บ่ายวันที่ 27 มี.ค.2565 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล แถลงเปิดตัวนโยบายหลัก 12 ด้าน เพื่อสร้าง ‘เมืองที่คนเท่ากัน’ ประกอบด้วย
- สวัสดิการคนเมือง เพื่อโอบอุ้มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท/คน/เดือน เพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กเล็กเป็น (อายุ 1-6 ปี) 1,200 บาท/คน/เดือน เพิ่มเบี้ยคนพิการเป็น 1,200 บาท/คน/เดือน
- วัคซีนฟรีจากภาษีประชาชน เน้นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และปอดอักเสบฟรี
- งบที่คน กทม. เลือกเองได้ โดยดึงเงินจากส่วนกลาง แบ่งให้ชุมชนละ 500,000-1,000,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของชุมชน เขตละ 50 ล้านบาท และเงินส่วนกลาง 200 ล้านบาท ให้ฝันร่วมกัน
- บ้านคนเมือง สร้างที่อาศัยราคาถูกในตัวเมือง 10,000 ยูนิตใน 4 ปี มีสัญญาเช่า 30 ปี เพราะถ้าประเทศไทยมีบ้านพักให้นายพลอยู่จนหลังเกษียณได้ ก็ต้องมีบ้านให้ประชาชนทั่วไปอยู่ได้เช่นกัน
- ลดค่าครองชีพด้วยค่าเดินทางที่ทุกคนจ่ายไหว สร้าง ‘ตั๋วคนเมือง’ ซื้อตั๋ว 70 บาท ใช้ได้ 100 บาท สนับสนุนให้คนหันมาใช้รถเมล์ใน กทม. เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามเส้นทางเดินรถด้วย นอกจากนี้ ยังค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผลักดัน ‘ตั๋วร่วม’ 15-45 บาทตลอดสาย
- ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่ ที่ปัจจุบันจ่ายอยู่หลักหมื่นบาท เอาไปปรับปรุงการเก็บขยะครัวเรือน นอกจากนี้ จะไปแก้ปัญหาโรงกำจัดขยะที่อ่อนนุช ซึ่งสร้างผลกระทบกับชุมชนโดยรอบ
- อัพเกรดศูนย์เด็กเล็ก กทม. ให้มีคุณภาพดีเท่าเอกชน โดยตั้งงบปีละ 5 ล้านบาท ตลอดทั้ง 4 ปี เพิ่มงบอาหารกลางวัน สื่อ ของเล่น ปรับปรุงอาคาร รวมถึงต้องบรรจุครูพี่เลี้ยง รวมๆ ใช้งบกราว 1,500 ล้านบาท แพงกว่าคลองช่องนนทรีนิดเดียว
- สร้างการศึกษาที่ทุกคนวิ่งตามความฝันของตัวเองได้ สร้างโรงเรียนปลอดการกลั่นแกล้ง (bully free school) ลงทุนสื่อการสอนออนไลน์คุณภาพ และแจกคูปองตาสว่างให้เด็กๆ ไปเปิดโลกทัศน์ ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน
- ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง ด้วยงบปีละ 2,000 ล้านบาท
- เปลี่ยนที่รกร้าง เป็นสวนสาธารณะ โดยใช้กลไกภาษีที่ดินเปลี่ยนที่ปลูกกล้วยเป็นสวนสาธารณะ
- ทางเท้าดีเท่ากันทั่ว กทม. โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจรับงาน
- เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ เปิดช่องทางร้องเรียน เปิดข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง ให้หน่วยงานภายนอกมาร่วมประเมิน และพา กทม. เข้าร่วมภาคีความร่วมมือรัฐบาลเปิด (open government partnership)
“ทั้ง 12 นโยบายเกิดภายใต้หลักคิดเมืองที่คนเท่ากัน โดยเชื่อว่าการที่คนเท่ากันจะเป็นบันไดขั้นแรกของเมืองที่มีความหวัง สามารถให้โอกาสในการตั้งตัวและคุณภาพชีวิตที่ดี
“ท่ามกลางความขัดแย้ง คน กทม. ไม่ได้ต้องการผู้ว่าฯ ที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่การเมือง แต่ต้องเป็นผู้ว่าฯ ที่พร้อมเลือกยืนเคียงข้างประชาชน ต่อสู้เพื่อคนที่ถูกเอารัดอาเปรียบ และยืนยันอย่างหนักแน่นว่า วันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นวันที่อำนาจของประชาชนถูกปล้นไป แต่วันที่ 22 พ.ค. 2565 จะเป็นจุดเริ่มต้น กทม. จะเป็นโดมิโน่ตัวแรกในการประกาศว่าคนไทยจะไม่ยอมถูกใครขโมยความฝันไปอีก” วิโรจน์กล่าวสรุป
#BKK65 #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #วิโรจน์ #TheMATTER