เหตุการณ์สุ่มแทง การโพสต์ขู่ก่อเหตุ การพกอาวุธไปตามที่สาธารณะ อาชญากรรมเลียนแบบที่เกิดทั่วทั้งประเทศ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ถึงต้นสิงหาคมที่ผ่านมา จนทำให้ทั้งประเทศตกอยู่ในความหวาดกลัว และการตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัย
ไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์สุ่มแทง หรือพกอาวุธ จะเกิดขึ้นที่ไหน และจะเกิดขึ้นจริงตามที่เตือนไหม ไม่มีใครรู้ว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นใคร จนถึงไม่มีใครรู้ว่าจะปลอดภัยได้อย่างไร หากเกิดสถานการณ์แบบนี้รอบตัว
เกิดอะไรขึ้นกับ เกาหลีใต้ ประเทศที่จัดอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีลำดับที่ดีในเรื่องความปลอดภัย ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนอะไรกับสังคม
เกิดอะไรขึ้นบ้างในเกาหลี ในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมา?
ถ้าจะย้อนไปถึงเหตุการณ์แรก ที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของความหวาดกลัวในครั้งนี้ คงจะเป็นเหตุการณ์ในวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ด้านนอกทางออก 4 สถานีรถไฟชินลิม อยู่ๆ ก็มีชายถือมีด และสุ่มแทงคนที่เดินผ่านไปมา จนชายในวัย 20 ปี เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 3 ราย ก่อนที่คนร้ายจะถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ
เหตุการณ์นั้นไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เพราะภายหลังการสืบสวนผู้ก่อเหตุระบุว่า เขาตั้งใจจู่โจมเฉพาะผู้ชาย จึงก่อให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่สังคมออนไลน์ ที่ผู้ชายกลายเป็นเหยื่อ จนมีชายรายหนึ่ง โพสต์ข้อความการซื้อมีดในช็อปปิ้งออนไลน์ พร้อมบอกว่า เขาจะไปแทงผู้หญิง 20 คน ที่บริเวณสถานีชินลิม ก่อนที่สุดท้าย ผู้โพสต์ข้อความก็ได้ถูกตำรวจจับกุมเช่นกัน
เหตุการณ์สุ่มทำร้ายผู้คนยังเกิดขึ้นอีกในวันที่ 3 สิงหาคม เมื่อชายวัย 22 ปี ขับรถชนผู้คนบริเวณห้างAK PLAZA ในบุนดัง จังหวัดคยองกี จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 5 ราย และต่อมาเขาก็เข้าไปแทงผู้คนบริเวณนั้น บาดเจ็บอีก 9 ราย ซึ่งต่อมามีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย ในวันต่อ วันที่ 4 สิงหาคม ก็ยังเกิดเหตุมีคนเข้าไปทำราย และแทงครูในโรงเรียน ในจังหวัดแดจอน และการไล่จับชายวัย 20 ที่ถือมีดที่สถานี Express Bus Terminal รวมถึงวันที่ 5 กับการจับกุมชายวัย 40 ปีที่ถือมีดเดินไปมาที่เมืองยงอิน จังหวัดคยองกี
รวมไปถึงการจารโพสต์ขู่ออนไลน์อีกมากมาย ที่ตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุมากถึง 30-50 คนต่อวัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ทั้งมีการโพสต์จะไปแทงประธานาธิบดี แทงตามสถานีต่างๆ จะไปฆ่าคนที่สวนสนุกเอเวอร์แลนด์ หรือสนามเบสบอล ซึ่งในการจับกุมรายวันเหล่านี้ ยังพบว่ามีหลายรายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย ทั้งยังลามไปถึงการขู่ทำฆ่าศิลปินไอดอล ว่าจะไปแทง วินเทอร์ ไอดอลหญิงวงเอสป้า และฆ่าเธอที่สนามบินด้วย
ความตื่นตระหนกที่เป็นความหวาดกลัว
เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความตื่นตระหนกในสังคมเกาหลีอย่างเห็นได้ชัด เพราะยังมีเหตุการณ์ที่สถานีชินโนนฮยอน ที่เมื่อมีผู้โดยสารคนหนึ่งกรี๊ดออกมาในรถไฟ จนทำให้ประชาชนแตกตื่น กรูวิ่งหนีออกมา และมีการลือว่ามีการปล่อยแก๊สในรถไฟ หรือการสุ่มแทงเกิดขึ้น จนเกิดความวุ่นวายระหว่างหนีออกมากัน ซึ่งปรากฏว่าเสียงกรี๊ดที่เป็นจุดเริ่มต้นของความแตกตื่นนั้น เกิดจากกการรับชมวิดีโอของศิลปิน BTS เท่านั้น
โช พนักงานออฟฟิศที่เดินทางใกล้สถานีซอฮยอน หนึ่งในจุดเกิดเหตุสุ่มแทงในจังหวัดคยองกี เล่าถึงอาการตื่นตระหนก ขณะพยายามกลับบ้านหลังเลิกงานว่า “ไม่มีการรับประกันว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก และความคิดที่ว่าจะต้องกังวลทุกวันในชีวิตประจำวันของฉันนั้นทำให้จิตใจเหนื่อยล้า” โชกล่าว
“เราจะเลี้ยงลูกและให้อิสระแก่พวกเขาในสังคมที่อันตราย?” คุณโอ แม่วัย 41 ปี ที่มีลูก 2 คน ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย และเป็นห่วงความปลอดภัยของเด็กนักเรียน เนื่องจากลูกสาวของเธอยังเด็ก เธอกังวัลอย่างมากเนื่องจากต้องไปส่งลูกๆ ไปโรงเรียน และเมื่อคิดว่าเหตุการณ์เหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นในบริเวณโรงเรียนได้ เธอกล่าวว่าการโจมตีแบบที่เรียกว่า “อย่าถามเหตุผลว่าทำไม” ซึ่งไม่มีแรงจูงใจหรือความเกี่ยวข้องกับเหยื่ออย่างชัดเจน ได้กลายเป็นปัญหาสังคมร้ายแรง
“สังคมกำลังเผชิญกับความรุนแรง ดังนั้นฉันหวังว่ารัฐบาลจะพบสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์และเหตุใดอาชญากรรมเหล่านี้จึงเพิ่มขึ้น เกิดอะไรขึ้นถ้ามันกลายเป็นเหตุการณ์รายเดือน?” เธอกล่าว
สถานทูตไทยในเกาหลีเอง ยังมีการออกแจ้งเตือนคนไทยในเกาหลีให้ระวังตัว และสถานการณ์ในการขอความช่วยเหลือ ขณะที่เพื่อนๆ ชาวไทยของตัวผู้เขียนเอง รวมถึงตัวผู้เขียน ต่างก็คอยแชร์ข่าว รวมไปถึงมีการแชร์ความหวาดระแวงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันกัน เช่น คอยเดินตามตำรวจตามสถานีรถไฟ หรือคอยระวังเมื่อเห็นคนดูท่าทางแปลกๆ จะหยิบของออกมาจากกระเป๋า หรือคอยมองซ้ายขวาหน้าหลังตลอดการกลับบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้ จากความรู้สึกส่วนตัวนั้น ก็บอกได้ว่ายิ่งทำให้เกิดความระแวงผู้คนต่างๆ รอบตัวไปหมด เนื่องจากไม่มีทางรู้ว่า ใครจะเป็นผู้ก่อเหตุ
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า อุปกรณ์ป้องกันตัวต่างๆ ตามเว็บไซต์และช็อปปิ้งออนไลน์ ต่างก็กลายเป็นสินค้ายอดนิยมขึ้นมาในช่วงเวลานี้ รวมไปถึงยังมีการแจกสเปรย์ป้องกันตัวตามสถานที่ต่างๆ เช่นสถานีฮงแด หรือมีการทำเว็บไซต์แจ้งเตือนสถานที่ ที่อาจมีเหตุร้ายเกิดขึ้นด้วย ซึ่งเป็นขั้นตอนของการป้องกันตัวเองของประชาชน
ในเกาหลีใต้ การครอบครอบอาวุธปืนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อาวุธของผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่เป็นมีดหรือค้อน
ส่วนการตอบสนองของผู้นำอย่าง ประธานาธิบดียุนซอกยอล ได้สั่งการให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นโดยตำรวจ และการตรวจสอบระดับชาติเกี่ยวกับสุขภาพจิตของประชาชน การผสมผสานระหว่างมาตรการระยะสั้นและระยะยาวดูสมเหตุสมผล โดยยุนแนะนำว่า ให้ตำรวจสามารถใช้ปืนและเครื่องช็อตไฟฟ้า ‘โดยไม่ลังเล’ ซึ่งการตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน ประธานาธิบดียุนยังบอกเจ้าหน้าที่ให้ถือว่าผู้ก่อเหตุเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ ซึ่งก็มีการมองว่า การเรียกของประธานาธิบดีอาจไม่ผิด เนื่องจากผู้กระทำความผิดสร้างความหวาดกลัวให้กับสาธารณชน
เกาหลีใต้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงปัญหาอาชญากรรม แต่ยังสะท้อนปัญหาโครงสร้างและสังคมที่เกิดขึ้น โดยนักจิตวิทยา และสังคมวิทยาต่างมองว่า เหตุที่เกิดขึ้นทั้งหารแทง และสุ่มฆ่าคน ไปถึงการโพสต์ออนไลน์นั้น มีจุดร่วมที่เหมือนกัน คือ ความโดดเดี่ยวทางสังคม (social isolation)
“คนที่รู้สึกตัดขาดจากสังคมอยู่แล้วก็ไม่มีอะไรต้องกลัวในโลกนี้” กวักแดคยอง ศาสตราจารย์วิทยาลัยตำรวจและความยุติธรรมทางอาญาแห่งมหาวิทยาลัยดงกุกในกรุงโซลกล่าวกับหนังสือพิมพ์ JoongAng Daily ทั้งเขายังมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง
เขามองว่า สิ่งที่ผู้ก่อเหตุในเหตุการณ์ที่สถานีรถไฟชินลิม และห้างในบุนดัง กยองกี มีเหมือนกันคือ ทั้งคู่ไม่มีงานทำและใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว
โช ชายวัย 33 ปี ที่แทงชายอายุ 20 ปี ซึ่งเป็นคนแปลกหน้าแบบสุ่มจนเสียชีวิตใกล้กับสถานีชินลิมบอกกับตำรวจว่า เขาเคยคิดที่จะฆ่าคนมาพักหนึ่งแล้ว โดยเขาบอกว่าช่วงที่ผ่านมาเขามีชีวิตที่ยากลำบาก และ “ผมอยากให้พวกเขาทุกข์ยากเหมือนผม” จากรายงานที่เขาให้การกับตำรวจ ทั้งเขายังบอกว่า เขาพยายามมีชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล และสำหรับเหตุอาละวาดไล่แทงที่บุนดังนั้น ผู้ก่อเหตุคือ ชเว ชายวัย 20 ปี ซึ่งก็ตกงานเช่นกัน เขาลาออกจากโรงเรียนมัธยมและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท
รวมไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม กับการฆ่าอำพรางศพในปูซาน ซึ่งมีรูปแบบคือการสุ่มฆ่าคนที่ไม่รู้จัก โดยจอง คนร้ายวัย 20 ปี ได้เข้าหาเหยื่อซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และติวเตอร์อิสระวัย 20 ปีที่ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับเธอมาก่อน โดยมีรายงานว่าจอง ได้แบ่งปันความรู้สึกขมขื่นของเธอเกี่ยวกับวัยเด็กที่ไม่มีความสุขของเธอในการสนทนาทางโทรศัพท์กับพ่อของเธอว่า เธอเป็นคนที่น่าสงสารที่สุดในโลก
นักสังคมวิทยากล่าวว่า อาจมีกรณีเช่นนี้เกิดมากขึ้นในเกาหลี ดังนั้นคำขู่ที่โพสต์ทางออนไลน์จึงเพิ่มขึ้น “มีคนจำนวนมากในช่วงอายุ 20 และ 30 ที่ตกงานและโดดเดี่ยว ซึ่งอาจรู้สึกเช่นเดียวกับเหล่าผู้ก่อเหตุ” ลียุนโฮ ศาสตราจารย์ด้านอาชญาวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยดงกุกกล่าว โดยจากสถิติคนว่างงานในเกาหลีใต้ ในช่วงอายุ 15-29 ปีนั้น มีเพิ่งขึ้นมาจาก 2.6 แสนคนในปี 2547 เป็น 8.2 แสนคน ในปี 2563 หรือมากกว่า 3 เท่าในเวลา 15 ปี ทั้งคนเหล่านี้ยังมีการใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวหลังหางานไม่ได้ และไม่มีสังคม ซึ่งเป็นเหมือนสถานการณ์สันโดษของประชาชน ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่คล้ายกันในญี่ปุ่นในช่วงปี 1990 ซึ่งการก่อการร้ายแบบสุ่มทำให้เกิดความวิตกกังวลของสาธารณชน ปรากฏการณ์ ‘ความผิดปกติที่แปลกแยก’ ซึ่งผู้คนก่ออาชญากรรมหลังจากขาดการเชื่อมต่อกับสังคม ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นในเกาหลีเช่นกัน
ซึ่งชเวฮยังซอบ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยกุกมิน กล่าวว่า “หากปราศจากมาตรการตอบโต้ที่ทันท่วงที ความคิดที่ว่าใครก็ตามสามารถถูกโจมตีได้ จะยิ่งทำให้ความไม่ไว้วางใจในสังคมแย่ลง และนำไปสู่ปัญหาสังคมที่ใหญ่ขึ้น”
อ้างอิงจาก