“ครอบครัวคน กทม. ถูกข่มขืน ถูกรังแก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกวันๆ จนคุ้นชินไปแล้วว่า เราไม่สามารถเปลี่ยน กทม. เราไม่สามารถเปลี่ยนอนาคตของลูกหลานคน กทม. ได้ แต่ท่านที่เคารพครับ ผมเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนอนาคตของลูกหลาน ..เปลี่ยน กทม. เราทำได้ครับ”
คือคำปราศรัยตอนเปิดตัวว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ภายใต้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ของ เอ้–สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2564 ที่หลังจากนั้นคน กทม. คงจะได้เห็นหน้าตาของเขาอยู่บ่อยครั้ง ผ่านป้ายแบนเนอร์ที่ติดไว้ทั่วกรุง หรือในจอโฆษณาบนรถไฟฟ้า
ก่อนจะมาสู่เส้นทางการเมือง สุชัชวีร์เคยเป็นอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ระหว่างปี 2558-2564 และยังเคยเป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในปี 2561 ที่เปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจาก admission เป็น TCAS จึงถูกพูดถึงในหลากหลายแง่มุม ทั้งบวกและลบ
หลังประกาศตัวลงสมัครไม่นาน สุชัชวีร์ก็ถูกตรวจสอบว่าร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ หลังตัวเลขทรัพย์สินในบัญชีที่ยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช. เพิ่มจากราว 74 ล้านบาท ในปี 2561 มาเป็นราว 342 ล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งเจ้าตัวชี้แจงว่า มีทรัพย์สินเพิ่มหลายร้อยล้านบาท เพราะรวมกับทรัพย์สินของภรรยาที่เพิ่งจดทะเบียนสมรสเข้าไปด้วย
ไม่รวมถึงกรณีกล่าวอ้างว่า เป็น ‘ทายาทสายตรงไอน์สไตน์’ จากกรณีเป็นลูกศิษย์ของเฮอร์เบิร์ต ไอน์สไตน์ (Herbert Einstein) สมัยเรียนปริญญาเอกที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ก่อนได้รับการเฉลยว่า อาจารย์ของเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพ
เรียกได้ว่าชายวัย 49 ปีคนนี้ มีประเด็นให้พูดถึงเต็มไปหมด
โดยเฉพาะเรื่องของบุคลิกส่วนตัว ที่เป็นคนคุยเก่ง ช่างพรีเซ้นต์ โดยเฉพาะการเล่าเรื่องประวัติการทำงาน และนั่นก็เป็นคำถามแรกของ The MATTER หลังมีโอกาสไปนั่งพูดคุยกับผู้ที่เรียกตัวเองว่า ‘พี่เอ้’ ถึงบ้านพักส่วนตัว ที่เขาออกแบบสร้างด้วยตัวเองในฐานะ ‘วิศวกร’ โดยได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนจากบ้านของ Iron Man ตัวละครสมมติในชุดภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวล
[ หมายเหตุ: เราพยายามแทนคำเรียกแทนตัวเองของสุชัชวีร์ ทั้ง “พี่” และ “พี่เอ้” ไว้ เพื่อให้ได้อรรถรสเหมือนมานั่งฟังเจ้าตัวพูดด้วยตนเอง ]
มีเสียงวิจารณ์ว่า คุณสุชัชวีร์ชอบพูดเรื่องของตัวเอง
ต้องบอกอย่างนี้นะว่า วันนี้มาเปิดตัวมาสมัครงาน (เป็นผู้ว่าฯ กทม.) ก็เลยต้องไล่ให้ฟังว่าเราทำอะไรมาแล้วบ้าง ทำอะไรสำเร็จบ้าง จบจากที่ไหนมา มาจากที่ไหน แล้วตรงนี้ไม่แปลกหรอก เพราะว่านั่นคือการสมัครงาน
ก็เลยจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องตัวเองเยอะหน่อย
ถูกต้อง แล้วผมก็พูดถึงในช่วงที่เปิดตัวเท่านั้น เพราะตอนเปิดตัวก็ต้องเล่าให้ฟังว่าเราทำอะไรมาบ้าง เราดีพอที่จะมาทำหน้าที่นี้ ถูกไหมครับ ไม่เช่นนั้นแล้วคนที่เขาจะรับ เขาก็ไม่รู้จักว่าเป็นใคร เห็นหน้าเห็นตาอย่างเดียวก็ไม่พอ ก็เลยต้องเล่าให้ฟัง ไม่ได้มีจุดประสงค์อื่น แนะนำตัว เปิดตัว เพื่อขอสมัครงานเท่านั้นแหละ
คิดอย่างไรกับคำกล่าวว่า คุณสุชัชวีร์เป็นคน ‘ขี้โม้’
เจอข้อหานี้มาตลอด คำว่าขี้โม้คือพูดแล้วทำไม่ได้ใช่ไหม แต่ที่พูดมาก็คือส่วนที่เราทำสำเร็จมาแล้วในอดีต ในฐานะผู้บริหารในหลายองค์กร ในฐานะนักวิชาการ วิศวกร
และที่พูดถึงในอีกหลายๆ เรื่อง ก็เป็นวิสัยทัศน์ที่เมืองอื่นก็ทำมาได้แล้ว เพราะฉะนั้นในช่วงเปิดตัวก็จะเล่าให้ฟังว่า โตเกียวเขาแก้ปัญหาน้ำท่วมได้นี่นา ทั้งที่เจอเรื่องที่หนักกว่าเรา ปักกิ่งก็สามารถแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้ ทั้งที่เคยเจอหนักกว่าเรา ก็เป็นเรื่องที่ตัวเองเคยทำมา มีประสบการณ์พอที่จะมีความรู้ความสามารถแล้วทำสำเร็จมาแล้ว และวิสัยทัศน์ก็เป็นเรื่องที่คนอื่นที่มีปัญหายิ่งกว่าเราทำสำเร็จมาแล้วด้วยกัน
ดังนั้น จะเรียกว่าโม้ไม่ได้ แล้วอยากจะบอกว่าคนเราเนี่ยก็ต้องมองให้ไกลที่สุด
แล้วทำไมถึงมาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.
มีความตั้งใจมาตั้งแต่ตอนอายุประมาณสัก 20 ปีนิดๆ ตอนที่ผมเรียนที่วิศวะ ลาดกระบัง มีโอกาสทำโปรเจกต์เรื่องวิธีการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน แล้วก็ได้โอกาสไปพบผู้ว่าฯ กทม. ไปนำเสนอ โครงการเพื่อแก้ปัญหาการจราจร ตั้งแต่วันนั้นไม่มีโครงการอะไรเลย พอไปเจอผู้ว่าฯ กทม. แล้ว ก็ประทับใจ ท่านก็เขียนจดหมายรับรองไปเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอกที่ต่างประเทศ แล้วก็ได้กลับเข้ามาทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง กทม. นี่แหละ
ต้องบอกว่าเรื่องของ กทม. เป็นงานเฉพาะจริงๆ เมื่อมีความมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว มีโอกาสไปเรียน แล้วก็ไปเรียนในสาขาตรงด้วยนะ เรียนวิศวโยธาที่เน้นเกี่ยวกับเรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องโครงสร้างใต้ดิน แล้วเราก็มีโอกาสได้เป็นหนึ่งในคนที่ทำรถไฟฟ้าใต้ดิน มีโอกาสมาออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดิน สะสมความรู้ประสบการณ์ที่เกี่ยวกับงาน กทม. โดยตรงมา อันนี้พูดถึงงานวิศวะนะ
เช่นเดียวกันก็เป็นวิศวกรอาสา จะเห็นผมเวลามีน้ำท่วม แผ่นดินไหว โรงงานระเบิด ป้ายล้ม ก็ออกไปช่วยคนมาโดยตลอด ตรงนี้แหละครับ ก็เห็นว่ามันเป็นงานที่ตรงกับ กทม. แล้วเราก็ทำมาต่อเนื่องตลอด 30 ปี นั่นก็คืองานช่าง
ส่วนงาน กทม. ต้องเป็นงานพ่อบ้านแม่บ้าน นอกจากปะให้ถูกที่ถูกจุด สร้างให้มันใช่ ก็เป็นงานพ่อบ้านแม่บ้าน งานพ่อบ้านแม่บ้านคืออะไร คือต้องดูแลลูก ลูกก็คืออะไรการศึกษา ก็ทำเรื่องการศึกษามาตลอด 30 ปีใช่ไหม ไปเรียนหนังสือ กลับมาเป็นอาจารย์ ไปเป็นผู้บริหาร ทำโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนสาธิต พัฒนามหาวิทยาลัย
เช่นเดียวกันก็ต้องดูพ่อแม่ที่แก่เฒ่า ตอนนี้ใน กทม. ก็ถือว่าเป็นครอบครัวที่มีผู้สูงอายุเยอะ ผมก็มีโอกาสทำคณะแพทย์ คณะทันตะ มีโอกาสสร้างโรงพยาบาลจากศูนย์เลย จากน้ำใจของพี่น้องประชาชน ไม่ได้พึ่งรัฐเลย ทำเครื่องมือแพทย์ หลายๆ คนอาจจะจำได้เรื่องทำ ventilator เครื่องช่วยหายใจขนาดเล็ก ทำ high flow ช่วยโควิด แล้วก็แจกจ่ายไป
ก็เห็นว่าตรงนี้ก็เป็นงานพ่อบ้านแม่บ้านที่เราก็พอมีความรู้มีประสบการณ์ ทั้งในฐานะช่าง ในฐานะพ่อบ้านแม่บ้านมารวมกัน เลยคิดว่าเราสามารถช่วยเปลี่ยน กทม. ให้ดีขึ้นได้ จากความรู้ประสบการณ์ที่เราสะสมมา รวมทั้งสำคัญที่สุดก็คือแพชชั่นที่มีมาอยู่ตลอด ตรงนี้สำคัญที่สุดนะครับ
ในฐานะที่มาสมัครงาน ขอถามคำถามแบบ HR หน่อยว่า ทำไมคน กทม. ถึงควรเลือกคุณ
เพราะว่างานผู้ว่าฯ กทม. นั้นเป็นงานเฉพาะที่สำคัญมากๆ เป็นงานที่ต้องไปแก้ปัญหา ถ้าทางด้านเทคนิค เราเห็นว่า กทม. มีปัญหาทางเทคนิคเป็นหลักเลย ฟุตบาท ทางเท้า ถนนทรุด ท่อน้ำ การระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบสูบน้ำ ตลิ่ง PM2.5 สวนสาธารณะ รถติด รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยที่ต้องเกี่ยวกับระบบเทคนิค เพราะฉะนั้นแล้วการที่จะมาสมัครงานเฉพาะแบบนี้ ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านนี้ดีทีเดียว
ประหนึ่งว่าการที่จะเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ถ้าเกิดบอกว่าเป็นแค่งานบริหารมันคงไม่ได้ ถ้าเกิดเป็นหมอแล้วเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลด้วย ก็น่าจะบริหารได้ดี เหมือนการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน จะบอกว่ามีความสามารถในการบริหารคน แล้วมาบริหารได้ ก็อาจจะไม่พอ มันควรเป็นครูด้วย หรือทำงานครูมาก่อน
ฉันใดฉันนั้นงาน กทม. เป็นงานเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานเทคนิค ถ้าเกิดว่าคนมาสมัครงานนี้ไม่มีความรู้ความเข้าใจ มีประสบการณ์ทางด้านเทคนิคลึกๆ ผลที่ตามมาก็คือ หนึ่ง ถูกหลอก สอง ทำงานได้ไม่เต็มที่ สาม ต้องไปสาละวน อาจจะซ่อมผิดที่ สร้างผิดจุด
เช่นเดียวกัน ผมมีฐานะเป็นคน กทม. ที่เป็นพ่อคนหนึ่ง มีลูกเล็กอายุ 3 ขวบกว่า ก็มีความเข้าใจว่าเราห่วงลูกเป็นยังไง เราไม่อยากให้ลูกเรียนไกล เราอยากให้ลูกเราเติบโต สุขภาพแข็งแรง สูงใหญ่ มีอาหารการกินที่ดี ไปโรงเรียนที่ดี ใกล้บ้าน แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็อายุ 85 ปี เราก็เข้าใจเลยว่า พ่อแม่จะลำบากมาก ถ้าเกิดไปหาหมอ แล้วต้องไปรอคิวไกลบ้าน เพราะสาธารณสุขใกล้บ้านยังไม่ดี
แล้วในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่คนนึง อยู่กับคนรุ่นใหม่มาตลอด ก็รู้เลยว่าจริงๆ แล้วทุกคนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ไม่อยากจะมาทำอะไรเดิมๆ ปัญหาฝนตก น้ำท่วม รถติด ฝุ่นพิษ พูดกันมาตั้งนานแล้ว อยากให้มันจบในรุ่นเรา หรืออย่างน้อยที่สุดมันก็เริ่มในรุ่นเราได้ โดยเฉพาะเรื่องของน้ำหนุน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อันตรายตายจริง ถ้าเกิดเราไม่คิดทำอะไร
ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนสำคัญที่อยากให้ท่านเห็นว่าผมมีความตั้งใจ แล้วก็มีประสบการณ์พอที่จะมีความรู้ แล้วผมมีความกล้านะ ไม่กลัวเจ็บ เพราะการที่จะเปลี่ยนแปลง กทม. จริงๆ มันเจ็บนะ มีองค์กรไหนเขาจะเห็นว่ากล้าทำ จะเห็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง เป้าหมายเป็นเรื่องที่ต้องสำคัญ การดูแลคนส่วนใหญ่โดยภาพรวมเนี่ย มันต้องมีความกล้าหาญ แต่ถ้าเกิดกลัวเจ็บ มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรอก
สุดท้ายคือในวัยที่กำลังพอดี เพราะงาน กทม. เป็นงานโหดนะ ดูสิดำขึ้นเลย (ยื่นแขนให้ดู) ถ้าเกิดเราไม่ไปดูสถานที่จริงมันไม่มีทางเลย มันเป็นงานที่ต้องลงพื้นที่ใกล้ชิด ต้องได้เห็น ได้ฟัง ได้คิดอยู่ตรงนั้นเลย เพราะฉะนั้นวัยที่เหมาะสมมันจะเป็นวัยช่วงนี้ 40 ปลายๆ ถึง 50 ปี ต้องยอมรับเลยว่ามันเป็นงานเหมือนช่างหรือพ่อบ้าน จะดูแลทุกคนได้ จะดูแลงานที่เป็นช่างได้ ร่างกายต้องแข็งแรง
ผมก็คิดว่าผมพอที่จะมีคุณสมบัติ คือเรื่องความรู้ประสบการณ์ในทุกมิติ ความกล้าหาญที่ต้องต่อสู้กับปัญหา แล้วสุดท้ายก็คือสุขภาพร่างกายและอายุที่คิดว่ามันพอดีๆ
ถ้าได้เป็น ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายจะทำอะไรบ้าง?
เขาบอกว่ากฎของการบริหารให้ประสบความสำเร็จมี 3 ข้อ ข้อแรกคือโฟกัส! ข้อที่สองคือโฟกัส!! ข้อที่สามคือโฟกัส!!! เหมือนถ่ายรูปถ้าเกิดไม่โฟกัสรูปมันก็ไม่สวย ฉันใดฉันนั้น กทม. เข้ามามันต้องโฟกัส ทำหลายเรื่องมากเกินไปก็จะไม่มีทางทำได้ดี เพราะในช่วงเวลา 4 ปีของวาระผู้ว่าฯ กทม. มันต้องโฟกัสจริงๆ
ที่นี้ผมโฟกัส 2 เรื่อง อยากจะบอกก่อนว่าตอนที่เปิดตัวก็บอกวิสัยทัศน์ชัดเจน คือเราจะอยู่ตรงไหนวิสัยทัศน์สำคัญมาก สำหรับผมแล้ววิสัยทัศน์ชัดเจนก็คือต้องการเปลี่ยน กทม. ให้เป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย เป็นต้นแบบของอาเซียน นี่พูดในวันที่ 13 ธ.ค.2564 เลย ‘สวัสดิการ’ คือคนมาก่อน ฟรีแต่ต้องดีมีคุณภาพ ‘ทันสมัย’ คือการคิดแบบเดิมทำแบบเดิมมันเปลี่ยน กทม. ไม่ได้หรอก เพราะเดี๋ยวนี้ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามา ถ้าเกิดว่าที่เปิดปิดประตูน้ำยังเอาคนไปไข ปั๊มน้ำคนยังต้องไปไขกุญแจ ไปเติมน้ำมัน มันไม่ทันท่วงที หรือการบริการยังต้องเป็นเอกสารอยู่ เพราะฉะนั้นการทำงาน กทม. ต้องมีรูปแบบที่ทันสมัย แล้วสุดท้ายคือเป็นต้นแบบของอาเซียน
พอเป็นวิสัยทัศน์แล้ว ก็ต้องเป็นกรอบนโยบาย มี 2 อย่าง หนึ่งก็คือ ‘เปลี่ยนชีวิตคน’ อีกข้างหนึ่งก็คือ ‘เปลี่ยนเมือง’ เพราะเชื่อว่าถ้าเกิดเปลี่ยนชีวิตคนได้เปลี่ยนเมืองได้ เราเปลี่ยนอนาคตได้จริงๆ
เปลี่ยนชีวิตคน เปลี่ยนอะไรก่อน ต้องดูเรื่องปากท้องเขาตอนนี้ คนติดโควิดไม่ได้ทำงานนะ ไม่มีงาน ผมเลยอยากจะฉีกลงไปถึงชุมชนเลย จะสร้างกองทุน สร้างงานชุมชน เพราะตรงนี้ได้ประโยชน์ทุกคน เขาได้อาชีพ เขาได้รายได้ เขามีศักดิ์ศรี เช่นเดียวกันเด็กเล็กเราต้องการครูพี่เลี้ยงใช่ไหม คนในชุมชนก็ช่วยได้ คนไกลๆ เขาก็ไม่มาหรอก คนเฒ่าคนแก่ตอนนี้ลำบากมาก ใครจะพาไปหาหมอไปทำอะไรก็ต้องดูแล ยิ่งคนไม่มีงานปัญหาอาชญากรรมอาจจะมาอีกก็ได้ถูกไหม ก็ต้องมี รปภ. ชุมชน พวกนี้จะช่วยเลย ฉะนั้น อันดับแรกตามคติของเราก็คือ เรื่องเศรษฐกิจเรื่องปากท้อง ให้พูดง่ายๆ ก็คือมีการจ้างงาน
แล้วสิ่งที่เห็นได้ชัดเลย วันนี้อินเทอร์เน็ตควรจะเป็นสวัสดิการพื้นฐานใน กทม. แล้ว เชื่อไหมว่ามี 59 เมืองทั่วโลกในปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตฟรีหมด อย่างในโอซาก้าก็ฟรี แล้ววันนี้คน กทม. ทำงานที่บ้าน เด็กก็เรียน ราคา 600 บาท ถือว่าแพงสำหรับคนทั่วไป ผมก็ตั้งใจว่าอยากจะให้ ‘อินเทอร์เน็ตฟรี 150,000 จุด’ ตรงนี้เปลี่ยน กทม. เลย คือเด็กได้เรียน ลดความเหลื่อมล้ำได้ แล้วก็ทำให้คนค้าขายเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เมื่อไหร่ ชีวิตมันเปลี่ยน ใครเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ก็ได้เปรียบเยอะ นอกจากนั้นแล้วอินเทอร์เน็ตในชุมชนโดยเฉพาะบริเวณศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน ทำให้ระบบต่างๆ แจ้งเหตุฉุกเฉินได้ หรือหมอทางไกลก็เกิดในชุมชนได้
แล้วในเรื่องเศรษฐกิจอีกเรื่องนึงที่พี่อยากจะบอกก็คือ กทม. เฉาไป วันนี้ไปดูนะ คนในชุมชนค้าขายกับตลาดนัดนั้นทั้งนั้น ตลาดนัดก็เฉา เมืองก็เฉา กทม. ต้องบูม พี่อยากจะทำให้มี ‘12 เทศกาลใหญ่ 50 เทศกาลเขต’ มันเปลี่ยนเลยนะ ตลาดนัดหน้าปากซอยเราก็ไป คนขายบริเวณนี้เขาได้ขาย ไม่ต้องเดินทาง แล้วเราก็ได้ซื้อของถูก ซื้อเสื้อผ้า ซื้ออะไรก็ได้ ไม่ต้องไปเดินไกลๆ ไม่ต้องไปเดินห้าง นั่นคือเรื่องของการเปลี่ยนชีวิตคนในพาร์ตเศรษฐกิจ
ถัดมาคือเรื่องการศึกษา พี่อินมากนะ เมืองไหนที่คนมีการศึกษาดี เมืองก็ไปรอดหมด คนไม่ทิ้งขยะ ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เมืองสะอาด คนเคารพกฎจราจร คนหยุดให้คนข้ามทางม้าลาย การศึกษาสำคัญ จะมาเปลี่ยนรุ่นพวกเรามันอาจจะช้าไป ฉะนั้น การศึกษาในที่นี้ตั้งใจเป็น motto เลยว่า ‘โรงเรียนดีใกล้บ้าน’ เพราะวันนี้ผู้ปกครองไม่เชื่อโรงเรียนใกล้บ้าน จะเข้าโรงเรียนดังๆ ในใจกลางเมือง ซึ่งก็ดีจริง ดังจริง เขาก็ต้องโหน ชีวิตเขาต้องทำทุกอย่างเพื่อจะต้องส่งลูก ลำบากไปหมดโดยเฉพาะช่วงนี้ พี่ก็อยากจะสร้างโรงเรียนต้นแบบ เขตละโรงเรียน 50 เขต 50 โรงเรียนต้นแบบ อย่างน้อยที่สุดเขามีโรงเรียนที่อยู่ในเขตเขา เขาเดินทางไม่เกิน 10-15 นาที มันดีกว่ากันเยอะเลย ก็จะสอนถึง 3 ภาษา แล้ววันศุกร์ไม่เรียน ลดวิชาเรียนเพิ่มวิชารู้ เป็นกิจกรรมเพิ่มทักษะงาน ทักษะชีวิต แบบนี้ก็โฟกัสไม่ยากแล้ว
แล้วก็พัฒนาเรื่องครู เราอยากจะมีครูดีแต่เราดูแลครูไม่ดี ครู กทม. ลาออกเยอะมาก เพราะสวัสดิการสู้ต่างจังหวัดไม่ได้ แล้วแบบนี้ใครจะดูแลลูกเราต่อเนื่อง ก็อยากดูแลสวัสดิการครูไม่ว่าเรื่องค่าเดินทาง ค่าที่พัก และการเติบโตในอาชีพเขา
สุดท้าย เปลี่ยนชีวิตทางด้านการสาธารณสุข วันนี้อยากจะบอกว่า motto ของพี่คือ ‘หมอมี สาธารณสุขดี ใกล้บ้าน’ หมอไทยคือคนที่เรียนเก่งที่สุด เป็นเพื่อนเรา แต่ไม่มีหมอใกล้บ้าน คืออะไรที่ไกลบ้าน ก็ไม่ดีแล้ว วันนี้เรามีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง เป็นศูนย์ที่ดีมาก แต่ไม่มีหมอเฉพาะทาง มีเฉพาะตอนเช้า คนก็ต้องไปออกันที่โรงพยาบาลรัฐ อยากจะให้ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง มีหมอผู้เชี่ยวชาญ โรคผู้สูงอายุ เบาหวาน ความดัน หัวใจ แล้วก็หมอเด็ก อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ ชีวิตเปลี่ยนเลย แล้วมีทั้งเช้ามีทั้งบ่ายได้ยิ่งดี เขาจะได้ไม่ต้องไปออ ไม่งั้นศูนย์บริการสาธารณสุขก็ไม่มีคน ก็เพราะไม่มีหมอ ตรงนี้จะจัดหมอให้ ชีวิตเปลี่ยนเลย
นี่คือฝั่งของการเปลี่ยนชีวิตคน ที่พี่กล้าออกมาอาสาเพราะพี่ทำเรื่องพวกนี้ไง พี่เป็นครู พ่อแม่พี่เป็นครู พี่ทำโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลยันมหาวิทยาลัย พี่สร้างโรงพยาบาล สร้างคณะแพทย์ สร้างเครื่องมือแพทย์ก็รู้ว่ามันทำได้ แล้วก็มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจ แล้วก็รู้ว่าจริงๆ แล้วมันทำได้
แล้วอีกด้านที่บอกว่าจะเปลี่ยนเมือง คือยังไง?
เรื่องเปลี่ยนเมือง เบื่อเหลือเกินที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องมาหาเสียงเรื่องเดิม อีก 4 ปีหาเสียงเรื่องเดิมใหม่ เพราะอย่างนั้นอยากให้หลายอย่างจบในรุ่นเราได้ หรือถ้ายังไม่จบ ต้องเริ่มในรุ่นเราให้จบในรุ่นเขาก็ได้
อันดับแรกเรื่องน้ำ อยากจะแก้ปัญหาน้ำเน่า น้ำท่วม แล้วก็น้ำหนุน กทม. แค่ 3 น้ำนี้ไม่ไหวแล้ว อยากจะแก้น้ำเน่า แล้วก็น้ำท่วม ระยะสั้น-ระยะกลางทำได้ทันที ด้วยระบบปั๊มน้ำ ประตูระบายน้ำอัตโนมัติ แล้วเอาคนไปสำรวจ ไปซ่อมบำรุง หลายๆ อย่าง เทคโนโลยีอัตโนมัติทำได้ดีกว่าคนไปนานแล้ว เวลาฝนตกที น้ำขึ้นมาทีประตูระบายน้ำก็เปิดตามการขึ้นลงของแม่น้ำเจ้าพระยา จะได้เอาน้ำดีๆ เข้ามาแทนน้ำเน่า แล้วก็ไล่น้ำเน่าออกไป
น้ำท่วมเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเกิดไม่มีความรู้ ก็แก้ไม่ได้ ต้องสูบกันไปสูบกันมา ระบบปั๊มน้ำก็ต้องสอดประสานกัน แก้มลิงใต้ดินในเมืองควรจะทำสักทีนึง เพราะไม่มีที่ระบาย แล้ว กทม. เป็นแอ่งกระทะ น้ำไปไหนไม่ได้ก็รอระบายอยู่ที่หน้าปากซอย แม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่ารามคำแหง 2-3 เมตร สูงกว่าสุขุมวิท 2 เมตรกว่า ก็ไปไหนไม่ได้ ก็ต้องลงไปเก็บไว้ในใต้ดินแบบที่ญี่ปุ่นทำ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกงเขาทำกันแล้ว เพื่อนบ้านเขาทำหมดแล้ว
ส่วนเรื่องน้ำหนุน ไปดูที่บางขุนเทียนก็ได้ เข้ามาตั้งกี่กิโลแล้ว แล้ววันนี้เราพอดื่มน้ำประปาไม่ได้ ยังไม่เชื่อเหรอว่าน้ำทะเลหนุน คุณทำเรื่องนี้ก็รู้มันใช้เวลาทำเป็น 10-20 ปี แล้ววันนี้จะไปขอโทษรุ่นลูกได้ยังไง ก็ขอเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่เริ่มโครงการป้องกันน้ำทะเลหนุนแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อจะได้นับหนึ่งสักทีนึง ไม่อยากจะส่งให้ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป
จากนั้นก็มาเรื่องจราจร หาเสียงกันไม่รู้กี่รุ่น ทั้งที่เมืองอย่างลอนดอน คนขี่จักรยานไปทำงานแล้ว สิ่งที่อยากจะทำมาก อันดับแรกทางจักรยาน ทางจักรยานลอยฟ้าจะเกิดขึ้น ประกอบกับตอม่อ Airport Link วิ่งยาวเลย จะช่วยทำให้คนในเมืองหรือคนนอกเมืองมาทำงานได้ พอถึงไหนก็เวียนลงเหมือนก้นหอย ถ้าเกิดพักอยู่แถวราชเทวีก็ขี่จักรยานมาทำงานรามคำแหง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คนกับถนนอยู่ด้วยกัน ก็ไม่ปลอดภัย วิธีการแก้ปัญหาในทุกเมืองก็คือยกออกไป ยกขึ้นไป จะได้ไม่อยู่ด้วยกัน ตรงนี้สามารถทำได้ทันที ให้จินตนาการเหมือนสกายวอล์ก แต่อันนี้ก็เป็นสกายไบค์ที่ใช้งานได้จริง สามารถเชื่อมได้ทุกชุมชนได้เลย
แล้วในเรื่องของจราจร รู้ไหมว่า กทม. มีพื้นที่ผิวแค่ 7% ของถนน ขณะที่โตเกียวมี 20% กรุงปารีส 40% คือยังไงก็ต้องเพิ่มถนน ต่อให้รถไม่เพิ่มขึ้น กทม. มีพื้นที่ที่ขอหน่วยราชการตัดผ่านได้ และควรจะซื้อที่บางที่ที่ทำให้ซอยเชื่อมตรงกันได้บ้าง ตรงนี้ก็จะทำให้การเดินทางของคน กทม. ดีขึ้น เพราะถนน กทม. มันน้อยกว่ามาตรฐานเยอะ แล้วใน 7% ใช้จริงๆ ไม่ถึง 7% ด้วยซ้ำ
เคยฟังข่าวใช่ไหมที่ไฟไหม้ที่ราชเทวี รถดับเพลิงเข้าไปไม่ได้เพราะคนจอดเต็มซอย แต่จะไปว่าคนจอดรถในซอยยังไง เขาไม่มีที่จอด วันนี้ที่พี่อยากจะทำเหมือนฮ่องกงหรือโตเกียว สนับสนุนให้คนที่มีที่ว่างเปล่าในซอยทำที่จอดรถขนาดเล็ก อย่างที่จอดรถเป็นมอเตอร์ยกขึ้น 3-4 ชั้น ปลอดภัย แล้ว กทม. จะลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ เขาจะได้ไม่ต้องไปปลูกกล้วยหลบภาษี เขาก็ได้รายได้ด้วย
อีกอย่าง ตอนนี้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งดี ต้องสนับสนุน แต่รถไฟฟ้าเอาเลนไปเยอะเหลือเกิน ขอคืนมาได้ไหมหลังจากที่ทำเสาตอม่อเสร็จแล้ว ตรงนี้จะบรรเทาการจราจรติดขัดได้เยอะเลย เพราะผิวการจราจรเพิ่มขึ้นทันที
แล้วมันถึงเวลาแล้วที่ระบบการเปิดปิดไฟจราจรต้องเป็นระบบอัตโนมัติเหมือนกับลอนดอน ปักกิ่ง สิงคโปร์ โตเกียวสักทีนึง เพราะตอนนี้ตำรวจเหนื่อยมาก ต้องคอยกด ซึ่งยากมาก ทั้งเครียด แต่ระบบอัตโนมัติซึ่งวันนี้ กทม. มีกล้องหลายตัวแต่ไม่ค่อยได้เชื่อมโยงกัน แล้วแทบไม่ได้ใช้เรื่องจราจร ถ้าเอามาใช้ก็จะทำให้ระบบการเปิด-ปิดไฟดีขึ้น 4 ปีนี้จะได้เห็น แล้วก็ต้องทำให้คนเคารพกฎจราจร ไม่ใช่ไม่สนเพราะกล้องนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกัน ใครขึ้นฟุตบาทโดน ใครผ่าไฟแดงโดน ใครไม่หยุดที่ทางม้าลายก็โดน
ตรงนี้เกิดขึ้นได้ เพราะอย่างที่บอกเทคโนโลยีช่วยให้คนไม่ทะเลาะกับคน คนไม่กล้าทะเลาะกับเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีไม่โกงใคร
และสุดท้ายเรื่องจราจร ผู้ว่าฯ กทม. มักจะบอกว่าเราไม่ได้ดูจราจรแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ได้ดูสาธารณูปโภคแบบเบ็ดเสร็จ ต้องถามว่าจริงๆ แล้วควรจะดูใช่ไหม เหมือนเมืองอื่น อย่างน้อยที่สุดในสมัยนี้จะได้เห็นว่า พี่จะขอหน้าที่การดูแลจราจรมาเป็นของ กทม. สักทีนึง ใช้เวลา แต่ว่าถ้าเกิดไม่เริ่มรุ่นเรา จะเริ่มเมื่อไหร่ ก็จะเป็นข้ออ้างอยู่ร่ำไป
นอกจากนี้ ในเรื่องของการเปลี่ยนเมือง อยากจะเปลี่ยนเรื่องสิ่งแวดล้อม PM2.5 ตอนนี้เราขึ้นมาติดอันดับโลกแล้ว น่ากลัวยิ่งกว่าโควิดอีก เพราะโควิดพอเราเป็น เราหาย เราก็มีภูมิ แต่ PM2.5 เข้าไปแล้วออกไม่ได้ ไม่ใช่แบคทีเรีย เม็ดเลือดขาวทำอะไรมันไม่ได้ มันอยู่ในสมอง แล้วเด็กเล็กก็ไม่โต ก็ไม่ฉลาด แล้วเราก็รู้ทั้งรู้อยู่ว่าต้นเหตุ PM2.5 มาจากอะไร มาจากรถ แต่ไม่ใช่รถของคุณ รถของพี่ แต่เป็นรถ 10 ล้อ และรถส่งของส่วนมาก็ส่งไปที่อาคารก่อสร้างใน กทม. ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจในการที่จะถอนใบอนุญาตในการก่อสร้างได้ หรือชะลอการก่อสร้างได้เลย เขากลัวนะ เขาต้องไปกำชับผู้รับเหมา ผู้รับเหมาก็ต้องไปดูไม่ให้รถควันดำเข้ามาฆ่าลูกหลาน ฆ่าพ่อแม่เรา
แล้วสิ่งที่พี่อยากทำอีกก็คือ ‘สวนสาธารณะขนาดย่อม’ ที่เขาเรียกว่า pocket park เหมือนกับกรุงโตเกียวที่เขาบอกเขามีสวนสาธารณะ 1,000 กว่าแห่ง ถ้าเกิดมีสวนสาธารณะเล็กๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ทั้งของราชการและเอกชน ถ้าเป็นเอกชน ก็ไม่ต้องไปปลูกกล้วย ปลูกมะนาว กทม.เข้าไปช่วยดูแลสวนสาธารณะได้ เขาจะได้ลดหย่อนหรืออาจจะไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย แล้วถ้าเกิดมีกิจกรรมทำเป็นตลาดได้ กทม. ไม่เอาอะไรเลย ถือว่าท่านรับเงินตรงนี้ไปเลย ขอให้ประชาชนได้มีที่ทำกิน ได้มีที่เดิน ทำไมจะทำไม่ได้ เพื่อจะทำให้ทุกมุมเมือง ทุกเขต มีสวนสาธารณะขนาดย่อมได้
เห็นไหมว่าผู้ว่า กทม. มีอำนาจหน้าที่ที่เปลี่ยนเมืองได้จริงๆ นโยบายของพี่เอ้ก็คือเปลี่ยน กทม. เปลี่ยนชีวิตคน เปลี่ยนเมือง สุดท้ายแล้วก็เราจะเปลี่ยนอนาคตได้
ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม. มักบอกว่าติดปัญหาในการทำงานที่ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น แล้วนโยบายที่คุณสุชัชวีร์เล่ามาจะทำยังไง ต้องไปคุยกับหลายหน่วยงานไหม?
ไม่เลยครับ เพราะว่าเรื่องน้ำเน่า คลองส่วนใหญ่เป็นของ กทม. หมดแล้ว เราแก้ได้ ประตูระบายน้ำส่วนใหญ่ก็เป็นของ กทม. ปั๊มก็เป็นของ กทม. เบ็ดเสร็จ เพราะฉะนั้นเรื่องน้ำเน่า ติดตั้งระบบอัตโนมัติซึ่งต้นทุนต่ำกว่า ดีกว่าดีเซลซึ่งวันนี้น้ำมันก็แพง แถมไม่อัตโนมัติด้วย เช่นเดียวกันเรื่องของน้ำท่วม อันนี้ก็ กทม. แทบจะเบ็ดเสร็จเลย อาจจะมีที่ต้องประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บ้าง แต่ก็คือเป็นพื้นที่โดยรอบ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องดูอยู่แล้ว หรือน้ำทะเลหนุนแน่นอนต้องประสานกับสมุทรปราการ ประสานกับสมุทรสาคร ซึ่งทุกคนอยากจะทำอยู่แล้ว แต่คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือ กทม. ดังนั้น กทม. ก็ต้องเป็นคนเริ่ม
เรื่องจราจร หลายอย่างมันทำได้ เช่น คืนพื้นผิวการจราจร จะทำอะไรต้องมาขอ กทม. ก่อน ไม่ว่าการประปา การไฟฟ้า รถไฟฟ้า รถไฟต่างๆ ก็ต้องมาขอ อันนี้คือบทบาทของ กทม. ที่ดีมากๆ ก็ต้องละเอียด เลยบอกไงว่างานผู้ว่าฯ กทม. เป็นงานละเอียด มันต้องเนี้ยบ ถ้าเกิดไม่เนี้ยบ ก็จะเห็นแบบที่ดอนเมืองแบบนั้น หรือถนน หรือฟุตบาท ทางเดินก็ต้องคอยปะปูดไปอยู่เรื่อยๆ ตรงนี้เราดูแลแทบจะเบ็ดเสร็จเลย สิ่งแวดล้อม สวนสาธารณะนี่ของ กทม. ล้วนๆ เลย PM2.5 กทม. ก็มีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้าง ตรงนี้ทำได้
พี่จะบอกว่างาน กทม. จริงๆ แล้ว 70% เบ็ดเสร็จ อีก 30% เราประสาน แต่ก็ไม่ใช่ประสานแบบปากเปล่า แต่เป็นการประสานแบบมีเชิง เพราะเขาต้องพึ่งพาเราด้วย เพราะเขาต้องขอพื้นที่เราไปทำ แล้วต้องคืนพื้นที่เราให้เราเซ็น ไม่งั้นเขาเบิกเงินไม่ได้ ตรงนี้พี่ก็เลยมีความมั่นใจว่าถ้าเกิดผู้ว่าฯ กทม. มีความละเอียด มีความเนี้ยบ และมีความรู้ เชื่อได้ว่า กทม. มันเปลี่ยนจริงๆ
มาที่เรื่องของสังกัดพรรค ทำไมถึงเลือก ปชป. ในการสมัครเป็นผู้ว่าฯ
อันดับแรกพี่เห็นการเปลี่ยนแปลงใน ปชป. เราเห็นเลยว่าหลังจากที่พรรคเจอมาหลายรูปแบบ ทั้งความสำเร็จ ความผิดหวัง เขามีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะช่วงหลังเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เห็นมีคนรุ่นใหม่เข้ามา ที่สำคัญเขาให้โอกาสพี่เอ้ซึ่งไม่เคยมี ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองมาก่อน อันนี้คือให้โอกาสเข้ามา
แล้วสุดท้ายก็คือการที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องมีทีม เพราะว่าประชาธิปไตยในแบบของเรา เป็นประชาธิปไตยที่ต้องมีทีม ตั้งแต่ประเทศนายกฯ ไม่มี ส.ส. สนับสนุน ดียังไง มีอุดมการณ์ยังไง กฎหมายไม่ผ่าน งบประมาณไม่ผ่านก็จบ ผู้ว่าฯ กทม. ก็เหมือนกัน มีวิสัยทัศน์จะเปลี่ยน กทม. ให้เป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัยต้นแบบของอาเซียน แต่ว่าไม่มีคนสนับสนุนเรื่องงบประมาณ เรื่องการแก้กฎระเบียบ กทม. เลย ยังไงก็ไม่สามารถที่จะไปช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้
แล้วการจะทำอะไร พี่เอ้อยากจะติดกระดุมให้ถูกตั้งแต่เม็ดแรก เล่นการเมืองแบบเปิดเผย คือการสังกัดพรรคเราก็มีว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ในพื้นที่ ก็ยอมรับนะว่าพรรคเองอยู่ใน กทม. มายาวนาน ก็มีคนในพื้นที่ที่ทำให้เราสามารถมีทีมงานที่ไปชี้ให้เห็นปัญหา แต่ถ้าเกิดพี่เอ้ไปแบบดุ่มๆ มันยากเหลือเกิน ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าใจปัญหาในพื้นที่ ซึ่ง 50 เขตใน กทม. แม้ปัญหาบางอย่างจะคล้ายๆ กัน แต่ความหนักเบาของปัญหาไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดไม่มีทีมที่อยู่ในพื้นที่มานาน ไม่มีทางที่จะทำได้ หรือทำได้ก็ทำได้ไม่ดี ทำได้ไม่ครบ ทำได้ไม่จบ
ตอนที่แถลงในงานเปิดตัว ก็มีหลายคนเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า ‘คน กทม. ถูกข่มขืน ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า’ แต่ผู้ว่าฯ กทม. หลายคนที่ผ่านมา ก็มาจาก ปชป.
ผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น ปชป. หรือพรรคใดๆ ที่จริงก็มีคุณงามความดีไม่น้อย แต่ว่าเวลาแข่งขันทางการเมืองเราก็จะหยิบยกเรื่องที่มาโจมตีกันได้ อันนี้ยอมรับนะ มันเป็นอย่างนั้นของมันเอง
ยกตัวอย่างอย่างผู้ว่าฯ อภิรักษ์ (โกษะโยธิน) เราจะเห็นเลยว่าหอศิลปวัฒนธรรมเกิดในสมัยผู้ว่าฯ อภิรักษ์ แสดงว่าเมืองตั้งใจจะพัฒนาไม่ใช่เฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่พัฒนาในเรื่องศิลปะวัฒนะธรรมและจิตใจด้วย จะเห็นว่าสมัยอาจารย์คุณชายสุขุมพันธุ์ (บริพัตร) มีการเปิดสวนสาธารณะมากที่สุดเลย แล้วก็ยังใช้จนถึงทุกวันนี้ แล้วผู้ว่าฯ กทม. คนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แต่ละท่านก็มีคุณงามความดี ก็อยากจะให้เราคิดถึงในสิ่งที่เขาทำดี ทำสำเร็จบ้าง ไม่ได้มองเฉพาะในเรื่องที่อาจจะมีสิ่งที่เราไม่พึงพอใจ
ว่าด้วยการบริหาร คุณสุชัชวีร์เคยเป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นคนออกแบบการสอบ TCAS ที่ควรจะมาแก้ปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ทุกๆ ปีก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูมาตลอดถึงปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไขสักที
เรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ว่าปีใดตั้งแต่พี่ยังเด็กๆ อยู่ มันก็มีเรื่องที่คนมีความเห็นต่างมุมมาตลอด การที่จะเข้าใจเรื่องนี้ต้องใจเย็นๆ และเข้าใจตั้งแต่อดีต ตั้งแต่ตอนที่ประเทศไทยมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบเอ็นทรานซ์ ที่ผู้ปกครองกับเด็กบ่นเยอะ ว่าทั้งชีวิตต้องมาวัดกันแค่ไม่กี่ชั่วโมง
แล้วก็เริ่มมีการพัฒนามาเป็นโควตา อย่างพี่เอ้ก็ได้โควตาช้างเผือกมาจาก จ.ระยอง เขาบอกเด็กต่างจังหวัดเสียเปรียบ เขาอาจจะเก่ง แต่เขาไม่ได้อะไรที่ดี ไม่ได้มีครูสุดยอดเหมือนโรงเรียนดังๆ
แล้วจากโควตา ก็มีเสียงบอกว่า เด็กเครียดมาสอบพร้อมๆ กัน สอบตรงไปแล้วกัน อยากให้คุณเห็นภาพ พอสอบตรงเกิดอะไรขึ้น ทุกคนก็แย่งเด็ก หมอมี 22 แห่ง เขาก็สอบไม่ตรงกัน พวกคณะแพทย์ชั้นนำเขาก็อยู่ตรงนี้ คนที่ดังน้อยกว่าก็ต้องตัดหน้ากัน ตัดไปตัดมา เวลาสอบทะลุเข้าไป ม.6 เทอมต้น ม.5 เทอมปลาย แสดงว่าเด็กก็ไม่มีโอกาสได้เรียน ม.6 ที่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เห็นการพัฒนาปัญหามาไหม
ผู้ปกครองของเด็กจำนวนมากมาบอกว่าแบบนี้ไม่ไหว เพราะถ้าเกิดสอบหมอ 22 แห่งไม่พร้อมกัน จะมีพ่อแม่สักกี่คนสามารถส่งลูกไปสอนในหลายที่ได้ ทปอ.เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เขาทำ TCAS ขึ้นมา ไม่ใช่อยู่ดีๆ เขาทำ มันมาจากปัญหาที่มีการพัฒนามาเรื่อยๆ
การสอบ TCAS โดยหลักตั้งต้นคือต้องการแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ ซึ่งไม่แฟร์เลย ถ้าเกิดเรามีพ่อแม่ที่ลางานได้ทั้งปี มีเงิน ก็สอบได้ 22 แห่ง แล้วเด็กธรรมดาที่เขาดี เขาเรียนเก่ง เขาไม่มีอะไรเลยล่ะ แต่การพัฒนามาไม่ใช่จะราบรื่นเรียบร้อยหรอก
เพราะฉะนั้นแล้วการที่จะมารวมกันมีความยาก ระบบต่างๆ ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อยากจะบอกว่า อยากให้เห็นใจมหาวิทยาลัย เพราะเขาไม่ได้หาเรื่องอะไรใส่ตัวหรอก ทุกอย่างมีเหตุและผล มันมีการพัฒนา ในอนาคตก็ต้องปรับตัวกันไปเรื่อยๆ เพราะเด็กน้อยลง อันนี้ก็อยากจะขอความเป็นธรรมกับคนมหาวิทยาลัย เพราะเขาก็เป็นพ่อแม่คนหนึ่ง จะกลับมาวันเดียวจอดเลย เหมือนสมัยเอ็นทรานซ์ ก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ เกิดน้องๆ ป่วยวันนั้น ชีวิตมันเปลี่ยน ก็อยากให้เห็นใจ
ในฐานะอดีตอธิการบดีของ สจล. หลายคนที่จบจากสถาบันนี้มาออกมาสะท้อนว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น
ทุกมหาวิทยาลัยปัจจุบันเองก็ต้องพัฒนาตัวเอง เราจะมาพูดเฉพาะลาดกระบังไม่ได้ เราจะเห็นตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่มีการพัฒนาไปไกลมากๆ เช่น มหิดล ศิลปากร จุฬา ธรรมศาสตร์ จะว่าไปแล้วเขาก็เริ่มต้นไปไกลมาก มหาวิทยาลัยควรจะเป็นทางเลือก เป็นทางเลือกที่เด็กแต่ละคนพอที่จะมีโอกาส แต่ก็เป็นทางเลือกที่ทุกคนจะได้รับการดูแลที่สุด
เพราะฉะนั้น ลาดกระบังยังเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยากจะเรียนได้เรียน จะเห็นว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีทุนการศึกษาเยอะ เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้โควตาช้างเผือกเยอะ เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิด TCAS ทุกรอบ แล้วก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ช่วงโควิด ตั้งแต่อธิการบดี ผู้บริหารทุกระดับชั้น ตัดเงินเดือนตัวเองเพื่อดูแลนักศึกษา เป็นมหาวิทยาลัยที่เราสร้างหอพัก ซึ่งเราเห็นความสำคัญ ไม่อยากให้คนอยู่หอนอก เพราะหอนอกก็ราคาสูง ถ้าพูดตรงๆ เขาก็ต้องเอากำไร นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีมั้ง ที่เรากำลังจะเกิดหอ อย่างน้อยที่สุดเด็กปีหนึ่งก็ยังมีที่พัก
นอกจากนี้ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่สนใจรายละเอียดแม้แต่สนามกีฬา สมัยก่อนก็เท้าแทบพลิกเหมือนกัน แล้วก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เปิดเฉพาะให้นักศึกษาได้ทุกคนเข้ามา เป็นมหาวิทยาลัยที่หลายๆ คณะ ที่ไม่เคยมีตึก เช่น ศิลปศาสตร์ วันนี้ได้ตึกแล้ว คณะบริหารก็ไม่เคยมีตึก วันนี้ก็ได้ตึกแล้ว หลายคณะก็ได้รับการปรับปรุง โรงอาหารซึ่งเป็นส่วนสำคัญ สถาปัตย์โรงอาหารเก่ามาก วันนี้ก็ได้ทำ เกษตรโรงอาหารก็ได้ปรับปรุง โรงอาหารตึกพระเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนกลางก็ได้ปรับปรุง ความสะอาดมีมากขึ้น อุบัติเหตุที่รถชนตายที่หน้ามหาวิทยาลัยก็ถูกแก้ไข สายไฟฟ้าบางส่วนได้ลงดินไปแล้ว หรือแม้แต่รอบๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเลย มหาวิทยาลัยก็วิ่งเต้นทำทุกอย่างให้ กทม. มาเทถนนต่างๆ
อยากจะบอกว่า วันนี้คนที่มาเรียนลาดกระบังได้รับการดูแลที่ดีเลย ซึ่งมันแตกต่างจากในอดีต แค่ขับรถผ่านเราก็เห็น เราเห็นจากตา เราเห็นจากสิ่งที่มันเป็น แล้วก็ผู้บริหารมีความเสียสละ
ห้องอนามัย เด็กลาดกระบังขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์เยอะ รถคว่ำทีลำบากมากเลย มาที่ห้องอนามัย สมัยก่อนจ่ายได้แต่ยาพาราฯ แต่วันนี้ถึงผ่าตัดเล็กได้ มีคณะแพทย์ วันนี้ถ้าเกิดไม่มีคณะแพทย์ คิดไม่ออกวันนี้จะอยู่ยังไง ที่จะดูแลเด็กทุกคน ดูแลชาวบ้านโดยรอบ เรามีศูนย์ฉีดวัคซีน เด็กลาดกระบังได้รับบริการวัคซีนเป็นที่แรกๆ แล้วยังเผื่อแผ่ให้นิด้า เผื่อแผ่ให้โรงเรียนโดยรอบ ถ้าวันนั้นพี่เอ้ไม่ตั้งคณะแพทย์ เราก็ไม่มีวันนี้ใช่ไหม ถูกไหม
เช่นเดียวกันโรงเรียนหรืออะไรต่างๆ เราไม่ได้ใช้เงินมหาวิทยาลัยนะ เราได้มาจากการสนับสนุนจากค่าเล่าเรียน ซึ่งในหลายคณะสำคัญที่สุดคือ อย่างน้อยที่สุดต้องดูแลตัวเองได้ ถ้าเกิดดูแลตัวเองไม่ได้ก็ต้องมาใช้เงินคนอื่น ใช้เงินภาษีพี่น้องประชาชน แต่ค่าเล่าเรียนก็ไม่สะท้อนความเป็นจริงหรอก เพราะไม่ได้นับค่าเงินเดือนอาจารย์ ก็อยู่แค่ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยปัจจุบัน จะว่าไปแล้วไม่ว่าหลักสูตรใดก็ตาม ยังไม่ได้สะท้อนต้นทุน แต่จะสะท้อนอยู่ใน %เท่าไหร่ ก็แล้วแต่คณะ แล้วแต่มหาวิทยาลัย
ตรงนี้อยากจะบอกว่า ลาดกระบังก็จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ยังน่าเรียน เป็นมหาวิทยาลัยที่ยังเปิดโอกาสอยู่ เป็นมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ วันนี้มีห้องน้ำทุกเพศ ในสมัยพี่เอ้ เด็กๆ ได้แต่งตัวตามสบายเลยวันพฤหัส แล้วก็กำลังจะแต่งได้ทุกวัน แล้วจะแต่งเป็นเพศไหนก็ได้ นอกจากนี้ยังให้เด็กเรียกอาจารย์ว่าพี่ได้ทุกคน นอนค้างก็ได้ ถ้าเกิดเรียนสถาปัตย์ เรียนศิลปะ ทุกที่เขาก็นอนค้างกันได้หมายถึงว่าทุกคณะที่ลาดกระบัง เพราะฉะนั้นพี่เห็นว่าลาดกระบังก็ยังเป็นพื้นที่ที่เป็นดินแดนที่เปิดโอกาสให้กับคนจำนวนมาก
ช่วงที่ผ่านมาพี่ก็เจอทุกเรื่องเยอะ อยากจะบอกกับคุณ ถ้าเกิดพี่คิดถึงตัวเองพี่ไม่ออกมาทำอย่างนี้หรอก เพราะพี่มีครอบครัวเล็กๆ ที่อบอุ่น มีเกียรติยศ มีชื่อเสียง มีอะไรที่ดี พี่ออกมา 2-3 เดือนโดนอะไรไม่รู้เยอะแยะไปหมด โดนบูลลี่ โดนอะไรต่างๆ เพราะพี่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ แต่ไม่มีใครที่มาด้อยค่าเราได้หรอก ถ้าเกิดเรารู้เราทำอะไรอยู่
ฉะนั้น พี่ก็ภูมิใจในช่วงเวลาที่พี่อยู่ที่ลาดกระบัง เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข เพราะว่าได้เสียสละในช่วงเวลาของชีวิตพี่เอ้ พี่ได้ทำงานเต็มความสามารถ แล้วพี่ได้ดูแลน้องๆ จริงๆ แล้วสำหรับน้องๆ นักศึกษาทุกคน อยากจะเข้ามาหาก็มาหาได้ แล้วพี่ก็ไม่ได้ทานข้าวที่ห้อง พี่ไปทานข้าวที่โรงอาหารทุกโรงอาหาร พี่ยังแกล้งปลอมตัวเป็นพี่เนียนไปเต้นแรปเอ็นเตอร์เทนเขา หรือวันรับปริญญาก็ยังให้รางวัล เชิญพี่ตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องชื่อดังจากวงบอดี้สแลม) มาร้องเพลง คือพี่ทำหน้าที่ได้ดีที่สุด
กลุ่ม ‘ประชาลาด’ กลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองในลาดกระบังตั้งคำถามถึงเรื่องที่ สจล. จัดตั้งบริษัท KMIT ลาดกระบัง เพื่อหากำไร ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 10 ล้านบาท เกิดเป็นคำถามว่า ทำได้ด้วยเหรอ?
ที่จริงบริษัทที่มหาวิทยาลัยมาลงทุนเกิดขึ้นมาก่อนที่พี่เอ้มาเป็นอธิการบดี อีกอย่างคือมหาวิทยาลัยต่างๆ เขาก็มี ซึ่งเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะแสวงหาผลกำไรหรอก แต่อันนี้เหมือนกับเป็น social enterprise ผลกำไรมาเขาจะเอาไปทำอะไรล่ะ ก็ต้องเอากลับมาลงทุนกับนักศึกษา กับมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยเรื่องร่ำรวยผิดปกติ รวมถึงเรื่องที่คุณวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) โพสต์ในเฟสบุ๊กว่า คุณยืมเงินภรรยาเก่า
เรื่องแรกก็คือเรื่องของทรัพย์สิน พี่แสดงทรัพย์สินในฐานะบุคลากรของรัฐทุกครั้ง ตอนปีปี 2561 ทาง ป.ป.ช.ก็บอกว่าไม่มีอะไรผิดปกติ แล้วในปี 2564 ที่เพิ่งยื่นไป และชี้แจงชัดเจนว่าเวลาผ่านไป 3 ปี รายได้ที่พี่เอ้เสียภาษีเป็นเท่าไหร่จริงๆ เพราะฉะนั้นแล้วเราใช้ชีวิตอย่างโปร่งใสอย่างเปิดเผย แล้วก็พร้อมให้หน่วยงานอย่างป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบ ตลอดชีวิตการทำงานพี่เอ้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาตลอด เพราะฉะนั้นก็มีความพร้อมตรงนี้
ส่วนเรื่องที่สอง คือพี่ไม่เคยมีความบาดหมางอะไรกับคุณวีระเลย ก็ไม่เข้าใจว่าคุณวีระทำอย่างนั้นมีจุดประสงค์อะไร แล้วก็ไม่อยากจะพูดถึงเรื่องนี้
มาเรื่องไลฟ์สไตล์หน่อย เห็นว่าเวลาไลฟ์จะชอบวาดรูป ทำไมต้องวาดรูปด้วย
เขาบอกว่า A Picture is Worth a Thousand Words การอธิบายดีที่สุดก็คือเราต้องได้เห็น เพราะว่าถ้าเกิดเราวาดคนก็จะเข้าใจ แล้วคนจะวาดได้ตัวเองต้องมีความเข้าใจมาก ไม่เช่นนั้นไม่สามารถวาดได้ คนจะวาดรูปใบหน้าได้ต้องมีความเข้าใจสรีระอะไรทุกอย่าง เหมือนกันก็คือ เมื่อเราเข้าใจ เราอยากจะอธิบายให้คนเขาเข้าใจด้วย เขาจะได้เข้าใจปัญหาจริงๆ ว่าปัญหาเป็นยังไง ก็เลยวาดรูป แล้วตอนเรียนมัธยมก็เรียนสายศิลปะ แต่ดันไปเรียนวิศวฯ
เวลาว่างชอบทำอะไร
ชอบมากที่สุดอ่านหนังสือ แล้วก็ฟังเพลง ออกกำลังกาย ที่จริงแล้วอยากจะกลับมาคือ อยากจะกลับมาเล่นดนตรีกับวาดรูป แล้วก็มีงานอดิเรกบ้าง สะสมตุ๊กตาเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เยอะ ชอบงานศิลปะ งานวาด แต่ก็ไม่ได้มีพรสวรรค์ สมัยก่อนมีโอกาสเรียนมาแล้วก็ชอบ แล้วตอนนี้ก็งาน กทม. ต้องอธิบายคนให้ได้ วาดรูปเลย เราก็ได้เข้าใจ เขาก็ได้เข้าใจไปกับเราด้วย ก็โอเคนะ
ในห้องนี้มี Iron man เยอะมาก อันนี้ถือว่าเป็นไอดอลของคุณด้วยหรือเปล่า
ใช่ครับ ชอบ ตอนเด็กๆ ทุกคนก็มีฮีโร่ พี่นี่ชอบ Iron Man มากเลย เพราะว่าตัวละครทุกตัวคือจะมีพลังได้ ต้องถูกฉีดยาบ้าง เจอไอ้โน้นไอ้นี่บ้าง อย่าง Captain America เป็นลูกเทพพระเจ้าอย่าง Thor หรือ Hulk ที่ไปเจอกัมมันตภาพรังสี
แต่ Iron Man เขาเป็นคนเหมือนเรา แล้วเขาเป็นวิศวกร เป็นนักคิด เขาสามารถสร้างสรรค์อะไรออกมาที่ช่วยโลกได้ ก็ชอบ ก็เลยถูกชะตากับ Iron Man อย่างโทนี่ สตาร์ก
สุดท้ายแล้ว กทม. ในฝันของคุณเป็นแบบไหน
ต้องเป็น กทม. ที่ทุกคนอยู่แล้วไม่ต้องห่วง คือถ้าเกิดเขามีลูกก็ต้องแน่ใจว่าลูกเขาจะดีกว่าเขาได้ ด้วยการศึกษาที่ดี มีอาหารที่ดี มีโภชนาการ เดินไปโรงเรียน ขึ้นรถลงรถข้ามถนนปลอดภัย ลูกไม่ต้องห่วงพ่อแม่ว่าเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วต้องไปรอนัดหาหมอ ต้องลางาน แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในที่ๆ เป็นธรรม สามารถทำมาหากินทางสุจริต เลี้ยงตัวเองและเลี้ยงครอบครัวได้ แล้วก็เป็นเมืองที่มันน่าอยู่ อากาศต้องสูดได้ มองลงไปในน้ำ น้ำต้องไม่เน่า
นี่ก็คือ กทม. ที่อยากให้เป็น ก็ตรงกับนิยามของวิสัยทัศน์ก็คือ ต้องเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย ต้นแบบของอาเซียน ถึงจะเป็นแบบนั้นได้ ซึ่งถ้าเกิดพูดลอยๆ ไม่มีเป้าหมาย ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี ก็ไม่มีทางถึง
อันนี้คือสิ่งที่พี่อยากทำ แล้วอยากให้ กทม. เป็น