เก๋ไก๋ไปสามโลกยิ่งกว่าโมเดลธุรกิจใดๆ เมื่อท่านสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังบอกว่าไทยเราจะเป็น ‘เห็บสยาม’ ใครจะเป็นเสือ เป็นหมีขาว เป็นสิงโต อะไรไป เราไม่สนใจ เราจะเกาะไปดูดระบบเศรษฐกิจอันนั้น พอวงจรเศรษฐกิจอื่นทรุด เราก็ป่องเลือดและพร้อมจะหาเจ้าบ้านใหม่ๆ ให้เราไปเกาะกินต่อไป
คิดต่าง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ยิ่งนัก
ทำเรื่องซับซ้อนให้เป็นตัวตน
เรามีการใช้สิ่งต่างๆ มาเป็นสัญลักษณ์แทนอะไรที่มันอธิบายยาก เป็นนามธรรม เพื่อสร้างบางอย่างร่วมกันเรียกว่า personification เช่น สมัยก่อนเราบอกว่าเราจะเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเซีย เติ้งเสี่ยวผิงเองก็เคยบอกว่าแมวสีอะไรก็จับหนูได้ ไอ้เรื่องยากๆ ซับซ้อนอย่างเรื่องระบบการเมืองการปกครอง จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ พอทำให้มันมีตัวตนซะ เราก็เข้าใจมันง่ายขึ้น จากที่เป็นนามธรรมก็จับต้องได้มากขึ้น
ประเทศหรือชาติ เอาเข้าจริงก็เป็นนามธรรมในระดับหนึ่ง สิ่งหนึ่งมนุษย์ทำเพื่ออธิบายคือหาสัญลักษณ์ต่างๆ ขึ้นมาแทน อย่างประเทศมีเราก็ทำตัวตนขึ้นมาแบบลุงแซม หรือที่มีแทบทุกประเทศคือสร้างสัตว์สัญลักษณ์ขึ้นเป็นตัวแทนว่า นี่ประเทศของฉันเป็นแบบนี้นะ อย่างอังกฤษก็ใช้สิงโตเนื่องจากเป็นตัวแทนของความกล้าหาญ ใช้มาตั้งแต่สมัยกลางยุคพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ บ้านเราก็ใช้ช้างเพราะเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง ออกศึกสงคราม จีนก็มังกรตามความเชื่อเรื่องโอรสสวรรค์ รัสเซียก็หมีขาวเข้ากับความอึดและสภาพภูมิอากาศ
ต่อไปนี้ถ้าเราอยากจะเป็นเห็บ มาดูกันว่า ในบรรดาสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศต่างๆ เขาแทนประเทศของเขาเป็นสัตว์อะไรบ้าง เพราะอะไร เลือกๆ ไว้ วันไหนสยามเป็นเห็บขึ้นมาจะได้ไปเกาะทัน
Beaver (Canada)
บีเวอร์? ฟังดูก็เป็นสัตว์น่ารักๆ อยู่ในน้ำ หากินเวลากลางคืน ความเจ๋งของบีเวอร์คือการที่มันสามารถสร้างเขื่อนได้ แต่ดูแล้วมันก็ไม่เห็นเท่ขนาดที่จะเอามาเป็นสัตว์ประจำชาติเท่าไหร่ แต่ว่าเจ้าบีเวอร์ตัวกลม น่ารักและก็ขยันขันแข็งนี่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของแคนาดาอยู่มาก โดยเฉพาะการเป็นสินค้าหลักในการค้าขายขนสัตว์ เพราะหลักๆ แล้วที่ชาวยุโรปเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาที่แคนาดาคือมาล่าเจ้าบีเวอร์นี่แหละ ตอนหลังทางแคนาดาเลยให้เกียรติเจ้าตัวเล็กที่ถูกสังหารและถลกหนังว่า พวกเพื่อนตัวจิ๋วพวกนี้ก็เป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติเรา ถ้าไม่มีพวกแก ก็ไม่มีแคนาดาในวันนี้ เอ้า สถาปนาให้เป็นสัตว์ประจำชาติซะเล้ย
อ้อ แต่ดูท่าทางแล้ว เจ้าบีเวอร์อยู่ในน้ำ เห็บอย่างเราอาจจะไปเกาะลำบากนิดนึง อาจจะต้องใส่ชุดประดาน้ำตามลงไปเกาะ
Dodo (Mauritius)
นกโดโด้เป็นนกยักษ์ตัวเบ้อเร่อ ตัวโข่งๆ บินก็ไม่ได้ แถมสูญพันธุ์ไปตั้งนานแล้ว แต่ด้วยความที่พบในประเทศ Mauritius ประเทศเกาะทางตะวันออกของมาดาร์กัสก้าในทะเลอินเดีย ตรงนี้เองที่ประเทศเล็กๆ นี้ภูมิใจว่า เออ ไอ้นกที่มันหายไปจากโลกนี้แล้วมันเคยอยู่ในแผ่นดินของเรานะ เอ้า เอามาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเราหน่อย
ถ้าเราอยากไปดูดเจ้านกโดโด้ คงต้องนั่งไทม์แมชชีนไปเนอะ
Harpy Eagle (Panama)
เหยี่ยวฮาร์ปี้ เป็นนกนักล่าที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรงและดุร้ายที่สุดเท่าที่พบในทวีปอเมริกา แถมดูหน้าตาของมันสุดแสนจะเท่อย่างกับหลุดออกมาจากหนังแฟนตาซีซักเรื่อง เจ้าสัตว์ปีกขนาดยักษ์ระดับอสุรกายนี้เลยได้ชื่อตาม ‘ฮาร์ปี้’ นกปีศาจสัตว์ในตำนานตะวันตกที่มีหน้าเป็นคน ตัวเป็นนก คอยล่ามนุษย์กินเป็นอาหาร เจ้าเหยี่ยวฮาร์ปี้นี่ก็อยู่ในป่าและล่าลิงกินเป็นอาหารเหมือนกัน เท่ โหดสัส แข็งแกร่งที่สุดบนฟากฟ้าขนาดนี้ ประเทศปานามาเลยเอามาตั้งเป็นสัตว์ประจำชาติซะเลย
ดูจากจงอยปากแล้ว ถ้าเห็บสยามอย่างเราไปเกาะ ไม่รู้จะดูดเลือดเฮียเขาได้นานแค่ไหน
Hedgehog, Rabbit and Wood Mouse (Monaco)
ที่ไหนๆ สัตว์ประจำชาติก็ต้องยิ่งใหญ่ ทรงพลัง ดุดัน เป็นตำนาน ประเทศเท่ๆ อย่างโมนาโค ที่มีชื่อเสียงจากคาสิโนและการแข่งรถกรังด์ปรีซ์ (grand prix) สัตว์ประจำชาติก็ต้องเท่ระดับม้าพยศของเฟอรารี่หรือกระทิงเถื่อนของลัมโบกินี่ แต่สัตว์ประจำชาติของโมนาโคกลับเป็นสิ่งมีชีวิตฟรุ้งฟริ้งจากจตุจักรการ์เด้น คือ เม่น กระต่าย และหนู ซึ่งสัตว์ทั้งสามเป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปในยุโรป ทางโมนาโคเองก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไม แต่อาจจะรู้สึกว่า ที่อื่นเขาอลังการก็ทำไป ของเรามาสาย zen สายธรรมดา ธรรมชาติๆ เรียบง่าย
เห็บสยามเห็นแล้ว น่ารักแบบนี้ก็หวานหมูเลย แต่ด้วยความน่ารักระดับพุ่งใส่ตา ก็อย่าไปดูดเลือดเลยจะดีกว่า
Markhor (Pakistan)
Markour (Capra falconeri) เป็นสัตว์ในตระกูลแพะ ร่อนเร่พเนจรอยู่ตามป่าในแถบเทือกเขาหิมาลัย หน้าตาของมันดูเท่เหมือนกับผู้ทรงภูมิที่ปลีกวิเวกอยู่ตามภูเขาแสนไกล ชื่อของเจ้าแพะมาจากเปอร์เซียที่แปลว่ากินงู ทั้งๆ ที่พวกมันก็กินหญ้าเหมือนกับใบไม้เหมือนสัตว์เคี้ยวเอื้องทั่วๆ ไปนั่นแหละ แต่ชื่อเท่ๆ ของมันก็น่าจะมาจากเขาที่โง้งขดเป็นวงเหมือนกับงูที่ขดตัวอยู่
Takin (Phutan)
ทักสิน เอ้ย ! ทาคิน เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศภูฏาน หน้าตาเหมือนแพะแต่ไม่มีเครา แต่ตัวโตเท่าวัว มักพบในป่าไผ่ ปัจจุบันหายากและเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ด้วยความที่ดูเป็นสัตว์ลูกผสม เลยมีตำนานเล่าว่าไอ้เจ้าทาคินเป็นสัตว์ที่ลามะชื่อดรุกปก คุนเลย์ ชุบชีวิตขึ้นมาจากกระโหลกแพะและโครงกระดูกวัว ในรัชสมัยพระเจ้าจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก กษัตริย์พระองค์ก่อนได้มีรับสั่งให้ปล่อยสัตว์ในสวนสัตว์กรุงทิมพูกลับเข้าป่า แต่เจ้าพวกทาคินคงจะชินกับเมืองเลยไม่เข้าป่า แต่มาเตร็ดเตร่ๆ อยู่ในเมืองแทน สุดท้าย สวนสัตว์ก็ต้องเปลี่ยนกลับมาเป็นศูนย์อนุรักษ์ทาคินแทน