ทำไมเราถึงเล่าเรื่องความรักข้ามชนชั้น?
สัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวการสละฐานันดรและพระยศของเจ้าหญิงแห่งญี่ปุ่นเพื่อสมรสกับชายหนุ่มสามัญชนช่วยปลุกให้โลกแล้งๆ ของเราเข้าสู่ดินแดนของเทพนิยายที่ความรักไม่มีพรมแดนอีกครั้ง เจ้าหญิงมาโกะพระราชนัดดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะทรงเข้าพิธีหมั้นกับนายเค โคมุโระ พระสหายที่ศึกษาที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน จากการที่พระองค์จะเสกสมรสกับสามัญชน ตามกฎมณเฑียรบาลญี่ปุ่นเจ้าหญิงมาโกะจะต้องทรงสละฐานันดรเข้าสู่การเป็นสามัญชนตามพระสวามี
โรแมนติกเนอะ สื่อต่างๆ พากันเรียกว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่าเป็น ‘เทพนิยาย’ ที่เกิดขึ้นจริง แน่ล่ะ เรื่องความรักที่ไม่ถูกจำกัดโดยชนชั้น หญิงสาวสูงศักดิ์รักชายหนุ่มสามัญชน ยอมสละสถานะและสิทธิพิเศษเพื่อความรักเป็นอะไรที่มีแต่ในนิยาย หรือในนิทาน
เมื่อกาลเวลาเริ่มเปลี่ยนไป โลกก็เปิดกว้างขึ้นและเส้นแบ่งทางชนชั้นก็ไม่ได้ชัดเจนชนิดสมาชิกราชวงศ์จะต้องอยู่ที่หนึ่งแล้วสามัญชนต้องอยู่อีกที่ เช่นกรณีของเจ้าหญิงมาโกะที่ทรงพบรักกับเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยในขณะที่ทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยอินเตอร์เนชันแนล คริสเตียนที่โตเกียว ในราชวงศ์ญี่ปุ่นก็เคยมีการสละฐานันดรเพื่อเสกสมรสของเจ้าหญิงซายาโกะ พระธิดาพระองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ถ้าเป็นกรณีราชวงศ์ฝ่ายชายเสกสมรสกับหญิงสามัญชน กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ก็เช่นกรณีของเจ้าชายวิลเลียมที่ทรงเสกสมรสกับเคท มิดเดิลตันเมื่อปี 2011
รักข้ามชนชั้นมีจริง หรือจริงๆ มีแต่ในนิยาย?
อันนั้นเป็นเรื่องระดับราชวงศ์ ซึ่งเวลาเกิดความรักข้ามชนชั้นแบบนี้เราก็จะรู้สึกว่า อุ๊ย โลกนี้สวยงามจังเลย แต่ถ้าเทียบการทั้งหลาย ความรักข้ามชนชั้นอาจเป็นแค่จุดเล็กๆ ในทะเลของเรื่องราวมหาศาล แต่ประเด็นเรื่อง ‘รักข้ามชนชั้น’ ก็เป็นเรื่องที่พวกเราคิดหรือฝันถึงอยู่เสมอ เราจึงมีเรื่องเล่านิทานจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องราวของหญิงแสนดีที่ได้พบรักกับเจ้าชายหรือหนุ่มสูงศักดิ์ ก่อนที่เรื่องราวจะจบลงด้วยความสุขตลอดกาล
ความรักจึงดูเหมือนเป็นทั้งสะพานและรางวัลในตัวเอง เพราะคำว่า แล้วนางซินเดอเรลล่าก็ได้รับความสุขตราบกัลปาวสาน ไม่ได้หมายถึงแค่การที่นางมีความรักอย่างเดียว แต่ความสุขชั่วนิรันดร์นั้นก็จะรวมปราสาทราชวังและความมั่งคั่งทั้งหลายที่นางได้ครองจากการครองรักนั้นด้วย ในละครไทยก็มีเรื่องราวแบบดาวพระศุกร์ที่หญิงตกยากได้แต่งงานและมีชีวิตที่สุขสบายในตอนท้ายของเรื่อง
แม้แต่ในนิทาน รักข้ามชนชั้นได้จริงไหม?
เรามักสรุปเรื่องในทำนองนิทาน ถ้าหนูเป็นคนดี ในที่สุดก็จะมีชีวิตที่ดี ได้ไปสู่ความรักแท้อันเป็นตอนจบบริบูรณ์ที่สวยงาม
ถ้าดูดีๆ เหมือนว่าแม้แต่ในนิทานเองก็ไม่ได้ ‘รักข้ามชนชั้น’ ประเภทที่ว่าจากโคลนตมสู่ดาว ในซินเดอเรลล่า ภาพของนางซินที่เจ้าชายหลงรักก็ไม่ได้เป็นภาพหญิงสาวเปื้อนฝุ่นอย่างที่นางเป็น แต่จุดเด็ดของพรนางฟ้าอยู่ตรงที่ โดยเนื้อแท้แล้วนางซินก็ไม่ได้คนตกต่ำโดยชาติตระกูล แต่ถูกกดขี่จากแม่เลี้ยงที่ฉาบและปกปิดตัวตนที่แท้จริงของนางไว้ พรของนางฟ้าจึงไม่ได้เป็นการให้อะไรพิเศษกับนางซินขนาดนั้น แต่อาจตีความได้ว่าเป็นการเปิดเผยเนื้อแท้และสถานะที่แท้จริงของนางให้เจ้าชายได้เห็น
ในทำนองเดียวกัน เรื่องดาวพระศุกร์เองก็พูดถึง ‘เนื้อแท้’ ของนางเอกที่มาจากสถานะที่สูงกว่าปกติไม่ต่างอะไรกับนางซิน ดังนั้นจริงๆ ในโลกที่เราจินตนาการขึ้น การทำงานของ ‘ระบบชนชั้น’ จึงเป็นสิ่งที่ทำอย่างแนบเนียนพอสมควร เผินๆ แล้วเราอาจรู้สึกว่า นี่ไง ในโลกมันมีโอกาสและความเป็นไปได้ที่เราจะได้ข้ามผ่านชนชั้นและความยากลำบากผ่านความรักและการทำความดี แต่ในที่สุด ถ้าเราดูความรักข้ามชนชั้นในนิทานในละครส่วนใหญ่ เรื่องราวที่เกิดขึ้นมักเป็นการ ‘กลับคืนสู่สถานะที่ถูกต้อง’ ของตัวเอง ซึ่งเราก็อาจตีความได้ว่า แม้แต่ในละคร สุดท้ายแล้วแต่ละคนก็มีตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง
หลุยส์ อัลตูแซร์พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Ideology State Apparatus คือในนักคิดสายมาร์กซิสจะพยายามอธิบายว่าระบบทุนนิยมมันก็กดขี่นะ แต่ทำไมคนถึงยอม อัลตูแซร์บอกว่าเพราะกลไกของระบบทุนนิยมมันควบคุมความคิดคนในระดับ ‘อุดมการณ์’ ด้วย ในเรื่องราวทั้งหลายที่เรากำลังเสพอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงที่ถูกเลือกขึ้นมาเล่าหรือเรื่องแต่งเช่นวรรณกรรม ภาพยนตร์ต่างๆ เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้คนอยู่กับระบบได้
นึกภาพเราเพิ่งทำงานมาแสนสาหัส เย็บผ้าโหล แกะกุ้งในโรงงาน มาเป็นชั่วโมง พอกลับบ้านได้มาดูละคร อ่านเรื่องราว หรือแม้แต่ดูข่าวว่า เออ นี่ไง มันมีเรื่องราวของคนที่สามารถพ้นจากความทุกข์ยากได้ วันนึงเราอาจจะได้รับรางวัลแบบนี้บ้าง ดูจบแล้วก็นอนหลับฝันถึงเรื่องราวฝันๆ เหล่านั้น ก่อนจะตื่นไปพบกับโลกแห่งความจริงที่โหดร้ายและถูกกดขี่
โลกของรักข้ามชนชั้นจึงเป็นเหมือนความฝันหนึ่งที่ระบบมอบให้เรา ทำให้เราทนตามฝันไปบนความยากลำบากนี้ต่อไปได้