ที่ผ่านมาในการรายงานข่าวการชุมนุม มีการตั้งคำถามถึงเสรีภาพของสื่ออยู่เสมอ ตั้งแต่สื่อถูกปัดกล้องขณะไลฟ์ มีการยิงกระสุนยางโดนสื่อ ทั้งล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการนิยามคำว่าสื่อจริง และสื่อปลอม รวมถึงพยายามจะจำกัดว่า สื่อภาคประชาชนไม่ใช่สื่อมวลชน แต่เป็นผู้ชุมนุมที่แฝงตัวมาเป็นสื่อด้วย
เหตุการณ์นี้นำมาสู่การจับกุมตัวสื่อภาคประชาชน 2 ราย เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา อย่างโอปอ ณัฐพงศ์ มาลี จากสำนักข่าวราษฎร – Ratsadon News และนักข่าวพลเมืองอีก 1 คน จากเพจ ปล่อยเพื่อนเรา ที่ถูกควบคุมตัวขณะรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่ดินแดง และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินด้วย
ท่ามกลางที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อภาคประชาชน ถูกจำกัดขอบเขต และเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ The MATTER มาพูดคุยกับ โอปอ ณัฐพงศ์ ผู้สื่อข่าวคนแรก และคนเดียวของสำนักข่าวราษฎร – Ratsadon News ถึงการเป็นสำนักข่าวน้องใหม่ ที่เปิดตัวได้ไม่ถึงปี เสรีภาพของสื่อ ความสำคญของการเป็นประจักษ์พยานในที่ชุมนุม และประสบการณ์ของโอปอ ที่แม้จะไม่ถึง 1 ปี แต่ก็สามารถเก็บภาพการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่กับประชาชนได้มากมาย จนเป็นหลักฐานสำคัญ และได้ทำให้เหตุการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมด้วย
สำนักข่าวราษฎร – สำนักข่าวที่เกิดขึ้นมาเพื่อยืนยันว่าเป็นสื่อประชาธิปไตย
สำหรับข่าว หรือไลฟ์สดเหตุการณ์ในที่ชุมนุม หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ สำนักข่าวราษฎร ที่คอยเกาะติดข่าวการชุมนุม และนักกิจกรรมทางการเมืองโดยเฉพาะ โอปอได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปิดเพจ และผันตัวมาเป็นนักข่าวพลเมืองของเขาว่า เขาเรียนจบจากเอกภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตอนแรกตั้งใจจะเป็นครู แต่ด้วยสถานการณ์การเมือง และการระบาดของ COVID-19 ทำให้ลองมองหาอาชีพอื่น
“ตอนผมจบมาใหม่ๆ ผมได้เงินเดือนจากธรรมศาสตร์ในฐานะเป็นผู้ช่วยอาจารย์ แต่พอมันใกล้จะหมดสัญญา รายได้ลดลง เราเลยคิดว่าจะเอาวิชาที่ได้เรียนมา ประยุกต์ใช้งานกับสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ที่ตอนนี้มันร้อนแรง และเข้มข้นเลยเปิดเพจ
ตอนแรกไม่ได้คิดจะเป็นนักข่าวเลย อยากจะเป็นครู แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้การสอบเข้ารับราชการ หรือจะไปเรียนต่อ ต้องหยุดชะงักลง เพราะผมมองว่าการเรียนออนไลน์ หรือเรียนด้วยตัวเอง มันขาดปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นเรียน เราเลยเริ่มมองหาอาชีพอื่นที่จะรองรับ
สำนักข่าวราษฎรเริ่มไลฟ์คลิปแรก คือการทำบุญของครอบครัวคณะราษฎรที่วัดพระศรีมหาธาตุ เมื่อ 24 มกราคมที่ผ่านมา หรือต้นปีนี้เอง เพราะผมเห็นว่าพอปีใหม่ อะไรมันเริ่มเลยเปิดเพจ
ตอนทำเพจแรกๆ เมื่อก่อนมีคนกดไลก์ไม่กี่คนเอง หมื่นกว่าคน เราอาศัยการกระจายข่าวจากที่เราเคยตั้งกลุ่มเสวนาทางการเมืองในเฟซบุ๊ก เราก็แชร์ไป ตอนนั้นกลุ่มก็มีสมาชิกประมาณ 1.5 แสนคน เราก็ใช้ช่องทางนี้ โดยการแชร์ เพราะมันเป็นช่องทางที่เพิ่มการมองเห็น เพิ่มยอดให้คนเข้ามาอ่าน” โอปอเล่า
โอปอเล่าถึงที่มาของชื่อสำนักข่าวราษฎรว่า เขาต้องการตั้งชื่อแบบไม่อ้อมค้อม และให้เห็นจุดยืนว่าเป็นสื่อประชาธิปไตย รวมถึงว่าสำนักข่าวนี้ จะไม่ได้ทำทุกข่าว แต่เน้นเรื่องของการชุมนุม และนักกิจกรรมทางการเมือง
“ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา คำว่าราษฎรได้ถูกนำมาหยิบใช้ ทั้งการพูดถึงแกนนำ หรือคณะราษฎรในอดีต เราก็ไม่อยากจะอ้อมค้อม เราต้องการจะบอกว่าเราเป็นสื่อประชาธิปไตย อยู่ข้างประชาชน เราเลยใช้ชื่อนี้
ปัจจุบัน สื่อมวลชนก็มีหลายๆ แขนง ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ หรือแม้กระทั้งเว็บไซต์ เราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่สื่อมวลชน โดยเป็นสื่อพลเมืองที่อยากจะทำให้เรามีตัวตน และอยากจะสะท้อนปากเสียงของชาวบ้าน เรามุ่งเน้นข่าวด้านนักกิจกรรมทางการเมือง เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวมันค่อนข้างที่จะเข้มข้น ทั้งเนื้อหา ทั้งการเคลื่อนไหว สื่อบางครั้งก็อาจจะมีข้อจำกัดด้านการรายงานข่าว เราเลยยืนยันว่าเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มเคลื่อนไหว เราก็จะนำเสนอเต็มที่ ทุกประเด็นที่พวกเขาจะเรียกร้อง
จริงๆ ก็มีประชาไทที่นำร่องมาก่อนในการนำเสนอเรื่องนักกิจกรรม การเคลื่อนไหว ที่เราติดตาม เรียกว่าประชาไทเป็นสื่อนำร่องที่ทำให้สำนักข่าวราษฎรเกิดขึ้นก็ได้ ผมมองว่า ประชาไทนำเสนอข้อมูลที่ถือว่าเพดานเทียบเท่ากับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน”
เราถามโอปอว่า ที่เขามาเปิดเพจ เปิดสำนักข่าวของตนเอง เพราะสื่อที่เคยมีอยู่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเขาหรือเปล่า ซึ่งเขาก็ตอบว่านั่นคือเหตุผลเพียงส่วนหนึ่ง
“เมื่อก่อนเราเคยดูเทปไลฟ์สดของการชุมนุมต่างๆ แล้วพอมันมีประเด็นที่เขาอาจจะมองว่าละเอียดอ่อน พอเราจะมาชมย้อนหลัง เขาลบคลิปไป มันก็เสียอรรถรสที่จะรับชม หรือเก็บข้อมูลตรงนั้นมาวิเคราะห์ความต้องการของประชาชนโดยรวม เราเลยคิดว่าเรามาเปิดเพจเองดีกว่า แล้วเราก็มาทำไลฟ์สด โดยยืนยันว่าไม่ได้ลบคลิปออกไป เพราะเรายืนยันสิทธิเสรีภาพของผู้ปราศรัย” แต่ถึงอย่างนั้นโอปอก็บอกว่าเขาเข้าใจว่าสื่อหลายแห่งก็ลงพื้นที่ ลงหน้างาน เก็บข้อมูลจริง แต่อาจจะพิจารณาถึงภาระคดีความ หรือองค์กรในระยะยาวด้วย จึงมีการตัดสินใจลบ หรือไม่เลือกลง
ทั้งโอปอยังบอกกับเราว่า เขายังหวังว่าองค์กรสื่อ จะเสนอข่าวที่เป็นการทำให้ประชาชนมีสำนึกหวงแหนประชาธิปไตย เพื่อสังคมในระยะยาวด้วย
สื่อในปัจจุบันอาจจะนำเสนอเป็นข่าวตบตี ฉกชิง วิ่งราว เพราะเราจะเห็นช่องข่าวมีประเด็นเหล่านี้ หรือความขัดแย้งระดับทั่วๆ ไป แฟนทะเลาะกัน มันก็เป็นข่าวที่ทำให้สังคมได้รับรู้เป็นอุทาหรณ์ แต่มันไม่ได้ยกระดับสังคมที่เกิดขึ้น ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าสังคมเกิดอะไรขึ้น และความตื่นรู้ของประชาชนอยู่ในขั้นไหน ตอนนี้ผมคิดว่าตรงนี้มันจะทำให้ประชาชนมีความรู้ และความคิดทางการเมือง และมันจะนำไปสู่ความรู้สึกหวงแหนประชาธิปไตยด้วย เพราะหากสื่อนำเสนอข่าว ตบตี วิ่งราว มันก็ทำให้คนเป็นอุทาหรณ์เรียนรู้ แต่มันไม่ได้ปักธงทางความคิดต่างๆ ให้กับสังคม เพื่อมุ่งไปสู่ระยะยาว”
พูดถึงการทำงานของโอปอในตอนนี้ สำนักข่าวราษฎรเน้นไปที่การไลฟ์สด และแม้จะมีการเขียนข่าวด้วย เขาก็ทำด้วยตัวคนเดียวทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำงานที่แตกต่างจากสำนักข่าวอื่นๆ โดยตัวคนเดียวของเขาก็จะพยายามไป เท่าที่ไปไหว
“สื่อหลักแบบช่อง 3 5 7 9 เขาอาจจะไม่ได้ไลฟ์สดตลอดเวลา ผมว่าพอเรามาไลฟ์สดมันทำให้คุณภาพของข่าวเป็นข่าวสดอย่างแท้จริง สดจากหน้างาน ทำให้ผู้ชมติดตาม และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่มานั่งดู ส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ด้วย ช่วงข่าวภาคเช้า เที่ยง หรือค่ำ เป็นการสรุปข่าวสั้นๆ นำเสนอสกู๊ปประมาณ 3-5 นาที แค่นั้น ผมว่ามันทำให้อรรถรสในการรับชมข่าว หรือความรู้สึกของผู้ชมดร็อปไป เมื่อเทียบกับไลฟ์สด”
“แต่ถ้าผมไปไหวผมก็ไป ไปไม่ไหวก็อาจจะดูไลฟ์สดช่องอื่นๆ เรียบเรียงข่าวแทน หรืออาจจะทักไปขอภาพข่าวจากเพื่อนๆ ที่รู้จักกันว่ามีรูปไหม ขอยืมรูปซักรูปมาประกอบข่าว แล้วเราก็แลกเปลี่ยนกัน วันไหนเพื่อนไม่ได้ลงพื้นที่ เราก็แลกกับเขา ทั้งในการเขียนข่าว ผมติ๊ต่างว่าตัวเองเรียนเอกภาษาไทยมา และก็เรียนวิชาการเขียนข่าวด้วย เรียนวิชาบรรณาธิการ เลยคิดว่าทักษะตรงนี้ยังมีอยู่ และเราก็อาศัยว่าเคยไปอบรมกับสื่อสำนักนึง เราก็ได้ทักษะมาอีกขั้น”
ในระหว่างก่อนพูดคุยกัน โอปอยังขอเวลาเราเขียนข่าวก่อน และหลังจากคุยกันจบแล้ว เขาก็ยังไปไลฟ์สถานการณ์ชุมนุมต่อที่ดินแดง โดยงานทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นโดยการใช้เพียงโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ซึ่งเขาบอกว่า จากเมื่อก่อนใช้โทรศัพท์เครื่องเดียว ก็มามี 3 เครื่อง แต่ตอนนี้เหลือ 2 เครื่องเพราะพังไปเครื่องนึงแล้ว
การนำเสนอมุมมองที่แตกต่างของสื่อภาคประชาชน
สำนักข่าวราษฎร แม้จะเพิ่งเปิดตัวมาประมาณเพียงแค่ 8-9 เดือน แต่โอปอกลับมีผู้ติดตามที่เหนียวแน่น มีผู้ติดตามไลฟ์หลายพันคนในแต่ละครั้ง และระหว่างที่เราเดินบริเวณดินแดงกับโอปอเอง ยังพบว่ามีประชาชนหลายคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านมา ตะโกนทักทาย พูดคุย และให้กำลังใจโอปอ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเขาเป็นที่จดจำของประชาชน
เราถามโอปอว่า ในเวลาไลฟ์ เขาจะพูด หรือมีวิธีการรางงานแบบเฉพาะตัวยังไงบ้าง ซึ่งเขาก็บอกว่าจะพยายามเล่าเรื่องไม่ให้คนดูเครียดเกินไปด้วย
“อย่างแรก คือก็จะบอกว่าวันนี้มีอะไรที่ไหนอย่างไร แล้วก็ดูบรรยากาศ หากเกิดเหตุขึ้นก็จะบรรยาย เช่นผู้ชุมนุมกำลังขว้างปาสิ่งของ แต่ว่าศัพท์เฉพาะที่ผมมักจะใช้คือคำว่า ‘ทดสอบระบบ’ หรือถ้าทางเจ้าหน้าที่มีการใช้รถเคลื่อนที่เร็ว ผมก็ใช้คำอย่าง ‘คาร์ม็อบ คฝ.’ ก็ทำให้ผู้ชมเอนเตอร์เทนกับข่าวด้วย ไม่เครียดจนเกินไป” โอปอยังบอกว่าเขาสามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่ เป็นหัวหน้างานตัวเอง แต่เราก็รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองรายงาน หากผิดพลาดก็จะรีบแก้ข้อมูลทันที
“เวลาเราลงพื้นที่ไลฟ์สด เราจะได้ทักทายกับคนทางบ้านที่เขาดูอยู่ เราอ่านทุกข้อความที่ส่งมา ตั้งแต่ผมถูกจับกุมไป มีหลังไมค์มาจำนวนมาก ซึ่งผมก็ไม่ได้ตอบ ต้องไล่ตอบ ผมว่าเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ และฐานผู้ชมที่เหนียวแน่น ความเป็นกันเอง ทำให้ผู้ชมคิดว่าเราก็เป็นเพื่อน เป็นคนคนนึงในชีวิตประจำวันของเขา ทำให้ผู้ชมเหนียวแน่นอยู่ หรือถ้าเขาขอเพลงมา เราก็ร้องเพลงนะ แม้เราคิดว่าร้องไม่เพราะ แต่เขาขอมาเราก็ร้อง” โอปอเล่า
แน่นอนว่าการทำงานของโอปอในฐานะนักข่าวพลเมือง สื่อภาคประชาชน แตกต่างจากสื่อหลักที่มีอยู่ โอปอก็บอกว่าเขาเชื่อว่าเขานำเสนอมุมมองอื่นๆ ให้คนได้เห็น ซึ่งก็อาจจะมีข้อดี และข้อเสียด้วย
“ผมว่าสื่อภาคประชาชน จะทำได้เห็นมุมมองอีกหนึ่งมุมมองที่ทำให้การนำเสนอข่าวมีข้อระหว่างบรรทัด หรือข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดเกิดขึ้น อย่างเช่นผู้ชุมนุมที่ดินแดงก็เช่นกัน ส่วนใหญ่เราจะเห็นเขาขว้างปาปิงปอง ระเบิด หรือพลุไฟระหว่างเจ้าหน้าที่ แต่มันมีข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เปิดเผยมันออกมาตรงๆ ไม่ได้มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าว แถลงการณ์ นั่นคือความเดือดร้อนที่เขาออกมาแสดงตัวตน และเขามีสิทธิมีเสียง และเลือกที่จะใช้ยุทธวิธีดังกล่าวในการแสดงออกให้รัฐรับรู้
สิ่งที่ทำให้ผมแตกต่างจากสื่ออื่น อาจจะเป็นการพูดคุยกับชาวบ้านในย่านนั้นๆ การทักทายกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งสื่อกระแสหลักอาจจะวางตัวกลางๆ ไม่ได้ใกล้ชิดผู้ชุมนุม มันเป็นข้อดี และข้อเสียในตัวด้วยสำหรับการทำงานแบบผม ข้อดีคือเราได้ไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวในกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิด เขาอาจจะเปิดเปลือยความคิด ความรู้สึกของเขาเต็มที่ แต่เหรียญมีสองด้าน อีกด้านการที่ใกล้ชิดกับผู้ชุมนุมมากไปก็ทำให้เราอาจจะนำเสนอข่าวที่หลบข้อเท็จจริงบางส่วน เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ชี้เป้า แต่ผมก็พยายามยืนยันในข้อเท็จจริงว่าผมจะรายงานข่าวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหน้างาน ว่าอะไรเกิด หรือไม่เกิดบ้าง”
เสรีภาพสื่อมวลชน การถูกคุกคาม และเหตุการณ์การถูกจับของโอปอ
ในการทำงานข่าวในพื้นที่ปะทะ หรือพื้นที่ที่มีการใช้ปฏิบัตการสลายการชุมนุม หลายครั้งสื่อเองก็โดนลูกหลงเช่นกัน โอปอก็บอกเล่าว่าเขาเองก็เห็นถึงความสำคัญในการมีพื้นที่ปลอดภัยของสื่อในการรายงานข่าว
“เจ้าหน้าที่ตำรวจมักบอกว่าพื้นที่ปลอดภัยคือหลังแนวตำรวจ เขาบอกอย่างนี้เสมอ แต่เราเคยไปอยู่หลังแนว 2-3 ครั้งแล้ว ผมไม่เห็นความเคลื่อนไหวอะไรเลย เห็นแต่เจ้าหน้าที่เข้าแถว และมีผู้ชุมนุมจุดพลุ ขว้างปาสิ่งของมาบ้าง อาจจะปลอดภัยที่สงบ แต่เราไม่เห็นท่าทีของเจ้าหน้าที่เลย ไม่เห็นท่าทีของผู้ชุมนุมเลย เราไม่สามารถรายงานได้อย่างชัดเจน
พื้นที่ปลอดภัยคือที่สามารถทำให้เรารายงานข่าวท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย และเราเป็นประจักษ์พยาน เป็นคนกลางที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงให้สังคมรับรู้ ตอนนี้ยังไม่เห็นความพยายามที่จะทำให้มีพื้นที่ปลอดภัย เห็นแต่ฟุตปาธที่เขามักบอกให้เราอยู่บนนั้น เราก็อยากจะรณรงค์เรื่องพื้นที่ปลอดภัยว่า ให้สื่อได้ทำงาน ไม่ว่าสื่อสำนักไหน ประชาชนก็สามารถตรวจสอบได้”
ทั้งนอกจากพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่มีการรับรองแล้ว เสรีภาพ และการคุกคามสื่อเกิดขึ้นมากในช่วงการชุมนุม โอปอที่เปิดเพจสำนักข่าวใหม่ ก็เล่าว่าเขาเองก็พบเจอการให้ต้องแสดงบัตร ต้องเป็นสื่อมีสังกัดมาตลอด ทั้งล่าสุดที่มีการให้หยุดไลฟ์ ก็เป็นสิ่งชัดเจนว่าสื่อถูกคุกคาม
“การห้ามสื่อไลฟ์สด อย่างดินแดงเป็นกรณีศึกษาได้อย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่เขาเลยไม่อยากให้เห็นประจักษ์พยานที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเขาจะทำดีหรือไม่ดี โดยเฉพาะสื่อที่ไลฟ์สดเป็นการถ่ายทอดแบบสดๆ ทั้งการคุกคามจริงๆ อาจจะเป็นฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ และฝั่งผู้ชุมนุมที่ก็มีการตรวจสอบสื่อ อย่างวันที่ผมโดนจับไป ก็ได้ยินว่ามีสื่อที่โดนประชาชนเข้าไปตรวจสอบ เพราะสื่ออาจจะใช้คำพูดที่รุนแรง ดุดัน ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความไม่สบายใจหากสื่อสำนักนี้รายงาน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นความผิดของผู้สื่อข่าวที่ลงพื้นที่ แต่อาจจะเพราะประวัติของสำนักข่าวนั้นที่ทำให้ส่งมาทำให้ผู้สื่อข่าวภาคสนามโดนไปด้วย”
หลังจากการสั่งให้สื่อหยุดไลฟ์ และออกจากพื้นที่ในเวลาเคอร์ฟิว ในวันต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามจะนิยามสื่อ โดยมีการเรียกถึงสื่อจริง และสื่อปลอม ซึ่งตามมาด้วยการโดนจับของโอปอ ที่ถูกรัฐมองว่าเป็นสื่อปลอม
“เจ้าหน้าที่รัฐเขานิยามผมว่าเป็นผู้ชุมนุมที่แฝงตัวมาเป็นสื่อ ซึ่งผมยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นผู้ชุมนุมจริงผมต้องปาประทัด จุดพลุ ดีดลูกแก้วใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งผมแค่ถือกล้องไลฟ์สด และบรรยายข่าวเท่านั้น ผมก็จะต่อสู้ในชั้นศาลว่าคดีที่เจ้าหน้าที่มอบให้ ผมไม่ได้มีพฤติการณ์แบบนั้น
เจ้าหน้าที่เขามักมองว่าสื่อไลฟ์สด ยูทูบเบอร์ ไม่ใช่สื่อ ผมก็เรียนให้ทราบตามตรงว่า ตอนนี้โลกมันทันสมัยไปมากขึ้นมาแล้ว เจ้าหน้าที่อาจจะตามไม่ทันโลก หรือจงใจตามไม่ทันโลกก็ได้ทำให้การจำกัดสื่อแค่เป็นบริษัทแพร่ภาพ โทรทัศน์ มันมีมากกว่านั้น” ขณะที่ในหมู่สื่อมวลชนด้วยกันเอง โอปอเล่าว่าเขายังไม่เคยโดนอคติอะไร แต่ก็ได้ยินซุบซิบการจัดประเภทว่า นี่ไลฟ์สด นี่สื่อช่องหลัก นี่ออนไลน์พวก The ทั้งหลาย ก็มีการพูดถึงบ้าง
จากการจัดนิยามของเจ้าหน้าที่ ทำให้ไม่เพียงโอปอ และสำนักข่าวราษฎร แต่เรายังเห็นสื่อภาคประชาชนช่องอื่นๆ ที่โดนจับกุม จัดการเช่นกัน ซึ่งโอปอเองก็เล่าว่า เขาพอจะรู้สึกตัวว่าถูกเพ่งเล็ง และเป็นที่รู้จักจากเจ้าหน้าที่เช่นกัน จากการที่หลายๆ ครั้งเขามักจับภาพการใช้ความรุนแรงของตำรวจได้ จนกลายเป็นไวรัล ทั้งเขายังคาดการณ์ว่า ลักษณะการถ่ายทอด ที่เป็นการไลฟ์เหตุการณ์ยาวๆ ยังทำให้เขาโดนจับตาด้วย
“ตำรวจเขาอาจจะรู้ว่ามีสื่อภาคประชาชน และสื่อภาคประชาชนไหนที่มักรายงานข่าวต่อต้านรัฐบาล เขาจะจำแนกตรงนั้นมากกว่า เรามองว่าสื่อสำนักข่าวราษฎรมันก็ไปสอดคล้องที่เป็นชื่อเดียวกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลในตอนนี้ เขาก็หาช่องว่างที่จะจำกัดเรามากกว่า
เราเป็น mobile journalist โทรศัพท์ก็เบา เราก็ใช้จังหวะช่วงที่เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ และผู้ชุมนุมก็หนีอยู่ เอาตัวเข้าไปได้ภาพนั้นมา ภาพนั้นก็จะเรียกว่าบังเอิญก็ได้ อย่างภาพที่ยิงประชาชนบนมอเตอร์ไซค์ระยะประชิดที่ผมอุทานขึ้นมาระหว่างไลฟ์ ผมก็เดินกำลังจะกลับ เขาก็ยิงกระสุนยางใส่ประชาชน พอเขาเห็นเราบันทึกภาพได้ เขาก็เดินมาเช็กเรานะ ว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน ผมก็แสดงตัวตนไป เขาก็บอกให้ไปอยู่หลังแนว แต่ผมก็บอกว่าผมจะกลับบ้านแล้ว เขาเลยยอมให้ไป เราก็ได้ภาพนี้มา
เหตุการณ์นี้ก็ทำให้ ผบช.น.อาจจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายตำรวจคนนั้น ทำให้สำนักข่าวราษฎรเป็นที่รู้จักในแวดวงตำรวจ ทั้งชั้นผู้น้อย และระดับปฏิบัติการบังคับบัญชา รวมถึงสื่อหลากหลายสำนักเขาก็เอาฟุตเทจของเราไปรายงาน ซึ่งผมก็ยินดีที่จะได้นำเสนอ เรายืนยันว่าอย่างน้อยเราเป็นสื่อเล็กๆ ที่สื่อใหญ่ๆ เอาภาพไปเสนอ มันก็ทำให้สังคมได้พิจารณาว่าอะไรถูกอะไรผิด”
“เหตุการณ์จับกุมตัวผม มันยังสะท้อนว่าเขาพยายามจะปิดเกมที่ดินแดงให้เร็วที่สุด เขาจึงมีใบสั่งจับกุมสำนักข่าวราษฎร หรือสำนักข่าวพลเมือง เพราะสื่อนี้ หรือผมเองมักจะถ่ายทอดสดแบบยาวๆ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเขาติดตาม อาจจะเห็นว่ายังไม่จบ ก็ออกมาเพิ่มจำนวนกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ อาจจะเป็นเหตุผลนึงว่าถ้าสื่อไม่ได้กระจายข่าวแบบสดๆ การเข้าร่วมที่ดินแดงก็อาจจะทำให้ลดน้อยลง ผมเชื่อแบบนั้น
โอปอเล่าเรื่องการถูกจับกุมนั้นวันนั้นให้เราฟังต่อ ซึ่งยิ่งย้ำสิ่งที่เขาคิดว่า ถูกเจ้าหน้าที่จับตาว่า “ตอนนั้นถูกจับกุมไป เขาเอาไปท้ายรถกะบะ ตอนแรกเขาเห็นว่าสื่อเยอะ เลยไปที่ตรงปากซอยวิภาวดีขาเข้า หลบกล้องสื่อ เขาก็มีถามว่าสำนักข่าวราษฎรใช่ไหม จะยึดโทรศัพท์ แต่ผมก็บอกว่ารอทนายก่อน เขาก็บอกอย่าเล่นโทรศัพท์ เขาก็มีการถามผมว่ารายงานเขาเป็นยังไง เขาดูทุกวัน ซึ่งพอไปถึงห้องสอบสวน ผมก็แนะนำตัว ว่าชื่อโอปอ หัวหน้าชุดสอบสวนเขาก็บอกผมอีกว่าเขาดูทุกวันเลยนะ แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธินเองก็ฟังวิทยุ วอร์สื่อสารก็ยังมีการพูดชื่อสำนักข่าวราษฎร แปลว่าชื่อสำนักข่าวเราเป็นที่โจทย์จันผ่านทางวอเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจเป็นเพราะเราถ่ายทอดสดยาวๆ มันทำให้สถานการณ์มันต่อเนื่องกัน”
จากการจับกุมในวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา โอปอถูกตั้งข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดเรื่องเวลาเคอร์ฟิว และยังถูกจับมัดด้วยเคเบิลไทด์ที่ข้อมือ รวมถึงไม่มีองค์กรสื่อใดๆ มาช่วยเหลือ
“ตอนแรกผมถูกเชิญตัว และเอาตัวไปดุริยางค์ทหารบก อ้างว่าเอาไปตรวจสอบ ผมก็คิดแค่ว่าเอาไปตรวจสอบเฉยๆ ไม่ได้มีอะไรมาก สุดท้ายหัวหน้า คฝ.บอกว่าคือการจับกุม พาเราไป สน.พหลโยธิน และก็มัดเคเบิลไทด์ที่นั่น เราก็มองว่า เราไม่ได้ทำความผิดขนาดร้ายแรง เราแค่มารายงานข่าว ทำไมต้องใส่เครื่องพันธนาการด้วย ตอนหลังเขาก็ถอดออกหลังสอบสวนเสร็จ เพราะทนายบอกให้ถอด เขาก็ยอมถอด แต่พอจะส่งศาลฝากขัง เขาก็ใส่กุญแจมืออีก ผมก็ร้องเห้ยเลยว่า คดี พรก.ฉุกเฉิน จำเป็นต้องใส่กุญแจมือเลยหรอ เขาก็บอกว่าช่วยหน่วยพี่ ยังไงเดี๋ยวก็ได้ปล่อย ให้ผมใส่ไป”
“อย่างน้อยผมยืนยันในสิทธิในการตรวจสอบรัฐบาล ในการทำให้ประชาชนคนนึงร่วมสังเกตุการณ์การชุมนุมนั่นคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่อยากจะเรียกร้อง ตอนที่ผมโดนจับกุมไป ก็มีพี่แยม ฐปนีย์ รวมถึงยูทูบเบอร์มาให้กำลังใจ ส่วนสมาคมอื่น ผมก็มองว่า เราคงไม่ได้สังกัดเขา เขาก็คงไม่ต้องดูแลหรือเป็นภาระ ทางตำรวจก็ส่งชื่อผม และสำนักข่าวราษฎรไปให้ 6 องค์กรสมาคมสื่อตรวจสอบ เขาก็แทงเรื่องมาว่าไม่ได้เป็นสมาชิก เขาก็อาจจะไม่ได้ดูแลสมาชิกที่เขาไม่ได้สังกัด
ทางสมาคมสื่อ เขาก็อ้างว่าเขากำลังทำเรื่องของสื่อออนไลน์อยู่ ผมก็ไม่รู้ว่าปลายทางในการรับเรื่องสื่อออนไลน์ หรือมีที่พักพิง ที่พึ่งเวลาโดนคุกคาม หรือโดนต่อรองจากรัฐ เราจะไปพึ่งพาใคร สมาคมองค์กรสื่อในตอนนี้ ยังคุ้มครองในส่วนที่เป็นสื่อหลัก หรือออนไลน์ แต่พอเป็นสื่อชาวบ้าน หรือสื่อประชาชนธรรมดา เขาอาจจะรู้ว่ามีเกิดขึ้น แต่ใช้เหตุผลว่ากำลังดำเนินการ เมื่อวานที่ได้คุยกัน (ในไลฟ์รายการมาเถอะจะคุย ของ The MATTER x จอมขวัญ) เขาก็อ้างว่าไม่ได้มีงบประมาณมากนัก บุคลากรไม่เพียงพอ อาจจะทำให้เรื่องดังกล่าวล่าช้าไปบ้าง หรือทรัพยากรจำกัด การเดินเรื่องก็อาจจะไม่ชัดเจน
แต่ถ้าเราไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะสื่อ อย่างน้อยก็ควรได้รับคุ้มครองในฐานะประชาชน ว่ามีสิทธิจะนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และประชาชนก็จะเป็นคนตัดสินใจเองว่า เขาจะเลือกเสพสื่อ ว่าสื่อนี้มีคุณภาพไหม ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ ไม่จำเป็นต้องให้รัฐมากำหนดว่า คนนี้เป็นสื่อ ไม่ใช่สื่อ คนนี้เป็นสื่อปลอม หรือเถื่อน เราไม่ต้องการให้รัฐมาตีตราเรา เราอยากให้ประชาชนเป็นคนรับรองเราดีกว่า” โอปอบอก
เขายังเสริมอีกว่า อย่างน้อยในช่วงที่สื่อถูกคุกคามอย่างมากนี้ ก็ควรมีการขยับในภาพรวมของสื่อ “เช่น การออกแถลงการณ์ ว่าเรามีองค์กรที่จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนได้ และการเข้าไปพูดคุย เจรจา คานอำนาจกับภาครัฐ อย่างเช่นที่เคยมีการพูดคุยกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลเรื่องปลอกแขน มันก็ทำให้ภาครัฐไม่กดสื่ออย่างเดียว แต่ว่าทางสมาคมสื่อก็เป็นตัวคานอำนาจไม่ให้รัฐใช้อำนาจจนกดสิทธิเสรีภาพของประชาชน”
หลังจากโดนคดีมาแล้ว โอปอยอมรับกับเราว่าเขาจะระวังตัวมากขึ้น แต่ก็จะยืนยันว่าจะทำหน้าที่ต่อให้ดีที่สุด แม้ว่าอาจจะมีข้อจำกัดที่ทำให้เขารายงานได้ไม่เหมือนเดิม แต่เป็นปัจจัยที่มาจากภายนอกที่เขาไม่อยากให้เกิดขึ้น
“ก็ระมัดระวังตัวมากขึ้น อย่างเคอร์ฟิวก็ไปทำเรื่องมา ทางเขตก็แนะนำให้ลงทะเบียนผ่านเว็บ เราก็อยู่ได้ถึง 5 ทุ่ม เราก็อยากรู้ว่าถ้าผมโชว์หน้าเว็บให้ตำรวจดู เขาจะทำยังไงกับเรา แต่เราก็ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้ามันมีข้อจำกัดก็เป็นเรื่องปัจจัยภายนอกที่เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น เช่นเคอร์ฟิว มันก็เป็นเหตุที่ทำให้ผมรายงานข่าวได้ไม่จบเหตุการณ์ เราก็รู้สึกผิดอยู่ในใจเหมือนกัน แต่เมื่อมันเกิดเราก็จะรายงานให้ผู้ชมฟังถึงข้อจำกัด และหากวันใดมันไม่มีเคอร์ฟิวแล้ว เราก็คิดว่า เราจะรายงานเหตุการณ์จนยุติ และคลี่คลาย
ละอายใจเหมือนกันในฐานะที่เป็นสื่อแล้ว ไม่ได้รายงานแบบสุดความสามารถของเรา แต่ผู้ชมน่าจะเข้าใจ และหากผมไม่ได้อยู่ในสนามข่าวด้วยข้อจำกัดต่างๆ ผู้ชมก็สามารถติดตามสื่ออื่นๆ ที่เขารายงานต่อไป ที่มีลู่ทาง และบุคลากรที่ทำลายข้อจำกัดที่ผมไม่สามารถทำลายได้”
สุดท้ายนี้ โอปอยังบอกถึงมุมมองอนาคตของสำนักข่าวราษฎรกับเราว่า ถึงแม้ว่าจะเริ่มทำด้วยตัวคนเดียว แต่หวังว่ามันจะเป็นสำนักข่าวที่ได้รับการยอมรับ
“ถ้า COVID-19 คลี่คลาย ก็อยากเปิดให้บุคคลที่ให้ความสนใจมาร่วม อยากได้คนที่สนใจจริงๆ เราหวังว่าในอนาคตสำนักข่าวราษฎรจะเติบโตเหมือนสื่ออื่นๆ ได้ จะได้เป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้างด้วย”