ทุบ
ไม่ทุบ
ทุบ
ไม่ทุบ
ทุบ
ไม่ทุบ
หลายปีแล้วที่ลมหายใจของ ‘โรงภาพยนตร์สกาลา’ เต็มไปด้วยความคลุมเครือ เมื่อมีข่าวว่าใกล้หมดสัญญาเช่าพื้นที่ และสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (ในฐานะเจ้าของพื้นที่) จะนำพื้นที่มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ซึ่งหนึ่งในความเป็นไปได้อาจหมายถึงการทุบของเก่าแล้วสร้างของใหม่ เสียงคัดค้านของคนจำนวนมากก็ดังขึ้น เมื่อกระแสกระจายเป็นวงกว้าง ผู้บริหารสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ยุติเสียงคัดค้านด้วยการปฏิเสธกระแสข่าว และต่อสัญญาระยะสั้นออกไป (โดยใส่เงื่อนไขการขึ้นค่าเช่าเข้าไปด้วย)
ถ้าคุณพิมพ์คำว่า ‘ทุบสกาลา’ ในเว็บไซต์กูเกิล คุณจะพบข่าวที่เนื้อหาคล้ายเดิมวนเวียนมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยมีคำยืนยันจากผู้เกี่ยวข้องเลยว่า เมื่อสัญญาเช่าพื้นที่สิ้นสุดลงและผู้เช่าไม่ต่อสัญญา สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ จะไม่ทุบโรงภาพยนตร์อายุเกือบครึ่งศตวรรษ และท่ามกลางเสียงจากหลายคนที่มองว่าโรงภาพยนตร์แห่งนี้คือประวัติศาสตร์ คือคุณค่าทางวัฒนธรรม ผู้บริหารก็ไม่เคยพูดถึงแผนการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแห่งนี้ในระยะยาวเลย
ด้วยเหตุที่โรงภาพยนตร์สกาลาและลิโดจะหมดสัญญากลางปี 2561 ความคลุมเครือจึงกลับมาอีกครั้ง
เราจึงขอใช้พื้นที่นี้สำรวจ ‘โรงภาพยนตร์สกาลา’ อาคารที่มีเอกลักษณ์และความโดดเด่นท่ามกลางศูนย์การค้าสมัยใหม่ย่านสยามแสควร์ ก่อนที่วันข้างหน้าต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลง และอาจเหลือเพียงความทรงจำ
สกาลาในความทรงจำ
จากความทรงจำของคนดูหนังมือสมัครเล่น (ที่นานๆ จะดูในโรงสักครั้ง) ผมประทับใจ ‘โรงภาพยนตร์สกาลา’ ในหลายเรื่อง เมื่อเดินทางไปถึง สิ่งที่พบคืออาคารขนาดใหญ่ บันไดหินอ่อน แสงไฟสลัว และบรรยากาศโดยรวมที่ถูกออกแบบมาเพื่อดูหนังโดยเฉพาะ เมื่ออยู่หน้าเคาน์เตอร์จองตั๋ว สิ่งที่พบคือกระดาษสีขาวแผ่นใหญ่ปรากฏผังที่นั่ง บางส่วนมีรอยปากกาขีดไว้ บางส่วนยังเว้นพื้นที่สีขาว เมื่อระบุที่นั่งกับเจ้าหน้าที่ เขาจะใช้ปากกาในมือขีดจองที่กระดาษแผ่นใหญ่ และเขียนเลขที่นั่งบนตั๋วด้วยลายมือค่อนข้างหวัด
นอกจากอาคารและวิธีการจองตั๋วที่มีเอกลักษณ์ สิ่งที่ทำให้โรงภาพยนตร์แห่งนี้เป็นขวัญใจคนงบน้อยอย่างผม คือราคาของตั๋วชมภาพยนตร์ที่จ่ายได้โดยไม่ลังเลนัก
ขณะที่ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร Bioscope และ Documentary Club เธอเรียนมัธยมปลายที่เตรียมอุดมศึกษา และเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยที่เรียนห่างจาก ‘ย่านสยาม’ ไม่ไกลนัก ชีวิตช่วงวัยรุ่นของเธอจึงวนเวียนกับโรงภาพยนตร์ทั้งสาม คือ สยาม ลิโด และสกาลา อย่างเป็นปกติ เมื่อทำงานเป็นสื่อมวลชนด้านภาพยนตร์ หลายครั้งที่หนังรอบสื่อจัดขึ้นที่สกาลาและโรงภาพยนตร์ในย่านนี้
“ตอนเราเริ่มดูหนังใหม่ๆ สมัยนั้นยังไม่มีโรงมัลติเพล็กซ์ เราโตมากับการดูหนังที่โรงสแตนด์อโลน เช่น ควีน คิง แกรนด์ ม.ปลาย เรียนเตรียมฯ แล้วก็เรียนจุฬา ชีวิตวนเวียนอยู่กับสยาม ลิโด สกาลา เพราะราคาเป็นมิตร แล้วยังไม่มีทางเลือกอื่นด้วย ความแตกต่างชัดๆ คือสกาลาเป็นโรงขนาดใหญ่ การดูหนังในที่ที่ใหญ่มากๆ คนเยอะ จะมีอารมณ์ร่วมเป็นพิเศษ ตอนนั้นดู Schindler’s List รอบเช้า คนต่อคิวเยอะมาก พอหนังจบ จำได้ว่าคนลุกขึ้นปรบมือในโรงขนาดแปดร้อยที่ เป็นความทรงจำที่มีต่อสกาลา”
“พอเริ่มทำ Bioscope หนังรอบสื่อมักจัดแถวนี้ ชีวิตวนเวียนแถวสยาม ดูหนัง กินดันกิ้น เบอร์เกอร์คิง นอกจากหนังรอบสื่อ เราไม่ค่อยดูหนังในโรงมัลติเพล็กซ์เท่าไร รู้สึกว่าโรงสแตนด์อโลนวางตัวเองเป็นโรงหนังจริงๆ ไปที่นั่นเพื่อดูหนัง ศุกร์นี้ไปทั้งครอบครัว เช้าวันเสาร์นัดเพื่อนไปดู แล้วมีกิจกรรมอื่นตามมาด้วย ยืนดูโปสเตอร์ อ่านโชว์การ์ด ดูเสร็จไปกินข้าวต่อแล้วนั่งคุยเรื่องหนัง เมื่อก่อนเราไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกการตลาดกระตุ้นมาก ไม่ต้องเร่งมาดู ไม่ต้องรีบออกเพราะหนังเรื่องใหม่จะฉายแล้ว หรือโฆษณาก่อนหนังไม่ได้เยอะมหาศาลแบบนี้ มันเป็นการไปดูหนังจริงๆ ถ้าเป็นโรงมัลติเพล็กซ์ เราซื้อตั๋ว ดูหนังเสร็จ ออกมาเจอเพลง ก็บั่นทอนประสบการณ์ดูหนังไปเหมือนกัน”
ณัฐกร เวียงอินทร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ GM Live และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ เล่าว่า เนื่องจากเป็นเด็กต่างจังหวัด จุดเริ่มต้นที่รู้จักโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ (ลิโด สกาลา สยาม) เกิดขึ้นเมื่อปี 2545 ช่วงเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงที่โรงภาพยนตร์เครือนี้ให้พื้นที่กับหนังทางเลือกมากเป็นพิเศษ
“ในฐานะคนชอบดูหนัง การฉายหนังแบบที่โรงมัลติเพล็กซ์ไม่ได้ให้พื้นที่มากนัก เป็นเรื่องดีสำหรับคนต้องการความหลากหลาย และด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ผมเลยรักที่นี่มากๆ เรียกได้ว่าความทรงจำดีๆ บรรจุอยู่มากมายในพื้นที่หนังทั้งสามโรง ผมเคยนัดเพื่อนฝูงมาดูภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด ที่โรงหนังสยาม แล้วออกมางงกันว่าหนังต้องการบอกอะไร เคยเนียนชวนสาวมาดูหนังเกาหลีอย่าง My Girl and I เพื่อมาพบว่าบางอย่างในหนังกระทบใจจนเธอร้องไห้อย่างหมดอายในครึ่งหลังของหนัง เคยดู Be With You ในช่วงฤดูฝน แล้วไม่อยากให้ฝนหยุดตกเหมือนกับความปรารถนาของตัวละครในหนัง เคยมีคนที่ตัวเองแอบชอบโทรมาหลังหนังจบเพื่อบอกว่าไปดู Always ให้ได้นะ มันดีมากๆ ฯลฯ
“เหล่านี้คือวันชื่นคืนสุขกับบุคคลและโรงหนังสกาลา รวมถึงบรรยากาศรอบข้าง อย่างลุงสูทเหลืองหน้าโรง โอเปอเรเตอร์อารมณ์ดีที่บอกรอบฉายแบบเล่นมุขพันล้าน ป้าอรร้านกาแฟข้างลิโดที่สนิทกันจนเหมือนญาติผู้ใหญ่ หรือแม้แต่พี่หนึ่งคนดูแลร้านหนังสือการ์ตูนชั้นล่างลิโด ทุกวันนี้ก็ยังไลน์มาหาเพื่ออัพเดตการ์ตูนออกใหม่เสมอ”
“สำหรับผม บางที ลิโด สกาลา อาจจะไม่ใช่เรื่องสถานที่ แต่เป็นเรื่องผู้คนรายรอบเราที่ทำให้คิดถึงบรรยากาศดีๆ ของที่นั่น”
สำหรับคนยุคหลังๆ คำว่า ‘มัลติเพล็กซ์’ กับ ‘สแตนด์อโลน’ อาจเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยนัก หรือต่อให้อ่านข้อมูลจนรับรู้ความหมายและเข้าใจความแตกต่าง ก็ไม่ง่ายที่จะรู้สึกร่วมได้เท่าคนที่ผ่านประสบการณ์มาเอง ทุกวันนี้หากต้องการดูภาพยนตร์สักเรื่อง ก็ง่ายดายเพียงเดินทางไปยังศูนย์การค้าใกล้บ้าน หรือหากไม่อยากออกจากบ้านก็ยังดูได้จากสมาร์ททีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเลต หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ (ทั้งแบบถูกต้องและละเมิดสิขสิทธิ์) วิถีในการดูภาพยนตร์จึงเปลี่ยนเป็นว่า เรื่องนี้จะ ‘ดูในโรง’ หรือ ‘ดูในจอ’
ไม่กี่วันก่อนหมดปี 2560 ผมเดินทางไปสยามแสควร์ในบ่ายวันนั้น
สภาพแวดล้อมโดยรอบของโรงภาพยนตร์สกาลาเต็มไปด้วยตึกแถวเบียดแน่น ภายในร้านต่างๆ บรรจุอาหารและสินค้าหลากหลายแบรนด์ เดินเข้าไปใกล้กับสกาลา บรรยากาศชั้นล่างค่อนข้างเงียบเหงา สีแดงสดของภัตตาคารสกาลาที่ลือชื่อเรื่องเป็ดปักกิ่ง ออฟฟิศเล็กๆ ของสวนนงนุช (เจ้าของสัญญาเช่าที่จะหมดลงกลางปี 2561) มีหญิงสูงวัยนั่งกดเครื่องคิดเลขอยู่เงียบๆ วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งยืนพูดคุยคล้ายกำลังรอเพื่อน เมื่อเดินขึ้นบันไดไปชั้นบน โรงภาพยนตร์ขนาด 876 ที่นั่งกำลังฉายเรื่อง The Greatest Showman ทำให้บรรยากาศด้านหน้าค่อนข้างเงียบเหงาเช่นกัน
รู้ทั้งรู้ว่าความเงียบเหงาอาจเป็นบุคลิกอย่างหนึ่งของโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ แต่ก็อดเปรียบเทียบไม่ได้ เมื่อวันเดียวกันนั้น ผมเดินทางไปดูภาพยนตร์สารคดีที่เซ็นทรัลเวิลด์ สิ่งที่เห็นบริเวณเคาน์เตอร์จองตั๋วคือคนจำนวนมากกำลังต่อคิว มีป้ายโปรโมชั่นประจำค่ายโทรศัพท์และบัตรเครดิตวางเรียงเป็นแถวยาวเหยียด อีกทั้งกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้ชมได้ร่วมสนุกก็คึกคัก (และวุ่นวายมาก!)
ภายใต้คำว่าการพัฒนา การอนุรักษ์โดยโอบกอดอดีตอย่างหวงแหนอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก แม้การเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมที่มิอาจปฏิเสธ แต่สิ่งที่ควรใคร่ครวญคือ ถ้าจะเปลี่ยน เราควรเปลี่ยนตัวเองเป็นแบบไหน
คุณค่าทางสถาปัตยกรรม
โรงภาพยนตร์สกาลา เขียนแบบโดย พันเอกจิระ ศิลป์กนก ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ 21 ธันวาคม 2512 ฉายภาพยนตร์เรื่อง The Underfeated หรือชื่อไทยคือ ‘สองสิงห์ตะลุยศึก’ เป็นเรื่องแรก
ภายในโรงประดับลวดลายศิลปะ Art Deco เอกลักษณ์คือเสาและฝ้าเพดานสีทอง พร้อมทั้งแขวนแชนเดอเลียขนาดใหญ่ หากนำภาพวันแรกๆ ที่อาคารสร้างเสร็จมาเทียบกับปัจจุบัน สภาพภายนอกและภายในถือว่าเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ทั้งที่ผ่านวันเวลามาเกือบครึ่งศตวรรษ คุณค่าที่คงเดิมของสถาปัตยกรรม ทำให้โรงภาพยนตร์แห่งนี้เคยได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย
เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ฟิลลิป แจ็บลอน (Philip Jablon) เจ้าของเพจ ‘The Southeast Asia Movie Theater Project’ ชายหนุ่มผู้ตระเวนถ่ายภาพโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนมาเกือบสามร้อยแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารอะเดย์ไว้ว่า
“ถ้าพูดถึงความสวยงาม สกาลายังเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แน่นอน มันใหญ่ สภาพดี สถาปัตยกรรมสวยงาม น่าชื่นชม ทุกคนที่มาที่นี่เขาก็คงคิดเหมือนกัน ไม่เคยได้ยินคนบอกว่าไม่ชอบ ทุกคนรักสกาลา ชาวต่างชาติทุกคนที่ผมพามาที่นี่เขาร้อง ว้าว แล้วบอกว่าสวยมาก ชอบมาก มีคนอเมริกันเจอที่นี่แล้วเขาบอกผมว่านี่เป็นสถานที่ที่เขาชอบมากที่สุดในกรุงเทพฯ ถ้าวันหนึ่งสกาลาถูกทุบทิ้ง พม่าจะมีโรงหนังสแตนด์อโลนที่สวยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
แม้ว่าคลุกคลีอยู่ในแวดวงภาพยนตร์มาตลอด แต่ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ไม่ได้ยืนกรานว่าโรงภาพยนตร์ต้องอยู่ต่อไปเท่านั้น แต่เธอยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับโรงสแตนด์อโลนแห่งนี้ สิ่งที่เธออยากเห็นมากกว่า คือการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเอาไว้
“ตัวเองไม่ได้ผูกพันในเชิงว่า ที่นี่เป็นโรงหนังและควรเป็นโรงหนังตลอดไป เขา (เครือบริษัท เอเพ็กซ์ ภาพยนตร์ จำกัด) อาจมีข้อจำกัดเรื่องสัญญา หรือด้วยสภาพเศรษฐกิจ เลยไม่ได้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ปัจจุบันโรงหนังก็ถูกปล่อยทิ้งนะ พอคนมีทางเลือกมากขึ้น ก็ยากที่จะกลับไปดูที่โรงนั้นอย่างเป็นปกติ ยกเว้นว่าเงินน้อย หรือฉายหนังที่หาดูที่อื่นไม่ได้ เราเสียดายสกาลาในเชิงสถาปัตยกรรม อาคารมันสวย สวยกว่าหลายๆ โรงที่โดนทุบไปแล้ว แล้วยังรักษาสภาพไว้ค่อนข้างดี”
ทางด้าน พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ กรรมการบริหารบริษัท สาธรยูนีค จำกัด และอาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ก็มองโรงภาพยนตร์สกาลามากกว่าแค่พื้นที่ใจกลางเมืองที่มีมูลค่าสูง เพราะเรื่องราวที่บรรจุอยู่ในอาคารอายุครึ่งศตวรรษมีคุณค่ามากกว่านั้น แต่ขณะเดียวกัน การเป็นพื้นที่ทรงคุณค่าก็ไม่จำเป็นต้องยากจนเสมอไป เพราะหากบริหารจัดการอย่างเข้าใจ พื้นที่วัฒนธรรมสามารถสร้างมูลค่าได้ด้วย ดังเห็นได้จากตัวอย่างในต่างประเทศมากมาย
“เราชอบมองกำไรจากปริมาณพื้นที่ ถ้าพื้นที่ของสกาลาสร้างตึกสูงๆ แล้วได้พื้นที่เยอะ กำไรก็เยอะ ถ้าคุณไปดูในต่างประเทศ ตึกเก่าสามารถสร้างกำไรได้ด้วย ไม่ต้องสูงก็ได้ ซิดนีย์โอเปร่าเฮ้าส์กลายเป็นไอคอนของเมืองซิดนีย์ สร้างกำไรให้ทั้งเมือง ไม่ใช่แค่ค่าตั๋วดูโอเปร่า พอคนมาเที่ยว มาถ่ายรูปเซลฟี่ โรงแรมและร้านอาหารแถวนั้นได้เงินไปด้วย ตอนผมเรียนอยู่มิชิแกน โบสถ์แห่งหนึ่งขุดไปใต้ดินแล้วทำห้องสมุด พอใครมาก็มักถ่ายรูป”
“ถ้าคิดว่าจะก่อสร้างกี่ตารางเมตรให้ได้กำไร แบบนี้ใครก็คิดได้ ขณะที่ผู้บริหารสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ควรคิดอะไรที่ล้ำและทรงคุณค่า คุณค่านี่แหละเงิน ผู้บริหารจุฬาฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่าวัดพระแก้วเท่านั้นที่มีคุณค่า มันไม่ใช่ วัดพระแก้วเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดเลย นักท่องเที่ยวไปวัดพระแก้วจำนวนมาก ผมมองว่าถ้าจัดการได้ดี วันนึงสกาลาก็เป็นน้องๆ วัดพระแก้ว ถ้ามหาวิทยาลัยทำอะไรแบบนี้ได้ มันจะเป็นที่กล่าวขาน คุณทำให้สมกับการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยสิ”
“การมีสถาปัตยกรรมเก่าอยู่ในย่านสมัยใหม่ จะส่งผลยังไงกับพื้นที่” ผมสงสัย
“มันคอนทราสต์ ความเก่ามี 2 แบบนะ คือ เก่าทรุดโทรมต้องทุบทิ้ง กับเก่าที่เก็บประวัติศาสตร์ไว้ เราสามารถบอกเล่าเรื่องราวผ่านสถาปัตยกรรมได้ โอเค มันไม่ได้เก่าขนาดยุคสุโขทัย แต่มันมีเรื่องเล่า พอคนผ่านเดินช็อปปิ้ง สมัยนี้ต้องถ่ายรูป ก็เป็นเหมือนการสื่อสาร ต่อไปจะเป็นส่วนสำคัญของย่านได้ ในต่างประเทศพยายามจะหาสิ่งเหล่านี้มาบอกนักท่องเที่ยว แต่บ้านเราไม่คิด นี่คือความต่าง บ้านเราถึงเป็นประเทศกำลังพัฒนาตลอด แต่ไม่พัฒนาสักที เพราะทัศนคติเป็นแบบนี้ไง”
เป็นความคิดของสถาปนิกเจ้าของผลงานหนังสือ ‘การเมืองเรื่องสยามสแควร์’ ผู้เติบโตในย่านสยามสแควร์มาตั้งแต่เด็ก เพราะผู้เป็นพ่อ (รังสรรค์ ต่อสุวรรณ) มีสำนักงานในย่านนี้
อนาคตของสกาลา
ปลายปี 2560 มีสเตตัสเฟซบุ๊กอันหนึ่งถูกแชร์จนกลายเป็นกระแส เนื้อหาว่าด้วยสัญญาเช่าพื้นที่ของโรงภาพยนตร์สกาลาและลิโดกำลังจะหมดสัญญาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
เสียงคัดค้านดังสวนขึ้นทันที ตามด้วยสเตตัสว่าด้วยประสบการณ์ส่วนตัวต่อโรงภาพยนตร์สกาลา พร้อมแฮชแท็คว่า #SaveScala #SavingThaiModernArchitecture
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก หลายปีมานี้มีเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เดือนมิถุนายน 2559 เคยมีการรณรงค์แสดงความคิดเห็นให้เก็บโรงภาพยนตร์สกาลาเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรม และแหล่งอ้างอิงของแผ่นดิน ครั้งนั้นมีผู้สนับสนุนทั้งหมด 16,028 คน หรือย้อนไปยังปี 2555 ก็เคยมีบทความและบทสัมภาษณ์ที่คนมีชื่อเสียงจากแวดวงต่างๆ พูดในประเด็นเดียวกัน
หลังจากโรงภาพยนตร์สยามเกิดไฟไหม้ เหตุผลสำคัญที่โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนทั้ง ‘สกาลา’ และ ‘ลิโด’ ซบเซาอย่างต่อเนื่อง เกิดจากค่าเช่าพื้นที่ที่ดีดตัวสูงขึ้น และพฤติกรรมการบริโภคภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไป จนรายได้หลักๆ มาจากค่าเช่าพื้นที่ของร้านค้าเล็กๆ
สกาลา และลิโด เป็นโรงภาพยนตร์ในเครือบริษัท เอเพ็กซ์ ภาพยนตร์ จำกัด ปัจจุบันบริหารงานโดยคุณนันทา ตันสัจจา วัย 71 ลูกสาวของนายพิสิฐ ตันสัจจา โดยก่อนหน้านี้มีนางนงนุช ตันสัจจา ซึ่งเป็นเจ้าของสวนนงนุช พัทยา ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2558 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ข้อมูลการเงินจากบริษัทเอเพ็กซ์ ตั้งแต่ปี 2553-2557 ผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันมาแล้ว 5 ปี
ขึ้นปีใหม่ 2561 แนวโน้มตามข่าวอาจลงเอยที่การไม่ต่อสัญญาของเจ้าเดิม เพราะแบกรับค่าเช่าที่สูงขึ้นไม่ไหว จนกลายเป็นกระแสอีกครั้งว่า ภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ของสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ โรงภาพยนตร์สกาลาอาจต้องถูกทุบหรือไม่ ซึ่งล่าสุด สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ชี้แจงผ่านเพจ CU Property เมื่อ 31 ธันวาคม 2560 ไว้ว่า
ตามที่มีกระแสข่าวและการแลกเปลี่ยนในพื้นที่ออนไลน์เกี่ยวกับกรณีที่สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ จะทำการขอคืนพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลาและมีการคาดเดาไปว่าจะรื้อทุบปรับปรุงเป็นโครงการสมัยใหม่ตามกระแสนิยมนั้น
ฝ่ายบริหารสำนักงานฯ ขอถือโอกาสในวาระปีใหม่ที่จะถึงนี้ ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อให้เป็นที่เข้าใจตรงกันมา ณ ที่นี้
1. สำนักงานยังไม่มีแผนการรื้อทุบใดๆ ทั้งสิ้น และยืนยันว่า เราไม่มีความประสงค์ที่จะขอคืนพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลาแต่อย่างใด เรายังคงอยากให้ผู้เช่าประกอบการในส่วนอาคารสกาลาทั้งหมดต่อไปจนกว่าเวลาเหมาะสม แต่หากผู้เช่ายังยืนยันในเจตนาที่จะเลิกประกอบการสกาลาพร้อมๆ ไปกับลิโด (เป็นผู้ประกอบการรายเดียวกัน) เนื่องจากแบกรับการขาดทุนไม่ไหว ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ได้มีการเจรจาขอให้สกาลาอยู่ต่อไป แต่ขอให้คืนเฉพาะลิโด เนื่องจากปัจจุบันสภาพพื้นที่โดยรวมของร้านค้าใต้ลิโดที่แบ่งล็อคให้เช่าเป็นร้านค้ารายย่อยมีสภาพเก่าทรุดโทรมมาก ขาดการปรับปรุงและบำรุงรักษาที่ดี ทำให้มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย จึงจะขอกลับมาพัฒนาพื้นที่เองเมื่อสัญญาสิ้นสุด
2. ทางสำนักงานฯ กำลังหารูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสมกับสกาลา ที่ผ่านมาทางนายกสมาคมสถาปนิกสยามได้แสดงความสนใจที่จะขอใช้พื้นที่สกาลาเป็นพื้นที่แสดงกิจกรรมของสมาคม และยังมีองค์กรอื่นที่สนใจ ตลอดจนอีกหลายฝ่ายที่ให้ความเห็นอยากให้อนุรักษ์อาคารสกาลาไว้เพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนโรงภาพยนตร์ในการจัดกิจกรรมต่างๆในเชิงสร้างสรรค์และสอดคล้องกับอาคารที่เป็นอยู่
3. ตามข้อเท็จจริงแล้ว สัญญาเช่าของลิโดเป็นสัญญายอมความที่ผ่อนผันให้ดำเนินธุรกิจถึง 31 ธ.ค. 2559 เท่านั้น แต่สำนักงานได้ผ่อนปรนให้อยู่ต่อเนื่องมาตลอดปี 2560 ผู้เช่ามีความประสงค์ที่จะขอคืนพื้นที่ลิโด สิ้นเดือนพฤษภาคม และขอเวลาขนย้ายถึงสิ้นเดือน กรกฎาคม 2561 ซึ่งจะขอยุติการเช่าของสกาลาไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ผู้เช่าจะขอฉายภาพยนตร์แบบฟิล์มที่รวบรวมจากนานาประเทศ (International Film Festival ) ในเดือนเมษายน 2561 และ ภาพยนตร์เงียบ (Silent film festival in Thailand) ในเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งผู้เช่าได้รับสิทธิในการเป็นผู้ฉายภาพยนตร์ดังกล่าว อันเป็นความภาคภูมิใจที่สำนักงานรู้สึกยินดีและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ขยายระยะเวลาเช่าให้สิ้นสุดลงหลังจากมหกรรมการฉายภาพยนตร์ทั้งสองช่วงเสร็จสิ้นลง พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือผ่อนปรนค่าเช่าเพื่อช่วยประคับประคองให้ธุรกิจของผู้เช่าที่อยู่คู่กับสยามสแควร์มาตลอดครึ่งศตวรรษได้ยุติลงด้วยความเรียบร้อยเป็นลำดับต่อไป
คำว่า “ไม่มีแผนรื้อทุบ” และ “กำลังหารูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสม” อาจเป็นความสบายใจในระยะสั้นสำหรับคนที่ส่งเสียงคัดค้าน แต่คำถาม (ที่ยังไร้คำตอบ) ในระยะยาวก็คือ ภายใต้บทบาทสถาบันการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่มีทั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และนิเทศศาสตร์) พวกเขาควรมีพันธกิจมากกว่าปล่อยเช่าแล้วให้ประชาชนรอลุ้นแผนงานของเอกชนที่จ่ายเงินเช่าหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อโรงภาพยนตร์สกาลาไม่ค่อยมีคนมากนัก อีกทั้งผลประกอบการหลายปีก็ขาดทุน อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า เป็นเรื่องปกติไม่ใช่เหรอที่ควรต้องเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพื่อพื้นที่ใช้กลางเมืองมีการใช้งานที่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องผลกำไรในทางธุรกิจ แล้วอาคารเก่าที่ทุบแล้วสร้างใหม่ก็เกิดขึ้นตั้งมากมาย ประเด็นนี้ พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ มองว่า
“อาจมีคนถามว่า เห็นทุบอาคารกันทั้งนั้นไม่ใช่เหรอ อย่างตึกของคุณพ่อผม ตึกแรกที่สูงสุดในประเทศไทย เพิ่งทุบไปเมื่อห้าเดือนที่แล้ว อีกหลายตึกก็จะทุบในอนาคตอันใกล้ แล้วจะมีปัญหาอะไรกับการทุบ มันไม่มีปัญหาหรอกครับ เพราะที่เหล่านั้นเป็นของเอกชน แต่นี่เป็นของหลวง ยังไม่พอ นี่เป็นของหลวงที่เป็นสถาบันการศึกษาด้วย จุฬาฯ ไม่ได้มีมิชชั่นแค่แสวงหากำไร เอาจริงๆ ไม่ได้มีมิชชั่นในการแสวงหากำไรเลยด้วยซ้ำ มิชชั่นของสถาบันการศึกษาคือ การให้ความรู้ สื่อสารเรื่องศิลปวัฒนธรรม”
“สกาลาไม่เมคเซ็นส์ที่จะทำโรงหนังแล้ว ใช่ ผมเข้าใจ ทำไปก็ขาดทุน กลุ่มเอเพ็กซ์ก็ดิ้นอยู่ แต่พอเขาคืนตึกให้จุฬาฯ ซึ่งคุณได้ที่ดินมาฟรีๆ จากในหลวงรัชกาลที่ 6 ไม่มีต้นทุนอะไรเลย ต่างจากกลุ่มเอเพ็กซ์ที่ต้องจ่ายค่าเช่า จุฬาฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าให้ใคร และมีผลกำไรจากที่อื่นเยอะแยะ จะเจียดกำไรมาสร้างสิ่งที่เป็นคุณค่าที่มีประโยชน์กับประชาชนในเรื่องศิลปวัฒนธรรมได้ไหม ผมคิดว่าจุฬาฯ ควรคิด และเขาคิดได้ด้วย เพราะมีบุคลากรระดับหัวกะทิของประเทศมากมาย ถ้าจุฬาฯ คิดไม่ได้ คงไม่มีใครคิดได้แล้วล่ะ”
“ในเมื่ออาจารย์จุฬาฯ มีความรู้ความสามารถ ทำไมถึงลงเอยแบบนี้ล่ะ” ผมถาม
“ผมคิดว่าประชาคมจุฬาฯ หรือคณะวิชาต่างๆ ไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับการบริหารทรัพย์สินของจุฬาฯ เป็นการตัดสินใจของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ล้วนๆ เลย คนอาจสงสัยว่า ทำไมประชาคมจุฬาฯ ปล่อยให้เป็นแบบนี้ เขาไม่อยากมีส่วนร่วมอะไรเหรอ มันมีการใช้อำนาจค่อนข้างเยอะ แล้วอำนาจในมหาวิทยาลัยเป็นอำนาจที่มองไม่เห็น บุคลากรส่วนใหญ่เลยเลือกที่จะเงียบ นิสิตก็ร้องเรียกแต่หอพักกับโรงอาหารราคาถูก คนมีอำนาจเลยทำอะไรก็ได้ มันเป็นแบบนี้มาตลอด”
“เมื่อก่อนผมเคยคิดว่า ถ้าคนนี้ไปคนใหม่คงจะดี ตอนนี้ไม่คิดแบบนั้นแล้ว มันคล้ายกับการเมืองภาพใหญ่นั่นแหละ ไม่มีใครเป็นคนดีได้อีกแล้ว ระบบมันเป็นแบบนี้ ใครเข้ามาก็เห็นช่องทางทำเงิน ก็ทำๆๆ ทำเสร็จ 4 ปี 8 ปี ตัวเองก็ไป คนใหม่มาก็บอก ‘ไม่รู้ คนอื่นทำไว้’ ยังไงเราต้องส่งเสียงไปตามสภาพ ถ้าสุดท้ายทำอะไรไม่ได้ ก็ทำอะไรไม่ได้”
“หากคนในสังคมไม่ส่งเสียง มันก็จบแค่นั้น แล้วสิ่งเหล่านี้จะทับถมเป็นความคุ้นชินที่ฝ่ายมีอำนาจทำอะไรก็ได้ ถ้าสุดท้ายสกาลาจะถูกทำลาย แล้วคนไทยหันมาตรวจสอบจุฬาฯ ได้ ผมว่าการตายของสกาลาโคตรคุ้มเลย เพราะเบื้องหลังจุฬาฯ มีอะไรมากกว่านั้น”
ทางด้าน ณัฐกร เวียงอินทร์ มองเรื่องการบริหารจัดการของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ว่า “เท่าที่เห็นตอนนี้ นอกจากโวหารสัมภาษณ์ของผู้บริหารจุฬาฯ ผมไม่เห็นการตัดสินใจอย่างเป็นทางการเลยว่าหลังจากที่ธุรกิจโรงหนังสกาลา และลิโดปิดตัวลงไป โดยเฉพาะกับสกาลา เขาจะทำอะไรต่อกับอาคารนี้ ภาวะในวันนี้ ผมมองว่ามันอยู่ในสถานะกึ่งๆ โยนหินถามทางกับผู้คนของฝั่งจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ว่าจะคงอาคารนี้ไว้เพื่อทำอย่างอื่น หรือทุบไปเพื่อทำอะไรใหม่”
ไหนๆ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ไม่มีความชัดเจน และไม่เคยปรากฏแผนงานระยะยาวต่อกรณีโรงภาพยนตร์สกาลา ทั้งที่บุคลากรในจุฬาฯ มากด้วยความสามารถ ผมเลยชวน ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จินตนาการว่า ถ้ามีโอกาสได้บริหารพื้นที่นี้ เธออยากทำอะไร
“ถ้าเราได้ทำ สกาลาเป็นสถาปัตยกรรมมีลักษณะเฉพาะตัว สเปซมีบรรยากาศที่ห้อมล้อม คนเข้าไปแล้วอบอุ่น อ่านหนังสือก็ได้ ฟังเพลงก็ได้ เป็นฮอลล์แสดงดนตรีก็ได้ ฉายหนังก็ได้ ถ้าคุณไม่รู้จะไปไหน เป็นที่ที่เข้าไปนั่ง และหาจากที่อื่นในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ที่นี่ให้ได้ ทุกวันนี้มีพื้นที่ที่เรียกตัวเองว่า โคเวิร์คกิ้งสเปซ หรือครีเอทีฟสเปซ แต่ทุกอย่างสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่มีกลิ่นอายของสิ่งที่มีอยู่ก่อน สกาลาเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ก่อน นี่คือจุดแข็งที่ครีเอทีฟสเปซทั้งหลายไม่มี ทำไมที่นี่ถึงไม่เป็นโมเดลแรก ที่คุณจะเอาเรื่องธุรกิจ เรื่องผู้นำทางความคิดของสังคม และเรื่องทางปัญญาความคิดสร้างสรรค์ มาปรับปรุงที่นี่ให้เป็นสเปซตัวอย่าง”