ที่หอคอยแห่งลอนดอน ปราการเก่าของอังกฤษมีตำนานเก่าแก่เล่าว่า หากหาคอยแห่งนี้ร้างซึ่งอีกาแล้วนั้น แผ่นดินอังกฤษและป้อมอันสำคัญริมแม่น้ำเทมส์จะถึงกาลสิ้นสลาย ด้วยความเชื่อดังกล่าว อีกาแห่งหอคอยลอนดอนจึงมีสถานะเป็น ‘อีกาหลวง’ (royal raven) มีประเพณีการแต่งตั้งและเลี้ยงดูให้หอคอยนั้นเป็นที่อาศัย เพื่อให้หอคอยยังมีอีกาหลวงคอยปกปักรักษาในฐานะผู้พิทักษ์แผ่นดินให้มีความสถิตสถาวรสืบไป ไม่มีอันเป็นไปตามคำทำนาย
ตามปกติแล้ว การดูแลอีกาหลวงถือเป็นกิจการที่ค่อนข้างเข้มงวดกวดขัน คืออังกฤษก็ค่อนข้างเคร่ดครัดกับธรรมเนียมเรื่องการมีอีกาหลวงในฐานะผู้ปกป้องแผ่นดิน ในหอคอยจึงมีตำแหน่ง ‘ราเวนมาสเตอร์’ (Ravenmaster) เป็นผู้ดูแลกา และมีการเลี้ยงกาหลวงไว้เพื่อไม่ให้หอคอยว่าง
เมื่อปีที่แล้วมีรายงานว่าหอคอยมีกาหลวงอย่างน้อยหกตัว แต่เหตุน่าวิตกคือกาหลวงตัวหนึ่งได้หายไปจากหอคอยและรายงานว่ากาสำคัญนั้นได้ตายไปแล้ว
หลังจากข่าวครึกโครมว่าหนึ่งในกาสำคัญหายไป ทางหอคอยแห่งลอนดอนก็เลยทำการคัดเลือกลูกกาใหม่ขึ้นคู่หนึ่ง—เป็นตัวผู้และตัวเมียอย่างละตัว ตัวผู้ทางหอคอยตั้งชื่อให้เอง และเปิดโหวตให้สาธารชนช่วยเลือกชื่อของลูกกาเพศเมีย ล่าสุดลูกกาก็ได้ชื่อว่า Branwen ตามชื่อของเทวีอันเป็นราชินีของเหล่าอีกาตามความเชื่อของชาวเคลต์ (Celtic) ร่วมกับอีกาเพศผู้ที่ชื่อ Edgar ตั้งชื่อตาม เอดการ์ แอลลัน โพ (Edgar Allan Poe) กวีคนสำคัญของอังกฤษ
ตำนานเรื่องอีกาแห่งหอคอยลอนดอนเป็นตำนานที่ฟังแล้วแสนจะคุ้นเคยโดยเฉพาะแฟนๆ Game of Thrones เรื่องราวมีรากฐานเดียวกันกับวัฒนธรรมของอังกฤษและยุคกลาง ซึ่งผู้ดูแลอีกานั้นก็ไม่ธรรมดา คือ ต้องเป็นทหารหลวง นอกจากความน่าสนใจของการรักษาประเพณีแล้ว อีกากับลอนดอนนั้นยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับพื้นที่เมืองและอาณาจักร อีกาแห่งลอนดอนเคยมีปัญหากับนักดาราศาสตร์ และเคยลดจำนวนลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จน วินสตัน เชอร์ชิล ต้องสั่งให้ดูแลเป็นพิเศษ หรือกระทั่งการหายไปของอีกาเมื่อต้นปีก็เป็นผลจากโรคระบาดที่ทำให้หอคอยร้างคนอยู่ตอนนี้
หอคอยและราชวงศ์จะล่มสลาย ตำนานอีกาผู้พิทักษ์แผ่นดินอังกฤษ
ถือว่าแปลกและเก๋ดี คือปกติเรามักนึกถึงอีกาเป็นตัวแทนของลางร้าย และเวลาเรานึกภาพพวกหอคอย บ้านร้างถ้ามีอีกาก็ทำให้พื้นที่นั้นดูน่าสยดสยองและอบอวลไปด้วยความตาย แง่นึงก็อาจจะใช่เพราะอีกาเป็นสัตว์กินซาก เรามักเห็นภาพกาอยู่ในสนามรบ อาจจะด้วยสี ด้วยหน้าตา ทำให้กาไปสัมพันธ์กับความตายไปโดยปริยาย—ทั้งๆ ที่พวกมันเป็นสัตว์มีสติปัญญาสูงและกวนประสาทเป็นอันดับต้นๆ ในอาณาจักรสัตว์
สำหรับหอคอยแห่งลอนดอนเองก็เช่นกัน คือ ที่หอคอยนั้นมีบางพื้นที่ที่ใช้เป็นลานประหาร และโดยทั่วไปอีกาก็มักจะอยู่ตามหอคอยที่เป็นหอสูงๆ อยู่แล้ว ในการประหารสำคัญๆ ก็มักมีการพูดถึงกาเหล่านี้ ไม่ว่าจะมีพฤติการณ์ประหลาดเช่นในการประหาร แอนน์ โบลีน ชายาและราชินีคนที่สองอันเป็นที่รักยิ่งของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 ที่ทำให้กษัตริย์อังกฤษหย่าร้างได้ มีการอธิบายว่าแม้แต่กาแห่งหอคอยนั้นก็เกาะคอนและเฝ้ามองการประหารอย่างสงบเงียบผิดวิสัยสัตว์ หรือในบางการประหารก็อธิบายว่าอีกาเหล่านี้ทำให้ศพดูน่าสยดสยองด้วยการร่วมลงโทษต่อ เช่น ทึ้งหัว จิกลูกตาจนเละเทะ
ตำนานของอังกฤษสัมพันธ์ทั้งกับนิทานพื้นบ้านและความเชื่อของชาวเคลต์ อีกาถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้พิทักษ์ซึ่งก็เป็นรากฐานความเชื่อในการรักษาอีกาแห่งหอคอยลอนดอนไว้ ทีนี้ตำนานปรัมปรามีมากมาย แต่ที่ค่อนข้างชัดเจนจนทำให้หอคอยลอนดอนต้องเริ่มเลี้ยงกามีบันทึกว่าเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ครองราชสมบัติแผ่นดินอังกฤษราวกลางศตวรรษที่ 17 คือแถวๆ ปี ค.ศ.1660
ในรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ถือเป็นห้วงสมัยที่มีความน่าสนใจ คือเป็นยุครอยต่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เป็นยุคที่เกิดการเฟื่องฟูของวิทยาศาสตร์และวิทยาการ ทีนี้ กระทั่งประเพณีการเลี้ยงกาหลวงและรักษากาไว้ในหอคอยแห่งลอนดอนก็เกิดจากการปะทะกันของความเชื่อเดิมกับศาสตร์ใหม่คือดาราศาสตร์
ข้อพิพาทเกิดขึ้นในหอคอยแห่งลอนดอน ในสมัยนั้นที่หอคอยสีขาว (White Tower) ในหอคอยลอนดอนถูกใช้เป็นหอดูดาวเพื่อการศึกษาค้นคว้าของนักดาราศาสตร์ ตอนนั้น จอห์น เฟลมสตีด (John Flamsteed) นักดาราศาสตร์และพระสหายก็ไปทูลพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองว่าอีกาของหอคอยลอนดอนบินผ่านหอคอยและกล้องดูดาว รบกวนการศึกษายิ่งนัก ส่วนทางพระเจ้าชาร์ลส์ทรงได้รับคำแนะนำว่า อีกาเหล่านี้ถ้าหากถูกฆ่าหรือขับไล่ไปจากหอคอย ภัยใหญ่หลวงจะมาเยือนแผ่นดิน หอคอยสีขาว ราชวงศ์และแผ่นดินจะพังพินาศ
ทางพระเจ้าชาร์ลส์ก็รับฟังคำแนะนำและยึดถือตามนั้น และทรงรับสั่งให้รักษาดูแลอีกาแห่งหอคอยเอาไว้ แต่ต่อมาดูเหมือนว่าทางพระเจ้าชาร์ลส์เห็นแก่ความรุดหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็เลยหาทางประนีประนอมคือมีรับสั่งว่า ให้รักษาอีกาแห่งหอคอยไว้อย่างน้อย 6 ตัว เพื่อป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดกับประเทศ—จริงๆ ตรงนี้ก็เป็นตำนานซึ่งก็มีหลายเวอร์ขั่น บ้างก็ว่าพระเจ้าชาร์ลส์นี่แหละที่เกลียดอีกาและอยากจะไล่ แต่พระสหายนักดาราศาสตร์เป็นคนทูลว่าการฆ่าอีกาจะพาความซวยมาให้ แค่กันออกจากหอคอยนี้เอาไปเลี้ยงไว้ก็พอ บ้างก็บอกว่าปัญหาเรื่องกาในหอคอยทำให้ทรงย้ายกิจการดาราศาสตร์และหอดูดาวไปที่กรีนิช (Greenwich) ส่วนกาก็ให้อยู่ที่หอคอยลอนดอนเหมือนเดิม
กาหลวงที่หอคอยลอนดอนมีที่มาไม่แน่ชัด ส่วนใหญ่เป็นตำนาน แต่ก็ถือว่าเป็นธรรมเนียมที่ยืนยงและอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันเพื่อรักษาสวัสดิภาพของแผ่นดินไว้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เอง แน่นอนว่าหอคอยลอนเป็นเป้าของการทิ้งระเบิด ในช่วงนั้นมีรายงานว่ากาหลวงที่เลี้ยงไว้เกือบจะหมดไปจากภัยสงคราม บ้างก็ตายจากแรงระเบิดหรือความเครียด จนกาที่ควรจะมี 6 ตัวตามกำหนดก็เหลือแค่ 2 ตัว ผลคือ วินสตัน เชอร์ชิล ต้องสั่งการให้หาอีกามาเลี้ยงดูให้ครบตามราชประเพณี
ชีวิตอีกาหลวง—และตำแหน่งผู้ดูแลที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้
ด้วยโจทย์สำคัญตั้งแต่โบราณคือการให้กาอยู่คู่หอคอยและคอยดูแลดินแดนต่อไป โดยต้องมีกาอย่างน้อย 6 ตัว ก็เลยเริ่มมีการเลี้ยงกาหลวงขึ้นโดยปัจจุบันจะมีกาอีกาทั้งหมด 7 ตัว คือมีเผื่อไว้ 1 ตัว ชีวิตของกาหลวงก็ค่อนข้างสุขสบาย คือกาจะถูกปล่อยให้เป็นอิสระในกำแพงและอยู่ในพื้นที่สนามหญ้าทางทิศใต้เป็นหลัก ในช่วงแรกยุคพระเจ้าชาร์ลส์ส่วนหนึ่งอาจเพื่อจำกัดพื้นที่กา เจ้ากาหลวงก็ต้องแลกอิสรภาพคือกล่าวว่าถูกขลิบปีกเพื่อให้ไม่สามารถบินพ้นกำแพงได้ ปัจจุบันทางเว็บไซต์ของหอคอยแห่งลอนดอนระบุว่าผู้ดูแลกาหลวงจะเล็มขนทั้งสองชั้นของกาเพื่อไม่ให้พวกมันบินได้สูงจนเกินไป
ชีวิตประจำวันของกาหลวง ในตอนกลางวันจะถูกปล่อยอิสระในพื้นที่หอคอยลอนดอน อีกาจะได้รับอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์เป็นเนื้อสัตว์ราว 6 ออนซ์ ซึ่งอาจเป็นลูกไก่ หนู กระต่าย และมีของว่างพิเศษแบบอังกฤษๆ คือบิสกิตแช่ในเลือดสดๆ
เมื่อมีกาหลวงแล้วก็ต้องมีตำแหน่งผู้ดูอีกา ภาษาไทยไม่เท่เท่าไหร่ แต่ตำแน่งราเวนมาสเตอร์ถือเป็นตำแหน่งสำคัญ และไม่ใช่ว่าใครไก่กาที่ไหนก็มาเลี้ยงกาอันสำคัญต่อประเทศนี้ได้ อย่างน้อยที่สุดตำแหน่งผู้ดูแลกานี้ต้องได้รับคัดเลือก โดยคนที่จะมารับตำแหน่งต้องเป็น Yeoman Warder หรือเป็นราชองค์รักษ์ผู้ดูแลราชบัลลังก์และหอคอยแห่งลอนดอน
เวรี่ยุคกลาง โดยปัจจุบันการจะมาเป็นกองราชองค์รักษ์หรือ Yeoman Warder ได้ ด้วยชื่อ Warden เนอะก็ต้องเคยรับราชการทหารมาก่อน มีข้อกำหนดว่าต้องรับราชการทหารอย่างน้อย 22 ปี มีความประพฤติดีเยี่ยม และมียศเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรเป็นอย่างน้อย หลังจากได้รับคัดเลือกแล้ว (บางครั้งให้อีกาช่วยเลือก) กระบวนการก็ยุคกลางมากคือต้องไปฝึกกับมาสเตอร์คนก่อนสักห้าปีก่อนจะสืบทอดตำแหน่งต่อไป
ปัจจุบันทั้งกองราชองค์รักษ์แห่งหอคอยลอนดอนและอีกาหลวงต่างรับหน้าที่นำเที่ยวและเป็นไอคอนประจำหอคอยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของลอนดอน
อนึ่ง หลังจากสมัยสงครามโลกครั้งทื่ 2 ที่อีกาหลวงเกิดภัยและหมิ่นเหม่จะหมดไป ในภาวะโควิด ด้วยความที่ตัวหอคอยได้ผันสถานะไปเป็นแหล่งท่องเที่ยว เหตุที่อีกาชื่อ Merlina หายไปตั้งแต่คริสต์มาสปลายปีที่แล้วจนประกาศว่าสาบสูญและอาจตายไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากการลดลงของนักท่องเที่ยว และความซบเซาของการท่องเที่ยวที่กระทบถึงผู้พิทักษ์ดินแดนด้วย
อีกาทั้ง 9 อัพเดตผู้พิทักษ์ปัจจุบันแห่งหอคอยลอนดอน
แม้แต่อีกาหลวงก็ได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์และโรคระบาด ชาวอังกฤษค่อนข้างจริงจังกับตำนานและการดูแลอีกาหลวง เมื่อช่วงต้นปีมีข่าวใหญ่ที่ลงแทบทุกสื่อของอังกฤษและสื่อต่างชาติเองก็สนใจ Merlina หายไปในช่วงก่อนที่ล็อกดาวน์จากภาวะโรคระบาด ผู้ดูแลคนปัจจุบันบอกว่าปกติแล้วอีกาหลวงจะคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เต็มหอคอยแห่งลอนดอน ความว่างร้างผู้คนในหอคอยที่เหลือเพียงผู้ดูแลอีกาและนายทหารองครักษ์ก็ทำให้นกไม่ชินกับสถานการณ์
ในตอนที่ Merlina หายตัวไป ตอนนั้นมีอีกาหลวงทั้งหมด 8 ตัว หายไปหนึ่งตัวคงเหลือ 7 ทางหอคอยแห่งลอนดอนก็สื่อสารว่าเนี่ยยังมีครบตามคำนายนะ ไม่ต้องกังวล คือต้องเหลืออย่างน้อยหกตัว ทางหอคอยแห่งลอนดอนก็มีการเตรียมตัวเพื่อให้มีอีกาเสมอ ในช่วงปี ค.ศ.2019 มีโครงการเพาะลูกกาของหอคอยเอง หลังจากที่ Merlina หายไปตัว อีกาในหอคอยก็ออกไข่พอดี
ลูกกาใหม่นั้นเป็นลูกกาของอีกาชื่อ Huginn และ Muninn อีกาของหอคอยที่ถูกนำมาเลี้ยงในช่วงปลายปี ค.ศ.2018 กาคู่ที่ตั้งชื่อตามเทพปรณัมนอร์ส คือ อีกาผู้เป็นหูเป็นตาบนบ่าซ้ายและขวาของโอดิน ลูกกาเกิดใหม่ในหอคอยไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่มีลูกกาเกิดใหม่
ลูกกาใหม่ก็เลยถือเป็นลางดี เพราะได้สมาชิกใหม่จากอีกาเดิมหายไปได้ราวสองเดือน ทางหอคอยแห่งลอนดอนก็เลยคัดเลือกลูกกาขึ้นสองตัวเพื่อนับเป็นสมาชิกอีกาหลวงทดแทนอีกาที่หายไป โดยทางหอคอยได้ตั้งชื่อให้ลูกกาเพศผู้ว่า Edgar ตามชื่อ เอดการ์ แอลลัน โพ (Edgar Allan Poe) กวีและนักเขียนแนวโกธิกเจ้าของบทกวีชื่อ The Raven บทกวีสำคัญที่นักเรียนวรรณกรรมน่าจะเคยได้อ่านกันบ้าง
ทีนี้ ลูกกาเพศเมีย ทางหอคอยแห่งลอนดอนก็เปิดให้สาธารณะชนโหวตนามอันเป็นมงคลในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาซึ่งจะเป็นกิจกรรมสำคัญ คือ การเปิดตัวสมาชิกใหม่ต้อนรับการกลับมาเปิดบริการของหอคอยในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ.2021 ผลของการโหวตชื่อคือมหาชนชาวอังกฤษเลือกชื่อ Branwen อันเป็นชื่อของราชินีแห่งอีกาในตำนานเคลติก ความหมายของชื่อหมายถึงอีกาศักดิ์สิทธิ์หรือ Blessed Raven
สำหรับชื่อที่ทางหอคอยส่งเข้าประกวดให้โหวตอีก 4 ชื่อ ก็มีความน่าสนใจ ประกอบด้วย Florence ตั้งตาม ฟรอเลนซ์ ไนติงเกล พยาบาลระดับตำนานและตั้งเป็นเกียรติแก่หน่วยงาน NHS Nightingale หน่วยงานสุขภาพที่กำลังทำงานจัดการโรคระบาดในช่วงโควิด Matilda ตั้งตามราชีนีในสมัยกลางของอังกฤษ Bronte ตั้งตามนักเขียนพี่น้องบรองเต Winifred ตั้งตามเคาต์เตสคนหนึ่งที่ช่วยสามีให้หนีออกจากหอคอยแห่งลอนดอนได้ด้วยการแต่งหญิง
ปัจจุบันอีกาใหม่ทั้งสองก็จะเข้าร่วมทีมกับอีกาหลวงชุดปัจจุบัน คือ Jubilee, Harris, Gripp, Rocky, Erin, Poppy และ Georgie รวมลูกกาใหม่ อังกฤษก็จะมีผู้พิทักษ์หอคอยทั้งสิ้น 9 ตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก