“จุดยืนทางการเมืองส่งผลต่อการขอตำแหน่งวิชาการไหม?” และ “บุญบารมีจำเป็นไหมในการขอตำแหน่งวิชาการ?”
ข้อมูลจากทำเนียบผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาระบุว่า ในปี 2565 วงวิชาการไทยมีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ทั้งหมด 14,604 คน รองศาสตร์จารย์ 6,692 คน และศาสตราจารย์ 869 คน
ถามว่ามากไหม ก็จัดอยู่ในระดับกลางๆ แต่ตัวเลขย่อมบอกอะไรไม่ได้ทั้งหมด เพราะถ้าดูตามหน้าโซเชียล มีเดีย เรามักจะเห็นเสียงร้องโอดครวญจากนักวิชาการเหล่านี้ ถึงระเบียบและความโปร่งใสของกระบวนการปรับตำแหน่งทางวิชาการ
The MATTER พูดคุยกับ รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งยื่นขอตำแหน่ง ศ. เป็นปีที่ 7 แล้ว และ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกำลังยื่นขอตำแหน่ง ศ. เช่นกัน วงวิชาการไทยกำลังมีปัญหาอย่างไร แล้วทำไมบุญบารมีถึงเข้ามีส่วนเกี่ยวกับการขอปรับตำแหน่ง
ไต่ระดับตำแหน่งวิชาการ
คำถามแรกคือ ทำไมต้องขอตำแหน่งวิชาการ? ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ปิ่นแก้วและสมชายอธิบายความสำคัญของตำแหน่งวิชาการออกเป็น 2 ข้อ
ประการแรก ความมั่นคง ตำแหน่งทางวิชาการสัมพันธ์กับการตัดสินใจต่อสัญญาระหว่างอาจารย์และมหาวิทยาลัย เพราะในปัจจุบัน ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นข้าราชการที่ได้รับสัญญาตลอดชีวิตอีกแล้ว แต่เป็น ‘พนักงานในกำกับของรัฐ’ ที่ได้รับสัญญาระยะสั้น-กลาง ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ถูกกดดันให้ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เพื่อดึงดูดนักศึกษาใหม่และค่าเทอมของพวกเขา
และต้องยอมรับว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ใช่สายอาชีพที่เงินเดือนสูงมากนัก ไม่มีโบนัส อัตราปรับเงินเดือนต่ำ และสวัสดิการไม่ได้ครอบคลุมชั่วชีวิต ซึ่งตำแหน่งทางวิชาการนี่เองที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัย โดยเพิ่มตั้งแต่ 3,500 – 15,600 บาท
ประการสอง ความก้าวหน้าของอาชีพ หน้าที่ของนักวิชาการคือต้องต่อยอดความรู้ เพื่อเป็นคบไฟชี้นำสังคม และการทำงานวิชาการที่เสนอแนวคิดใหม่ๆ เป็นเหมือนเหรียญเชิดชูเกียรติในสายวิชาชีพของตนเอง
“สำหรับคนเป็นอาจารย์ ตำแหน่งทางวิชาการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิชาการ และความก้าวหน้าในการทำงานของคนๆ นั้น” สมชายอธิบายในมุมตัวเอง
“แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเราจะเห็นว่าอาจารย์หลายคนไม่ได้มีตำแหน่ง ศ. แต่มีความรู้ทางวิชาการที่สูงเช่นกัน” สมชายระบุให้ชัดเจนมากขึ้น
โรงงานความรู้และกรรมกรวิชาการ
ปิ่นแก้วนิยามถึงสภาพหลังมหาวิทยาลัยไทยออกนอกระบบไว้ว่า ไม่ต่างจาก “โรงงาน” และอาจารย์มหาวิทยาลัยคือ “กรรมกรวิชาการ”
การเปลี่ยนให้มหาวิทยาลัยอยู่นอกระบบ มันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก เพื่อบีบบังคับให้กรรมกรวิชาการ ทำงานเพื่อตอบสนองเป้าหมายของมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อยๆ และการขอตำแหน่งวิชาการเป็นหนึ่งในร้อยแปดพันประการ เพื่อจะบีบบังคับให้คนทำงานมากขึ้น
นำไปสู่ปัญหาประการแรกคือ ทำงานหนักขึ้น นอกจากการสอนในคลาส งานคณะ งานมหาวิทยาลัย ความมุ่งมั่นอัพแรงค์กิ้งของมหาวิทยาลัยยังทำให้การขอตำแหน่งวิชาการกลายเป็นภาคบังคับ ซึ่งสัมพันธ์กับการต่อสัญญาจ้างระหว่างมหาวิทยาลัยและอาจารย์
“มันมีระบบสัญญาจ้างมากมาย และถ้าผู้บริหารไม่เห็นชอบก็อาจไม่ต่อสัญญาคุณก็ได้ ซึ่งการขอตำแหน่งวิชาการก็เช่นเดียวกัน ถ้าครบระยะเวลาที่กำหนดแล้วไม่ขอ เขาก็จะตัดเงินเดือนคุณ มันบีบบังคับให้นอกเหนือจากการสอน อาจารย์ต้องทำงานวิชาการ” ปิ่นแก้วระบุ
ปัญหาประการสอง เกณฑ์พิจารณามีปัญหา ในประกาศ ก.พ.อ. หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผศ., รศ, และ ศ. ปี 2564 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่สามารถใช้วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการได้ ซึ่งนั่นทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องผลิตความรู้ใหม่ ในระดับเดียวกับวิทยานิพนธ์ ขณะที่งานสอนและงานอื่นๆ ก็รุมเร้า
“อย่างเมืองนอกหนังสือดีๆ ในสายสังคมศาสตร์พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมทั้งนั้น แล้วถามว่าทำไมของไทยไม่นับเป็นผลงานวิขาการ เว้นแต่จะบอกได้ว่าต่อยอด แต่ที่ทำมายังไม่ได้ใช้เลย จะเอาไปต่อยอดยังไง คิดได้อย่างเดียวว่าเขาต้องการให้คุณทำงานมากขึ้น ”
นอกจากนี้ยังมีปัญหาทั่วไปที่คล้ายกับในระบบราชการ ซึ่งหยุมหยิม และเมื่อนำมาครอบวงวิชาการยิ่งทำให้เกิดปัญหาติดขัด
“ถ้าคุณต้องการผลักแรงค์กิ้งของมหาวิทยาลัย ระเบียบมันก็ต้องเอื้อสิ แต่เรากลับพบว่ากลไกทั้งหลายไร้ประสิทธิภาพ ไม่ต่างจากระบบราชการดั้งเดิม ยึดกับเรื่องเอกสาร ต้องยื่นวันไหน หนังสือตีพิมพ์วันไหน มันมีระเบียบพวกนี้กำกับอยู่เต็มไปหมด” ปิ่นแก้วกล่าว
“และระเบียบเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่เพื่อส่งเสริมให้คนมีกำลังใจทำงานนะ แต่ออกมาเพื่อสร้างระบบจับผิดมากขึ้นเรื่อยๆ” ปิ่นแก้วเสริมต่อ
วิชาการแบบรูเข็ม
ในประกาศ ก.พ.อ. ได้ระบุถึงการจัดเกรดงานวิชาการเอาไว้ อาทิ A+, A หรือ B และระบุประเภทงานวิชาการออกเป็น งานวิชาการ, งานรับใช้ท้องถิ่นและสังคม, งานด้านสุนทรียศาสตร์, งานด้านการสอน, ด้านนวัตรกรรม และงานด้านศาสนา
ปิ่นแก้วมองว่านี่ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก เพราะมันทำให้ความรู้ถูกหดแคบให้เฉพาะด้านคล้ายรูเข็ม แทนที่จะมีความเชื่อมโยงระหว่างสาขามากขึ้น และเหมือนจับใส่กล่องแยกประเภทชนิดของงานนั้นๆ
“มันมีลักษณะ Compartmentalization หรือการแยกส่วนวิชาการออกจากกัน ซึ่งมันไม่มีความจำเป็นต้องไปแยกเป็นประเภท คุณทำงานรับใช้สังคมแต่ไม่พัฒนาทางทฤษฎีมันได้หรอ หรือศาสนาล้วนๆ ไม่ไปรวมกับมิติอื่นมันได้หรอ” ปิ่นแก้วกล่าว
“วิธีคิดแบบนี้ทำให้มองไม่เห็นความสัมพันธ์ของโลก คุณไม่มีทางที่จะแยกดิน หิน ทรายออกจากสังคม เพราะมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่ตลอดเวลา และที่โลกเดินไปข้างหน้ามันเป็นเพราะทุกศาสตร์ทั่วโลกเชื่อมโยงต่อกันเสมอ” ปิ่นแก้วระบุ
แนวคิดแบบนี้ยังส่งผลต่อการประเมินงานวิชาการ กล่าวคืองานวิชาการที่มีการเชื่อมโยงข้ามศาสตร์ ถูกประเมินว่าไม่ผ่าน เพราะส่งให้ผู้ประเมินที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือในอีกกรณีหนึ่ง ถูกส่งให้ผู้ประเมินที่มีกรอบคิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
“ระยะหลัง อว. พยายามให้เราระบุความรู้เฉพาะด้านมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามันจะมีปัญหาเกิดขึ้นกับคนที่พยายามจะทำงานข้ามสายวิชาการ เพราะคนที่ประเมินส่วนใหญ่มีความรู้เฉพาะด้าน ทำให้เกิดคำถามว่าประเมินความรู้ได้รอบด้านจริงหรือเปล่า” สมชายกล่าว
“ผู้ที่มีอำนาจประเมินพยายามเอารูเข็ม (ทางวิชาการ) ไปตัดสินคนที่พยายามละลายรูเข็มเหล่านี้ มันทำให้เกิดปัญหาในการประเมินงาน เช่นคนรู้จักเราถูกตีงานกลับมาด้วยเหตุผลว่า ‘ไม่เป็นสังคมวิทยา’ ขณะที่งานของเขามีคนอ่านทั่วประเทศ มีคุณเป็นคนเดียวที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ” ปิ่นแก้วกล่าว
“ถ้าไม่เข้าใจทำไมไม่คืนงานกลับมา ให้คนที่เข้าใจได้อ่าน” นักวิชาการมนุษยวิทยาทิ้งท้าย
การเมืองของความรู้
นับเป็นเวลา 7 ปี หรือตั้งแต่ปี 2558 ที่สมชายยื่นขอปรับจากตำแหน่ง รศ. เป็น ศ. แต่ทุกอย่างกลับเงียบงันอย่างมีเงื่อนงำ โดยวิทยานิพนธ์ของเขาได้รับพิจารณาจากสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนส่งต่อไปให้ทาง อว. เช็กตามระเบียบ ก่อนที่กระบวนการจะหยุดลงราวเครื่องจักรที่ชิ้นส่วนสำคัญหล่นหาย
ตามขั้นตอนปกติ เมื่องานวิทยานิพนธ์ได้รับพิจารณาจากสภามหาวิทยาลัย จะถูกส่งต่อให้ทาง อว. เช็กข้อมูลซ้ำอีกครั้ง โดยจะเป็นการส่งวิทยานิพนธ์ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นพิจารณา และเมื่อได้รับการยืนยันว่างานมีคุณภาพ จะมีการทำเรื่องขึ้นทูลเกล้าขอตำแหน่งจากพระมหากษัตริย์ต่อไป
ตอนแรกก็คิดว่าเป็นเพราะมหาวิทยาลัยของผมอยู่ในต่างจังหวัด แต่ปรากฎว่าไม่ใช่ เพราะผมพบว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ศ. ในช่วงปีที่ผ่านมา ยื่นขอตำแหน่งหลังผมแทบทั้งสิ้น มันเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการนี้ ทำไมเป็นเฉพาะเราหรืออาจารย์บางคน
สมชายนิยามปรากฎการณ์ที่เขาเผชิญกับตัวว่า “การเมืองของความรู้” หรือแปลว่าจุดยืนทางการเมืองอาจเข้ามาเกี่ยวข้องในการพิจารณาขอตำแหน่งวิชาการ เช่น การพิจารณาวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนใช้มุมมองแบบประชาชนิยม ขณะที่ผู้พิจารณามีมุมมองประวัติศาสตร์แบบกระแสหลัก หรือกษัตริย์นิยม
ผมคิดว่าจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างคนที่ยื่นขอเข้าไป กับคนที่ประเมิน มันทำให้การประเมินงานมีปัญหาแน่ๆ มันอาจไม่ใช่ไม่ผ่าน แต่อาจถูกดึงให้ช้าลงได้
The MATTER ได้พยายามติดต่อหา อว. เพื่อขอความเห็นในประเด็นนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
สมชายเพิ่มเติมว่า เมื่อวงวิชาการเกิดคำถามว่ามีการนำอคติส่วนตัวและจุดยืนทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจทำให้นักวิชาการหลายคนเลือก “เซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-Censorship)” เขียนงานที่รับใช้องค์ความรู้เดิม และเลือกสงบปากสงบคำต่อปัญหาบ้านเมือง
มันทำให้นักวิชาการพยายามเขียนงานให้อยู่ในเซฟโซนมากที่สุด ไม่ท้าทายกรอบความรู้เดิมๆ จะไม่ได้ถูกหมายหัว หรือถูกมองว่าพวกนอกกรอบทางวิชาการ รวมไปถึงนักวิชาการที่เลือกไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะกลัวว่าถึงเวลาขอตำแหน่งวิชาการจะลำบาก ผมว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่เลือกแบบนี้
การพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการต้องโปร่งใส
ข้อเสนอของปิ่นแก้วนั้นชัดเจนว่า เธอต้องการให้กฎระเบียบในการขึ้นตำแหน่งทางวิชาการออกมาจากคนทำงาน หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยจริง
“ต้องทำลายการรวมศูนย์อำนาจในการกำหนดตำแหน่งวิชาการ และเปิดให้คณาจารย์มีส่วนร่วมในการออกแบบ ในการสร้างกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการที่แท้จริง” เธอระบุ
เธอได้พูดถึงข้อเสนอบางประการที่สามารถทำได้ในทันที ประการแรก เปิดเผยชื่อผู้ประเมินงานวิชาการ เพื่อทำให้กระบวนการประเมินงานโปร่งใส ในปัจจุบันการเปิดเผยชื่อผู้ประเมินเป็นทางเลือก ซึ่งอาจเปิดทางให้ระบบอุปถัมภ์หรืออคติส่วนตัวเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องได้ ดังนั้น ส่วนใหญ่เลือกจะไม่เปิดเผย เพราะกลัวจะไม่มีใครรับอ่าน
นอกจากนี้ งานวิชาการบางชิ้นยังไม่สามารถหาผู้ประเมินได้ เพราะระบบปัจจุบันไม่กำหนดให้ผู้ได้รับตำแหน่ง ศ. ต้องรับผิดชอบต่อการประเมินงานวิชาการชิ้นอื่นๆ ซึ่งประเด็นนี้นอกจากปิ่นแก้วระบุแล้ว ยังเคยมีการพูดถึงในงานเสวนา ‘ขอตำแหน่งวิชาการอย่างไร? ใช้เกณฑ์ใด? ให้ผ่านฉลุย’ ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดล
อีกข้อเสนอหนึ่งที่ยกขึ้นมาคือ การสอบแบบปากเปล่า (Oral Test) ซึ่งในเวียดนามเองก็มีการใช้อยู่ ซึ่งนอกจากการอ่านงาน ทางผู้ขอตำแหน่งยังได้อธิบายความคิดตัวเองให้ผู้ประเมินฟัง และผู้ประเมินก็สามารถตั้งคำถามในประเด็นที่ไม่เข้าใจได้เพิ่มเติม
“ระบบของไทยให้อำนาจกับผู้ประเมินชี้เป็นตายอย่างไรก็ได้ คนประเมินรู้ว่าเป็นงานของใคร แต่คนที่เสนอขอตำแหน่งไม่รู้ว่าใครเป็นคนอ่าน ซึ่งมันไม่แฟร์ตั้งแต่ต้น เพราะถ้างานคุณถูกส่งไปให้คนที่เกลียดขี้หน้า ซึ่งมันคงมีแน่นอน แล้วถูกฟีดแบ็กกลับมาบรรทัดเดียวว่า “งานใช้ไม่ได้” มันไม่ได้ไง เพราะมันต้องอธิบายให้เห็นว่าใช้ไม่ได้อย่างไร” ปิ่นแก้วระบุ
บุญบารมี
คำถามสุดท้ายที่เราถามอาจารย์ทั้งคู่ ซึ่งกำลังรอตำแหน่ง ศ. อยู่คือ “บุญบารมีสำคัญแค่ไหน?”
สมชายกล่าวว่าโดยปกติงานวิชาการควรยืนอยู่ที่ “คุณค่า ความหมาย และคุณภาพ” อย่างไรก็ตาม เขายอมรับในสังคมไทยอาจเป็นไปได้ว่า ‘บุญบารมี’ จำเป็นอยู่บ้าง
ไม่ว่าหลักการบุญบารมีจะถูกหรือไม่ถูก แต่ผมคิดว่ามันอาจสำคัญในสังคมไทยก็ได้ อาจไม่ใช่ทำบุญนะ แต่หมายถึงเส้นสายและเครือข่ายทางวิชาการ หรือแปลว่าคนที่ทำงานควรสำเหนียกตนว่า ควรเลือกทำเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับตัวเอง อย่าทำงานวิชาการที่ท้าทายอุดมการณ์หลักๆ ของสังคมไทย
ทางปิ่นแก้วสะท้อนว่าแนวคิดนี้เกิดมาจากความไม่โปร่งใสของระบบ และถ้าผู้ที่ยืนขอวิทยานิพนธ์ “สายป่านยาว” รู้ได้ว่าใครเป็นคนประเมิน อาจทำให้มีโอกาสได้ตำแหน่งทางวิชาการมากกว่า
“มันน่าเศร้านะ ที่พอระบบมันไม่โปร่งใส ทำให้เราไม่มีอำนาจในการติดตาม กลายเป็นว่าเราต้องมีบุญหรอ ถึงจะเข้าถึงว่าเรื่องของเราไปถึงไหน เราต้องไปซูฮกกับคนที่อ่านหรอ ไม่ใช่แล้ว มันวิกฤตแล้ว” ปิ่นแก้วทิ้งท้าย