“กทม.ได้ดูแลและสร้างโอกาสให้เด็กซึ่งเติบโตมาในเมืองที่เราเชื่อกันว่าเป็น ‘เมืองแห่งโอกาส’ ทำให้เด็กเข้าถึง learning space ได้มากน้อยแค่ไหน”
ในมหานครที่ความเจริญของประเทศกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่นี้ ‘ความฝัน’ ของเด็กๆ มีที่ทางให้เติบโตมากแค่ไหน?
แทบจะเป็นปัญหาคลาสสิกที่ทุกคนรู้กันดี เมื่อระบบการศึกษาใน กทม. เมืองหลวงของประเทศ ยังคงมีปัญหาต่างๆ อีกมากมาย จนทำให้ประเด็นเรื่องการศึกษา เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนจับตามองในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะถึงนี้
‘ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล’ จากกลุ่มครูขอสอน กล่าวว่า มีโรงเรียนประถมในสังกัด กทม. 400 กว่าแห่ง ดังนั้น การศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นภาคบังคับในพื้นที่นี้ มีหน่วยงานท้องถิ่นเป็นคนช่วยดูแลอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวก็ยังเชื่อว่า มันสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้ ทั้งในเรื่องของการเข้าถึง คุณภาพ และบุคลากร
“ใน กทม. หลายคนอาจเป็นประชากรแฝง แต่มาใช้ชีวิตอยู่ใน กทม. เพื่อทำงาน ดังนั้น ด้วยระบบที่เป็นเมือง โรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กจะเป็นจุดที่ช่วยดูแลและสนับสนุนให้เด็กเกิดพัฒนาการได้ รวมถึงพ่อแม่ที่ไม่มีต้นทุนหรือเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทำงานหาเช้ากินค่ำ ก็มีปัญหาว่า เขาไม่มีองค์ความรู้ในการดูแลเด็ก และไม่มีเวลา ดังนั้น กทม. ควรที่จะต้องมาดูแลในตรงนี้”
ครูทิวประเมินผลงานของ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมาด้วยว่า ปัญหาเรื่องนี้ยังคงเกิดขึ้น ทั้งยังชวนมองถึงการศึกษานอกระบบโรงเรียน และแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ใน กทม. ซึ่งมีไม่เพียงพอ และไม่เอื้อให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้
“อย่างเด็กเล็ก อยากจะเติบโต เดินเล่น มีพัฒนาการที่ดี ต้องไป KidZania เหรอ เด็กๆ ส่วนใหญ่สามารถเข้า KidZania ในห้างได้ไหม แล้วในพื้นที่ส่วนใหญ่ คนจนเมืองต่างๆ สามารถเข้าถึงอะไรที่มีคุณภาพทัดเทียมแบบนี้ได้หรือเปล่า”
นอกจากนี้ เขายังมองอีกว่าประเด็นเรื่องการศึกษา เป็นปัญหาคลาสสิกที่คนพูดถึงมาก ขณะเดียวกัน มันก็ดูเป็นปัญหาที่ค่อนข้างนามธรรม ทำให้ไม่เซ็กซี่เวลานำเสนอ จึงไม่ได้เป็นจุดขายหลักในการหาเสียงของผู้สมัครหลายคน
“ผมก็อยากเห็นผู้ว่าฯ กทม. ที่เห็นว่าการศึกษาจะเป็นตัวช่วย เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้ และการเข้ามาในระบบก็ต้องได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ไม่ใช่แค่โอกาสเข้ามาโรงเรียนแล้วโรงเรียนจะทำยังไงก็ได้ ซึ่งโรงเรียนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทำยังไงถึงจะมีคุณภาพ ทั้งในแง่ของวิชาการ และแง่ของการเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งในแง่ของ อารมณ์ สังคม จิตใจ ให้กับเด็ก ตรงนี้สำคัญ”
“อีกเรื่องคือ learning space ทุกที่ควรจะเป็นที่ที่เรียนรู้ได้ แล้วทุกคนเข้าถึงได้ และสุดท้ายก็คือ การที่ผู้ว่าฯ กทม. จะมองเห็นว่าในเมืองนี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาแบบโครงสร้างอย่างเดียวที่ต้องจัดการ แต่มันคือโครงสร้างทางสังคมด้วยที่เหลื่อมล้ำด้วย ทำยังไงให้เรื่องของระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ของ กทม. การจัดสรรงบประมาณ จะมาช่วยให้คนเข้าถึงโอกาสให้คนเท่ากันมากขึ้น ไม่เป็นการกระจุกตัว หรือทุ่มเททรัพยากรให้กับแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทำให้คนที่เข้าถึงโอกาสน้อยกว่าได้เข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกัน”
ไม่เพียงเท่านี้ ครูทิวยังมองว่า ปัญหาการศึกษามีมิติที่โยงใยไปกับมิติอื่นๆ ในสังคมอีกมาก เช่น ด้านเศรษฐกิจ พ่อแม่จะสามารถส่งลูกเรียนได้อย่างสบายใจไหม หากต้องมาพะวงว่าจะหาค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหาร หรือเรื่องของความปลอดภัย ที่เด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ต้องคอยระแวงระวังอยู่ตลอดเวลา
“ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเห็นปัญหาเป็นระบบและองค์รวม เวลาเราพูดปัญหาเรื่องนึงมันสามารถไปต่อยอดกับปัญหาอื่นๆ ได้อีก ดังนั้น ถ้าเกิดว่าชูมาได้ว่า ตรงไหนที่เป็นจุดคันงัดที่สำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาหลายๆ ประเด็นได้ ผมว่านี่คือสิ่งที่น่าสนใจ และอยากจะเห็นจาก ผู้ว่าฯ กทม.” ครูทิวสรุป
- ติดตามซีรีส์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของ The MATTER ได้ที่: https://thematter.co/category/bkk65
#BKK65 #Quote #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #การศึกษา #TheMATTER