จากการบูมของกลุ่ม ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ในเฟซบุ๊ก ที่มีผู้เข้าร่วมราว 2 แสนบัญชี ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 วัน ก็ได้ทำให้ชาวไทยหลายคน เห็นความแตกต่างระหว่างคุณภาพชีวิตของตัวเองกับคนที่อาศัยอยู่ต่างประเทศชัดเจนมากขึ้น ทำไมกลุ่มนี้ถึงกลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็ว? แล้วทำไมการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของประเทศตัวเองกับประเทศอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ?
ไม่ใช่เพราะไม่เห็นคุณค่าของบ้านเกิดอย่างที่ใครบางคนว่าไว้ แต่เมื่อเราได้เห็นความศิวิไลซ์ของประเทศอื่นๆ แล้วย้อนกลับมาคลี่ดูปัญหาภายในประเทศของตัวเอง (ที่ผ่านมาปีแล้วปีเล่าก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข) ไม่เพียงแต่จะทำให้เรารู้จัก ‘ตั้งคำถาม’ กับคุณภาพชีวิตที่เราได้รับ แต่หลายคนที่ไปต่างประเทศคงจะทราบดีว่า การได้เห็นคุณภาพชีวิตที่คอนทราสต์กันมากๆ จะส่งผลอย่างไรต่อ ‘สภาพจิตใจ’ ของเรา เวลากลับมายังบ้านเกิดตัวเองอีกครั้ง
อยู่ต่อเลยได้มั้ย? เมื่อ ‘บ้าน’ ไม่ใช่บ้านอีกต่อไป
บางครั้ง การไปต่างประเทศก็ไม่ได้แปลว่าเราจะมีความสุขเสมอไป โดยเฉพาะช่วงแรกที่เราบังเอิญได้เห็นการกระทำประหลาดๆ ของคนในท้องถิ่นนั้น จนทำเอาเราเครียด กังวล และปรับตัวได้ยาก ซึ่งเราเรียกกันว่า Culture Shock หรืออาการไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมของประเทศที่เราไป
แต่บางครั้ง การกลับมาบ้านเกิดของตัวเองก็ไม่ได้แปลว่าเราจะมีความสุขเสมอไปเช่นกัน …เอ๊ะ ยังไงนะ? งั้นจะพามารู้จักกับ Reverse Culture Shock / Re-entry Shock หรืออาการไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมของ ‘ประเทศหรือบ้านเกิดตัวเอง’
กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ให้นิยามศัพท์ reverse culture shock ว่าเป็นความผิดปกติด้านจิตใจหรืออารมณ์ ที่เกิดจากการ ‘หวนกลับคืนสู่บ้านเกิด’ ของตัวเอง อธิบายง่ายๆ ก็คือ เป็น ‘ความรู้สึกเชิงลบ’ ทั้งหมดที่เรามี เมื่อกลับจากการไปท่องเที่ยวหรืออาศัยอยู่ในต่างเทศประเทศเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งประเทศนั้นช่างสวยงาม สะอาด สะดวกสบาย และปลอดภัยซะเหลือเกิน และเมื่อกลับมายังประเทศหรือบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาเดิมๆ คุณภาพชีวิตเดิมๆ การบริหารประเทศแบบเดิมๆ โดยรัฐบาลชุดเดิมๆ จึงทำให้เรารู้สึกหดหู่ ไม่มีความสุข
ความรู้สึกของเราที่มีต่อ ‘บ้าน’ จึงไม่เหมือนเดิม เพราะคำว่าบ้านประกอบไปด้วยความรู้สึก ความสัมพันธ์ กิจวัตรประจำวัน และการตอบสนองในรูปแบบที่คุ้นเคย แต่เมื่อเราออกไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศสักพักหนึ่ง ได้เจอความสัมพันธ์แบบใหม่ มีกิจวัตรประจำวันแบบใหม่ ซึ่ง ‘น่าสนใจ’ ทีเดียว ระหว่างนั้นมุมมอง ความคิด ทัศนคติ หรือการรับรู้ของเราก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เมื่อกลับมายังบ้านเกิดของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง บ้านเกิดที่ต่างไปจากสิ่งที่เราคิดในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง เราจึงรู้สึกว่าบ้านหลังนี้ไม่ได้ตอบสนอง ในแง่ของความอบอุ่นและความเข้าใจอีกต่อไปแล้ว
ยกตัวอย่าง ‘นักเรียนแลกเปลี่ยน’ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่ประสบอาการนี้บ่อยๆ และจากการสำรวจก็พบว่า 70% ของพวกเขา เผชิญกับอาการ reverse culture shock หลังกลับมาบ้านของตัวเอง เพราะการไปเรียนต่างประเทศ เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่พวกเขาจะได้พบกับ ‘อิสระ’ ที่มากมายขนาดนี้ การได้ใช้ชีวิตตัวคนเดียว ตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง ใช้จ่ายเงินโดยไม่ต้องปรึกษาผู้ปกครองก่อน มีไลฟ์สไตล์ที่สนุกสนาน ได้เรียนในโรงเรียนมีกิจกรรมน่าสนใจหลายอย่าง แต่เมื่อกลับมายังบ้านเกิดและโรงเรียนที่มีกฎระเบียบเข้มงวด ไม่เอื้อต่อการค้นหาความชอบของตัวเอง พวกเขาจึงเกิดความเศร้า ความหดหู่ และความรู้สึกที่ไม่น่าพึงพอใจหลายอย่าง
อะไรกันครับเนี่ย? ไม่เห็นเหมือนตอนอยู่ที่ลาสฯ เลย
แค่ล้อเครื่องบินแตะพื้น ก็น้ำตารื้นนิดๆ คิดถึงประเทศที่เพิ่งจากมาได้ไม่กี่ชั่วโมง แม้จะตื่นเต้นที่ได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน แต่เมื่อรื้อข้าวของออกจากกระเป๋า ก็เกิดความรู้สึกโหวงแปลกๆ สับสนกับสภาพแวดล้อมตรงหน้าไปหมด นี่ฉันกลับมาทำอะไร? พอนานวันเข้าก็อับเฉา ไม่อยากออกไปไหน เพราะรู้สึกว่าอะไรๆ ก็น่าเบื่อไปหมด
ก็แหงล่ะ พอได้ไปท่องเที่ยวหรืออาศัยในประเทศที่ถนนเรียบกว่าผ้า บ้านเมืองเป็นระเบียบ ผู้คนเคารพกฎหมาย ดื่มน้ำจากก๊อกได้ ป้ายรถเมล์สภาพดี ขนส่งมวลชนราคาสมเหตุสมผล ข้างทางไม่มีขยะเหม็นเน่า แม้เดินในที่เปลี่ยวก็รู้สึกปลอดภัย การกลับมาเผชิญหน้ากับสภาพความเป็นจริงที่ตรงกันข้าม ย่อมเป็นอะไรที่ยากและลำบากเสมอ
ใครที่เคยไปอาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน เคยสังเกตความรู้สึกเหล่านี้เวลาที่ได้กลับมาบ้านเกิดบ้างหรือเปล่า? จริงๆ เราอาจจะคิดว่าเป็นแค่ความคิดถึงเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าการกลับมาใช้ชีวิตในเกิดไม่ราบรื่นเท่าเมื่อก่อนแล้ว นี่อาจจะเป็นปัญหาที่น่ากังวลก็ได้ งั้นเรามาลองเช็กลิสต์ให้เห็นชัดๆ ไปตามๆ กัน ว่าเรามีแนวโน้มที่จะเป็น reverse culture shock หรือเปล่า?
- รู้สึกเบื่อ ไม่สนุก ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นหรือท้าทายอีกต่อไปในบ้านเกิดของตัวเอง
- รู้สึกแปลกแยก ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับบ้านเกิดหรือผู้คนที่บ้านเกิดอีกต่อไป เพราะไม่รู้จะเล่าอะไรให้ใครฟัง คิดว่าเล่าไปก็ไม่มีใครเข้าใจความรู้สึก
- ใช้ชีวิตในประเทศของตัวเองลำบากขึ้น รู้สึกหงุดหงิดหลายๆ อย่างในประเทศของตัวเอง เช่น การจราจร กฎหมาย หรือวัฒนธรรมบางอย่าง พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงเป็นแบบประเทศอื่นๆ ไม่ได้
- หวาดระแวงผู้คนในสังคม กลัวว่าจะมีคนเข้ามาทำอันตราย เนื่องจากประเทศที่ไปมามีความปลอดภัยมากกว่านี้
- เกิดอาการคิดถึงบ้าน (homesick) ที่ไม่ใช่บ้านเกิดแท้ของตัวเอง แต่เป็นบ้านในเคยอาศัยในต่างประเทศ คิดถึงการใช้ชีวิตและสถานที่ในตอนนั้น
- เริ่มวิพากษ์วิจารณ์และเปรียบเทียบประเทศของตัวเองในเชิงลบ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยทำ
“การไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมบ้านเกิดตัวเอง เกิดขึ้นเมื่อเรากลับไปยังสถานที่ที่คิดว่าเป็นบ้าน แต่เอาเข้าจริงเรากลับไม่ได้รู้สึกว่านั่นเป็นบ้านของเราอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนมาก และจัดการได้ยากกว่า culture shock แบบปกติ” ดีน ฟอสเตอร์ (Dean Foster) ผู้ก่อตั้งและประธาน DFA Intercultural Global Solutions กล่าว
อาการไม่คุ้นชินหรือไม่อยากกลับประเทศบ้านเกิดตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม หรือคิดว่าเป็นเพียงแค่ความเบื่อหรือความเหงาเฉยๆ เพราะจริงๆ อาการนี้สามารถกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในระยะยาวได้ หากปล่อยทิ้งไว้นาน เช่น ทำให้สื่อสารกับผู้อื่นยากขึ้น เนื่องจากไม่มีใครเข้าใจอาการดังกล่าวดีเท่าเรา ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอยู่ในจุดที่น่ากังวลตามมา
หรือหนักๆ เลยก็อาจจะเกิดการต่อต้านวัฒนธรรมในบ้านเกิด และไม่ยินดีที่จะปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมที่เผชิญอยู่ เพราะการไปอาศัยอยู่ต่างประเทศนานๆ อาจทำให้เราค้นพบ ‘ตัวตนใหม่’ และพอได้กลับมาบ้าน เราจึงสับสนระหว่างตัวตนใหม่กับสภาพแวดล้อมเดิม จึงเริ่มสงสัยในตัวเอง (self-doubt) ว่าเรามาทำอะไรที่นี่? ที่นี่ไม่เหมาะสมกับเราหรือเปล่า? และเอาแต่เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากพบปะใคร และไม่อยากออกไปไหนสักเท่าไหร่ จึงไม่แปลกหาก reverse culture shock จะนำไปสู่ภาวะเครียด ภาวะวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าได้
คิดถึงจัง แต่ยังกลับไปไม่ได้ ทำยังไงดี?
ว่าด้วยสถานการณ์ตอนนี้ แม้จะมีเงินหรือเวลามากมายขนาดไหน แต่ก็ยังกลับไปประเทศนั้นไม่ได้อยู่ดี ทำให้เราได้แค่นั่งดูรูปเก่าๆ หยิบของที่ระลึกมาดูบ้างบางครั้ง แชร์ โพสต์เมื่อปีที่แล้วที่แจ้งเตือนขึ้นมา อะไรพวกนี้ก็ให้ความรู้สึกเหมือนได้กลับไปเหยียบที่แห่งนั้นอีกครั้งได้เหมือนกันนะ
…แต่มันจะสู้การกลับไปจริงๆ ได้ยังไงกันเล่า!
ก่อนจิตจะฟุ้งซ่านและพยายามหาวิธีวาร์ปแบบในภาพยนตร์เรื่อง Jumper ซึ่งแน่นอนว่า (ยัง) ไม่สามารถทำได้ในปัจจุบัน จริงๆ ก็พอจะมีวิธีที่ทำให้อาการเฉานี้เพลาลงไปได้บ้าง แม้กายหยาบจะยังคงอยู่ที่ประเทศอันแสนน่าเบื่อนี้ก็ตาม
ติดต่อกับผู้คนที่นั่นอยู่เรื่อยๆ หลายคนได้เจอเพื่อนที่ดี สนุกสนาน และจริงใจในประเทศที่ไปมา และเกิดความผูกพันบางอย่างที่แม้แต่คนที่บ้านเกิดตัวเองก็ให้ไม่ได้ เมื่อกลับมาจากประเทศนั้น จึงรู้สึกราวกับใจสลาย ที่ต้องอยู่ไกลจากคนเหล่านั้นไปคนละทวีป แต่ความคิดถึงที่ว่านี้ก็สามารถชดเชยได้ด้วยการติดต่อพูดคุยกันอยู่เรื่อยๆ เพราะการพูดคุยจะทำให้รู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไป นอกจากนี้ยังทำให้เราไม่หลงลืมภาษาที่ได้เรียนรู้มาอีกด้วย และขอบคุณเทคโนโลยีสมัยนี้ที่ทำให้มันไม่ใช่เรื่องยากขนาดนั้น
พยายามหากิจวัตรที่ใกล้เคียงมาทดแทน หลายคนมีโอกาสได้ทำกิจกรรมแปลกใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งนั่นก็ได้สร้างประสบการณ์อันน่าจดจำ แม้จะกลับมายังบ้านเกิดแล้วก็ตาม อีกวิธีที่จะช่วยให้ reverse culture shock ไม่ร้ายแรงเกินไป และทำให้การใช้ชีวิตในบ้านเกิดไม่น่าเบื่อมากนัก ก็คือการหากิจกรรมเหล่านั้นทำอีกคร้ัง อาจจะไม่เหมือนที่นั่นทั้งหมด แต่ก็พยายามให้ใกล้เคียงที่สุด เพื่อช่วยดึงความสุขความสนุกสนานอย่างในตอนนั้นกลับมาอีกครั้ง และที่สำคัญพยายามทำกิจกรรมที่ได้ใช้ภาษาต่างประเทศอยู่สม่ำเสมอ เพื่อที่การไปต่างประเทศมานั้นจะได้ไม่สูญเปล่า
สำรวจบ้านเกิดตัวเอง การอุดอู้อยู่แต่ในบ้านหลังกลับจากต่างประเทศ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด reverse culture shock ได้มากที่สุด เพราะช่วงเวลานั้นจะเต็มไปด้วยความเหงา ความอ้างว้าง ต่างจากที่ที่เพิ่งกลับมา ซึ่งมีแต่ความตื่นเต้นรออยู่ทุกหัวมุมถนน เพราะฉะนั้น ขุดตัวเองขึ้นมาให้ได้ และออกไปข้างนอก ไปเจอเพื่อน ไปร้านกาแฟ หรือออกไปสำรวจสถานที่ในบ้านเกิดตัวเอง เชื่อสิว่าจะต้องมีสักที่ที่รอให้เราไปค้นพบอยู่แน่นอน
ระวังเรื่องการเปรียบเทียบ ไม่แปลกที่จะเกิดการเปรียบเทียบขึ้น เมื่อเราได้มีโอกาสออกสำรวจโลกกว้าง หรือได้เห็นคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศอื่นๆ มากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสัมผัสถึงประสบการณ์ที่เราไปสัมผัสมา เขาอาจจะไม่เข้าใจว่าเราพูดถึงอะไร หรือวิพากษ์สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของตัวเองทำไม เพราะที่ผ่านมาพวกเขาก็อยู่ได้ สบายมาก จึงอาจจะต้องระวังและเตือนตัวเองเสมอว่าทุกคนไม่ได้คิดเห็นเช่นเดียวกับเราเสมอไป พวกเขาไม่อาจเข้าใจอาการ reverse culture shock ของเราได้ทั้งหมด
หรือ ลองพูดคุยกับคนที่เข้าใจ เช่น คนที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศเหมือนกัน เพราะเขาน่าจะเข้าใจอาการนี้ได้เป็นอย่างดี และทำให้เรารู้สึกไม่แปลกแยกขนาดนั้น และไม่จำเป็นจะต้องกดดันตัวเองมากนัก อาจเป็นคนในสังคมออนไลน์ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ได้ ถือโอกาสรู้จักผู้คนใหม่ๆ ไปด้วยเลย
ค่อยๆ ให้เวลาตัวเองในการปรับตัว เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะทำใจอยู่ในสภาพสังคมแบบนี้ หรือมีคุณภาพชีวิตที่คอนทราสต์กับประเทศที่ไปมาอย่างเห็นได้ชัด แม้สุดท้ายความรู้สึกเหล่านี้ก็คงจะไม่หายไปทั้งหมด จนกว่าเราจะได้ออกเดินทางอีกครั้ง แต่อย่างน้อยๆ วิธีเหล่านี้ก็ทำให้เราเริ่มกลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมได้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นจะต้องทิ้งความสุขหรือความทรงจำที่ได้มาจากการไปต่างประเทศแม้แต่นิด
ส่วนใครที่คิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ รบกวนจิตใจจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ การพบแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อพูดคุย ก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้จัดการกับความคิด ความรู้สึกข้างในใจได้เหมือนกันนะ
เพราะสถานการณ์ในประเทศช่วงนี้ ทั้งโรคระบาด ทั้งการรับมือของรัฐบาล คงทำให้ใครหลายคนเกิดอาการ reverse culture shock กันใหญ่ ส่วนตัวขอแนะนำว่าระหว่างที่รอประเทศเปิดอยู่นี้ พยายามอดออมเท่าที่ไหว เตรียม bank statement ของตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อที่ว่าสถานการณ์ดีขึ้นเมื่อไหร่ เราจะได้รีบหนีไป เอ้ย ได้กลับไปเที่ยวที่นั่นสักที …ว่าแล้วก็ขอตัวไปเก็บข้อมูลในกรุ๊ปเฟซบุ๊กต่อก่อนนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก