ไม่ว่าใครก็พูดถึงเขียนถึงละคร ‘เลือดข้นคนจาง’ (2561, ทรงยศ สุขมากอนันต์) ทางช่อง One ที่ว่าด้วยฆาตรกรรมในครอบครัวใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบกงสี
แหม่…นานๆ ทีจะมีหนังฆาตรกรรม แนวสืบสวนสอบสวนล้วนๆ ไม่มีผีปน หรือละครครอบครัวที่ไม่ใช่เบาสมองแบบพ่อแม่ลูกปูย่าตายาย รักใคร่ผูกพันปรองดอง สุนทรียสนทนา พูดจาภาษาดอกไม้แทรกชาดก ที่ความรักอบอุ่นความเข้าอกเข้าใจเป็นแกนหลักของครอบครัวในการสลายความสลับซับซ้อนของความเป็นมนุษย์ลงไป
ยิ่งละครที่พูดถึงเรื่องสมาชิกในครอบครัวพี่น้องฆ่ากันเอง(มั้ง?) หรือความใคร่ในเครือญาตินี่แทบไม่มีให้เห็น ขณะที่ละครครอบครัวที่รักใคร่สนุกสนานเข้าอกเข้าใจแบบ ‘บ้านนี้มีรัก’ หรือ ‘เฮง เฮง เฮง’ ในทีวีก็แทบไม่มีให้เห็นในโลกแห่งความเป็นจริงเช่นกัน (ไม่นับละครสมาชิกในครอบครัวฆ่ากันเองประเภท แฟนตาซีเจ้าหญิงเจ้าชายครอบครัวชนชั้นปกครองที่ใช้ระบบสืบทอดบัลลังก์ อย่าง ‘ในฝัน’ ‘ลิขิตรัก the crown princess’ หรือละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่แก่งแย่งบัลลังก์ภายในราชวงศ์)
(อันนี้ส่วนตัว) และที่กรี๊ดไปกว่านั้น ภัทราวดี มีชูธน ผู้มี Charisma รุนแรงกลับมาแสดงละครทีวีอีกครั้ง หลังห่างหายละครบนจอแก้วไปนานถึง 1 ทศวรรษ เป็นดาราอีกคนที่ชอบตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่รายการทีวี ‘ธรรมดาที่ไม่ธรรมดากับภัทราวดี’ ดูตั้งแต่บทนางเอกหนังเรื่อง ‘ความรักครั้งสุดท้าย’ บทแม่ใน ‘น้ำพุ’ ‘บัลลังก์เมฆ’ มาจนถึงบทอาม่าในเรื่องนี้
เอาเข้าจริง ‘ครอบครัว’ ถือเป็นหน่วยทางการเมืองการปกครองย่อยๆ ที่ไม่เพียงจำต้องมีกติกา แต่ก็ยังมีความรุนแรงในตัวของมันเอง แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก ‘ความรุนแรง’ กันก่อนดีกว่า
ตามที่ Johan Galtung เขียนใน ‘Violence, Peace, and Peace Research’ (1969) ความรุนแรงแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1. ทางตรง (direct violence) เป็นความรุนแรงในเชิงกายภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง เป็นความทารุณที่มีผลในเชิงการทำร้ายร่างกายเห็นได้ชัดเจน เช่น บาดแผลจากการต่อสู้ ร่องรอยการข่มขืน รอยกระสุนปืน ความพิการจากอาวุธหรือระเบิด การตายจากการสังหาร[1]เช่นการใช้อาวุธปืนยิงประเสริฐ ความรุนแรงทางตรงไม่เพียงเน้นที่อวัยวะร่างกายตัวบุคคลแต่ยังรวมถึงจิตใจ แม้จะไม่ปรากฏบาดแผลแต่ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงทางตรงเช่นกัน[2]เช่นกักขัง หน่วงเหนี่ยว ลวนลาม ล้อเลียน ข่มขู่กลั่นแกล้ง ด่วนไล่ออกจากงานอย่างไม่มีเหตุผล
ความรุนแรงทางตรงมักมีอุดมการณ์เข้ามารองรับ หรือการใช้เหตุผลข้ออ้างเข้ามารองรับด้วยวิธีการแยกกลุ่มอัตลักษณ์ของตนเองออกจากอีกกลุ่ม เพื่อให้ง่ายและสะดวกใจต่อการใช้ความรุนแรง แบ่งเป็น ‘พวกเขา’ ซึ่งเป็นอื่นจาก ‘พวกเรา’ ในระดับและอัตลักษณ์ต่างๆ เช่นชนชั้น, ชาติพันธุ์, เพศ, ช่วงวัย เป็นต้น[3]
อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของความรุนแรงทางตรงมักถูกมองให้เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคู่กรณีเช่นพี่น้อง ทั้งที่มันก็เป็นผลผลิตของโครงสร้างสังคม เช่น ความแตกต่างเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีอำนาจเหนือกว่า ความเหลื่อมล้ำทางเพศ หรือระบบอาวุโส
2. ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) หมายถึงระบบหรือโครงสร้างที่ทำให้มนุษย์เกิดช่องว่างระหว่างศักยภาพของมนุษย์ (potentiality) กับสิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่จริง (actuality) หรือนำไปสู่การจำกัดทำลายศักยภาพของมนุษย์[4]เป็นการเอาเปรียบทางสังคม ที่ส่งผลต่อความไม่เท่ากันของ ‘ความเป็นคน’ ทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสถาปนาอำนาจตนเองเป็น ‘topdogs’ มีอำนาจเหนือกว่าผู้คนส่วนใหญ่ และส่งผลให้สังคมมีโครงสร้างและสถาบันที่พยุงสถานะแห่งความเหนือกว่า ขณะที่ปล่อยให้ผู้ที่ถูกเอาเปรียบดำรงชีวิตอยู่ในสภาพเสียเปรียบหรือยากลำบากอย่างไร้ทางออก มากไปกว่านั้นโครงสร้างนี้ยังพยายามแทรกแซงเหยื่อผู้เสียเปรียบ ผลักให้อยู่รอบนอบสังคมกระแสหลัก เพื่อรักษาสถานภาพของฝ่ายที่ได้เปรียบเชิงอำนาจให้คงความได้เปรียบไว้ให้นานที่สุด อีกรูปแบบของความรุนแรงประเภทนี้เรียกได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือความลำเอียง ที่กีดกันไม่ให้เขาถึงทรัพยากรทางสังคม[5]ความรุนแรงประเภทนี้ Galtung กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ดำรงอย่างต่อเนื่องในระยะเวลานาน แก้ไขเปลี่ยนแปลงยากที่สุด เพราะว่ามันได้สร้างวัฒนธรรมและชุดอธิบายต่างๆ มารองรับด้วย กลายเป็นอีกกระบวนการหนึ่งในการสร้างความรุนแรง อย่างเช่น การใช้ ‘ความรุนแรงทางวัฒนธรรม’
Johan Galtung ได้เสนอแนวคิด ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (cultural violence) ว่าเป็นการขยายการพิจารณาความรุนแรงออกจากคู่ตรงข้ามอย่างความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ครอบคลุมไปถึงแนวคิดด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และอธิบายให้เห็นถึงต้นตอและระดับความรุนแรงว่าเป็นความรุนแรงที่ลึกที่สุดหากเปรียบเทียบกับชั้นดิน ซึ่งความรุนแรงประเภททารุณกรรม เหตุการณ์การกระทำอันโหดร้ายเป็นเพียงความรุนแรงชั้นแรกที่ตื้นที่สุด เห็นได้ชัดและบ่อยที่สุด ชั้นที่ลึกลงมาเป็นความรุนแรงที่โครงสร้างและสถาบันทางสังคมคอยผลิตซ้ำตอกย้ำและยืนยันให้ดำรงอยู่ เป็นกระบวนการทำให้เกิดความรุนแรง และชั้นที่ลึกที่สุดก็คือ วัฒนธรรมความคิดความเชื่อที่ทำให้ ‘ความเป็นคน’ ไม่เท่ากัน เป็นความรุนแรงที่เปลี่ยนแปลงยากสุดทว่าคุ้นชินกับมันง่ายสุด มากไปกว่านั้นยังทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงชั้นบนทั้ง 2 ชั้น[6]เห็นได้จากการเลือกปฏิบัติทางเพศและระบบอาวุโส
เมื่อพูดถึงความรุนแรงในครอบครัว เรามักนึกถึงผัวซ้อมเมีย แต่ความจริงความรุนแรงในครอบครัวมีทั้งทางตรงในระดับพี่น้อง กับลูกกับหลานเชิงโครงสร้างและทางวัฒนธรรมในระดับการจัดสรรความสัมพันธ์
เหมือนกับที่ประเสริฐตบหน้าภัสสรหันกลางล็อบบี้โรงแรม ไม่เพียงแต่เป็นความรุนแรงทางตรง แต่ยังมีอุดมการณ์และโครงสร้างสังคมมารองรับ ในฐานะที่ภัสสรเป็นน้อง และไปแต่งงานไม่ได้ใช้นามสกุลร่วมกับประเสริฐ ภัสสรจึงไม่เพียงมีศักดิ์ต่ำกว่าประเสริฐแต่ยังกลายเป็น ‘คนอื่น’ หรือ ‘คนนอก’ ของ ‘จิระอนันต์’ แม้จะมี DNA ร่วมกัน เพราะใช้นามสกุล ‘สุริยะไพโรจน์’
ยิ่งครอบครัวขยายครอบครัวใหญ่ก็กระจายความรุนแรงกันไป ใครเป็นสะใภ้ใครเป็นเขย ไหนจะชนิดของหลาน ยิ่งครอบครัวผัวเดียวหลายเมียก็มีการจัดลำดับช่วงชั้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจสลับซับซ้อนไปอีก
และถ้ายิ่งยึดถือธรรมเนียมการจัดระเบียบภายในตระกูลอย่างเข้มข้น ความเป็นคนย่อมไม่เท่าเทียมกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถาบันครอบครัวเต็มไปด้วยการใช้อำนาจและจัดระดับชนชั้นระหว่างสมาชิกเหมือนกับที่คำว่า ‘Family’ มีรากศัพท์ภาษาลาติน familia ที่หมายถึงกลุ่มสังคมที่ผู้ชายปกครองผู้หญิง เด็กและทาสไม่เพียงจัดระดับคุณค่าความหมายความสูงต่ำผ่านเกิดก่อนเกิดหลัง แต่ยังกำหนดให้ผู้หญิงให้ต่ำกว่าและเป็นรองผู้ชายเหมือนกับเรียงแถวตามลำดับความสำคัญในพิธีกงเต็กที่เรียงลำดับชายมาก่อนหญิง พี่มาก่อนน้อง เพราะลูกชายย่อมสำคัญและมาก่อนลูกสาว แถมเมียของลูกชายยังมาก่อนลูกสาวอีกแน่ะ ซ้ำร้ายหลานชายคนแรกที่เกิดกับลูกคนแรกถือว่าเป็น ‘ตั่วซุง’ ได้รับการยกระดับแบบก้าวกระโดดให้เป็นลูกสุดท้ายของผู้ตาย และมีความสำคัญและมาก่อนลูกสาวแท้ๆ ของผู้ตาย
ในพิธีกงเต็ก ต่อจากพวกลูกซายและตั่วซุง พวกลูกสาวก็เรียงกันไป สะใภ้ ลูกสาวที่แต่งงานแล้ว ลูกสาวที่ยังไม่แต่ง กลายเป็นการจัดลำดับความสำคัญของผู้หญิงโดยมีผู้ชายเป็น reference ปิดท้ายด้วยเขยและหลานไปซึ่งก็มี การแบ่ง ‘หลานนอก’ ‘หลานใน’ อีก ผ่านลูกของลูกสาวกับลูกของลูกชาย เป็นการจัดลำดับความสำคัญโดยมีไม้บรรทัดเป็นลูกชายและสืบสกุลผ่านผู้ชาย
สถาบันครอบครัวเป็นอีกผลผลิตของระบบปิตาธิปไตย (Patriarchy) ครอบครัวที่พ่อเป็นใหญ่ ‘พ่อปกครองลูก’ (Pater ที่เป็น prefix ของคำนี้ เป็นรากศัพท์ของคำว่า father) ครอบครัวที่มีผู้ชายเป็นหัวหน้า มีอำนาจสูงสุด เป็นผู้ควบคุมกฎเกณฑ์และศูนย์รวมศรัทธา เป็นคุณพ่อผู้ประเสริฐและรู้ดีมาคอยให้โอวาท สั่งสอน ชี้ผิดชี้ถูก ลูกหลานก็ต้องเชื่อฟังตามอย่างว่าง่ายหากไม่ใช่พ่อจริงๆ ก็ต้องเป็นผู้ชายแล้วมีสถานะประหนึ่งพ่อเป็นพี่ใหญ่ พี่คนโต หรือผู้ชายที่อาวุโสกว่า
ในหน่วยการเมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยช่วงชั้นอย่างครอบครัว ด้วยโครงสร้างเช่นนี้จึงนำไปสู่การเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่ากันภายในสมาชิกในครอบครัว ลูกสาวรับความรักไม่เท่ากับลูกชาย จนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติผ่านการยื่นอาหารดีๆ ให้กิน ต่อให้ลูกชายจะสำมะเลเทเมาขี้เกียจไม่ทำการทำงาน กินเงินกงสีไปวันๆ แค่ไหน ยังไง้ยังไงก็ได้รับความสลักสำคัญมากกว่าลูกสาวที่ทำงานงกๆ อุทิศตัวให้ครอบครัว ไปจนถึงการเขียนพินัยกรรมแบ่งมรดกให้ลูกสาวแบบลำเอียงๆ ได้น้อยกว่าลูกชายเพราะถือว่าเป็นคนนอกของวงศ์ตระกูล เนื่องจากแต่งงานแล้วก็ต้องเปลี่ยนนามสกุลไปใช้ของฝ่ายเขย
ระบบสืบสกุลฝ่ายชายหรือแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายชายจึงทำให้ลูกสาวมักถูกมองว่าไม่ใช่ส่วนสำคัญของครอบครัวไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวที่เธอเกิดมาเพราะยังไงเธอก็จะถูกผลักให้ไปอยู่ตระกูลผัว แม้จะได้ค่าสินสอดมากมายแค่ไหนก็ตาม เพราะถือสะว่าเป็นค่าเลี้ยงดูในราคาเหมาๆ ขายขาดออกไป
การแต่งงานเข้าบ้านผู้ชายก็เป็นอีกผลผลิตหนึ่งของโครงสร้างปิตาธิปไตย เพื่อประกันความมั่นใจให้ฝ่ายชายว่า ลูกที่เกิดออกมาคือผู้สืบทอดวงศ์ตระกูลให้ฝ่ายชายจริงๆ ไม่ใช่ลูกที่เกิดกับชายคนอื่น ผู้หญิงจึงเปรียบเสมือนสมบัติของผัวและตระกูลผัว วัฒนธรรมเช่นนี้กระจัดกระจายไปทุกสังคมไม่เพียงแต่วัฒนธรรมจีน เหมือนกับที่เมื่อแรกมีกฎหมายให้ประชาชนมีนามสกุล พระราชบัญญัติขนานนามสกุลพ.ศ. 2456 ที่ผู้หญิงเมื่อแต่งงานก็ต้องไปแปะยี่ห้อด้วยนามสกุลผัว ขณะที่ในช่วงสมัยนั้นเป็นการแต่งงานเข้าบ้านผู้หญิง เจ้าบ่าวเมื่อแต่งงานแล้วต้องย้ายเข้าไปสังกัดตระกูลผู้หญิง
เช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาคำนำหน้านามสตรี พ.ศ. 2460 ที่คลอดตามมา เมื่อพวกผู้หญิงแต่งงานแล้วจะต้องเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อพวกเธอจาก ‘นางสาว’ เป็น ‘นาง’ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ามีผัวแล้ว ถูกครอบครองเป็นสมบัติอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของผู้ชายผู้หญิงจึงจะมีผัวหลายคนสังกัดหลายตระกูลไม่ได้ ตรงกันข้ามกับผู้ชายได้รับการยอมรับว่ามีเมียมากได้ มีเพศสัมพันธ์นอกกรอบศีลธรรมได้มากกว่า เหมือนกับที่ ‘ประเสริฐ’ มีทั้ง ‘คริส’ และ ‘นิภา’ เป็นเมีย
ครอบครัวจึงเรียกได้ว่าเป็นพาหะและท่อน้ำเลี้ยงของปิตาธิปไตย คืออีกสถาบันหนึ่งที่ก่อความรุนแรงแบบเนียนๆ ที่ตั้งคำถามมากไม่ได้ ทำให้เราคุ้นชินกับความรุนแรงทางเพศไปพร้อมกับกระทำความรุนแรงในแบบไม่รู้ตัว แม้แต่กับลูกผู้หญิงด้วยกันเอง เหมือนกับที่ คนคีบก้ามปูให้ลูกชายกินแต่ไม่ให้ลูกสาวกินเป็นคนเดียวกับที่เข้ามาปลอบประโลมให้ลูกสาวเข้าใจกับเงื่อนไขปิตาธิปไตยของครอบครัว ซึ่งก็คืออาม่าเอง
“ใครฆ่าประเสริฐ” อาจจะเป็นคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบขณะที่ละครยังไม่จบ แต่ขนบครอบครัวเช่นนี้สมาชิกส่วนใหญ่ก็ถูกฆ่า ‘ความเป็นคน’ อยู่แล้วทุกขณะจิตที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ที่การปฏิสังสรรค์กันระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่ถูกจัดลำดับคุณค่าไว้ให้อยู่แล้วไม่ต่างกับอยู่ในพิธีกงเต็ก
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (ผู้แปล). (2555). อัตลักษณ์และความรุนแรง Amartya Sen, identity and violence:The Illusion of Destiny (2006).นครปฐม : สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, น. 47.
[2] เรื่องเดียวกัน, น. 50-51.
[3] ชัยวัฒน์ สถาอนันท์. (2539). สันติทฤษฎี วิถีวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, น. 38-43.; ชัยวัฒน์ สถาอนันท์. (2549). อาวุธมีชีวิต? : แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, น. 32-38.
[4] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (ผู้แปล). (2555). อัตลักษณ์และความรุนแรง, Amartya Sen, identity and violence: The Illusion of Destiny (2006).นครปฐม : สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, น.60.
[5] เรื่องเดียวกัน, น. 75.
[6] ชัยวัฒน์ สถาอนันท์. (2549).อาวุธมีชีวิต? : แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, น. 53-55.