“นักสังคมสงเคราะห์ มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้ที่เขารับการช่วยเหลือได้ไหม?”
ข้างต้นคือประเด็นถกเถียงบนโลกออนไลน์ หลังละคร ‘ในวันที่ฝนพร่างพราย’ ออกฉาย และมีคนหยิบยกความสัมพันธ์ของตัวละครหลักขึ้นมาวิจารณ์ ว่าการที่ตัวละครซึ่งประกอบอาชีพนักสังคมสงเคราะห์ คบหากับคนที่เคยเป็นเด็กในความดูแลที่เผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวนั้น อาจเป็นสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณนักสังคมสงเคราะห์
อย่างไรก็ดี อีกฝั่งหนึ่งเห็นว่าตัวละครนั้นเติบโตมาจากช่วงเวลาที่เกิดเหตุความรุนแรงมากนานมากแล้ว และเรื่องราวเบื้องหลังของตัวละครก็มีความลึกซึ้ง บ้างก็บอกว่า เรื่องราวนี้เป็นเพียง ‘ละคร’ เท่านั้น จึงไม่น่าจะส่งผลอะไรต่อความเป็นจริงมาก
ในบทความนี้ เราคงไม่ได้พาไปวิพากษ์เรื่องราวของละครเรื่องดังกล่าว แต่การจุดประเด็นเหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วในชีวิตจริงล่ะ มีนักสังคมสงเคราะห์ที่คบหากับเด็กในความดูแลจริงหรือเปล่า หรือยิ่งไปกว่านั้น คือยังมีปัญหาใดอีกที่พบในวงวิชาชีพนี้ และเราควรทำความเข้าใจอะไรเกี่ยวกับบทบาทนี้เพิ่มเติมอีกบ้าง?
The MATTER จึงไปพูดคุยกับ ภาสตรี ชมวงศ์ นักสังคมสงเคราะห์อาวุโส Save the Children Thailand เพื่อทำความเข้าใจบทบาทและจรรยาบรรณของนักสังคมสงเคราะห์ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมองถึงปัญหาในวงการนักสังคมสงเคราะห์ในปัจจุบัน เพื่อให้สังคมเข้าใจว่า สังคมสงเคราะห์ไม่ใช่เพียงแค่งาน ‘จิตอาสา’ เท่านั้น
จากพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ.2556 ‘วิชาชีพสังคมสงเคราะห์’ หมายถึง วิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้และทักษะทางสังคมสงเคราะห์ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาของบุคคล ครอบครัว กลุ่มคน หรือชุมชน เพื่อให้กระทำหน้าที่ทางสังคมและดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข
หากจะให้เห็นภาพกว่านั้น คือเมื่อเวลามีผู้ที่เผชิญปัญหาบางอย่างในการใช้ชีวิต ซึ่งสาเหตุอาจมาจากบุคคล ครอบครัว กลุ่มคน ชุมชนรอบข้าง เช่น เผชิญความรุนแรงในครอบครัว คนที่จะเข้าไปช่วยเหลือก็คือนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งกระบวนการอาจมีได้ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ป้องกัน บรรเทา โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“การทํางานของนักสังคมสงเคราะห์จึงมีความละเอียดอ่อนมาก เพราะเป็นการทํางานแบบเฉพาะราย หรือการให้ความช่วยเหลือแบบเดี่ยวๆ รายคน รายครอบครัว ทำให้มีความใกล้ชิด” ภาสตรีขยายความ
และด้วยการเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนเช่นนี้ จึงจะต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบจรรยาบรรณ ซึ่งบัญญัติไว้ตามประกาศสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ โดยมีรายละเอียดหลายอย่าง เช่น การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ยึดมั่นในหลักการทางวิชาชีพ ยึดถือประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้บริการ รักษาความลับ ร่วมมือกับเครือข่าย มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม และอื่นๆ และนอกจากนี้ อาจมีจรรยาบรรณหรือข้อกำหนดที่ถูกกำหนดโดยหน่วยงานที่สังกัดอีกด้วย
ดังนั้น จรรยาบรรณที่ถูกเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ก็อาจเป็นอะไรที่สามารถตีความได้โดยกว้าง เรื่อง ‘ความสัมพันธ์’ กับผู้ใช้บริการ ก็อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกตีความไปเช่นกัน
‘ความสัมพันธ์ (ทำไม) ต้องห้าม?’ ระหว่างนักสังคมสงเคราะห์กับผู้ใช้บริการ
“ฉันก็ไม่ใช่พระอิฐประปูน ฉันก็มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนกัน” เป็นความคิดที่อาจเกิดกับนักสังคมสงเคราะห์ได้ แต่ภาสตรีอธิบายว่า หลักการทำงานโดยทั่วไปก็จะมีการกำหนดไว้ถึงความเหมาะสมในการใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการ เช่น การให้ความสําคัญ หลักเรื่องความแตกต่างความหลากหลาย ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์จะต้องตระหนักถึงขอบเขตหน้าที่ของตนอยู่เสมอ
“การมีความสัมพันธ์ส่วนตัวจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถทําได้” ภาสตรีสรุป โดยส่วนหนึ่งเป็นประเด็นเรื่อง ‘อำนาจเหนือ’ หรือการที่นักสังคมสงเคราะห์มีอํานาจเหนือคนที่มาขอรับบริการ เพราะผู้ใช้บริการคือคนที่ประสบปัญหา และเข้ามาหาเพื่อขอความช่วยเหลือ หมายความว่านักสังคมสงเคราะห์จะมีโอกาส ‘ชี้ถูกชี้ผิด ชี้เป็นชี้ตาย’ ซึ่งการมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้ใช้บริการจะทำให้กระบวนการให้ความช่วยเหลือนั้นบิดเบี้ยว
ถึงตรงนี้คงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การที่นักสังคมสงเคราะห์จะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้ใช้บริการ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่แล้วก็มีคำถามที่ว่า แล้วถ้าห่างเหินกันไปนานหลายปี เคสนั้นถูกปิดลงแล้ว สองฝ่ายต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความสัมพันธ์นี้จะเป็นไปได้ไหม?
“กระบวนการของการทํางานสังคมสงเคราะห์เป็นเรื่องระยะยาวเนอะ เคสจึงแทบจะไม่สามารถปิดลงได้โดยสมบูรณ์” ภาสตรีกล่าว โดยระบุว่าแต่ละเคสนั้น การจะปิดได้ใน 1 ปี เป็นไปไม่ได้ 2 ปี หรือ 3 ปีก็ยังเป็นไปได้น้อย
ซึ่งหนึ่งในขั้นตอนของกระบวนการในการทํางานคือการติดตามประเมินผล ดังนั้นแม้ว่าผู้ใช้บริการจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีหน้าที่การงานที่มั่นคงแล้ว สิ่งที่นักสังคมสงเคราะห์ยังต้องทำ คือติดตามดูว่าเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างไร เขาอยู่ในสังคม ปรับตัวเข้าสังคมได้ไหม
“การสวมหมวกนักสังคมสงเคราะห์จึงเป็นงานที่ต้องทำไปตลอดชีวิต” ภาสตรีระบุ โดยอธิบายว่านี่เป็นสิ่งที่นักสังคมสงเคราะห์จะต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลา โดยภาสตรีไม่ได้ให้คำตอบแน่ชัดได้ว่าถ้าผู้ใช้บริการโตแล้วจะกลับมารักกับนักสังคมสงเคราะห์ได้หรือไม่ เพราะเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคน แต่ย้ำว่า “ด้วยการทำงานบนพื้นฐานของหลักจรรยาบรรณ เราต้องสวมหมวกเป็นนักสังคมสงเคราะห์ไปตลอดชีวิต”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทํางานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็น ‘เด็ก’ ตามกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก การละเมิดหรือแสวงประโยชน์จากเด็กนั้นเป็นสิ่งที่ทําไม่ได้ ไม่ว่าจะจากคนในครอบครัว หรือจากคนทั่วไปก็ตาม เช่นเดียวกับกฎทางวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ที่จำกัดสิ่งที่ทำได้ และทำไม่ได้กับเด็กเช่นกัน
และยิ่งด้วยลักษณะของการทํางานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก สำหรับคนที่มีอํานาจเหนือคือเป็นผู้ใหญ่กว่า และยังมีสถานะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ การเข้าหาจึงเหมือนพ่อแม่ผู้ปกครอง คือการค่อยๆ เข้าหา โดยที่กลุ่มเป้าหมายหรือว่าผู้ใช้บริการที่เป็นเด็กไม่รู้ตัว ไม่สามารถรู้ได้เลยว่านักสังคมสงเคราะห์คนนั้นกําลังคิดอะไรอยู่ มีทัศนคติแบบไหน เจตนาอย่างไร
การเข้าหาผู้ใช้บริการที่เป็นเด็กจึงมีข้อควรระวังหลายประการ อย่างเรื่องการใช้คำพูด เช่น “พี่หวังดีกับน้องนะ พี่เห็นอกเห็นใจน้องนะ พี่เข้าใจน้องนะ” ซึ่งอาจมีความละเอียดอ่อน และบอกได้ยากว่าคำพูดเหล่านี้จากนักสังคมสงเคราะห์เป็นไปด้วยเจตนาที่ดี และเป็นไปตามวิชาชีพที่ควรจะเป็นหรือไม่ การใช้คำพูดจึงควรมีขอบเขตที่เหมาะสม
ท่าทีของนักสังคมสงเคราะห์ก็เช่นกัน เพราะเป็นอีกส่วนที่จะทําให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใจผิดได้ ว่านักสังคมสงเคราะห์มีความสนใจหรือให้ความสําคัญกับตัวผู้ใช้บริการมากเป็นพิเศษ โอกาสในการคิดเป็นอื่นจึงเป็นไปได้สูง
ที่สำคัญ คือจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ลักษณะของการค่อยๆ เข้าหาเด็กนั้น หากมองในอีกมุมหนึ่งก็เป็นเหมือนช่องทางในการที่ทำให้เกิดการ grooming และนำไปสู่การคุกคามเด็กได้โดยไม่รู้ตัว ความระมัดระวังในการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ และการจะมีความสัมพันธ์ส่วนตัว โดยเฉพาะกับเด็ก จึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
ด้วยความไม่แข็งแรงในการตีความเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนักสังคมสงเคราะห์กับผู้ใช้บริการนี้ ทำให้ในขณะนี้มีกระแสเรียกร้องที่เริ่มต้นโดยเฟซบุ๊กเพจ นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง โดยรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ของประเทศไทย เพื่อให้มีการระบุถึการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือการแสวงประโยชน์จากความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้ใช้บริการในรูปแบบต่างๆ อย่างชัดเจนในจรรยาบรรณ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างการตีความในทางปฏิบัติ และให้สอดคล้องกับคำแถลงหลักจริยธรรมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ระดับโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่าการแก้ไขจะสำเร็จหรือไม่
‘สังคมสงเคราะห์ vs. จิตอาสา’ เมื่อสังคมสงเคราะห์ไม่ใช่เพียงการช่วยเหลือ แต่ต้องแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
นักสังคมสงเคราะห์ในไทยปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ นักสังคมสงเคราะห์ที่เรียกว่า ‘วุฒิปิด’ กับ ‘วุฒิเปิด’
โดยนักสังคมสงเคราะห์วุฒิปิด หมายถึง นักสังคมสงเคราะห์ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์โดยตรง และมีใบอนุญาต ในขณะที่นักสังคมสงเคราะห์วุฒิเปิดคือด้านตรงข้ามกัน คือไม่ได้จบการศึกษาโดยตรง และไม่มีใบอนุญาต
นับตั้งแต่พระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. 2556 ประกาศใช้ นักสังสงเคราะห์วุฒิเปิดก็(ควรจะ)ไม่มีแล้วในประเทศไทย เพราะ พ.ร.บ. นี้ได้กำหนดว่าหลังจากนี้ ผู้ที่จะมีใบอนุญาตและประกอบอาชีพเป็นนักสังคมสงเคราะห์ได้ จะต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เท่านั้น
แต่สำหรับคนที่มีประสบการณ์การทํางานในตําแหน่งนักสังคมสงเคราะห์มาก่อนปี 2556 แม้จะเป็นวุฒิเปิด ก็จะมีการจัดอบรมให้ เพื่อเป็นนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ โดยจะแบ่งเวลาอบรมตามอายุงาน
ภาสตรีอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างนักสังคมสงเคราะห์วุฒิเปิดกับวุฒิปิด โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าถึงหลักสูตรการศึกษา ว่าคนที่เรียนมาโดยตรงก็ได้จะเรียนรู้ถึงหลักการปฏิบัติงานและจรรยาบรรณตลอด 4 ปีการศึกษา และถูกหล่อหลอมให้มีหัวใจและแนวคิดแบบนักสังคมสงเคราะห์ที่ควรจะเป็น รู้ว่าอะไรที่ควรทำ และควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ ในขณะนี้คนที่ป็นวุฒิเปิด คนที่อยากมาทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ก็อาจเป็นใครก็ตามที่มีทัศนคติที่ดี จิตใจดี อยากช่วยเหลือผู้อื่น
จุดแตกต่างที่สำคัญ จึงเป็นการที่ “คนทั่วไปถ้าอยากจะช่วยเหลือใคร ก็ช่วยไปตามที่เราอยากจะช่วยตามเจตนารมณ์ของเรา แต่คนเป็นนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ จะถูกสอนว่าคุณช่วยได้ แต่ต้องมีหลักการ มีขอบเขตที่ชัดเจนในการช่วยเหลือ” ภาสตรีสรุป
โดยงานสังคมสงเคราะห์จะเน้นที่การให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมกับในการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน และหากจะต้องมีการให้อะไร ก้จะต้องผ่านการประเมินว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับ และตรงโจทย์ความต้องการจริงๆ พร้อมกับมองถึงระยะยาวว่าถ้าไม่สามารถให้ความช่วยเหลือใดได้แล้ว ผู้ใช้บริการจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไปได้ ในขณะที่คนทั่วไปอาจเน้นที่ ‘การให้’ ตามที่อยากให้เพียงอย่างเดียว เช่น การบริจาคสิ่งของต่างๆ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอาจยังมีหลายหน่วยงานที่ยังรับสมัครนักสังคมสงเคราะห์วุฒิเปิด ซึ่งภาสตรีมองว่าอาจเกิดจากการไม่ได้รับข้อมูลถึงการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในปี 2556 ซึ่งถ้าหากหน่วยงานนั้นๆ จะใช้คนวุฒิเปิด ถ้าจะให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะมีหน้าที่ที่ทำได้เป็นเพียงผู้ช่วยนักสังคมสงเคราะห์ (para- social worker) เท่านั้น ซึ่งหมายถึงอำนาจการตัดสินใจในบางเรื่องยังต้องเป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพที่มีใบอนุญาตอยู่ดี
‘ความพร้อม และสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว’ ปัจจัยสำคัญเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ
‘ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเป็นนักสังคมสงเคราะห์ได้’ หากคนที่ไม่มีความพร้อมมาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ จะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้บริการ และต่อตัวนักสังคมสงเคราะห์เอง
ภาสตรีได้อธิบายถึงความไม่พร้อมใน 3 ด้าน คือด้านจิตใจ ด้านทักษะเฉพาะตัว และด้านประสบการณ์ชีวิต
ด้านจิตใจ หมายถึงการควบคุมอารมณ์ และสุขภาพจิต ที่หากมีความไม่พร้อม ก็จะทำให้แสดงออกและจัดการต่อสิ่งต่างๆ อย่างไม่เหมาะสม จนเกิดอันตรายที่ซ้ำบาดแผลของผู้ใช้บริการให้ยิ่งแย่ลงได้
ด้านทักษะเฉพาะตัวของคนคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร การจัดการปัญหา ที่จะต้องเป็นไปตามระบบและหลักการทำงาน เพื่อให้การให้บริการสำเร็จลุล่วงได้ดี
และสุดท้าย คือด้านประสบการณ์ ที่นักสังคมสงเคราะห์บางนอาจเคยผ่านประสบการณ์ความเจ็บปวดทุกข์ใจในอดีต และเมื่อมาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ก็มีโอกาสที่จะต้องเจอกับเรื่องราวคล้ายกับที่ตนได้ประสบมา จนอาจไม่สามารถแยกแยะได้ และเกิดอารมณ์ร่วม หรือเกิดความเห็นอกเห็นใจกับเรื่องราวของผู้ใช้บริการเป็นพิเศษ ซึ่งจะเชื่อมโยงกลับไปหาเรื่องสุขภาพจิต ที่อาจจะ ‘อินเกินไป’ จนเกิดภาวะซึมเศร้าได้
“ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีประสบการณ์ในอดีตที่เป็นความเจ็บปวดทุกข์ใจจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ไม่ได้ แต่ต้องดูวิธีการจัดการของเขา ว่าสามารถตัดเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวได้จริงไหม” ภาสตรีกล่าว พร้อมขยายความว่า “ถ้าเราต้องทํางานเพื่อช่วยเหลือคนอื่น แต่เราไม่พร้อม ยังไม่เข้มแข็งมากพอ วันหนึ่งประสบการณ์เหล่านั้นก็จะวนกลับมา แล้วคุณอาจใช้มาตรฐานของคุณไปตัดสินและจัดการปัญหาที่อยู่ตรงหน้า”
“ถ้ายังหาสมดุลไม่ได้ระหว่างความเป็นตัวตนของคุณ กับความเป็นตัวตนในเชิงวิชาชีพ สุดท้ายมันก็ทําร้ายตัวเราเอง”
ซึ่งถ้าเป็นนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพที่มีใบอนุญาต การหล่อหลอมและประสบการณ์จากการเรียนรู้วิธีการจัดการในระหว่างเรียน ก็สามารถช่วยให้จัดการและแสดงออกอย่างเหมาะสมได้ เพราะมีกรอบที่มาช่วยจำกัดการทำงานให้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น
ทำอย่างไร เมื่อพบเห็นคนถูกล่วงละเมิด หรือใช้อำนาจในทางที่ผิด
- รายงานไปที่สภาวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ : หากพบเห็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ปฏิบัติผิดจรรยาบรรณ หรือมีข้อสงสัยว่าอาจผิดจรรยาบรรณ เมื่อรายงานไปที่สภาวิชาชีพฯ าจะมีคณะกรรมการในการตรวจเรื่องที่มีคนทั่วไปร้องเรียนเข้าไป และจัดการลงโทษต่อไป
- รายงานไปที่หน่วยงาน : นักสังคมสงเคราะห์แต่ละคนจะมีหน่วยงานต้นสังกัด ดังนั้นหากพบว่าพฤติกรรมนั้นดูไม่เหมาะสม สามารถรายงานไปยังหน่วยงานเพื่อกระบวนการจัดการต่อไปได้
- รายงานไปที่เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก : ถ้ากลุ่มเป้าหมายนั้นเป็นกลุ่มเด็ก และถูกล่วงละเมิดหรือใช้อำนาจในทางที่ผิดจากนักสังคมสงเคราะห์ หรือจากบุคคลทั่วไปก็ตาม หากพบเห็นสามารถแจ้งได้ที่หน่วยงานรัฐ สายด่วน 1300 รวมถึงหน่วยงาน NGO หรือหน่วยงานเอกชน เพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลือโดยเร็ว