ครั้งหนึ่งดาวหางเฉียดโลกด้วยระยะห่าง 6.3 ล้านกิโลเมตร ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกไกล 356 ล้านกิโลเมตร ทั้งหมดไม่ได้เสี้ยวเมื่อเทียบกับความห่างไกลของดวงอาทิตย์ รวมถึงระยะห่างระหว่างเรา
จักรวาลเป็นอาณาเขตของความเหงา เป็นที่ที่เรามองเห็นทุกครั้งเมื่อแหงนหน้ามองฟ้า เรามักนึกภาพถึงความรู้สึกบนห้วงอวกาศที่อยู่สุดสายตา ว่าที่นั่นเป็นชัยชนะของมนุษยชาติ แต่ในขณะเดียวกันอวกาศเป็นดินแดนแห่งความว่างเปล่า ในความไร้ที่สิ้นสุดคือความเดียวดายที่น่าหวาดหวั่นใจ
ในแง่นี้ บัซ ไลท์เยียร์ จึงอาจจะเป็นหนึ่งในตัวเอกที่น่าประทับใจที่สุด คำว่า “ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น” ที่บัซมุ่งไปสู่ ถ้าคิดกันอย่างจริงจังแล้ว การต้องอยู่ลำพังหรือเดินทางโดยลำพังในห้วงอวกาศอันว่างเปล่านั้น ดูจะเป็นเส้นทางที่ต้องใช้ความกล้าหาญมากที่สุดทางหนึ่ง อวกาศทั้งกว้าง ทั้งว่างเปล่า ความว่างเปล่าและความห่างไกลนี้เลยพอจะเป็นรูปร่างของความเหงาได้ ความเหงาของเราก็คงจะเท่ากับอวกาศอย่างที่เขาพูดกัน
แม้ว่าเราจะไม่เคยไปอวกาศ แต่อวกาศเป็นความฝันร่วมของเราเสมอ เมื่อเรามองขึ้นไปบนฟ้า แม้ว่าเท้าของเราจะอยู่บนผิวดิน หลายครั้งความเหงาไม่ได้อยู่แค่บนอวกาศ แต่ในฐานะมนุษยชาติอย่าง เราเมื่อมองขึ้นไปบนท้องฟ้าอันมืดมิดแล้ว สิ่งหนึ่งที่เรายังรับรู้อยู่ คือ ในห้วงอวกาศนี้ มีเพียงแค่ ‘เรา’ อวกาศที่กว้างใหญ่ขนาดนี้ยังไม่มีใครอื่นอยู่อีกฝากหรือบนดาวดวงอื่น และเราเองก็ยังคงมุ่งมองหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในอวกาศอันแสนเดียวดาย ความเหงาของเราคือความเหงาของมนุษยชาติ คือความเดียวดายในระดับจักรวาล
Galactic Loneliness ทางช้างเผือกของความโดดเดี่ยว
“จักรวาลของเราวิวัฒน์ไปสู่ความเดียวดาย” เป็นข้อความในบทความชื่อ ‘The Lonely Universe’ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2011 ข้อเขียนว่าด้วยจักรวาลอันโดดเดี่ยวนี้ก็สะท้อนความคิดและความพยายามในการมองหาอารยธรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้แค่มีแค่มนุษยชาติในจักรวาลอันไร้ขอบเขตและอยู่แสนไกลซึ่งกันและกัน—โลก ในด้านหนึ่งจึงเป็นสถานที่แสนโดดเดี่ยว
ไม่แน่ใจว่า ความเหงาในยามค่ำคืน เมื่อเรายืนอยู่ในความมืดและใต้แสงดาว ความรู้สึกเดียวดายของเรานั้น อาจเป็นส่วนหนึ่งของความเดียวดายรวมหมู่ เป็นความเหงาที่บางครั้งก็เรียกว่าเป็นความเหงาของทางช้างเผือก (galactic loneliness) หรือความเดียวดายระดับจักรวาล (cosmic loneliness) คือ เป็นความรู้สึกที่เรามองขึ้นไปและรับรู้ว่า บนดินแดนไร้ที่สิ้นสุดนั้นไม่มีใครอื่นนอกจากเรา ในจักรวาลอันไร้รูป ไร้ขอบนี้ มีแค่เราที่ยืนอยู่เพียงลำพัง
เอเลี่ยน อารยธรรม หรือสิ่งมีชีวิตทรงภูมิจากดาวอื่นลึกๆ แล้วเป็นเรื่องน่ากลัว แต่มนุษย์เราเองก็ยังคงเฝ้ามองหาและตั้งรออย่างจริงจังมาอย่างยาวนานถึงสิ่งมีชีวิตอื่นนอกโลก การคิดถึงและถกเถียงถึงดินแดนอื่นที่อยู่แสนไกลเป็นเหมือนจุดบรรจบของวิทยาศาสตร์และนวนิยายไซไฟ คำถามที่ว่า ‘คน(หรืออารยธรรม)อื่นๆ อยู่ที่ไหน’ เป็นสิ่งที่ทุกคนสงสัย ในปี ค.ศ.1985 คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังเขียนนวนิยายชื่อ Contract พูดถึงการได้รับสัญญาณจากนอกโลก โดยในทศวรรษ 1950 ก็เป็นยุคที่โลกเต็มไปด้วยเรื่องราวของยูเอฟโอและการพูดถึงร่อยรอยอารยธรรมและเหล่าเอเลี่ยนที่เราจินตนาการและพยายามค้นหา และอันที่จริงรถโรเวอร์และอีกหลายโครงการยักษ์ใหญ่ขององค์กรด้านอวกาศของโลกนั้น ก็เกี่ยวข้องกับการมองหาสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่นด้วย
รูปลักษณ์ของจักรวาล รูปร่างของความเหงา
อันที่จริง พื้นที่เช่นอวกาศเป็นพื้นที่แปลกประหลาด คือ เราสัมผัสความรู้สึกของอวกาศได้ทั้งๆ ที่ไม่เคยไป ด้านหนึ่งอวกาศนั้นแสนไกล แต่มองขึ้นไปก็เหมือนว่าเราจะสามารถมองเห็นวัตถุ เห็นดวงดาวที่ล่องลอยอยู่ไกลๆ ได้ คำว่าจักรวาลจึงทั้งไกล และใกล้ในเวลาเดียวกัน จักรวาลดูจะมีทั้งความหลากหลาย คือมีความเป็นอนันต์ทั้งระยะทางและสารพัดวัตถุที่หมุนเวียนเคลื่อนเปลี่ยนไปอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกันจักรวาลก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (uni-เอกภาพ) คือ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล พร้อมกันนั้นจักรวาลเองก็ดูจะมีลักษณะที่นิ่งสงบแต่ภายในกลับเต็มไปด้วยความสับสนโกลาหลที่เราไม่เข้าใจ
เบื้องต้นที่สุด จักรวาลเป็นดินแดนของความเหงาแน่นอน นอกจากความเดียวดายของโลกสีเขียวที่เรายังคาดว่าเราเป็นเพียงอารยธรรมเดียวของเอกภพนี้ จักรวาลเป็นพื้นที่ของความว่างเปล่าอันไพศาล (vastness) เป็นพื้นที่ที่ไร้ขอบเขต โดยหนึ่งในประเด็นที่พูดถึงจักรวาลในฐานะพื้นที่ของความเดียวดายก็คือ ขนาดและความห่างไกลที่เราเองไม่มีมาตรวัดความไพศาลและว่างเปล่าอันใหญ่โตนี้ได้ จักรวาลที่ว่าใหญ่ ใหญ่ขนาดไหน ที่ว่าไกล ไกลขนาดไหน
ในการแสดงภาพจักรวาลนั้น เราก็จะเห็นการใช้อุปมาและความเปรียบต่างๆ ในการแสดงความใหญ่โตไม่ว่าจะเป็นขนาดของดวงดาว ของระยะทางจากโลกไปถึงพื้นที่ต่างๆ คำที่นิยามว่าดาวเคราะห์น้อยลอยเฉียดโลกในระยะทาง 6.3 ล้านกิโลเมตร ในสเกลของจักรวาลแค่ไหนคือไกลหรือใกล้ เมื่อเราเทียบระยะ 6.3 ล้านกิโลเมตรเข้ากับระยะห่างของเราต่อดวงอาทิตย์คิดเป็นแค่ 4% ของระยะทาง เทียบกับดวงจันทร์ก็ห่างออกไปตั้ง 15 เท่าของ 6.3 ล้านกิโลเมตร
นอกจากมาตรวัดทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์แล้ว การรับรู้เรื่องจักรวาลอันยิ่งใหญ่และย้อนแย้งของเราส่วนหนึ่งจึงเป็นการรับรู้เชิงความรู้สึก ใหญ่จริงๆ คือประมาณนี้ ในอีกแง่ ความไพศาลและลึกกว้างเชิงกายภาพที่เราอาจจะไม่นึกฝันจะไปสัมผัสนั้น ก็เลยอาจจะถูกตีความเข้ากับความรู้สึกของเรา ความเวิ้งว้างที่อาจวัดขนาดเป็นการเดินทางของแสงได้ ในเชิงความรู้สึก ความว่างเปล่าที่ไร้ก้นบึ้งนั้น ก็เลยเป็นมิติและมาตรวัดเดียวกันกับความรู้สึกเดียวดายในใจของเรา
คล้ายกันกับอุปมาที่เปรียบกันอย่างขบขัน แต่บางครั้งก็เป็นความจริง ระยะของเรากับดวงจันทร์อาจจะห่างไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับระยะห่างของความสัมพันธ์ พื้นที่ (space) ในเชิงความหมาย ของการเว้นที่ไว้ในที่นี้ก็อาจจะมีขนาดเท่ากับอวกาศ (space) ความว่างเปล่าไร้ที่สิ้นสุดที่ตาเราเห็นอาจโหวงว่างเท่ากับรูโหว่จากความเดียวดายในใจ
ความเหงาเป็นเรื่องแปลกประหลาด บางครั้งเราก็รู้สึกอยากจะเหงาขึ้นมาเฉยๆ อยากจะนึกถึงความโดดเดี่ยวในอวกาศอันกว้างใหญ่ คิดถึงการได้อยู่ลำพัง แต่ในขณะเดียวกันความรู้สึกว่างเปล่าในใจจากการมองท้องฟ้ายามค่ำคืนก็เป็นความรู้สึกที่เย็นเยียบลึกเข้าไปในใจ หลายที่เริ่มมองเห็นความเหงาเป็นภัยต่อการสาธารณสุข แต่บางครั้งเราเองก็เอาตัวเองโดดลงดำดิ่งลงสู่ห้วงความเหงาด้วยความเต็มใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manita Boonyong