แสงไฟในห้องดับลง นักมวยปล้ำตัวใหญ่โตเดินเข้ามาพร้อมกับเสียงเพลงเปิดตัวอย่างเร้าใจ มีเข็มขัดเส้นใหญ่ที่พาดอยู่บนบ่า เป็นสัญลักษณ์ว่านี่คือนักมวยปล้ำที่มีตำแหน่งไม่ธรรมดา
พิธีกรประกาศชื่อว่าเขาคือ Golem Thai แชมป์มวยปล้ำ The One and Only แห่งสมาคมมวยปล้ำ Gatoh Move Pro Wrestling เสียงคนดูตะโกนเชียร์เรียกชื่อเขาจนกึกก้องไปทั่วห้อง หลายคนหยิบแผ่นกระดาษที่เขียนชื่อเขาออกมาชูให้เห็น แม้แต่เด็กผู้ชายวัยสิบกว่าขวบที่นั่งข้างๆ เราก็ตะโกนเรียกชื่อ Golem Thai อย่างสุดเสียง
วันนี้ Golem Thai มีการแข่งขันครั้งสำคัญ ต้องเจอกับคู่ท้าชิงชาวสิงคโปร์ที่เป็นนักมวยปล้ำรูปร่างบึกบึนแข็งแรง นามว่า Trexxus เมื่อทั้งคู่เดินขึ้นมาบนสังเวียนเบาะ กรรมการส่งสัญญาณไปยังทีมงาน ทันทีที่เสียงระฆังดังขึ้น ทั้งคู่กระโจนเข้าหากันพร้อมกับประชันกำลังกันอย่างเต็มที่
การชิงแชมป์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว!
Welcome to Gatoh Move Pro Wrestling
ก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้นไม่นาน บ่ายวันนั้นเรามีนัดพูดคุยกับ ปูมิ—ปรัชญ์ภูมิ บุณยทัต ผู้จัดการทั่วไปของค่ายมวยปล้ำ Gatoh Move Pro Wrestling แห่งประเทศไทย
“ตอนครั้งแรกที่จัดงาน อาจารย์ เอมิ ซากุระ ที่เป็นเจ้าของค่ายในญี่ปุ่นเป็นคนดูแลให้เกือบหมดเลย แล้วคนก็มาดูเยอะมาก แต่พอเขาเริ่มปล่อยให้เราทำเอง คนดูกลับน้อยลงเรื่อยๆ จำได้ว่าครั้งที่สองมีคนมาดูแค่หกคน ครั้งที่สามเหลือสี่คน คือน้อยลงมาอีกแม้ว่าจะเป็นบัตรฟรีด้วยนะ” ปูมิ เริ่มเล่าถึงประสบการณ์จัดมวยปล้ำครั้งแรกๆ ในประเทศไทย
“ตอนนั้นเราคิดว่ามันจะไปไม่รอดแล้ว อาจารย์ ซากุระ ถึงกับพูดว่าอยากจะเลิกทำค่ายในไทยแล้ว เพราะเด็กพวกนี้มันไม่สู้”
เขาอธิบายต่อว่า ก่อนที่การจัดแข่งมวยปล้ำของค่ายจะเดินมาถึงจุดที่ขายบัตรหมดเกือบทุกรอบนั้น ต้องเจอกับปัญหามากมาย โดยสิ่งที่พอจะทำได้คือหาหลักยึดให้ชัดเจนและลองผิดลองถูกด้วยวิธีการต่างๆ
“เราพยายามเข้าใจคนดูให้มากขึ้น เราคิดมาตลอดว่า ความพยายามต้องได้รับการตอบแทน แต่จริงๆ แล้วความพยายามอย่างเดียวมันไม่พอ เราอาจพยายามในสิ่งที่คนดูเขาไม่เข้าใจอยู่รึเปล่า
“คนดูเขามีสิทธิ์ที่จะคาดหวังนะ เพราะภาพของมวยปล้ำในใจใครหลายคนคือ John Cena, The Rock, Stone Cold สู้กันสนุก มาเจอคนไทยที่เพิ่งเริ่มบอดี้สแลมกันได้แค่หนึ่งครั้งก็เก่งแล้วในช่วงแรกๆ ความคาดหวังของคนดูเลยพังทลายลงไปเรื่อยๆ มันทำให้เรากลับมาคิดกันว่าจะสร้างความเข้าใจกับคนดูได้ยังไง หรือว่าเราต้องคิดคอนเทนต์อะไรมากขึ้นไหม”
ปูมิยืนยันว่า แม้วันนี้บัตรการเข้าชมมวยปล้ำจะ Sold Out แต่อนาคตข้างหน้ายังมีโจทย์ที่ค่ายนี้ต้องต่อสู่ต่อไปอีกมากมาย โดยเฉพาะการพยายามปรับเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มองว่ามันคือการแสดงเพียงอย่างเดียว
“ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ามวยปล้ำคือการแสดงนั่นแหละ มันไม่สามารถปิดบังได้อีกแล้วว่ามันคือการต่อสู้จริงล้วนๆ แต่ผมก็คิดว่าเราก็ต้องให้เกียรติคนที่พยายามอย่างหนักเพื่อออกไปแสดงด้วยเหมือนกันนะ มวยปล้ำทำให้คุณหัวเราะและร้องไห้ได้ ไม่ต่างกัน แต่ถึงจุดนึงก็ถูกบอกกันว่ามันเป็นแค่การแสดง และมันดูเคอะเขินที่จะอินไปกับสิ่งเหล่านี้
“ในมวยปล้ำมันมีสิ่งที่ดูไม่เป็นธรรมอยู่เต็มไปหมด แต่สำหรับเราแล้วอยากให้ทุกคนหัวเราะบ้าง มีความสุขกับมันบ้าง อยากให้ทุกคนรักมวยปล้ำ เพราะความสุขของคนดูคือสิ่งที่ทำให้นักมวยปล้ำดีใจ”
มวยปล้ำกับพื้นที่การปลดปล่อยตัวเอง
ปูมิเล่าว่าที่ผ่านมาเขามักเจอคำถามชุดหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำว่า ตกลงแล้ว มวยปล้ำให้อะไรกับสังคมบ้าง แม้จะรู้ว่าเขาเคยตอบมาแล้วหลายครั้ง แต่เราก็อยากรอฟังคำอธิบายจากเขาอีกสักรอบ
“มวยปล้ำเป็นกีฬาที่อนุญาตให้คุณตะโกนด่าได้อย่างเต็มที่ ทุกวันนี้คุณอาจจะมีหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้ ซึ่งคุณไม่สามารถเดินไปแล้วด่าเขาแบบหยาบคายได้ แต่มวยปล้ำเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่างที่คุณจะด่าเขาได้ เพราะมันเป็นโลกที่สร้างมาเพื่อให้คุณด่าได้อยู่แล้ว
“เวลาคุณอยากจะเชียร์ใคร มันไม่ใช่แค่การปลดปล่อยอะไรอย่างเดียว แต่การมีความสุขหรือผ่อนคลาย สิ่งสำคัญคือการที่เราจะมีอะไรที่ดึงตัวตนหนักๆ ออกไปเสียบ้าง คนจะมาถามว่ามวยปล้ำให้อะไรกับสังคมบ้างตลอดเลย สิ่งที่เราตอบได้คือ มันสามารถดึงอะไรบางอย่างที่หนักๆ ออกมาจากคุณได้ ให้สิ่งที่หนักๆ ได้ผ่อนคลายไปบ้าง”
จากสิ่งที่ปูมิเล่า ทำให้เรานึกถึงภาพบรรยากาศภายในห้องแข่งขันที่ผู้ชมส่งเสียงเชียร์ตอบโต้กันอย่างอิสระและสนุกสนาน แม้มวยปล้ำจะมีบทพูดและการกำหนดตัวผู้ชนะไว้ตั้งแต่แรก หากแต่บรรยากาศของคนดูที่เราได้สัมผัสมันกลับเกิดขึ้นอย่างอิสระ ราวกับเป็นโลกที่ถูกออกแบบมาให้ผู้คนได้ปลดปล่อยความรู้สึก
“ถ้าเราเจอคนเลวๆ ในมวยปล้ำเราก็สามารถตะโกนด่าเขาได้เต็มที่ไปเลย หรือถ้าเป็นคนที่เราอยากเชียร์ใครคนนึงอย่างสุดใจ เราก็สามารถทำได้ในมวยปล้ำ สิ่งเหล่านี้มันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราปลดปล่อย และมีความสุขไปกับมันได้”
เมื่อธรรมะ (ไม่) ชนะอธรรม
หนึ่งในเสน่ห์ที่เกิดขึ้นในเวทีมวยปล้ำ ทั้งในระดับโลกและไทย คือการแบ่งฝ่ายนักมวยปล้ำที่ค่อนข้างชัดเจนเป็นฝ่าย ‘ธรรมะ’ และ ‘อธรรม’ ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละฝ่ายก็มักจะต้องแบกรับความคาดหวังของคนดูว่าต้องมีบทบาทและแสดงตัวตนให้เข้ากับฝ่ายที่ตัวเองสังกัดอยู่เสมอๆ
อย่างไรก็ดี ในโลกของมวยปล้ำก็บอกเราด้วยเช่นกันว่า ฝ่ายธรรมะ อาจไม่ชนะอธรรมเสมอไป หรือแม้แต่คนที่เราเคยคิดว่าอยู่ข้างความดี ในวันหนึ่งก็อาจเปลี่ยนแปลงกลายเป็นฝ่ายตรงกันข้ามก็ได้ เพราะฉะนั้น เรื่องราวว่าด้วยความไม่ยุติธรรม (ในความหมายว่าคนดีต้องชนะคนเลว) จึงเป็นประเด็นที่คนดูอาจได้รับจากการชมมวยปล้ำด้วย
“โลกจริงๆ มันก็เป็นแบบนี้” ปูมิพูดขึ้นมา
“เหมือนเราจำลองโลกความจริงมาให้คนดู คือมันไม่มีอะไรที่จะยืนยันได้เลยว่าสิ่งที่เราพยายามไปแล้วมันจะได้ผลลัพธ์ไปตามนั้นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ มวยปล้ำมันก็เป็นแบบนั้น บางคนพยายามแทบตาย แต่ปัจจัยภายนอกก็สำคัญอยู่ดี คุณกำลังจะชนะอยู่แล้ว แต่สุดท้ายคนภายนอกก็เข้ามาตีหัวคุณ แล้วขโมยเอาชัยชนะข้างหน้าไปได้เหมือนกัน”
“เราเพิ่งไปจัดแข่งมวยปล้ำที่คลองเตย คุณครูที่นั่นก็มาบอกเราว่า เด็กๆ เขาถูกสอนมาว่า คนฝ่ายธรรมะต้องชนะอธรรมเสมอ แต่วันนั้นบังเอิญว่าฝ่ายธรรมะแพ้หมดทุกคู่เลย เราคิดว่ามวยปล้ำมันสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า บางทีสิ่งที่เราเคยรู้เคยเข้าใจกัน มันก็ไม่ได้เป็นจริงตามนั้นเสมอไป
“การแบ่งฝ่ายดีเลวมันทำให้การเชียร์มวยปล้ำสนุกมากขึ้น มวยปล้ำในส่วนนึงมันคือความบันเทิงที่ปล่อยเรื่องราวให้เหมือนละครเรื่องยาวไปเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญคือถ้าคุณเห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น คุณก็สามารถหาคำอธิบายและให้ความหมายมันได้ในรูปแบบของตัวเอง”
ความหมายของการต่อสู้ในสายตาของผู้ชม
การต่อสู้ระหว่าง Golem Thai และ Trexxus ผ่านไปแล้วกว่า 10 นาที บรรยากาศข้างหน้าเราก็เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคู่แลกกันหมัดต่อหมัด มีการใช้ท่าไม้ตายที่ดูแสนรุนแรง แต่สุดท้ายแล้ว นักมวยปล้ำจากฝั่งไทยก็เอาชนะคู่แข่งไปได้ ทำให้เข็มขัดแชมป์ยังอยู่กับเขาต่อไป
เป็นการปิดฉาก Main Event ที่ผู้ชมส่วนใหญ่รู้สึกอิ่มเอมไปกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดชั่วโมงที่ผ่านมา เมื่อนักมวยปล้ำขวัญใจคนดูสามารถเอาชนะตัวร้ายจากฝ่ายอธรรมได้เป็นผลสำเร็จ
หลังจากงานจบลง เราคุยกับครอบครัวหนึ่งที่สมาชิกทั้ง พ่อ แม่ พาลูกๆ มาชมมวยปล้ำกันอย่างพร้อมหน้า ด้วยความสงสัยว่า ขณะที่หลายครอบครัวไม่อยากให้เด็กๆ มาดูมวยปล้ำเพราะกลัวว่าจะเสพติดความรุนแรง แต่เพราะอะไรครอบครัวนี้ถึงพาเด็กๆ มาชมกีฬาการต่อสู้ที่ดุเดือดเช่นนี้
“ที่บ้านชอบดูมวยปล้ำกันอยู่แล้ว นี่ก็เป็นครั้งที่สามแล้วที่พาลูกๆ มาดูของจริง ลูกชายคนโตชอบเป็นพิเศษ มันได้ดูใกล้ชิด มันให้ความรู้สึกร่วมมากกว่าดูในทีวี เราจะบอกเค้าว่ามันคือการแสดงอย่างหนึ่งนะ แล้วมันเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ห้ามเอาไปเล่นกับน้องหรือกับเพื่อนคนอื่น ถ้าอยากจะเล่น ก็ให้มาเล่นกับพ่อแค่สองคนพอ” ณัฐพล ตาละลักษณ์ ผู้เป็นพ่อเล่า
ส่วน พันธวิศ สุขใจดี แฟนคลับมวยปล้ำบอกให้เราฟังว่า ถึงแม้จะรู้อยู่ในใจว่ามันคือการแสดง แต่เขาคิดว่าการต่อสู่ที่เกิดขึ้นตรงหน้ามีความหมายอีกหลายอย่างที่ซ่อนอยู่
“การได้มาดูของจริงมันสนุกและมีความสุขนะ ผมว่ามวยปล้ำมันก็คือละครเวทีที่แสดงสดๆ ให้เราดู แถมยังเป็นการแสดงที่ไม่มีเทค ไม่มีคัท ทุกอย่างต้องห้ามพลาด ถึงมันจะเป็นการแสดงแต่มันก็คือการต่อสู้ที่เจ็บตัวจริงๆ เขาก็ต้องฟิตจริง และต้องฝึกเป็นปีๆ ถ้าคนนึงไม่เก่งก็ถึงกับเสียชีวิตได้เลยนะ”
ธัญธนัส ชัยรัตน์ ที่มาด้วยกันก็คิดในเรื่องทำนองนี้คล้ายกับพันธวิศ “เรารู้แหละว่ามันคือการแสดง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสนามมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เหมือนเราได้ปลดปล่อยความเครียดได้ เราได้สนุกและอินไปกับมัน พอเราได้มาดูของจริงแล้ว ก็เหมือนได้กลับไปเป็นเด็กๆ อีกครั้ง มันไม่เหมือนดูในทีวี เพราะทุกความรู้สึกของเรามันยังอยู่ ถึงกลับบ้านไปแล้วความรู้สึกมันก็ยังอยู่”
มวยปล้ำบนเส้นทางต่อสู้ในสังคมไทย
การแข่งวันนี้จบลงไปแล้ว แฟนคลับกลับบ้านพร้อมด้วยความรู้สึกอันหลากหลาย นักกีฬาได้ทำตามการฝึกที่ซ้อมกันมาตลอดเดือนที่ผ่านมา ในห้องแข่งขันตอนนี้เหลือแค่ปูมิเป็นคนสุดท้าย
“หลังจากนี้จะเอายังไงต่อกับมวยปล้ำ” เราถาม
“อยากให้มวยปล้ำเป็นแบบมวยไทยเลยนะ เรารู้สึกว่ามวยปล้ำมันมีศักยภาพที่จะไปในจุดนั้นได้ เราอาจจะเอามวยไทยมาผสมกับวัฒนธรรมตรงนี้ก็ได้ เรารู้สึกว่ามวยปล้ำนอกจากเป็น subculture นึงแล้ว มันยังสามารถผลักดัน subculture อื่นๆ ที่มีอยู่ให้ไปด้วยกันได้
“บางคนไม่อยากให้ลูกๆ มาดูมวยปล้ำเลยเพราะมันอันตราย มันมีอาวุธ มีเลือด มีความรุนแรง กลัวว่าลูกต้องไปตีกันเองแน่ๆ เราอยากจะเปลี่ยนความคิดตรงนี้ของคนดู ถามว่ามันยากไหม มันก็ยากอยู่แล้ว
“ผมอยากให้มวยปล้ำเป็นสิ่งที่คนสนุกไปกับมัน มาดูมันตอนเลิกงานหรือเลิกเรียนก็ได้ นี่คือเป้าหมายของเราในตอนนี้”
ดูเหมือนว่าต่อจากนี้ วงการมวยปล้ำในไทยยังคงต้องต่อสู้กับอะไรอีกมากมาย ทั้งการสร้างการรับรู้และการยอมรับ รวมถึงต่อสู้กับความไม่เข้าใจหลากหลายอย่างที่ผู้คนมีเกี่ยวกับมวยปล้ำ ขณะเดียวกัน ยังต้องสู้กับโจทย์ด้านธุรกิจที่ยังคงต้องลองผิดลองถูกกันอีกเยอะ
“ผมจะทำมวยปล้ำต่อไป แต่ก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” ปูมิ พูดทิ้งท้าย