ประมาณตี 3 กว่าๆ ของวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.1964 ที่รัฐนิวยอร์ก แคทเธอรีน เจโนวีส (Catherine Genovese) หรือคิตตี้ อายุ 28 ปี ผู้จัดการบาร์กำลังขับรถกลับที่พัก ระหว่างขับรถนั้น ชายคนหนึ่งเห็นเธอเข้า จึงขับรถสะกดรอยตามไปเรื่อยๆ เมื่อเธอจอดรถ เขาก็จอดรถตาม เมื่อเธอเดิน เขาก็เดินตาม เมื่อเธอรู้สึกว่ามีใครตามมา เขายังไม่หยุด เมื่อเธอเริ่มออกวิ่ง เขาก็วิ่งตาม เมื่อเธอพยายามหนี เขากำลังไล่ล่า
ชายหนุ่มคว้าจับเธอได้ แล้วใช้มีดยาวแทงเข้าไปที่หลังเธอ 2 ครั้ง หญิงสาวเปล่งเสียงมาพร้อมน้ำตาว่า “พระเจ้าช่วย! เขาแทงฉัน ช่วยด้วย ช่วยด้วย” รอบๆ นั้นเป็นอพาร์ตเมนต์ที่พัก เสียงร้องของเธอน่าจะปลุกให้ใครหลายคนตื่น ไฟในห้องสว่าง มีคนเปิดหน้าต่างออกมาดู
พยานรายหนึ่งบอกกับนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ว่า ได้ยินเสียงผู้หญิงตะโกนขอความช่วยเหลือ มันไม่ใช่เสียงกรีดร้องเหมือนเสียงร้องไห้มากกว่า เขาจึงตื่นแล้วมองออกไปที่ถนน เห็นผู้หญิงคุกเข่าแล้วมีคนยืนค้ำตัวเธอ พยานเลยตะโกนไล่ “เฮ้ย! ออกไป ทำอะไรนะ!!” จากนั้นคนที่ยืนค้ำหญิงสาววิ่งหนีไป พยานเห็นว่าหญิงสาวลุกแล้วเดินไปต่อ
คนร้ายรับสารภาพในเวลาต่อมาว่า จังหวะนั้นเขาเหมือนเห็นคนยืนอยู่ใกล้หน้าต่างแล้วกลับไปนอน นั่นทำให้เขาโล่งใจ เมื่อหันไปมองลานจอดรถก็เห็นเหมือนมีคนจอดรถ ดังนั้นจึงเอาไอ้โม่งคลุมหน้า แล้วเดินหลบฉาก
แต่คนร้ายไม่ได้หนีหาย เขากลับมาหาคิตตี้อีกรอบ
เพราะยังไม่เสร็จกิจฆาตกรรม
เมื่อเขาพบคิตตี้นอนกองที่พื้น เธอพยายามคลาน เลือดไหลอาบพร้อมกับร้องไห้ขอความช่วยเหลือ คนร้ายตรงเข้าไปใช้มีดยาวแทงร่างคิตตี้หลายครั้ง เขาจำไม่ได้ว่าแทงไปกี่แผล (ข้อมูลจากตำรวจพบว่าเขาแทงไป 12 ครั้ง) แต่แทงจนเธอแน่นิ่ง จนเสียงร้องไห้จางหาย เขาจึงข่มขืนคิตตี้ปิดท้ายก่อนผละหนีไป
หลังเกิดเหตุไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ จนผู้บัญชาการตำรวจรัฐนิวยอร์กไปกินข้าวกับบ.ก. นิวยอร์กไทมส์แล้วเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง มันทำให้บ.ก. สนใจและเห็นประเด็นข่าว จึงส่งนักข่าวไปทำข่าวทันที ไม่นานหลังจากนั้น นอกจากเรื่องราวการเสียชีวิตของคิตตี้แล้ว มันยังมีประเด็นที่สะเทือนขวัญไปทั่วสหรัฐอเมริกา
เมื่อนักข่าวนำเสนอว่า ขณะเกิดเหตุฆาตกรรม มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์นี้ถึง 38 คน แต่ไม่มีแม้แต่คนเดียวจะสนใจ หรือโทรศัพท์เรียกตำรวจ รายงานข่าวเผยว่ามีพยานรายหนึ่งพูดออกไปว่า “อย่าไปสนใจเลย”
พลันที่ข่าวถูกนำเสนอออกไป สังคมอเมริกันกลับมาตั้งคำถามว่า “เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?” นักวิชาการต่างพยายามหาคำตอบในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง
มีหนังสือ บทความจำนวนมากเขียนถึงเหตุการณ์นี้ นักจิตวิทยาให้คำจำกัดความพฤติกรรมนี้ว่า ‘The bystander effect’ หรืออีกชื่อที่ตั้งตามนามสกลุของคิตตี้ว่า ‘Genovese syndrome’ พฤติกรรมนี้ถูกนิยามสั้นๆ ว่าคือ พฤติกรรมที่คนตระหนักรู้ถึงเหตุการณ์ร้ายแรง แต่กลับไม่มีใครลงมือช่วยแม้แต่คนเดียว
เพราะต่างคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง
ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่การตีความทางวิชาการเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยิวโดยนาซี การก่ออาชญากรรมในสงครามเวียดนาม แม้ทุกคนจะเห็นเหตุร้ายหรือเรื่องที่ไม่ชอบธรรม แต่กลับไม่มีใครกล้าค้าน กล้าพูด กล้าช่วยเหลือ ทุกคนตัดสินใจเพิกเฉย
นักวิชาการเคยจัดสัมมนาพฤติกรรมนี้แล้วยอมรับว่า พยานทั้ง 38 คนนั้นสะท้อนตัวเราเองเหมือนกัน หากเราอยู่ในเหตุการณ์ฆาตกรรมวันนั้น เราอาจเป็นเหมือน 38 คนก็ได้ คือไม่คิดจะช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น ถือเป็นอีกด้านมืดของตัวมนุษย์
เหตุการณ์และพฤติกรรมนี้นำไปสู่การค้นพบชีวิตสังคมเมืองในอเมริกาที่ทุกคนไม่รู้จักกัน ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ต่างคนต่างอยู่ เช้าไปทำงาน เย็นกลับที่พัก ไม่สนใจกันและกัน พอเกิดเหตุร้าย มันทำให้ไม่มีใครคิดจะช่วยเหลือกัน สภาพสังคมเมืองและพฤติกรรมดังกล่าว
มันทำให้เหตุอาชญากรรมในเมืองพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
มีคนพยายามหาคำตอบว่าทำไมทั้ง 38 คนถึงเพิกเฉยต่อการสังหารโหดนี้ พวกเขาคิดว่า คนเหล่านั้นต่างคิดว่าเสียงกรีดร้องนี้มาจากคนเมาทะเลาะกัน หรือไม่ก็คิดว่าเป็นคู่รักกำลังระเริงความสัมพันธ์ แต่ไม่ว่าอย่างไรมันก็สะท้อนสภาพสังคมเมืองที่คนไม่รู้จักกัน จึงไม่ผูกพัน หรือต้องมีความห่วงหาอาทรสนใจใยดีคนอื่น
อย่างไรก็ดีผ่านมาหลายปี ทางนิวยอร์กไทมส์ได้ออกมายอมรับ หลังมีคนลงพื้นที่ทำวิจัยค้นพบหาคำตอบในเหตุการณ์นี้แล้วชี้ว่า ข่าวของนิวยอร์กไทมส์ในตอนนั้นคลาดเคลื่อน จำนวนพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ฆาตกรรมน่าจะไม่ถึง 38 คน อีกทั้งข้อมูลบางอย่างก็อาจไม่ถูกต้อง แต่ความคลาดเคลื่อนตรงนี้ไม่อาจปิดบังความจริงถึงการเพิกเฉยของคนต่อเหตุการณ์ฆาตกรรมโหดนี้ได้
ข้อมูลบางส่วนเผยว่า สมัยนั้นการโทรศัพท์แจ้งตำรวจยังไม่มีเลขหมาย 911 ซึ่งเป็นเบอร์โทรด่วนต่อไปยังตำรวจ ซึ่งจะมีการจัดทำกันหลังเหตุสังหารโหดนี้ 4 ปี แต่รัฐนิวยอร์กมีสมาคมที่ช่วยกันลาดตระเวนป้องกันเหตุร้าย โทรศัพท์สามารถกดเลขศูนย์ เพื่อต่อไปยังโอเปอเรเตอร์และที่ว่าการเมืองซึ่งจะโอนสายไปให้โรงพักทันที
คิตตี้ถูกแทงครั้งแรก ถูกแทงครั้งที่สอง ถูกข่มขืน ผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมง เพื่อนข้างห้องคิตตี้จึงตัดสินใจโทรหาตำรวจหลังได้ยินเสียงกรีดร้องของผู้ตาย แต่ก่อนหน้านั้นเขาได้โทรไปหาเพื่อนต่างเมือง เพื่อขอคำแนะนำว่าจะทำอย่างไรดีกับเหตุการณ์นี้
ก่อนจะไปขอใช้โทรศัพท์ห้องหญิงชราแทนเพื่อแจ้งตำรวจ
เพราะเขาไม่อยากเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด
ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เดินทางมา มีเพียงหญิงชราวัย 70 ปีและผู้หญิงคนอื่นออกมาข้างนอกที่พักเท่านั้น หญิงชราจับมือคิตตี้ไว้ ขณะรอรถพยาบาลมารับตัวไป เธอเสียชีวิตระหว่างนำส่งไปโรงพยาบาล
หลังเกิดเหตุ ตำรวจออกสืบสวนคดี ผู้ต้องสงสัยรายแรก พวกเขาไม่ได้มองหาผู้ชาย แต่พุ่งเป้าไปที่ แมรี แอน ซีลองโก (Mary Ann Zielonko) ซึ่งเป็นรูมเมทของคิตตี้ โดยตำรวจมีข้อมูลและรู้ว่า แมรีไม่ใช่รูมเมทธรรมดา แต่เป็นคู่รักเลสเบี้ยนกับคิตตี้ ในสมัยนั้นการรักร่วมเพศยังไม่เปิดกว้าง คิตตี้และแมรีต่างบอกคนอื่นว่าเป็นเพื่อนร่วมห้องกัน
จากการสอบสวนแมรี ตำรวจพบว่าเธอหลับตลอดเหตุการณ์ หลายปีผันผ่านเธอยอมรับว่าเสียใจมาก เพราะอดีตคนรักกำลังจะกลับห้องแล้ว ถ้าเธอตื่นขึ้นก่อนหน้านี้เพียงนิดก็คงไปช่วยเหลือคิตตี้ได้ทัน นั่นเป็นสิ่งที่ติดค้างในใจเสมอมา
5 วันหลังเกิดเหตุ ตำรวจจับคนร้ายย่องเบาได้ จากการสอบสวนขยายผลพบว่า ชายคนนี้คือคนร้ายที่สังหารคิตตี้ ชื่อของเขาคือ วินสตัน โมสลีย์ (Winston Moseley) อายุ 29 ปี เป็นคนผิวสี ทำธุรกิจด้านเครื่องจักร
ระหว่างการสอบปากคำ เขายังเปิดเผยว่าได้ฆ่าหญิงสาวอีก 2 ศพ โดนทั้งสองศพนี้เหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วย เขารับว่าตัวเองขับรถออกจากบ้านตอนตี 3 ตระเวนหาเหยื่อในยามราตรีจนพบคิตตี้ จึงสะกดรอยไปก่อนก่อเหตุฆาตกรรม จากข้อมูลการสอบปากคำเขายังข่มขืนทำร้ายร่างกายผู้หญิง 8 คน ย่องเบาอีกกว่า 30-40 ครั้ง
เมื่อขึ้นศาล แม้จะไม่สามารถเอาผิดการฆาตกรรมหญิงสาว 2 คนก่อนหน้านี้ได้ แต่เขาก็ถูกตัดสินให้มีความผิดในการฆาตกรรมคิตตี้ ตัดสินต้องโทษประหารชีวิตด้วยการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า อย่างไรก็ดีขณะรอวันประหารชีวิต รัฐนิวยอร์กได้ยกเลิกการประหารชีวิตในปี ค.ศ.1965 โดยหากจะประหารชีวิตต้องดูเป็นกรณีไป โมสลีย์จึงรอดจากการจับนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าไปอย่างหวุดหวิด
ประธานผู้พิพากษาของรัฐเผยถึงคดีนี้ว่า
“ตัวเขาเป็นคนไม่เชื่อในโทษประหารชีวิต
ในคดีนี้ผมอาจจะแสดงความคิดเห็นไม่เหมาะสมไป
แต่เมื่อผมมองปิศาจตัวนี้
ผมไม่ลังเลที่จะสับสวิตช์เก้าอี้ไฟฟ้าด้วยตัวของผมเองเลย”
อย่างไรก็ดีกฎหมายย่อมต้องถูกใช้ปฏิบัติ โมสลีย์ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ภูมิหลังนั้นเขาเป็นคนหัวดีและฉลาด แต่มักสร้างปัญหา พ่อแม่แยกทางกัน โดยพ่อของเขานั้นก็ไม่ใช่พ่อแท้ๆ อีก เขาอยู่กับป้า สภาพชีวิตทำให้เขาเป็นเด็กมีปัญหา แต่งงาน 2 ครั้งและมีลูกด้วย เจ้าหน้าที่ถือว่าเขาเป็นฆาตกรต่อเนื่องชอบมีอะไรกับศพ เป็นบุคคลอันตรายเกินกว่าจะออกมาใช้ชีวิตดังคนปกติได้
ในปี ค.ศ.1968 ขณะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเรือนจำ เขาหนีออกมาได้ โดยการแย่งปืนผู้คุม 5 วันต่อมา เขาจับตัวประกัน 5 คน ข่มขืนผู้หญิงอีกราย ก่อนที่จะโดนเจ้าหน้าที่สอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอจับตัวไว้ได้ คราวนี้เขาโดนโทษเพิ่มอีก 2 กระทง กระทงละ 15 ปีรวม 30 ปี เรียกได้ว่ากว่าจะลดโทษ เขามีโอกาสจะตายในคุกอย่างแน่นอน ไม่เพียงเท่านั้นเขายังเป็นส่วนหนึ่งของการก่อจลาจลในเรือนจำในปี ค.ศ.1971 อีกด้วย
ปี ค.ศ.1977 โมสลีย์วัย 41 ปี สามารถเรียนจบปริญญาตรีสาขาสังคมวิทยา พร้อมกันนั้นเขายังได้เขียนบทความส่งไปลงหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ แสดงความเสียใจต่อครอบครัวและญาติมิตรของคิตตี้ โดยยืนยันว่าตัวเองเปลี่ยนเป็นคนใหม่แล้วและต้องการกลับคืนสู่สังคมปกติ
มันเป็นบทความที่เขียนแล้วก็จบไป การอ้อนวอนของฆาตกรรายนี้ไม่เป็นผล โมสลีย์ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำความมั่นคงสูงสุดใกล้กับชายแดนประเทศแคนาดา พยายามขอลดโทษถึง 18 ครั้งจนถึงปี ค.ศ.2015 ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ และหลังจากติดคุกมาถึง 52 ปี ซึ่งเป็นการติดคุกของนักโทษที่สูงสุดคนหนึ่ง ในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.2016 ในวัย 81 ปี นักโทษรายนี้ก็เสียชีวิตลง
น้องชายของคิตตี้เผยหลังจากทราบข่าว
การเสียชีวิตของคนร้ายที่ฆาตกรรมพี่สาวตัวเองว่า
“มันเป็นจุดจบของโศกนาฏกรรมในเรื่องนี้”
ผ่านไปหลายสิบปี ครอบครัวคิตตี้ได้ทำสารคดีเกี่ยวกับเหตุฆาตกรรมนี้ เพื่อจุดประสงค์ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่หลงลืมเหตุการณ์นี้ พวกเขาบอกว่าไม่ได้ต้องการตอกย้ำความเฉยเมยของสังคมเมือง แต่เพื่อต้องการให้เป็นอุทาหรณ์ครั้งสำคัญ เพื่อทำให้ทุกคนตระหนักในบาดแผลแห่งอดีต
ก็เหมือนครอบครัวที่มีคนใกล้ชิดถูกฆาตกรรม พวกเขาล้วนต้องการให้ครอบครัวของตัวเองเป็นครอบครัวสุดท้าย ที่ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องเลวร้ายนี้ น่าเสียดาย…ที่หลายปีผันผ่าน พวกเขาก็ยังไม่ใช่ครอบครัวสุดท้าย เพราะมีครอบครัวคนรู้จักคนใกล้ชิดอีกมากที่ต้องเผชิญกับเหตุฆาตกรรม
บางทีมนุษย์อาจไม่ได้มีด้านเลวร้ายแค่การเพิกเฉยไม่สนใจเท่านั้น เรายังมีด้านเลวร้ายที่ชื่อว่า ไม่เรียนรู้ ไม่จดจำ มันจึงเกิดเหตุสะเทือนขวัญอันนำไปสู่โศกนาฏกรรมความรุนแรงซ้ำแล้ว…ซ้ำเล่า…