“ควรจะปรับปรุงห้องสมุด ให้เป็น co-working Space ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย พร้อมทั้งเพิ่มหนังสือในห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดชุมชนให้มากยิ่งขึ้น ขยายเวลาการให้บริการของห้องสมุดและห้องสมุดเคลื่อนที่”
คือสิ่งที่วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล กล่าวเสนอไว้เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2565 ถึงนโยบายสนับสนุนการอ่าน ในงานเสวนา ‘(ว่าที่)ผู้ว่าฯ อ่านอะไร: วิสัยทัศน์และนโยบายเกี่ยวกับหนังสือ’ ที่งาน Summer Book Fest
วิโรจน์ระบุว่า คำพูดว่า “คนไทยอ่านหนังสือ 8 บรรทัดต่อปี” เป็นมายาคติ คนไทยอ่านหนังสือน้อย ไม่ใช่คนไทยไม่อ่านหนังสือ เพียงแต่คนไทยเข้าถึงหนังสือได้ยาก และทำให้คนไทยเข้าถึงหนังสือได้สะดวกขึ้น
เขายังชี้ว่า ถ้าเราไม่ส่งเสริมให้มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ เสรีภาพในการแสดงออก และการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เราจะไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงได้เลย
ระหว่างการเสวนา วิโรจน์ได้ตอบคำถามทำอย่างไรให้คนกทม. เข้าถึงหนังสือว่า ห้องสมุดต้องเป็นสถานที่ที่เก็บหนังสือที่คนอยากอ่านมากกว่าจะเป็นสถานที่เก็บหนังสือโฆษณาชวนเชื่อ หนังสือที่ใช้การไม่ได้ 70% เป็นหนังสือที่ไม่เหมาะกับความต้องการของคนอ่าน หากหนังสือหลากหลาย เอาหนังสือขายดีอย่าง ‘ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี’ หรือ ‘ประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง’ ที่เด็กวัยรุ่น คนรุ่นใหม่เขานิยมอ่านมาเข้าห้องสมุด คนก็จะเข้าห้องสมุดมากขึ้นแน่นอน
เมื่อขอให้แนะนำหนังสือ 1 เล่มเข้าห้องสมุด กทม. วิโรจน์ได้ยกหนังสือเรื่อง ‘ตาสว่าง’ กราฟิกโนเวล โดยนักเขียนชาวอิตาเลียน Claudio Sopranzetti ซึ่งสะท้อนสภาพสังคมไทยในบริบท กทม. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525- 2555 วิโรจน์ให้ความเห็นว่า หนังสือเล่มนี้สะท้อนภาพคนเมืองที่ไม่ได้รับสวัสดิการทางสังคม พร้อมชูไฮไลท์การต่อสู้ของคนเสื้อแดง ทำให้เข้าใจวิธีคิดของคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นความต้องการที่จะเห็นเมืองที่คนเท่ากัน และจุดนี้ก็เป็นความต้องการในการสร้างเมืองที่คนเท่ากันของตนเช่นกัน ถือว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้มาก่อนกาลที่ยืนยันว่าหากไม่แก้ปัญหาที่โครงสร้าง เมืองก็จะเจอปัญหาแบบนี้ต่อไป คุณภาพชีวิตคนจะย่ำแย่ต่อไป
- ติดตามซีรีส์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของ The MATTER ได้ที่: https://thematter.co/category/bkk65
#BKK65 #Quote #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #การอ่าน #วิโรจน์ #TheMATTER