“ครูทุกคนมีไฟ แต่ถูกระบบทำให้ดับมอด” .. คำกล่าวนี้ตรงกับความรู้สึกของคุณแค่ไหน?
ครูคืออาชีพที่เราคุ้นชินกันมาแต่ไหนแต่ไร เพราะเด็กจำนวนมากต่างเติบโตขึ้นมาโดยมีสถาบันศึกษาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหล่อหลอมตัวตนกันอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นอาชีพที่หลายคนเคยใฝ่ฝันเอาไว้ด้วย
แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา ‘ครู’ กลับเป็นอาชีพที่ทำให้หลายๆ คนหมดไฟ และต้องก้าวออกไปประกอบอาชีพอื่นแทนเสียอย่างนั้น
เมื่อปัญหาเรื่องความซึมเศร้าในแวดวงอาชีพครู เป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับแสงสปอตไลท์จากสังคม The MATTER จึงขอชวนไปคุยกับ จารวี ธารณพฤทธิ์ หรือ ครูไม้ขีด ซึ่งเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยแรงไฟในรักงานสอน แต่กลับถูกระบบการศึกษา วัฒนธรรมองค์กร และภาระงานมากล้น กดให้ไฟนั้นมอดดับไป
เริ่มมาเป็นครูได้อย่างไร?
จริงๆ แล้วเราทำเอกชนมาก่อน แล้วก็อยู่ในวงการเอกชน ทำงานเลขขาฯ ธุรกิจ จนกระทั่งมีครอบครัว ก็เลยคิดว่าลองหางานที่มันได้หยุดเสาร์-อาทิตย์ดีกว่า เพื่อจะได้อยู่กับลูก ก็เลยเปลี่ยนสายจากตอนแรกที่จบอังกฤษธุรกิจ เราก็เข้ามาอยู่ในสายครู ตอนแรกคิดว่าจะได้เรียน ป.บัณฑิต (ประกาศนียบัตรวิชาชีพครู) เพื่อที่จะเรียนเอาใบประกอบ แต่ที่นี้โรงเรียนเอกชนเขาไม่อนุญาตให้เราไปเรียน เพราะเขากลัวว่าเราจะไปสอบ
ทำได้ด้วยเหรอ?
ตอนนั้นก็คือ 10 กว่าปีแล้ว เขาไม่ให้ไป เราก็เลยทำงานไปเรื่อยๆ แต่ถามว่าชอบครูไหม ชอบนะ เพราะเราได้อยู่กับเด็ก เหมือนเวลาเราเบื่องานในหน้าผู้ใหญ่ เราก็จะมาอยู่กับเด็ก ก็จะมีทางให้เราได้เปลี่ยนบ้าง ได้มีกิจกรรมอะไรที่เป็นรูทีนไปทุกปี แล้วแต่กิจกรรมที่โรงเรียนจะมี ทีนี้พอเอกชนไม่ให้ทำใบประกอบก็เลยกลับไปทำบริษัท
จุดพลิกผันที่เข้ามาในวงการราชการจริงๆ คือตอนที่ไปลองสอบบรรจุครู ตอนนั้นเขายังไม่ต้องใช้ใบประกอบ มันจะมีอยู่ปี 2560 เราไปสอบจนได้เข้าไปถึงรอบสัมภาษณ์ ปรากฏว่าไม่ติด แต่โชคดีที่ว่า ผอ.โรงเรียนทวีธาภิเศก บางขุนเทียน ได้สัมภาษณ์เรา ท่านก็บอกว่าหน่วยก้านดีมาเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนไหม เลยเอา ไหนๆ ถ้าดวงจะได้เป็นก็ไปแล้วกัน ก็เข้าไปเซ็นสัญญา ผอ. ก็ส่งเสริมด้วยว่าไปเรียนเอาใบประกอบมา จะได้เป็นครูถูกกฎหมาย เราก็ไปเรียน ตอนนั้นก็เริ่มได้เรียนรู้แล้วว่าวงการราชการทำงานแบบไหน โฟลวงานเป็นยังไง เรามีระบบอาวุโสเป็นวิทยฐานะขึ้นมา ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีการกำหนดเกณฑ์ของมันไป
จนกระทั่งทำงานที่ทวีธาบางขุนเทียนได้ประมาณ 10 เดือน ก็สอบบรรจุได้ที่เทศบาล ทีนี้ก็ไปเป็นครูเทศบาล แล้วอาการที่จะเป็นซึมเศร้าก็เริ่มตั้งแต่ช่วงที่ไปสอนที่โรงเรียนเทศบาล เราสอบมาแต่ที่เทศบาลเขาไม่ได้โฟกัสในจุดที่คุณสอบมา เขาโฟกัสว่าคุณเป็นญาติกับใครในเทศบาล คุณรู้จักใครไหม คือสอบเข้ามาแล้วยังไงล่ะ คุณไม่ได้รู้จักกับนายกฯ เทศมนตรี การทำงานเราก็เริ่มยากขึ้น
เราเองก็มีอีโก้นิดๆ นะว่าเราสอบเข้ามา เราแย่งชิงกับคนเป็นแสน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยนะ แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เราได้ทำมันไม่ใช่งานที่เราควรจะทำ เราเป็นครูภาษาอังกฤษ แต่ได้ทำเรื่องคุณลักษณะของห้องเคมี ซึ่งมันไม่ตรงกับเราเลย แล้วก็ได้รับงานอะไรแบบนี้มาเรื่อยๆ ไม่ได้ put the right man on the right job นี่คือการทำงานของระบบราชการที่มันไม่ได้เป็นระบบจริงๆ ถ้าจะบอกว่าต้นเหตุในการเป็นซึมเศร้ามันเริ่มไหน ก็เริ่มจากตรงนี้เลย ก็คืองานที่เราถนัดทำไมเขาไม่ให้เราทำ แต่งานที่เราไม่ถนัดทำไมให้ทำจังเลย
ส่วนตอนนี้เราก็ย้ายมาสอนที่โรงเรียนในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งถามว่าดีขึ้นไหม ก็ดีขึ้น ในเรื่องของการสอน มันไม่ใช่ปัจจัยเดียว อย่างเด็กโรงเรียนเทศบาลเราก็จะรู้กันว่าเขาก็จะเป็นเด็กเก็บตกมาจากโรงเรียนใหญ่ๆ ซึ่งเด็กทุกคนมีปัญหา มันกลายเป็นเหมือนเราไม่มีเวลาส่วนตัวเลย ทุกอย่างใน 24 ชั่วโมง ‘ครู ลูกรถชน’ ‘ครู ลูกหนีไปอยู่บ้านเพื่อน’ ซึ่งเราก็พยายามทำเต็มที่ในส่วนของเรา แต่ในขณะเดียวกันเรากลับไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ก็เลยเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราพยายามแล้ว แต่พอเด็กออกจากรั้วโรงเรียนไปไม่ใช่ว่าเราไม่ตาม เราก็ตาม แต่ผู้ปกครองอยู่เฉยๆ แล้วไม่ตาม อันนี้คือเราก็ท้อใจ เหมือนเราตั้งความหวังไว้ว่ามันควรจะเป็นแบบนี้ แต่มันไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ เลยรู้สึกแย่
นอกจากเรื่องของระบบวัฒนธรรมองค์กรและนอกรั้วโรงเรียน มีปัจจัยไหนอีกไหมที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า
เราคิดว่าวัฒนธรรมในโรงเรียนสำคัญที่สุด มันขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ถ้าผู้บริหารเข้าใจปัญหา ก็จะเกิดได้น้อยมาก ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะครูที่มีความเครียดเยอะๆ ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าสภาพเศรษฐกิจก็แย่ ครอบครัวทุกคนมีปัญหา ปัญหาเล็กปัญหาน้อยว่ากันไป แต่กลายเป็นว่าบางทีผู้บริหารไม่ได้มองในจุดที่จะช่วยซัพพอร์ตบุคลากร มันไม่ใช่แค่เรื่องของปัญหาครอบครัวอย่างเดียว มันมีทั้งปัญหาการเดินทาง รถติด ที่อยู่อาศัย เยอะแยะไปหมดเลยที่เขาควรจะมองให้เป็นภาพรวม
สมมติครูไม่ป่วย ครูเจอเพื่อนครูต้องคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน โรงเรียนเราเป็นอย่างนี้นะ โรงเรียนเธอเป็นอย่างนั้น พอมาคุยกันมันจะเริ่มเกิดการเปรียบเทียบ พอเปรียบเทียบตัวเรานี่แหละก็จะดิ่งลงไปเองว่าทำไมฉันต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วย ในขณะที่เพื่อนมีความสุขกันมากเลยในโรงเรียน ผู้บริหารเขาเข้าใจนะ ถ้าเกิดไม่สบายลาไปหาหมอได้
แต่บางโรงเรียนถ้าไม่สบายคุณลาไม่ได้นะ คุณต้องลากิจ คุณต้องล่วงหน้า คุณต้องแลกคาบ ซึ่งงานของครูไม่ใช่แค่เดินลุกออกจากโต๊ะไปแล้ว โอเค งานก็จะหยุดไว้แค่นั้น แต่การที่เราจะหายไปหนึ่งวันเราสอนกี่คาบ ถ้าสอนวันนั้น 6 คาบ เราก็ต้องหาครูอีก 6 คนเพื่อมาแลกกับเราเพื่อที่จะสอนแทน ทิ้งกันไม่ได้
มีปัญหากับเรื่องภาระงานครูด้วยหรือเปล่า?
ใช่ เพราะครูไม่ได้สอนอย่างเดียว ทุกคนอาจจะมองว่าครูสบาย มีปิดเทอม เรายังไม่ได้ปิดเทอมเลยจนทุกวันนี้ ยังมีงานเข้าไปทำอยู่ตลอด ไม่ว่าจะงานเล็กงานน้อย ซึ่งไม่ว่าปิดเทอมหรือไม่ ครูทุกคนต้องอยู่เวร ผู้หญิงอยู่ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ผู้ชายอยู่ตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึง 6 โมงเช้า คือมีกล้องวงจรปิดแล้ว ครูก็ต้องไปนอนอยู่ที่โรงเรียน แปลว่ามีกล้องวงจรปิดเอาไว้มองครูแหละว่ามาอยู่เวรหรือเปล่า ไม่ได้มีไว้จับขโมย แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาถามว่าใครจะรับผิดชอบชีวิตครู
จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีอะไรเลย งงไหม กล้องมีเอาไว้จับครูไม่เข้าเวร ไม่ได้มีไว้จับขโมย ซึ่งอย่างล่าสุดโรงเรียนเรามีขโมยเข้านะ มีโจรบุกเข้ามาขโมยพระมาจากในวัดเลยแล้ววิ่งออกมา
แล้วครูที่ไหนจะไปยืนว่า ‘โจรอย่าเข้ามา’ แล้วถ้าครูเขาเป็นอะไรไปทำยังไง ใครรับผิดชอบเขา ยิ่งผู้หญิงยิ่งแล้วใหญ่เลย ทำอะไรไม่ได้เลยนะ เราได้แต่หลบ
การทำงานกับเด็ก มีส่วนให้อาการซึมเศร้าหนักขึ้นไหม
การทำงานกับเด็กมีส่วนเหมือนกัน มีส่วนตรงที่ว่าเด็กเดี๋ยวนี้เขาไม่ได้ศรัทธาในครูเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้เหมือนสมัยพี่ที่เหลืออีกสองคะแนนจะได้เกรด 4 ฉันได้ 78 อีกสองคะแนนจะได้ 80 เกรด 4 ฉันไปเฝ้าครู ช่วยอะไรครูก็ได้ขอให้ได้ 2 คะแนน นั่นคือสมัยเรานะ แต่สมัยนี้เราลองเดินไปบอกสิ ‘อีกสองคะแนนจะเกรดหนึ่งนะลูก’ ‘ไว้ก่อนเลยครู เดี๋ยวเปิดเทอมมาแก้’ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าโรงเรียนไม่ปล่อยให้เขาตก
ครูสอบเข้ามา พอมาเป็นครู ทุกคนมีไฟ ทุกคนอยากสอน ทุกคนมีไฟหมดเลยแต่ทำไมถึงมาเบิร์นเอ้าท์ เพราะว่าระบบไง ผู้บริหารบอกว่าเด็กห้ามตก ก็เด็กคนนี้ไม่เรียน ฉันจะเอาขึ้นมายังไง มีบางโรงเรียนให้ครูทำ MOU ที่บอกว่าสอนกี่วิชาก็แล้วแต่ แต่เฉลี่ยทั้งหมดห้ามต่ำกว่า 2.8 ทำยังไงล่ะทีนี้ ใส่ไปเลยคะแนนเท่าไหร่เราก็ใส่ไปสิ ให้มันขึ้นมาเกิน 2.8 ไม่งั้นเดี๋ยวโดนเรียกเข้าพบ คุณต้องปรับคะแนนให้เด็กนะ เด็กตกไม่ได้นะ หรือถ้าเด็กตก ให้เด็กมานั่งหนึ่งวัน ให้งานอะไรทำก็ได้ แล้วเซ็นให้ผ่านนะ ความเครียดมันมาอยู่ที่ครูแล้ว เพราะเรารู้อยู่แล้วเราเป็นคนที่สอนเด็ก เราใกล้ชิดกับเด็ก เราจะรู้ว่าเด็กคนนี้เป็นยังไง
อย่างเราถือว่าค่อนข้างจะทำใจกับเรื่องนี้ได้ ถ้าเด็กคนไหนไม่ดี เราใช้วิธีเก็บคะแนนในคลาสเลย เดินเข้าไปถึงก็บอกว่า “กรอกตรงนี้ ขอ ทำให้ฉันชิ้นหนึ่ง แล้วฉันจะไม่วอแวแกเลย เชิญแกเล่นเกมตามสบายเลยลูก” เขาก็ทำให้เรา อันนี้เราแก้ปัญหาได้ แต่ครูคนอื่นๆ ที่บางคนเขาไม่ได้เข้าถึงเด็กขนาดนี้ มันกลับมาเป็นความเครียดที่มันสะสม มันสะสมอยู่ในตัวครูเขาว่าเด็กทำแบบนี้ แต่ผู้บริหารก็จะเอาแบบนั้น เลยยิ่งเกิดภาวะเบิร์นเอาต์นี่ หมดไฟ ไม่อยากสอนแล้ว กับอีกอย่างหนึ่งก็คือซึมเศร้า เครียด มันตามมาด้วยกัน มาเป็นแพ็คเลย เพราะเราไม่สามารถทำในสิ่งที่มันถูกต้องได้
ความซึมเศร้าส่งผลกับการทำงานยังไงบ้าง
เราเคยใช้คำว่า ‘เท’ ‘ไม่ทำ’ ก็แพลนนี้ทำไม่ได้ ทำไม่เป็นจริงๆ ไม่ใช่ไม่พยายาม ผู้บริหารรุ่นก่อนๆ รุ่นเก่าๆ จะชอบพูดว่า ‘คุณเป็นครู คุณต้องทำได้ทุกอย่าง’ เฮ้ย ไม่จริง เพราะสิ่งที่ครูได้รับจริงๆ ในหน้าที่ ฉันไม่เคยเรียนมา ไม่ได้อยู่ในหลักสูตร เป็นครูภาษาอังกฤษทำงานพัสดุ เราไม่รู้หรอกว่าเราจะต้องเอาอะไรมาใส่อันนี้ ค่าเสื่อมยังไง เราไม่มีทางรู้ได้เลย แต่ในที่สุดแล้วเขาก็ยังบังคับให้เราทำอยู่ดีโดยที่มีข้อกำหนด โดยที่มีคำพูดมาขู่เราว่าไม่งั้นจะไม่ประเมินให้ผ่าน หรือไม่มีคำพูดแต่เวลาประเมินขั้นเงินเดือน หล่นลงมาอยู่แรงค์ต่ำสุดของโรงเรียน
ยิ่งกว่านั้น การเป็นโรคซึมเศร้ามันต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้หาหมอสองครั้งแล้วหาย กินยาพาราแล้วหาย เพราะฉะนั้นบางทีการที่ให้สิทธิ์ในการลา ที่ให้เขาได้ใช้สิทธิ์จริงๆ ว่าปีหนึ่งคุณลาได้กี่ครั้ง เราไม่ค่อยได้ลา แต่สมมติคุณลาได้ 30 ครั้ง ถ้าคุณลาเกินหกครั้งเราจะนับว่าเป็นคุณขาดงานหนึ่งครั้ง ใครเป็นคนกำหนด กระทรวงไม่ได้กำหนด แต่โรงเรียนเป็นคนกำหนด คุณลาได้ 4 ครั้งคุณจะได้ใบเตือน คุณลา 6 ครั้งถือว่าคุณขาดงาน 1 วัน มันก็จะไปมีผลต่อการประเมินเงินเดือนของครู
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ครูเป็นโรคซึมเศร้าด้วยคือสภาพเศรษฐกิจ เริ่มต้นเป็นครูด้วยเงินเดือน 15,800 บาท ถ้าเขาไม่ได้อยู่ที่ใกล้บ้าน ค่าเช่าเท่าไหร่ ไหนจะค่ารถ ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าน้ำค่าไฟอีก ถ้าไม่กู้ ยังไงก็ไม่มีทางพอเลย กลายเป็นว่าปัญหามาที่ครูหมดเลย ครูก็เลยเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงในการเป็นซึมเศร้าได้ง่ายที่สุด อย่างที่พี่บอกว่าไม่ได้ทำงานหน้าเดียว ผู้ปกครอง เด็ก ผู้บริหาร เพื่อนครู เราเจอหลายหน้าไปหมด ถ้าเราลาหยุดหนึ่งวันผู้บริหารมองหน้าแล้ว คุณลาหยุด เพื่อนครูละ เธอลาฉันต้องแทนเธอ นักเรียน ครูไม่มาเราไม่ได้เรียน ผู้ปกครอง อ้าว ครูหยุดลูกไม่ได้เรียน กระทบไปหมดเลย
ที่บอกว่า ไม่ค่อยได้ลา แล้วเอาเวลาที่ไหนไปรักษาโรคซึมเศร้า
เราจะเลือกไปเป็นช่วงบ่ายที่มีคาบว่าง ก็อยู่ที่การบริหารจัดการ ถ้าเกิดมีเพื่อนน่ารักๆ หน่อย ก็จะฝากคาบหน่อย เดี๋ยวไปหาหมอ เดี๋ยวกลับมา แล้วก็จะให้งานไว้ เพื่อนก็จะช่วยกัน แต่ถ้าคนที่เขาไม่เข้าใจ เขาก็จะ ‘ไปอีกแล้ว’ ซึ่งเราไม่ได้อยากไป ไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาล แต่มันมีความจำเป็นต้องไปไง
ถ้านัดในเวลาราชการ ครูที่เป็นข้าราชการสามารถเบิกได้ เราไม่ต้องเสียเงินเยอะ แต่ถ้าเป็นคลินิกพิเศษตอนเย็นนอกเวลา เราก็จะต้องไปนั่งเสียเงินค่าอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น อย่างที่เราบอกเงินเดือนเราไม่ได้เยอะขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นครูแล้วจะได้หยุด เงินเดือนขึ้นเร็ว ขึ้นเร็วแต่ขึ้นทีหนึ่ง 400-500 บาท
มีการเลือกปฏิบัติยังไงอีกบ้างกับคนที่เป็นซึมเศร้า
การเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เจอก็คือ องค์กรมองว่าซึมเศร้าเป็นการแสดง เขาไม่ได้เข้าใจถึงขนาดนั้นว่ามันไม่ได้เป็นแล้วหายได้ ไม่ใช่เพราะเราซึม เรานอยด์ เราเหนื่อย แล้วเรามาเป็น มันอยู่ที่สารเคมีในสมอง เราไม่สามารถวินิจฉัยตัวเองได้ว่าเราเป็นซึมเศร้า การที่คนคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาบอกว่าฉันเป็นซึมเศร้า ฉันต้องกินยาทุกวัน จริงๆ มันเป็นเรื่องส่วนตัวมากเลย แต่คือเราเลือกที่จะบอกเพื่อนร่วมงานเราว่าฉันเป็นซึมเศร้า เราไม่ได้ต้องการการสงสาร แต่เราต้องการความเข้าใจว่าบางทีที่เราทำอะไรลงไป หรือว่าเราไม่ทำอะไรเลย มันไม่ได้แปลว่าเราอยากเป็นแบบนั้น แต่บางทีเราบังคับตัวเองไม่ได้
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เรารู้ตัวว่าเป็น ช่วงแรกหมอวินิจฉัยว่าเป็นการปรับตัวบกพร่อง เพราะว่าย้ายโรงเรียนมาใหม่ๆ แต่อยู่ไปสักพักพี่กลายเป็นคนที่นอนได้วันละ 20 ชั่วโมง นอนแล้วไม่กินอะไรเลย นอนอย่างเดียว ตื่นมากินน้ำเข้าห้องน้ำ นอนอีก นอนแบบนอนจริงจัง จนหมอบอกว่านอนเยอะเกินไปแล้ว เขาถามว่าเรานอนทำไม สิ่งแรกที่เราคิดคือเราไม่อยากรับรู้อะไรเลย เราไม่อยากรับโทรศัพท์ เราไม่อยากรับรู้เรื่องราวอะไรที่เข้าหัวทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด เราก็หนี
แต่ปัญหาในการทำงานก็มี หลังจากอันนี้แหละเรื่องการนอน เขาติดต่อเราไม่ได้ งานไม่เดิน เราไม่ไปทำงานในจุดที่เขาต้องการทำ มันก็จะส่งผลไปเยอะเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาควรจะเข้าใจเรา แล้วหาคนมาช่วยเราบ้างก็ได้ เราไม่ได้ขอนะ แต่คือเขาควรที่จะ ถ้ารู้ว่าเรามีอาการแบบนี้ ซัพพอร์ตเราหน่อย แต่พอถึงเวลาพี่เชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาทำงาน ทุกคนอยากทำงานหมด ไม่งั้นเขาไม่พยายามเข้ามาสอบกัน แย่งกันเข้ามาเป็นครู
เพราะขาดความเข้าใจในคำว่าซึมเศร้า ทำให้เขาไม่คิดหาวิธีทางแก้เพื่อรองรับแก้ไขปัญหา?
เราว่ามันไม่ใช่ขาดความเข้าใจ เราเชื่อว่าคนที่อยู่ในวงการการศึกษาส่วนใหญ่เข้าใจได้ แต่เขาไม่พยายามเข้าใจ แล้วเขาก็ยังคงติดภาพคำว่าซึมเศร้าเป็นโรค ‘นั่งสมาธิ’ ใช้การรักษาแบบ ‘ปฏิบัติธรรมก็หาย ไปวัดสิ’ นั่นคือความเข้าใจผิด ซึ่งในเมื่องานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ออกมาเยอะแยะเลย
เขาควรจะเอาเรื่องนี้เข้ามาคุยกันได้แล้วว่ามันเป็นจุดหนึ่งที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะด้วยสิทธิ์การลา เรื่องวัฒนธรรมในองค์กรควรจะเป็นแบบไหน แต่มันยากและเป็นนามธรรมแบบสุดๆ เราไม่รู้หรอกว่าแต่ละคนในจิตใจเขา ข้างในเขาคิดอะไร เขาวางเกณฑ์วางมาดเขาไว้แค่ไหน เราจะผ่านเกณฑ์ที่เขาวางเอาไว้ได้ไหมเพื่อที่เขาจะช่วย มันยากสำหรับคนที่เป็นซึมเศร้าจริงๆ
มีข้อกำหนดด้วยว่าครูต้องไม่มีปัญหาสุขภาพจิต?
ใช่ มันเหมือนโรคจิตเวช ซึ่งคำว่าโรคจิตมันกว้างมากเลย ซึ่งบางคนเขาไม่ได้เป็นก่อนจะเป็นครู เขามาเป็นครูแล้วถึงเป็น แล้วอย่างนี้ควรจะมีอะไรที่มาช่วยรองรับเราบ้างไหม? ถ้าเกิดว่าเราป่วยเพราะว่าเราเป็นครู ถ้ารัฐคิดถึงตรงนี้บ้าง เราจะมีบุคลากรที่มีคุณภาพสอนเด็กได้มากกว่านี้เยอะเลย
ในกรณีของคนที่กำลังจะเป็น ถ้าองค์กรไม่ได้เข้าใจเรื่องซึมเศร้า คนเหล่านี้จะไปยังไงต่อในวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้
ยาก ถ้าวัฒนธรรมองค์กรแบบคนไทยแบบนี้ ก่อนที่เจ้าตัวจะรู้ว่าตัวเองเป็นซึมเศร้า เรานั่งอยู่เราไม่รู้หรอก เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราแสดงออกไปมันแย่ มันดี มันอะไรยังไง เราจะคิดว่าเราทำถูกแล้วแหละ แต่จริงๆ แล้วคนรอบตัวต่างหากที่จะต้องสังเกต
แล้วคุณลองไปคุยกับครูแนะแนวสิ ลองไปคุยกับครูพยาบาลสิว่าเป็นยังไง ‘เราไม่สบายหรือเปล่า’ ‘ทำไมเดี๋ยวนี้ส่งงานพี่ช้าจังเลย’ เคยมีคำถามอะไรแบบนี้ไหม ถ้ามีคำถามแบบนี้มันแสดงถึงความใส่ใจ เขาใส่ใจเรา คนที่จะเป็นเขาจะรู้สึกว่ามีคนสนใจฉัน มีคนมองฉันอยู่นะ ฉันไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก ฉันไม่ต้องแก้ปัญหาเอง ถ้าเกิดว่ามีสักนิดหนึ่งที่เขาหันมามองว่าคนนี้เปลี่ยนไป แปลกไป แล้วให้ความสนใจเขา
มันจะเหมือนกับดึงเขาขึ้นมาจากน้ำได้หน่อยนึงแล้ว เขายังไม่ได้จมหรอก แต่เราก็จะดึงเขาขึ้นมาว่าอย่างน้อยเขาก็ยืนตัวแห้งๆ ก่อนก็ได้ เขาจะลงไปใหม่แล้วค่อยว่ากัน
คนที่จะสังเกตได้ต้องมีอะไรบ้าง เพราะเขาเองก็อยู่ในระบบองค์กรที่ถูกห้อมล้อมด้วยภาระงาน และความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์
ถ้าเกิดคนจะขึ้นมาเป็นหัวหน้า สิ่งหนึ่งที่สำคัญเลย เรามองว่ามันสำคัญมากๆ คือความเอาใจใส่ หัวหน้าคุณไม่ได้บริหารแต่งานอย่างเดียว คุณต้องบริหารคนด้วย แล้วอย่าลืมว่าคนมีหัวใจ ถ้าคุณไม่บริหารใจเขา คุณจะบริหารคนยังไง ข้อสำคัญคือคุณควรมองก่อนว่าลูกน้องคุณแต่ละคนมีบุคลิก ลักษณะ อัตลักษณ์ นิสัย ไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดของเขาหรอก เอาจุดเด่นกับจุดด้อยของเขา เราสามารถเอาจุดเด่นของเขามาเป็นจุดขายได้ ผลักดันให้เขาทำงานที่เขาถนัดได้ หรือจุดด้อย เราก็เลือกที่จะไม่ไปเอาจุดด้อยเขามาขยี้ หรือเอามาเพื่อให้งานยากๆ ที่ไม่ถูกกับเขา คือแกล้งเขา อันนี้มันก็ไม่ถูก
ที่ผ่านมาแต่ละโรงเรียน มีการพูดหรืออบรมถึงเรื่องของการรับมือกับความซึมเศร้ามากน้อยแค่ไหน?
ไม่ได้พูดถึงครูเลย ไม่พูดถึงครูเลย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเป็นซึมเศร้าในครูเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วครูต้องเจอปัญหาเรื่องซึมเศร้าเยอะกว่านักเรียนเสียอีก เขาดันไปโฟกัสในจุดที่นักเรียนเป็นซึมเศร้า นักเรียนจะโดดตึก นักเรียนจะกรีดข้อมือ แต่ครูก็จะแบกไม่ไหวแล้วเหมือนกัน
เขาโฟกัสแต่ว่าครูต้องช่วยเด็ก ครูต้องดูแลเด็ก ครูต้องแก้ปัญหาให้เด็ก พอส่งให้ครูไปแก้ตรงเด็ก แต่ผู้บริหารไม่ได้มองว่าจะแก้ตรงครูยังไง มันก็เลยกลายเป็นว่าไม่จบไม่สิ้นสักที แล้วก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อคำว่าครูไม่ได้ถูกพูดถึงในการแก้ไขเรื่องโรคซึมเศร้า คิดว่ามันสะท้อนอะไร?
เขามองว่าครูเลี้ยงง่าย ให้ทำอะไรก็ทำ นอกเหนือจากเรื่องในสุขภาพจิตหรือเรื่องสุขภาพกาย เขาถือว่าเขาให้สวัสดิการแล้ว เราไปหาหมอโรงพยาบาลรัฐบาลสามารถเบิกได้ แต่เขาไม่ได้ดูแลสุขภาพใจ หรือว่าความรู้สึกของเราที่ว่าเราทำงานตรงนี้เรามีความสุขไหม ไม่งั้นครูไม่เขียนย้ายกันเยอะหรอก หลายคนคงเคยเห็นข่าวบ้างแหละว่าครูย้ายเยอะมากเลย ย้ายทำไมล่ะ ย้ายเพราะหนึ่งเพื่อนไม่ดี องค์กรไม่ดี ระบบไม่ดี เด็กไม่ดี สอง อยากกลับภูมิลำเนาตัวเอง แต่คนที่ย้ายเขาจะต้องรู้อยู่แล้วว่าเขาหนีที่ A ไปที่ B เพื่อเจอปัญหาเดิมแต่เปลี่ยนคน เพราะทุกที่มันไม่สวยไปเสียทั้งหมดหรอก มันมีปัญหาทุกที่
แต่ทั้งนี้ก็คือเรามาเรียนบริหารยังมองเลยว่า มันน่าจะมีหลักสูตรหนึ่งที่ให้ผู้บริหาร บริหารใจของบุคลากรด้วย เพราะว่าผู้บริหารทุกคนเป็นครูมาก่อน เราเป็นครูมาก่อนมาเรียนบริหารเพราะอยากรู้ว่าสิ่งที่ผู้บริหารเรียนกันไปเขาเรียนอะไร เราจะเอามาปรับใช้กับตัวเองยังไง เราจะเอาไปมองคนในความดูแลของเรายังไง
ในเมื่อผู้บริหารหลายคนเคยเป็นครูมาก่อน คิดว่าทำไมเขาถึงลืมความรู้สึกเมื่อตอนตัวเองเป็นครู
เรามองว่าด้วยสังคมและวัฒนธรรมของผู้บริหาร เขาส่งต่อกันมาแบบนี้ เราเคยไปดูงานในกระทรวงศึกษาระดับสูง คำพูดหนึ่งที่ติดใจจนถึงทุกวันนี้คือจะทำอะไรต้องรีบเปลี่ยน เดี๋ยวครูรู้ตัว เราก็ เอ๊ะ อยู่ในใจว่าทำไมครูรู้ตัวก่อนไม่ได้เหรอ ถ้าตามข่าวจะรู้เลยว่าครูเป็นวิชาชีพที่เปลี่ยนการเลื่อนวิทยฐานะอยู่ตลอดเวลา มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนขั้นเงินเดือน เปลี่ยนจากขั้นมาเป็นเปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนไปเรื่อย เปลี่ยนการเลื่อนวิทยฐานะ จากตอนแรกเรียน ป.โท ร่นระยะเวลาได้ ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ตอนนี้ต้องกลายเป็นบล็อก 5 ปี เขาเปลี่ยนเราวุ่นวายไปหมด อันนี้ยังไม่นิ่งเลยเดี๋ยวเปลี่ยนอีกแล้ว เดี๋ยวรัฐบาลใหม่มาเดี๋ยวก็เปลี่ยนอีก ครูทำอะไรทัน บางคนเขาตั้งตัวมาตั้งแต่สองสามปีที่ผ่านมาว่าฉันจะทำอันนี้ แต่พอในจุดหนึ่งที่เปลี่ยน แล้วที่เราทำมาทั้งหมด มันหายไปเลยแล้วก็ไม่ได้มีการเยียวยาอะไรเลย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษากับรัฐบาลมีผลด้วยเหมือนกันใช่มั้ย?
ใช่ เมื่อคนเปลี่ยนหลักการก็เปลี่ยน นโยบายก็เปลี่ยน แล้ว 8-9 ปีที่ผ่านมาก็ไม่โอเค เพราะว่าไม่นิ่งเลย ไม่ได้บอกว่าตัวบุคคลไม่ดี แต่มันไม่นิ่งเลยที่จะให้เราทำไปตามแนวทางที่เราวางแผนเอาไว้ไม่ได้ นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เกิดเบิร์นเอาต์ เกิดซึมเศร้า ด้วยการที่ว่าเราทำแล้วมาเปลี่ยนอีกแล้ว ฉันเหนื่อยแล้วนะ แล้วครูก็จะคิดต่อไปอีกว่างั้นไม่ทำแล้วเพราะเดี๋ยวก็เปลี่ยน ถ้างั้นจะทำทำไม
อยากได้ความช่วยเหลือแบบไหนจาก สพฐ. หรือกระทรวงศึกษาฯ
จริงๆ เขาควรจะร่วมมือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงศึกษา เพราะมันไม่ใช่แค่เด็ก มันเป็นที่ครู เป็นที่บุคลากรด้วย เพิ่งคุยกับเพื่อนเองว่ามีรองผู้อำนวยการเพิ่งสอบได้ อยู่ดีดีบันทึกข้อความขอกลับลงมาเป็นครูใหม่ เป็นถึงบริหาร แต่ว่ากลับลงมา เพราะว่าเขาไม่โอเคกับการที่คุณเอาเงินไปถือไว้นะ แต่ถึงเวลาจะเบิกจ่าย คุณเซ็นนะ แต่เราไม่บอกหรอกว่าเอาเงินไปใช้อะไร ก็จะมีความเครียดเข้ามาแล้ว
เหมือนมันขัดแย้งกับความเชื่อเรา
มันขัดแย้งทุกอย่างเลยดีกว่า ซึ่งพี่มองว่าด้วยระบบมันเป็นแบบนี้ ต่อให้คนดีแค่ไหนเข้าไปแปบเดียวก็โดนกลืน คือถ้าคุณไม่ทำเหมือนเพื่อน คุณจะอยู่ยังไง
แล้วที่อยากให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาร่วม อยากให้ร่วมยังไงบ้าง
อยากให้ร่วมโดยการที่ถ้าเกิดว่าจะการทำแคมเปญอะไรในการดูแลเรื่องสุขภาพจิต ดูแลให้ทั่วถึง ดูแลให้หมดไม่ใช่โฟกัสแค่นักเรียน เพราะนักเรียนไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวที่ป่วย บางทีผู้ปกครองด้วยซ้ำ ด้วยความแข่งขันกันเองของลูกในโรงเรียน ผู้ปกครองก็เป็น แล้วส่งเอฟเฟคมาถึงลูกอีก ลูกก็มีผลอีก การแข่งขันของเด็ก การเรียนการสอนสมัยนี้คือเน้นว่าเด็กต้องสอบ คะแนนสำคัญ
ถ้าเรายังมีระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นว่าการสอบเข้าเป็นเรื่องสำคัญ เด็กสายวิทย์คือเด็กที่เก่ง มันยากกับการที่เขาจะเอาเข้าร่วมมาช่วยกัน แล้วสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่เข้าถึงเราได้ใกล้ที่สุดเลย จริงๆ ศึกษากับสาธารณสุขมันควรจะต้องอยู่คู่กันมาเลยด้วยซ้ำ เพราะเราจะต้องให้ความรู้ ให้ข้อมูลเด็ก ตั้งแต่ที่ว่าเขาเริ่มเข้าโรงเรียน ทางเพศสภาพ ทุกอย่างเลย การดูแลตัวเองจนกระทั่งรวมถึงเรื่องสุขภาพจิตของเขาเองว่าเขาจะมีการรับมืออย่างไร
อยากให้ช่วยเรื่องการเข้าถึงยังไงอีกบ้างไหม สวัสดิการที่ต้องการเพิ่มเติม
สวัสดิการในเรื่องของสุขภาพจิต ให้จัดเป็นแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลในเรื่องนี้จริงๆ ให้มาดูแล อาจจะมีแคมเปญหรือโครงการอะไรก็ได้ ใน 1 ปีการศึกษามีแพทย์เข้ามาให้คำปรึกษา ที่เราได้จริงๆ ไม่ได้ได้จากครู ครูก็โตมาอีกแบบหนึ่ง เด็กก็โตมาอีกแบบหนึ่ง แต่ครูต้องมานั่งให้คำปรึกษาเด็ก ทั้งที่ฉันก็ไม่ได้มีชีวิตแบบนั้นมาแล้วฉันจะให้คำปรึกษายังไง มันยากนะ แต่ถ้าเป็นหมอหรือพยาบาลที่เขารู้เรื่องตรงนี้ตรงๆ เขาจะให้คำแนะนำได้ชัดเจนมากกว่า ตรงประเด็นมากกว่าที่เราจะไปนั่งบอกเด็กว่าสมัยครู
บางทีเด็กมาปรึกษาครูที่นั่งอยู่ด้วยกัน เรานั่งอยู่ข้างๆ คุยไปคุยมาไม่ใช่เรื่องเด็ก ครูเล่าชีวิตตัวเองให้ฟังซะอย่างนั้น แล้วก็ เอ๊ะ เรื่องเด็กคือมาได้ครึ่งเดียวเองนะ ที่เหลือของครูหมดเลยนะ เพราะครูเขาไม่เข้าใจหรอกว่าจะต้องสื่อสารยังไง เขาอาจจะบอกว่าฉันทำได้เธอก็ต้องทำได้ ไม่ บางทีเธอทำได้ฉันอาจจะทำไม่ได้ก็ได้
หรือมันต้องมีศูนย์ให้คำปรึกษา?
ควรจะเป็นแบบนั้น ควรจะมีศูนย์ดูแลในเรื่องของครูกับนักเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองด้วยจริงๆ เพราะว่าการที่เอานักเรียนเข้าไปผู้ปกครองก็ต้องเข้า หมอถามอยู่แล้วว่าที่บ้านอยู่ยังไง เพราะงั้นควรจะต้องมีการสอบถามจากผู้ปกครองด้วยอยู่แล้ว
แต่ว่าการที่จะทำแบบนั้นได้ มันจำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะไหม คิดว่าเป็นไปได้ไหมกับงบประมาณที่กระทรวงศึกษามี
จริงๆ เรามองว่าได้ มันไม่ได้ยากขนาดนั้นกับการที่จะเอาหมอกับพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ที่เชี่ยวชาญโดยตรงในเรื่องสุขภาพจิต เข้ามาดูแลตรงนี้ เพราะถามว่าใช้งบตอนแรกคือการเดินทางเข้ามาในโรงเรียน ถ้าเกิดว่าให้คำปรึกษาได้ เด็กแก้ปัญหาได้ในจุดหนึ่ง ผ่านตรงนี้ไปไม่ต้องส่งต่อ จากที่เสี่ยงจะเป็นเขาอาจจะดีขึ้นมาบ้าง เพราะเขาเจอคนที่พูดด้วย คุยด้วยแล้วเข้าใจ และไม่เป็นคนที่ไปตัดสินเขาเลย เพราะว่าเราไม่รู้จักเขา หมอฟัง หมอจะเป็นกลางที่สุด นักจิตเวชจะเป็นกลางที่สุด ซึ่งต่างกับการที่จับครูมานั่ง อาจจะรู้นะว่าบ้านเด็กคนนี้มีเงิน ‘เป็นอะไร ไม่เห็นจะต้องเป็นอะไรเลย’ มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งไปเลย ซึ่งเด็กก็จะไม่ได้รับการดูแลที่ตรงจุด
ครูก็เหมือนกัน เขาก็อยากจะคุยกับคนอื่นที่ไม่ใช่เป็นเพื่อนครูในโรงเรียน แต่ครูกับกลายเป็นว่าจะต้องกระเสือกกระสนตัวเองออกไปหาหมอข้างนอก
เขาวางผิดไปหมด วางผิดตั้งแต่ระบบการศึกษา ก็เลยส่งผลให้บุคลากรเหี่ยวแห้ง แล้วก็ลามไปว่าพอครูแย่แล้วจะสอนเรื่องดีๆ ให้เด็กได้ยังไง ฉันไม่สอนแล้ว เด็กไม่เรียน ฉันเหนื่อยจังเลย มันส่งผลกันไปหมดเลย
มีเรื่องไหนที่อยากทิ้งท้ายไว้อีกไหม
อยากให้ทำความเข้าใจจริงๆ กับเรื่องโรคซึมเศร้า คือเราควรจะให้ความรู้แล้วก็เข้าใจตั้งแต่เด็กเริ่มเข้ามาในโรงเรียน เพราะซึมเศร้าจริงๆ แล้วมันมีผลมาจากปัจจัยอื่นๆ ตอนนี้เราทำวิจัยเรื่องภาพลักษณ์พึงประสงค์ของครู LGBTQ+ เลยคิดว่าเราไม่ได้ฝังเรื่องนี้ตั้งแต่ที่เขาเริ่มเข้าโรงเรียน ให้เคารพสิทธิ ให้เคารพความต่าง ให้ยอมรับ แม้กระทั่งยอมรับตัวเองก็เถอะ
ถ้าเขาเสริมเรื่องพวกนี้เข้าไปเรามองว่าคนจะเข้าใจโรคนี้มากขึ้น เพราะว่าไม่ได้ตัดสินเขาจากสิ่งที่เขาแสดงออกมา แต่เราจะมองไปถึงต้นเหตุของเขาว่าคืออะไร มันคือสิ่งที่ควรทำความเข้าใจกับเรื่องนี้แล้วก็ใส่เข้าไปในหลักสูตรด้วยเลย