‘ฮีโร่หรือไอดอลในวัยเด็ก’ เรียกได้ว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการเติบโตของใครหลายคนก็ว่าได้ เพราะท่ามกลางวิกฤตค้นหาตัวตน การมีใครสักคนให้ยึดเหนี่ยวหรือปฏิบัติตาม ย่อมรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยกว่าการที่ต้องคลำหาเส้นทางท่ามกลางความมืดเพียงลำพัง
พอเติบโตมามีอาชีพ มีครอบครัว มีสังคมเป็นของตัวเอง แล้วได้มองย้อนกลับไปยังช่วงเวลานั้น ก็อยากขอบคุณ ‘เขา’ ที่เรานับให้เป็นฮีโร่ ไอดอล โรลโมเดล หรืออะไรก็ตามแต่ เพราะช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต ย่อมเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะไม่เผชิญกับความล้มเหลว ความทุกข์ทรมาน หรือความผิดหวัง ซึ่งถ้าวันนั้นเขาไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนั้นออกมา แต่งเพลงเพลงนั้นออกมา กำกับภาพยนตร์เรื่องนั้นออกมา หรือสร้างสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นออกมา ก็อาจไม่มีเราในวันนี้ก็เป็นได้ เพราะเขาทำให้เราเริ่มจับคอร์ดกีตาร์ หยิบพู่กันมาระบายสี ทดลองอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ และสักวันเราจะต้องประสบความสำเร็จอย่างเขาให้ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฮีโร่ในดวงใจถึงสำคัญกับชีวิตของคนคนหนึ่งมากมายเหลือเกิน
เพราะแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต
หรือมุมมองที่เรามีต่อโลกในปัจจุบัน
มี ‘ส่วนผสม’ ที่มาจากเขาด้วยเช่นกัน
‘Never meet your heroes’ ภาวะอกหักจากฮีโร่ในวัยเด็ก
เวลาล่วงเลยไปหลายปี เราก็รักของเราอยู่ดีๆ ใช้ชีวิตตามวิถีที่เราเคยเชื่อมั่น ซึ่งมีเขาเป็นส่วนประกอบอยู่ในนั้น ว่างๆ ก็ติดตามข่าว ติดตามผลงาน ตามอ่านบทสัมภาษณ์ แปะโควตเท่ๆ ของเขาไว้ที่ฝาผนัง แต่แล้ววันหนึ่ง จู่ๆ โลกก็ส่งแบบทดสอบมาท้าทายชีวิตเราอีกครั้ง ด้วยการให้เราค้นพบว่าฮีโร่ที่เราเคยชื่นชอบในช่วงเวลานั้น กลับ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ อย่างที่คิด
เราอาจจะเคยได้ยินคนออกมาเล่าประสบการณ์ใกล้ชิดกับดาราคนดังกันมาบ้าง ซึ่งหลายครั้งก็จบลงด้วยความเฟลบางอย่างจากการกระทำหรือคำพูด ‘Never meet your heroes’ หรือ ‘อย่าไปอยากรู้จักตัวจริงเขาเลย’ จึงกลายเป็นประโยคยอดนิยมที่หลายคนมักจะใช้เตือนกันอยู่บ่อยๆ เพราะความผิดหวังที่มีต่อฮีโร่ที่เชิดชูมานาน มีพลังทำลายล้างจิตใจได้พอๆ กับ ‘อาการอกหัก’ เลยล่ะ
และถึงแม้ว่าบางครั้งเราจะไม่ได้อยากใกล้ชิดสนิทสนมกับฮีโร่ของเรา จนล่วงรู้ถึง ‘ด้านมืด’ หรือ ‘ด้านเรียล’ ของเขามากเกินไปก็ตาม แต่จู่ๆ สถานการณ์ก็บังคับให้เราต้องรู้เข้าจนได้อยู่ดี ยิ่งทุกวันนี้โซเชียลมีเดียทำให้เราได้เห็นชีวิตส่วนตัวของใครบางคนง่ายขึ้นกว่าเดิม ผ่านการโพสต์รูปและสเตตัส เมื่อนั้นเราจึงได้รู้ว่าฮีโร่ที่เรายกย่องให้เป็นต้นแบบการใช้ชีวิต ก็สามารถคิดหรือทำอะไรที่ผิดพลาดได้เช่นกัน
ซึ่งเราก็จะเห็นได้ในข่าวศิลปิน ดารา นักธุรกิจ หรือนักการเมือง ที่มีข่าวกระทำผิดร้ายแรงและมีผลทางกฎหมาย เช่น ติดยา คุกคามทางเพศ ทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือฉ้อโกง หรือบางครั้งก็ไม่ได้คอขาดบาดตายอะไรหรอก แต่เนื่องจากเราเติบโตขึ้น และเลือกเดินไปตามทางแยกอีกทางหนึ่ง ทำให้จุดยืนของฮีโร่ที่เราเคยนับถือขัดแย้งกับความคิดและความเชื่อของเราโดยสิ้นเชิง เช่น จุดยืนทางการเมือง หรือทัศนคติที่มีต่อประเด็นทางสังคมบางอย่าง ซึ่งก็อาจทำให้เราเหวอและเซอร์ไพรส์ว่าที่ผ่านมาเราติดตามผลงานของคนคนนี้จริงๆ เหรอเนี่ย?
โดยเฉพาะช่วงนี้ที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทางการเมืองและสังคมมากขึ้น เราก็ได้เห็นหลายคนออกมาแสดงความผิดหวังต่อคนที่เขานับถือและชื่นชมมานานเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากอุดมการณ์ที่มีดันไม่ตรงกัน
“กว่าจะจบโรคระบาด เราจะสูญเสียไอดอลไปอีกกี่คนกันนะ” จากสเตตัสพี่ที่ออฟฟิศคนหนึ่ง
‘Never meet your heroes’ จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง ตรงนี้ผู้เขียนขอเล่าประสบการณ์ตรงของตัวเองสักเล็กน้อย เนื่องจากสมัยเด็กๆ เคยปลื้มศิลปินนักวาดคนหนึ่งมาก ถึงขั้นอยากรู้เรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเขา อยากรู้ว่าเขาเป็นใคร และอะไรที่ประกอบสร้างให้เขารังสรรค์ผลงานออกมาได้เพอร์เฟ็กต์ขนาดนี้
เมื่อสืบค้นไปเรื่อยๆ ก็ได้เห็นว่าเขากำลังคบหากับคนหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้ผู้เขียนติดตามเขาทั้งคู่ และรู้สึกผูกพันกับเรื่องราวของพวกเขาไปด้วย แต่อยู่มาวันหนึ่งก็ได้พบว่า แฟนของเขาออกมาระบายลงโซเชียลมีเดีย เนื่องจากถูกศิลปินคนนั้นนอกใจไปคบหากับคนอื่น ด้วยความที่เป็นเด็กและระบบการแยกแยะหรือตัดสินใจยังไม่ได้ถูกพัฒนาดีนัก จึงพาลโกรธ ไม่พอใจ และเลิกสนับสนุนผลงานของศิลปินคนนั้นนับตั้งแต่นั้นมา (…ไม่น่าเล้ยยยย)
ผิดหวัง เสียใจ รู้สึกฝันสลาย ทำอย่างไรดี?
พอมองย้อนกลับไป ผู้เขียนมักจะถามตัวเองเสมอว่า ตอนนั้นฉันจะรู้ไปทำไมวะ? และถามตัวเองอีกครั้งในเวอร์ชันที่เติบโตขึ้นมาบ้างแล้วว่า ศิลปินคนนั้นทำผิดขนาดนั้นหรือเปล่า? ก็ได้คำตอบว่า คงผิดในส่วนของการกระทำที่ไม่ดีที่เขาทำต่อแฟนนั่นแหละ แต่อาจจะไม่ผิดในส่วนที่เขาไม่สามารถสมบูรณ์แบบได้ตามที่เราวาดภาพเอาไว้
เพราะเมื่อโตขึ้นก็ได้ทำความเข้าใจว่า มนุษย์ทุกคนย่อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวเองเสมอเมื่ออยู่ท่ามกลางสาธารณะ แม้แต่ตัวเราเองก็เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก และคงจะมีคนส่วนน้อยจริงๆ ที่อยากเอาด้านไม่ดีของตัวเองออกมาให้สังคมเห็น เว้นเสียแต่ลุงแถวบ้านที่มักจะออกสื่อโดยกระทำกิริยาแย่ๆ หรือพูดจาหยาบคายอยู่บ่อยๆ โดยอ้างว่าเป็นความจริงใจ อันนี้อะแปลก
หลังอกหักจากศิลปินคนนั้น ผู้เขียนก็เลยบอกกับตัวเองเสมอว่า “อย่าไปรู้เยอะ” เพราะเดี๋ยวจะเจอด้านไม่ดีที่เขาซ่อนเอาไว้ ซึ่งเขาไม่ได้รับเชิญให้เราไปรับรู้เช่นกัน แต่อย่างที่บอกว่าหลายครั้งสถานการณ์ก็พาให้เราได้รับรู้ตัวตนจริงๆ ของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งเราไม่สามารถแก้ไขที่ตัวเขาหรือนิสัยเขาได้ดั่งใจอยาก มากสุดก็คือการเตือนด้วยความหวังดี แต่เขาจะรับรู้และนำไปปรับปรุงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้นแล้ว คงจะต้องหันกลับเปลี่ยนมาจัดการที่ความคิดของตัวเราเองด้วยอีกทาง เพื่อลดแรงกระแทกจากอาการอกหักให้ลดลงได้สักนิดก็ยังดี โดยความคิดแรกและความคิดเดียวที่น่าจะช่วยให้เราไม่เจ็บปวดมากนัก ก็คือการมองการกระทำของเขาด้วยความเข้าใจ หรือมองอย่างมี empathy
เพราะในวินาทีแรกที่เห็นเราการกระทำหรือคำพูดนั้น เราอาจจะรู้สึกงง สับสน โกรธ ไม่เข้าใจ แต่ถ้าลองมองเขาให้เป็นเช่นเดียวกับตัวเรา ซึ่งมีจุดร่วมกันคือการเป็น ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ เราก็เข้าใจว่า เขาสามารถกระทำ คิด หรือตัดสินใจผิดพลาด หรือมีมุมที่ไม่สมบูรณ์แบบได้เช่นเดียวกับเรา
เมื่อคิดจากมุมมองนี้ก็ทำให้เราพอจะลดความคาดหวังในตัวเขาลงได้บ้าง และมองเขาในฐานะคนหนึ่งคนที่พลาดกันได้ และสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้น้ำหนักกับความผิดพลาดของเขาแค่ไหน หรือความผิดพลาดนั้นพอจะทำให้เราแยกงานกับเรื่องส่วนตัวของเขาออกจากกันได้หรือไม่ แฟนคลับบางคนอาจจะทำได้ บางคนอาจจะทำไม่ได้ ก็คงขึ้นอยู่กับการรับได้ของแต่ละคน
ผู้เขียนได้ลองไปถามเพื่อนคนหนึ่งว่ารับได้มั้ย หากนักเขียนที่เขาติดตามมานานโพสต์อะไรในโซเชียลแบบบ้งๆ เขาจะรู้สึกผิดหวังและเลิกสนับสนุนไปเลยหรือเปล่า ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมาว่า “ถ้าเขาทำตัวบ้งบ้างก็ไม่เป็นไรหรอก การจะเขียนงานออกมาได้ดีขนาดนั้น เขาก็คงจะมีชุดความคิดที่แปลกประหลาดจากคนทั่วไปบ้าง แต่ถ้าเป็นทัศนคติทางการเมืองที่แย่มากๆ และเป็นความคิดที่สนับสนุนอะไรที่เป็นผลเสียกับสังคม เราก็คงรับไม่ได้ เพราะนั่นแปลว่าผลงานของเขาก็ถูกถ่ายทอดจากทัศคติแบบนั้นด้วยเหมือนกัน”
แม้ ‘Never meet your heroes’ จะไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง แต่ก็ไม่ได้ถูกไปเสียทั้งหมด การได้เห็นจุดบกพร่องของฮีโร่ในวัยเด็กบ้าง บางทีก็เป็นเรื่องที่โอเคเหมือนกัน เพราะเมื่อเราได้รับรู้จุดบกพร่องของเขาแล้ว เรายังสามารถมองเขาเป็นฮีโร่และต้นแบบในการใช้ชีวิตของเราได้อยู่ เพียงแต่บทเรียนที่เราได้รับจากเขาในครั้งนี้ อาจไม่ใช่แรงกระตุ้นในการลุกมาทำอะไรสักอย่าง แต่เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของสิ่งที่ไม่ควรทำ สิ่งที่ไม่ควรคิด หรือสิ่งที่ควรระมัดระวังมากขึ้นก็เท่านั้นเอง
ถึงแม้เขาคนนั้นจะบ้งหรืออะไรก็ตาม อย่างน้อยเขาก็เคยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับเราในช่วงเวลาหนึ่ง และการที่เราได้มองความผิดพลาด มองจุดบกพร่องของเขา ด้วยสายตาที่ปราศจากอคติ ความเอนเอียง หรือยอมรับความจริงที่แสนขมบ้าง ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่า เราเติบโตจากช่วงเวลานั้นอย่างมีวุฒิภาวะและวิจารณญาณมากขึ้นด้วยเช่นกัน
หากยังมองเขาเป็นฮีโร่ในดวงใจอยู่
ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของเขา
เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เขาทำ
และนำไปปรับใช้ให้ตัวเราเองกลายเป็น better version
พอเกิดอาการใจสลายจากคนที่นับถือมานาน บางคนอาจจะไม่อยากมีฮีโร่หรือไอดอลในดวงใจอีกต่อไปเลยก็มี เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการรักหรือประทับใจใครสักคน ก็ต้องพ่วงมาด้วยความคาดหวังในตัวเขาด้วยเช่นกัน เขาจะต้องเป็นแบบนั้น เขาจะต้องทำแบบนี้ ซึ่งก็เหมือนกับในทุกความสัมพันธ์ที่ยิ่งเราคาดหวังสูงเท่าไหร่ เมื่อตกลงมา เราก็ยิ่งเจ็บเท่านั้น
แต่ความคลั่งไคล้ในอะไรสักอย่าง ทำให้มนุษย์มีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้อย่างไม่น่าเชื่อ จึงขอเชียร์ว่าเราไม่จำเป็นต้องละทิ้งความคลั่งไคล้เหล่านั้นไปเสียทั้งหมดหรอก เพราะการไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวใดๆ อาจทำให้รู้สึกเหมือนลอยคออยู่กลางทะเลคนเดียวมากเกินไป
เพียงแต่ลอง ‘กระจาย’ ความรู้สึกนั้นไปยังที่อื่นๆ บ้าง เราไม่จำเป็นจะต้องมีฮีโร่หรือไอดอลเพียงคนเดียวในชีวิตหรอก เราสามารถนับถือคนหลายคนในหลายๆ แง่มุมของการใช้ชีวิต หรืออาจจะยึดเหนี่ยวอะไรที่ไม่ใช่ตัวบุคคลก็ได้ เช่น กิจกรรม สถานที่ สิ่งของ งานอดิเรก หรืออาจจะให้ ‘ตัวเราเอง’ เป็นฮีโร่ของตัวเองก็ได้เช่นกัน
มนุษย์ทุกคนล้วนมีอีโก้ ความบอบช้ำในใจ และปัญหาในชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถสมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด และแน่นอนว่าฮีโร่ของเราก็คือมนุษย์คนหนึ่ง อยู่ที่ว่านับจากนี้ไปเราจะมองเขาที่ ‘ตัวตน’ หรือ ‘ผลงาน’ มากกว่ากัน
อ้างอิงข้อมูลจาก