า ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับพ่อค้า แม่ค้า จะอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งเราเอาอาชีพเป็นตัวตั้ง เอาไปเนื้อหาเข้าไปใส่ๆ แล้วก็เอามาเทียบว่า มันครบตามหลักสูตรไหม
แต่สำหรับที่เบญจมราชาลัย เขาจะมีแผนการสอนที่มีเนื้อหาชัดเจนอยู่แล้ว เราก็ต้องปรับว่า ถ้างั้นเราเอาเนื้อหาเป็นตัวตั้ง แล้วเราลองดูสิว่า การ์ตูนนี้เราจะดึงเนื้อหาในการ์ตูนมายังไงได้บ้าง มันก็ต้องเปลี่ยนวิธีการคิดเหมือนกัน
แต่ทั้งสองโรงเรียนก็ได้รับความรู้ในปริมาณที่เท่าๆ กันเลย เพราะการ์ตูนกับเด็กมันแยกกันไม่ได้ ตอนแรกผมก็เกรงว่า โรงเรียนหญิงล้วนเขาจะดูการ์ตูนไหม กลายเป็นว่า เด็กบอก ก็แปลกดีนะครู เพียงแต่ชอยส์ของการ์ตูนเขาจะเปลี่ยนไป จากที่เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเดียว ก็จะมี Tom and Jerry, The Avengers, My Little Pony ผมก็ต้องพยายามดูว่าจะดึงอะไรมาใส่ได้บ้าง
กลายเป็นว่าผมก็ต้องทำการบ้านด้วยว่า การ์ตูนที่เด็กเลือกมา คือเรื่องอะไร บางทีเจอการ์ตูนค่าย Ghibli เราก็ เอ๊ะ เรื่องนี้ เคยได้ยิน แต่ไม่เคยดู เราก็ต้องกลับไปดูซักหน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง เพื่อจะได้รู้ว่าเราดึงมาได้โอเคไหม แหวกเกินไปไหม เพราะในการสอน การ์ตูนที่ผมใช้จะไม่เป็นไปตามเนื้อเรื่องในการ์ตูน ผมจะสร้างเรื่องใหม่ทั้งหมด เพราะถ้าตามการ์ตูนเลย เด็กที่เคยอ่านแล้วจะเบื่อ เพราะเขารู้ว่า เดี๋ยวมันก็ไปตรงนั้น ต่อตรงนี้ รู้แล้ว ก็เฉยๆ เด็กที่ไม่เคยอ่าน เขาก็จะบอกว่า ไม่ได้อยากรู้ ก็เลยกลายเป็นว่า ถ้างั้นเอาแค่ตัวละครมาเป็นจุดร่วม เอาธีมมาเป็นจุดร่วม แต่เนื้อเรื่อง ผมก็มาครีเอทใหม่ทั้งหมด เด็กก็จะรู้สึกว่า มันเป็นอีกจักรวาลหนึ่งของการ์ตูนเรื่องนี้มากกว่า
พอจะยกตัวอย่างเนื้อหาให้ฟังได้ไหม
เอาของโดราเอมอนละกัน ผมจะเล่าเนื้อหาว่า ช่วงนี้ช่วงซัมเมอร์ พวกโนบิตะอยากจะไปเที่ยว แต่เบื่อแล้ว เพราะไปมาหมดแล้ว โดราเอมอนก็เลยบอกว่า งั้นลองไปเที่ยวจักรวาลการ์ตูนดีไหม แล้วก็กระโดดขึ้นปุ๊บ ไปจักรวาลการ์ตูน เรื่องที่หนึ่งเป็นจักรวาลวันพีซ เราก็จะเขียนเรื่องใหม่ แทนที่จะเขียนว่า ลูฟี่กำลังต่อสู้กับคนนั้นคนนี้ เราปูเรื่องใหม่ก่อน ลูฟี่คือใคร โดยจะสร้างสตอรี่ขึ้นมา เช่น ลูฟี่ไปซื้อของ แล้วกระเป๋าตังค์หาย เรายังไม่รู้จักตัวละครนี้ แต่เขาขอให้เราช่วย เด็กต้องเลือก คือผมจะมีตัวเลือกให้ด้วยว่า จะช่วยหรือไม่ช่วย แต่ทางเลือกเหล่านี้สุดท้ายแล้วมันก็จะบรรจบที่เดียวกัน คือยังไงก็ต้องช่วยแหละ แต่ว่าผลที่ตามมาคือ ถ้าเลือกว่าช่วย ได้ของเพิ่ม ถ้าเลือกว่าไม่ช่วย เราก็ต้องเลือกเหตุผลต่อว่า ทำไมถึงไม่ช่วย
เสร็จแล้ว คาบแรก พอเราช่วยลูฟี่เสร็จ คาบต่อมา ลูฟี่ก็กลับมาคุยว่า เราชื่อนี้นะ เรามาจากนี่เหรอ เรามาเที่ยวตามโลกการ์ตูนใช่ไหม งั้นเดี๋ยวจะพาไปดูตรงนั้นตรงนี้ต่อ แล้วก็พาล่องเรือ ไปตามเกาะ สมมติเป็นเกาะขนมเค้ก ซึ่งมันมีอยู่ในการ์ตูน แต่ในการ์ตูน เรื่องราวในเกาะขนมเค้ก คือการต่อสู้ แต่เราไม่ได้อยู่ในการต่อสู้ เราจะโยงไปในเรื่องของร้านขายขนม แล้วก็ดึงๆ ไปเรื่อยๆ เด็กก็จะค่อยลุ้นว่า เอ้ย เกาะนี้นี่นา แต่เนื้อเรื่องมันไม่เหมือนเดิม แล้วจะเป็นยังไงต่อ
เมื่อสอนโดยใช้การ์ตูนแล้ว เด็กได้รับเนื้อหาผ่านบทเรียนยังไงบ้าง
พอเด็กสนใจการ์ตูน เราก็ค่อยๆ ดึงเขาเข้ามา ดึงด้วยเนื้อหาที่จะต้องเรียน ด้วยการใช้ข้ออ้างว่าต้องทำภารกิจ ต้องช่วยเหลือตัวการ์ตูน ต้องออกไปผจญภัย เราก็ดึงเนื้อหาแทรกเข้ามาอยู่ในการ์ตูนตรงนี้ มันจะเนียนกว่าการที่เราจะบอกว่า ทุกคนต้องเรียนเรื่องนี้เพื่อนำไปทำแบบฝึกหัด
ตอนนี้ ที่ผมตั้งใจจะใช้คือ โดราเอมอนไปในเมืองของแฟรี่เทล ซึ่งเป็นการ์ตูนเวทมนตร์ ผมจะสอนเรื่อง if-clause แบบ zero condition ซึ่งก็คือ ตามกฎธรรมชาติ ผมจะโยงเรื่องนี้เข้าได้ยังไง ก็เอาง่ายๆ เลยคือ โดราเอมอน กระโดดเข้ามาในโลกเวทมนตร์ ไม่รู้จักเลยว่าเวทมนตร์คืออะไร ทำให้ตัวละครในการ์ตูนเรื่องนี้ ต้องมาสอนโดเรม่อน ด้วยการใช้ if-clause ว่าเวทมนตร์ก็คือหลักการธรรมชาติชนิดหนึ่ง ถ้าคุณเอาไฟ ไปต้มน้ำ น้ำก็จะเดือด ตามกฎธรรมชาติ แค่นี้คือ if-clause จบเรื่อง เด็กก็จะงงๆ ว่านี่เราเรียนกันแล้วเหรอ ผมก็จะบอก เรียนแล้วลูก จบแล้วด้วย
บรรยากาศก็โอเค อาจจะวุ่นวายหน่อย เพราะเด็กสนุก คึกคัก ยิ่งเวลาทำกิจกรรมจริงๆ เด็กตื่นตัวมาก แต่ผมว่ามันเป็นห้องเรียนที่ดีนะ ห้องเรียนที่มีเสียงเด็กดังๆ จากการทำกิจกรรม ผมว่ามันเป็นห้องเรียนที่เวิร์คมาก ห้องเรียนที่เงียบ ไม่ใช่ห้องเรียนที่ดีเสมอไป ผมจะแบ่งเสมอว่า ช่วงนี้เฮฮาได้ เอาเลย ช่วงนี้ต้องเงียบก็ต้องหยุด พอหยุดปุ๊บครูอธิบายแล้วนะ ครูจะสอนเนื้อหา ฟังนะ ถ้าอยากให้จบภายใน 15 นาที พอจบ 15 นาที เอาเลยลูก เต็มที่ อยากมันแค่ไหน เชิญ มันต้องมีความชัดเจนตรงนี้ด้วย
แล้วเด็กที่ไม่ชอบการ์ตูนจะโอเคด้วยไหม?
เอาความจริง ผมยังไม่เห็นเด็กคนไหนไม่ชอบการ์ตูน หรืออาจจะ มีบ้างที่ไม่ชอบเรื่องนั้น เรื่องนี้ แต่ผมก็จะสอนเขาเพิ่มเติมว่า บางอย่างอาจจะไม่ได้ถูกใจเราทั้งหมด แต่เรามีสิทธิร่วมโหวตแล้ว เรามีสิทธิในการแสดงความเห็นแล้ว เสียงส่วนใหญ่ว่ายังไง เราก็ต้องเคารพตามเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้แปลว่า คุณเลือกการ์ตูนเรื่องนี้ แล้วคุณจะไม่เรียนเลย เพราะมันยังมีกิจกรรมให้คุณเลือก ถ้าคุณชอบทำการ์ดเกม ครูก็ทำการ์ดเกมมาให้ด้วย คุณอาจจะไม่ได้การ์ตูน แต่คุณได้การ์ดเกม หรือคนนึงได้การ์ตูน แต่ไม่ได้เกมอย่างที่เขาต้องการก็มี มันก็ต้องแชร์ๆ กันไป
แล้วในห้องเรียนต้องมีแบ่งกลุ่มเด็กๆ ด้วยไหม?
มีครับ แบ่งเป็นกลุ่มละ 3 คน แบ่งเป็นเด็กที่ได้คะแนนสอบเยอะ กลาง และก็น้อย แล้วจะเปลี่ยนกลุ่มทุกๆ ครึ่งเทอม เท่ากับว่าเด็กๆ จะได้อยู่ทั้งหมด 4 กลุ่ม แบบสมาชิกไม่ซ้ำกัน แล้วเด็กก็มีโอกาสจะเปลี่ยนแรงค์คะแนนของตัวเองด้วย อย่างก่อนหน้านี้ มีเด็กคนนึงได้คะแนนสอบ 3 คะแนน จากคะแนนเต็ม 15 คะแนน แล้วตอนจบเทอม คะแนนเต็ม 15 คะแนน เขาทำคะแนนได้ 13 คะแนน
อย่างที่บอกว่า ถ้าเด็กๆ ชอบ เขาก็จะเปิดใจที่จะรับการเรียนรู้ แล้วก็จะเรียนมากขึ้น หลายคนชอบบอกว่า ถ้าจะทำอะไรให้สำเร็จต้องทำให้เด็กชอบในวิชา แต่ผมมองว่า มันข้ามไปขั้นตอนนึง เราต้องทำให้เด็กชอบครูก่อน ต่อให้เราชอบวิชา แต่เราไม่ชอบครู เราก็ไม่อยากเรียนแล้ว แต่ถ้าพอเราทำให้เขารู้สึกว่า ครูเข้าใจเด็ก แล้วเขาก็จะเปิดใจรับฟังสิ่งที่เราสอนเขา ถ้าเขารับฟังเรา แต่ยังไม่ชอบวิชาที่เรียน เราก็ค่อยๆ แง้มประตูให้เขา พอเปิดรับฟังทั้งครู ทั้งเนื้อหาที่เรียน ก็สบายแล้ว
เนื้อหาที่เอามาโยง เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษด้วยไหม
เกี่ยวข้องครับ ขั้นตอนการเรียนในห้อง เราจะทวนเนื้อหาตอนที่แล้วหน่อยว่า คาบที่แล้วเราดูการ์ตูนอะไรไปบ้าง แล้วก็เปิดมาจะเป็นชื่อตอนก่อน ซึ่งชื่อตอนจะเป็นภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะได้เรียน คือเนื้อหาในตอนนั้น หน้าต่อมา เราจะได้เห็นตัวละครคุยกัน ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ หน้าที่ของครูคือ ครูต้องอ่าน อ่านแล้วบอกว่า คำนี้แปลว่าอะไรบ้าง แล้วพอเด็กเริ่มคล่อง ก็ให้เด็กลุกขึ้นมาอ่านบ้าง ให้ช่วยกันแปลบ้าง โดยในนี้จะมีคำศัพท์ ที่ผมเรียกว่า ศัพท์สีแดง หรือศัพท์สำคัญที่เด็กควรจะจด เพราะเป็นศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และอาจจะเจอในข้อสอบ รวมถึงเป็นพวกสแลงที่ควรจะรู้ไว้ด้วย
พอตัวการ์ตูนคุยกันเสร็จปุ๊บ ก็จะตัดเข้าสู่ภารกิจที่นักเรียนต้องทำ คราวนี้ก่อนที่จะมีภารกิจก็จะต้องมีการสอนกันนิดนึงว่า ก่อนจะทำภารกิจได้ เราต้องใช้เนื้อหาอะไร เราจะใช้เวลาสอนเนื้อหา ประมาณ 10-15 นาที นั่นแปลว่า ไม่ใช่ว่าเราจะเอาเรื่องเดียวแล้วยัดเข้าไปในคาบนึง ครูต้องซอยเนื้อหาให้เล็กลง เพราะเราต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กทุกคนไม่ได้เก่งอังกฤษ การที่เราใส่ตู้มเดียวไปเลย เด็กอาจจะงง ไปต่อไม่ได้
สมมติเรื่อง Present simple tense มีการใช้อยู่ 2 แบบ คือ ใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วก็ใช้ในเรื่องของ ความเป็นจริงตามธรรมชาติ เราไม่จำเป็นต้องสอน 2 เรื่องในคาบเดียวกัน อาจจะสอน Present simple tense แบบชีวิตประจำวันก่อน แล้วค่อยสอน Present simple tense แบบตามธรรมชาติอีกคาบนึง มันแยกออกมาก็ได้
พอได้เรียนเนื้อหาเสร็จ ก็เข้าสู่กิจกรรมแบบ Activity based learning คือเด็กจะได้ทำกิจกรรม อาจจะต่างกันไป เช่น แข่งกันตอบคำถาม แข่งกันไปหาของ หรือโยนลูกบอลให้เข้าเป้า มันก็จะมีเยอะมาก แล้วก็สรุปเนื้อเรื่องว่า เราได้เรียนอะไรไปบ้าง แล้วเราได้ทำภารกิจอะไรไป แล้วก็ค่อยปิดจบในวันนั้น ซึ่งมันก็จะคล้ายๆ การ์ตูนหนึ่งเรื่องที่เราได้ดู
ขอเสริมว่า ที่ผมต้องเอาเนื้อหา เรื่องราวเข้ามาด้วน เพราะว่า ภาษาอังกฤษมีจุดอ่อนต่างจากภาษาไทย สังคม หรือคณิต ก็คือ มันไม่มีจุดเชื่อม อย่างคณิต เราเรียนขั้นตอนที่หนึ่งคือบวก หนึ่งหลัก สองหลัก สามหลัก กระโดดมาเป็นลบหนึ่งหลัก ลบสองหลัก เป็นบันไดขั้นขึ้นไป อย่างภาษาไทย เราเรียนเรื่องวรรณคดี ก็จะมีเรื่องของการอ่านวรรณคดีซึ่งมันจะเป็นเรื่องราว สังคมประวัติศาสตร์ ก็จะมีเรื่องราวของมัน แต่ภาษาอังกฤษไม่มี เมื่อไม่มี ก็เหมือนกับว่า เราสอนเด็กด้วยการเอากระดาษแผ่นหนึ่งมาวาง ทำให้เด็กไม่รู้ว่าเขาควรจะหยิบตรงไหนมาก่อน
อันนี้เด็กมาพูดกับผมเองเลย เขาถามว่า ‘ครู ทำไมเวลาผมอ่านหนังสือ ถึงจำไม่แม่นเท่ากับผมดูหนัง หรือดูการ์ตูน’ ผมก็ถึงเข้าใจว่า ทำไม เพราะอะไร ผมก็ต้องลองรีเสิร์ชว่าเพราะอะไร จนไปถึงการสอนแบบสตอรี่ไลน์ คือมีเรื่องราว มีตัวละคร มีฉาก มีความน่าสนใจ ซึ่งตรงนี้ เนื้อหาที่เรียนมันไม่มี แล้วเราจะทำยังไง เราก็ต้องเอาตรงนี้มาใส่ในเนื้อหาที่เรียน เด็กจะได้จำได้ว่า อ๋อ คาบที่แล้ว มีตัวละครนี้ไปทำภารกิจนี้ พอถามว่า แล้วจำได้ไหมว่าเรียนเรื่องอะไร เขาก็จะใช้เวลานึกนิดนึงว่า ‘อ๋อ ครู เรียนเรื่องนี้’ เด็กก็จะมีจุดยึดแล้วว่า การ์ตูนช่วงนี้ เป็นเนื้อหาเรื่องนี้ จากที่ปกติเขาจะไม่มีอะไรให้ยึดได้เลย
เป้าหมายของการเรียนภาษาอังกฤษ คืออะไร?
ใช้ให้เป็น คีย์เวิร์ดเลย ถ้าคุณเรียนภาษาแล้วคุณใช้ไม่เป็น คุณอย่าเรียน ทำไมผมถึงกล้าพูด เพราะผมเรียนศิลป์ภาษาญี่ปุ่นมา แล้วผมเป็นคนหนึ่งที่ตายกับภาษาญี่ปุ่น ผมมาตายตรงคันจิ คือทุกวันนี้ ฟังได้ พูดได้นิดนึง แต่อ่านไม่ได้แล้วเพราะอ่านคันจิไม่ออก ซึ่งมันทำให้รู้ว่า การเรียนภาษาแล้วไม่สามารถนำไปใช้ได้มันอึดอัดนะ มันเหมือนเป็นความล้มเหลวในตัวเองว่า เรียนทำไม ฉะนั้น การเรียนแล้วเขาไปใช้ต่อได้ มันคือสิ่งที่เพอร์เฟคที่สุด สำหรับการใช้ภาษาเลย
อย่างที่บอกว่า ตัวต้นแบบในการสอน ก็มาจากผมนั่นแหละ แต่ในขณะเดียวกัน คนรอบตัวผมก็จะเห็นว่า ทำไมคนนั้นเรียนรอด ทำไมคนนั้นไม่รอด ทำไมคนนั้นเรียนรุ่ง ทำไมคนนี้ไม่รุ่ง
การ์ตูนก็นับเป็น Soft power อย่างหนึ่ง แล้ว Soft power ถูกนำมาใช้ในการสอนอย่างไร?
สิ่งแรกคือความสนใจ ถ้าเขารู้จัก ชอบ เขาจะสนใจ สิ่งที่เขาเคยเห็น เคยผ่านตา เคยรู้จักมัน เขาจะสนใจ การที่เขาสนใจต่อให้มันเป็นแค่ตัวการ์ตูน แต่ตัวการ์ตูนนั้นมันแฝงไปด้วยการสนทนาภาษาอังกฤษ การสนทนาภาษาอังกฤษมันแฝงด้วยคำศัพท์ การที่เขาค่อยๆ เก็บเกี่ยวตรงนี้ไปเรื่อยๆ มันจะทำให้เขาสามารถต่อยอดด้านภาษาของเขาได้ ถ้าเกิดเรามองกว้างออกไปว่า ถ้าไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษล่ะ ก็ได้ จำเป็นไหมว่าการเรียนประวัติศาสตร์โลก คือการมานั่งเล่าให้ฟัง ทำไมเราไม่ลองจำลองสถานการณ์ไปเลยล่ะ?
เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า สมมติเราเรียนภาษาจีน มาถึงเจอตัวอักษรจีนเต็มหน้าพาวเวอร์พอทย์เลย ความรู้สึกแรกคืออะไรอ่ะ มันคืออะไร ไม่เอา ไม่อยากเรียน กลับกัน ถ้าเกิดมาถึงปุ๊บ เราเห็นเป็นมู่หลาน จาก Disney ก็ได้ เด็กก็อาจจะชอบก็ได้ เด็กสนใจ นั่นแหละ เราเริ่มจับความสนใจเขาได้แล้ว
ตอนนี้เท่าที่สอนมา ผลตอบรับของเด็กๆ เป็นอย่างไรบ้าง?
ผมเพิ่งสำรวจมาก่อนมิดเทอมที่ผ่านมา เรื่องของเนื้อเรื่อง เรื่องของการ์ตูน เด็กชอบมาก ผมก็แปลกใจนะ เพราะตอนเรียนในห้อง เด็กก็เหมือนจะงงๆ ว่า อะไรเหรอ ทำไมครูมีการ์ตูน แต่ผลสำรวจออกมา ส่วนใหญ่ก็แฮปปี้กับการเรียนด้วยการ์ตูน ซึ่งผมย้ำเด็กๆ ว่าไม่ต้องเอาใจ ผมต้องการปรับให้เหมาะกับนักเรียนทุกคน แล้วทุกคนบอกว่า เนื้อหาการ์ตูนน่าสนใจนะ มีตัวละคร มีตัวการ์ตูนที่รู้จัก อยากให้เอาตัวนั้นมามากขึ้น กลายเป็นว่า เด็กก็โฟกัสมากขึ้นด้วย
คิดว่า ปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษในบ้านเราคืออะไร
หลักๆ คือ เราจะเน้นไปที่ว่า พอเป็นภาษาอังกฤษพื้นฐาน ทุกคนจะสอนไปในเรื่องของ grammar ซึ่งกลับกันผมมองว่า ภาษาอังกฤษพื้นฐาน มันควรจะเป็นทักษะพื้นฐาน ก็คือฟังพูดอ่านเขียน ของเราจะเน้นไปที่ grammar อย่างเดียว มันเลยทำให้เกิดคำพูดที่ว่า เรียนภาษาอังกฤษกับครูไทย ไม่สนุกเท่าครูฝรั่ง เพราะครูฝรั่งเขาไม่ได้สอน grammar ครูฝรั่งเขาสอนพูด สอนฟัง สอนอ่าน สอนเขียน เขามีพื้นที่ในการจัดกิจกรรม พื้นที่ในการสอนทักษะ ซึ่งเด็กทำทักษะนั้นได้ เด็กก็มีความสุข แล้วก็อยากเรียน
กลับกัน เด็กเรียน grammar กับครูไทย ไม่รู้เรื่อง จำไม่ได้ว่า is ใช้กับใคร พอมาทำแบบฝึกหัด ทำไม่ได้ เด็กไม่อยากเรียน ฉะนั้น ความผิดมันไม่ได้อยู่ที่ครูไทย หรือครูฝรั่ง มันอยู่ที่การจัดเนื้อหาว่า เราจัดอย่างไร ทำไมถึงออกมาเป็นแบบนี้
ทำไมถึงต้องแบ่งกันว่า ครูไทยต้องสอน grammar แล้วครูต่างต้องสอน conversation
จริงๆ มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ครูต่างชาติควรสอนวิชาพูดกับฟังนั่นแหละ ถ้าสังเกตดู โรงเรียนไหนมีครูต่างชาติเขาก็จะให้สอนวิชาทักษะแบบนี้ แล้วพอฟังพูดเสร็จปุ๊บ วิชาอ่านเขียน ก็เน้นไปที่อ่านเขียน อาจจะเป็นครูไทยหรือครูต่างชาติก็ได้ พอมันมีฟังพูดแล้ว มันมีวิชาอ่านเขียนแล้ว วิชาพื้นฐานสอนอะไร ทุกคนก็ต้องกลับมาดูว่า แล้วเราจะสอนฟังพูดทำไม มันชนกับอีกวิชานึง ก็เลยมาสอนในเรื่องของ grammar ซึ่งอันนี้เป็นแนวคิดสมัยเก่า ขอพูดอย่างนี้เพราะว่า หลักสูตรนี้ถูกสอนกันมาตั้งแต่อดีตกาล แล้วมันไม่เคยได้รับการเปลี่ยนแปลง และมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้
ถ้าครูคนอื่นๆ อยากทำแบบนี้บ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร
ผมจะบอกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นการ์ตูนเหมือนผม หยิบในสิ่งที่ครูถนัดขึ้นมาก็ได้ อย่างผมเห็นการ์ตูน แล้วถนัด เพราะชอบดูการ์ตูนกับเล่นเกม ผมเลยเอาตรงนี้มายำรวมกัน กลับกัน ครูที่ไม่ได้เล่นเกม จำเป็นไหมว่าต้องสอนเป็นเกม หรือการ์ตูน ผมมองว่าไม่จำเป็น จะกลายเป็นการฝืน เหมือนกับว่า จะให้ผมไปสอนในรูปแบบที่ผมไม่ถนัด มันก็จะไม่ใช่ตัวตนผม แล้วเด็กเขาจะรู้ เขาจะไวมาก
ถ้าจะเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้ อยากให้เอาแนวคิดว่า ให้เด็กเขาแฮปปี้กับการสอนของเรา แล้วเราแฮปปี้กับการสอนจะดีกว่า เพราะมันก็ไม่ง่าย เพราะมันต้องเตรียมการเยอะ ถ้าเราไม่มีพื้นฐานเลย ยากมากจริงๆ
แต่ถ้าเกิดอยากใช้จริงๆ แต่ไม่ได้มีความรู้มาก ต้องทำยังไง ผมแนะนำว่า ให้สำรวจเด็กก่อนว่าเด็กชอบอะไร เลือกมาแค่เรื่องเดียวก็ได้ เลือกมาแค่เรื่องเดียว แล้วไปทำความเข้าใจกับเรื่องนั้นให้มากที่สุด ใช้เวลากับตรงนั้นหน่อย แล้วเราลองดูสิว่า เราจะเอาตรงนี้มาใช้ยังไงได้บ้าง จะได้ลดภาระลงไปพอสมควร
ระบบการศึกษามันเปิดให้ครูสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้มากแค่ไหน
จริงๆ ต้องบอกว่ามากนะ อย่างตอนที่ผมเรียนครุศาสตร์ จุฬาฯ จะมีคำนึงที่ชอบมาคือ ‘เมื่อคุณเข้าไปในห้องเรียน นั่นคือโลกของคุณ คุณอยากจะสร้างโลกใบนี้ให้กับเด็กอย่างไรบ้าง นั่นคือหน้าที่ของคุณ’ คำพูดนี้เหมือนกับว่า เมื่อคุณเข้าไปในห้อง ถ้าคุณมองมันเป็นแค่ห้องเรียน มันก็แค่ห้องเรียน ถ้าคุณมองว่ามันคือโลกการ์ตูน มันก็คือโลกการ์ตูน ถ้าคุณมองว่ามันคืออาร์ตแกลอรี่ มันก็จะเป็นอาร์ตแกลอรี่ ครูอยากจัดยังไง ครูจัดได้
เพียงแต่ว่ามันจะอยู่ภายใต้คำนึงคือ หลักสูตร ต้องครอบคลุมหลักสูตร ซึ่งผมก็โอเคนะ มันถูกต้องแล้ว เพราะถ้าเกิดออกแบบอลังการงานสร้าง แต่สุดท้ายแล้ว หลักสูตรไม่ตรงตามเป้าประสงค์ มันก็อาจจะไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่ เพราะยังไงการประเมินมันก็ยังเป็นการประเมินแบบระดับชาติ ใช้ข้อสอบเดียวกัน คือ O-NET และ GAT-PAT
ครูเองก็มีภาระงานด้วย แล้วจะมีอุปสรรคต่อการเตรียมการสอนยังไง?
ต้องถามว่า ใช้เวลาไหนมากกว่า เพราะอย่างของผม ผมใช้ช่วงปิดเทอม ประมาณ 2 เดือนกว่า เท่ากับผมต้องทำงานทั้งปี ให้จบภายในสองเดือน หรืออย่างน้อยคือ 1 เทอม ให้จบภายในสองเดือน แล้วมันจะมีปิดเทอมอีกประมาณ 2 สัปดาห์ เคลียร์คะแนนเสร็จแล้วก็ทำของช่วงหลังต่อ คือ ครูบางคนจะใช้วิธีการเตรียมหน้างาน อาจจะด้วยภาระเยอะหรืออะไรก็แล้วแต่ เขาจะมาเตรียมตัวก่อนสอน วันสองวัน ซึ่งผิดไหม ไม่ผิด แต่ถามว่าเราทำได้ดีกว่านี้ไหม ผมมองว่าทำได้นะ
แต่ถ้าภาระงานครูน้อยลงกว่านี้ จะดีกว่าไหม?
ผมเห็นด้วยมากว่าภาระงานครูต้องลดลง อันนี้ต้องยอมรับว่า บางอย่างมันก็ไม่ใช่งานที่ครูจะต้องมาทำเองจริงๆ แล้วงานบางอย่างต้องใช้ความละเอียด ต้องใช้เวลา ต้องใช้การออกนอกสถานที่ ต้องใช้อะไรมากกว่า ไปสอน แล้วเดี๋ยวค่อยลงมาทำต่อ เช่น งานเกี่ยวกับการเงิน มันไม่ใช่งานที่คุณนั่งทำไป แล้วก็ขึ้นไปสอน แล้วก็ลงมาทำต่อได้ บวกเลขผิดตัวเดียวคุณก็ตายแล้ว หรืองานพัสดุ คุณก็ต้องเตรียมว่าจะเอาอะไรบ้าง แล้วก็ออกไปซื้อของ แล้วครูต้องไปซื้อเวลาไหน ก็ต้องไปในเวลาที่มันเอื้ออำนวย ซึ่งคำว่าเอื้ออำนวยของแต่ละคน หรือแต่ละโรงเรียนก็ไม่เหมือนกัน
ฉะนั้น ผมมองว่า การลดภาระงานครูได้ก็จะดีมาก เพราะผมเชื่อว่า มีครูอีกหลายคนนะ ที่อยากทำให้เด็กมากกว่านี้ แต่ด้วยภาระงานครูที่มันทับเข้ามาเรื่อยๆ วันนึงผมอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ ตอนนี้ ผมอายุ 30 ปี ไฟผมยังแรง ใจผมยังสู้ แต่ถ้าวันนึง โตไปอีก ผมก็ไม่รู้ว่า สภาพร่างกายกับจิตใจผมจะอยู่ในสภาพไหน อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคาดเดาไม่ได้
ในแง่ของหลักสูตร มีปัญหาอะไร หรืออยากแก้ไขตรงไหนไหม?
ตอนนี้ ผมมองว่าสิ่งที่มีปัญหาจริงๆ ไม่ใช่หลักสูตร แต่เป็นการประเมิน คือตัวหลักสูตรเขียนขึ้นมาก็เปิดกว้างได้พอสมควรอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าครูหยิบมาใช้ได้หรือเปล่า แต่ตัวปัญหาคือการประเมิน คือ สมมุติว่าคุณเขียนหลักสูตรมา 100 องค์ประกอบ ครูสอนได้ประมาณ 70-80 องค์ประกอบ แต่เวลาที่คุณประเมิน ข้อสอบ O-NET คุณออกเกิน 100 องค์ประกอบนะ คือบางทีมันเกินไปมาก
อย่างภาษาอังกฤษที่จะเห็นชัดเลยคือ scope ของคำศัพท์ที่ผมสอบสมัยก่อนกับสมัยนี้ คนละเรื่องกันเลย สมัยนี้น่าจะเป็นคำศัพท์ปริญญาตรี ปี 2-3 แล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าคนออกข้อสอบเขาไปเทียบระดับจากพวก IELTS หรือ TOEFL รึเปล่า แต่ส่วนตัวผมว่า IELTS หรือ TOEFL ก็ไม่ได้ยากขนาดนี้
ผมอยากให้เขาดูเรื่องการประเมินว่ามันสอดคล้องกับหลักสูตรจริงๆ หรือเปล่า ไม่ใช่ว่า ต้องการออกข้อสอบให้มันยากอย่างเดียว เหมือนมันมีหล่มอยู่จุดหนึ่ง ก็คือเวลาที่เด็กทำข้อสอบได้เยอะๆ คนออกข้อสอบจะรู้สึกว่า ข้อสอบง่ายไปไหม ซึ่งจริงๆ แทนที่ทำไมเราไม่มองว่า พอเด็กทำข้อสอบได้เยอะๆ เฮ้ย ครูสอนดีนะ เด็กเข้าใจนะ ได้เรียนครบตามองค์ประกอบนะ แต่ทำไมเราถึงมองว่า ข้อสอบง่ายไป
มันกลายเป็นว่า พอเขามองว่าข้อสอบง่ายไป เขาก็เพิ่มความยากของข้อสอบ คนที่วิ่งตามไหวก็ตามไป คนที่วิ่งไม่ไหวก็กลายเป็นว่า การศึกษาทิ้งฉันแล้ว ฉันนอนกองอยู่ข้างทาง คนวิ่งได้ก็วิ่งไป
สุดท้ายคนที่ตายก็คือทั้งเด็กและครู เพราะครูก็ไม่รู้จะตามยังไงแล้ว อย่างทุกวันนี้ ผมดูข้อสอบ ยอมรับเลยนะว่า ถ้าต้องกลับไปสอบ ผมจะทำได้ไหมวะ มันยากมาก แล้วเด็กล่ะ เราเรียนมาขนาดนี้ ยังรู้สึกว่ามันยาก เด็กก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง สุดท้ายก็ไปลงในเรื่องของติวเตอร์ ซึ่งก็จะมีการบอกว่า ต้องออกข้อสอบเพื่อไม่ให้ติวเตอร์สอนได้ ก็เลยกลายเป็นการออกข้อสอบที่ยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง สรุปตอนนี้ ไม่ใช่แค่ติวเตอร์ ครูก็สอนไม่ได้ คือ ผมอยากให้เขาเปลี่ยนมุมมองในการประเมินมากกว่า ว่าคุณหลุดไปไกลแค่ไหนแล้ว
คิดว่าเป็นเพราะอะไรถึงออกข้อสอบแบบนี้
ผมว่าเขาโฟกัสผิดจุด เพราะมีช่วงนึงที่เขาบอกว่า เขาต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้ติวเตอร์ติวข้อสอบได้ แต่เขาลืมไปว่า ติวเตอร์เขาออกมาเพื่อพิชิตข้อสอบอยู่แล้ว ฉะนั้น คุณจะออกพลิกแพลงแค่ไหน เขาก็หาทางพิชิตคุณได้ ในเมื่อเราเอาชนะเขาไม่ได้ เราก็ต้องหันกลับมามองว่า ที่ทำไปมันคุ้มไหม เพราะตอนนี้กลายเป็นว่า เด็กทุกคนก็จะบอกว่า เรียนกับครูในโรงเรียนไม่ได้ประโยชน์เลย เรียนกับติวเตอร์ดีกว่า เพราะติวเตอร์จะสอนตามที่ข้อสอบออกมาเป็นหลัก แล้วนั่นคือคำตอบในการเรียนภาษาอังกฤษหรือเปล่า?
ผมอยากให้มองย้อนกลับไปเรื่องประเมินอย่างมาก ตอนนี้ เด็กต้องวิ่งตามข้อสอบ ครูก็ต้องวิ่งตามข้อสอบ แล้วสรุป ครูจะตามก่อน เพราะต้องยอมรับว่า ครูไม่ได้มีแค่อายุเท่าผม มีอายุใกล้เกษียณอีกที่ต้องถามว่า เขาจะวิ่งตามไหวเหรอ อย่าใช้คำว่า ครูต้องวิ่งตามโลกให้ทัน อันนี้มันไม่ใช่โลก อันนี้มันโลกของคุณ โลกการประเมินของคุณ ไม่ใช่โลกใบนี้ โลกใบนี้มันหมุนก็จริง แต่มันไม่ได้หมุนไปในทิศทางที่คุณออกข้อสอบ
แล้วจะสามารถช่วยเด็กได้ยังไงบ้าง
ผมก็เคยเจอคำถามแนวว่า อ่าว ใช้การ์ตูนมาสอน แล้วเด็กจะสอบได้เหรอ ผมก็บอกว่า ได้สิ เพราะผมไม่ได้สอนข้อสอบ แต่ผมสอนให้เด็กรักภาษาอังกฤษ เมื่อเขารัก เขาสามารถต่อยอดความรู้ด้วยตัวเขาเองได้ ผมก็เคยถามกลับว่า คุณมีกิจกรรมที่รักซักอย่างไหมละ กิจกรรมหรืออะไรก็ได้ซักอย่างที่รัก ถ้าคุณรักอันนั้น คุณพร้อมจะไปกับมันไหม คุณพร้อมจะต่อให้มันยาก มันลำบาก คุณพร้อมจะเรียนรู้มันเพิ่มไหม พร้อมอยู่แล้ว เพราะใจมันไปแล้ว มันพร้อมลุย
ถ้าเด็กรักภาษาอังกฤษ เขาก็จะพร้อมลุย ต่อให้มันยากขึ้น เขาก็พร้อมจะลุย กลับกัน ถ้าเกิดเรายัดความรู้เยอะๆ แต่ใจเขาไม่ชอบ การต่อยอดก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น มันก็ต้องมองย้อนกลับมาว่า การสอนให้เขารัก มันจะเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย ผมเจอหลายคนเริ่มไปดู Netflix หรือดูซีรีส์เกาหลี แบบซับไตเติลภาษาอังกฤษ แทนที่จะเป็นภาษาไทยไทย และแทนที่จะไปดูหนังในโรงพากย์ไทย ก็ดูเป็นแบบซาวด์แทร็ก หลายคนเริ่มเปลี่ยนแหลงตัวเอง ผมว่านี่คือสิ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างนึง
เหมือนกับว่า สอนให้เป็นวิชาที่สอนทักษะชีวิต?
สอนให้เป็นทักษะชีวิต แล้วก็เป็นการสร้างความรักให้กับวิชา ถ้าเกิดเขารัก เขาจะต่อยอดเองได้ ก็มองย้อนกลับมาที่ตัวผมว่า ทำไมผมถึงเรียนภาษาอังกฤษได้ ผมแค่อยากเอาชนะเกมที่ผมแปลไม่ออก ทำไมมันไปต่อไม่ได้ จนกระทั่งผมต้องยอม ลบเซฟทิ้ง แล้วกลับมาเล่นใหม่ตั้งแต่ 0% แล้วค่อยๆ นั่งเปิดคำแปล แปลไปเรื่อยๆ จนสามารถเอาชนะเกมนั้นได้ มันคือความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง
กลับกัน ความภาคภูมิใจของเด็กอาจจะบอกว่า เฮ้ย ดูซีรีส์เรื่องนี้แบบภาษาอังกฤษจนจบ นั่นคือความภาคภูมิใจของเขา การใช้มือถือเป็นแค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว แล้วเขากดได้ราบรื่นแล้ว นั่นคือความสำเร็จของเขา ฉะนั้น แต่ละคนจะมีความสำเร็จไม่เหมือนกัน