“ชิดในหน่อยพี่ ชิดในหน่อย”
ประโยคอันแสนคุ้นเคย ที่ไม่ว่าใครต่างก็เคยได้ยินแทบทุกครั้งที่ต้องเดินทางด้วย ‘รถเมล์’ รถโดยสารที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มานานแสนนาน ไม่ว่าจะขึ้นป้ายรถเมล์ปากซอยหน้าบ้าน หรือไปลงยังป้ายจุดหมายปลายทางอย่างที่ทำงานหรือสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่ากาลเวลาจากผ่านไปนานแค่ไหน รถเมล์ ขสมก. ก็ยังเป็นขนส่งสาธารณะอันดับต้นๆ ที่คนกรุงเทพฯ ใช้บริการมากที่สุด
แล้วเคยสงสัยไหมว่า เจ้ารถเมล์สองประตู ยี่สิบหน้าต่างคันนี้ มีที่มาจากไหน ใครเป็นคนคิด จากอดีตถึงปัจจุบันมีการพัฒนาไปถึงไหนแล้ว วันนี้ The MATTER จะพาคุณย้อนไทม์ไลน์ไปดูจุดเริ่มต้นและวิวัฒนาการของรถเมล์กัน
ทำไมถึงเรียกรถโดยสารประจำทาง ว่า ‘รถเมล์’
หลายคนอาจสงสัยคำว่า รถเมล์ (อ่านว่า – เม) ทำไมถึงชื่อเป็นฝรั่งได้ขนาดนี้ จริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นมาจากในสมัยก่อนที่ยังไม่มีบุรุษไปรษณีย์หรือบริการขนส่ง เวลาจะส่งของที จำเป็นต้องฝากไปกับรถหรือเรือประจำทางที่กำลังเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง ทำให้เกิดคำเรียกว่า รถเมล์ หรือ เรือเมล์ นั่นเอง แต่ประเด็นคือคำว่า เมล์ หรือ mail เป็นคำภาษาอังกฤษที่แปลว่า ไปรษณีย์ แต่คนสมัยก่อน ไม่คุ้นเคยกับการออกเสียงสำเนียงฝรั่งสักเท่าไร เมื่อเจอคำนี้ เลยไม่สามารถออกเสียงว่า เมล เหมือนเจ้าของภาษาได้ ออกเสียงได้แค่ ‘เม’ เท่านั้น แม้ว่าในปัจจุบัน รถหรือเรือประจำทาง จะไม่ได้มีบทบาทในการส่งไปรษณีย์แล้ว แต่คนไทยก็ยังคงนิยมเรียกว่า ‘รถเมล์’ อยู่นั่นเอง
กำเนิดรถโดยสารยี่ห้อหรู สองประตูยี่สิบหน้าต่าง
สองประตูยี่สิบหน้าต่าง คือเอกลักษณ์ของรถเมล์ในยุคแรกๆ ที่มีทางขึ้นและทางลงคนละฝั่ง รวมไปถึงจำนวนหน้าต่างที่เรียงรายให้ผู้โดยสารได้ชมวิวรอบเมืองได้อย่างชัดเจน แต่จุดเริ่มต้นของการให้บริการรถเมล์จะเป็นอย่างไร ลองไล่ไทม์ไลน์ผ่านปี พ.ศ. ไปด้วยกัน
พ.ศ. 2451 – เริ่มต้นเดินรถเมล์สายแรก ผู้ริเริ่มคือ นายเลิศ เศรษฐบุตร (พระยาภักดีนรเศรษฐ) เจ้าของโรงแรมปาร์คนายเลิศที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน โดยรถเมล์ในยุคแรก เป็นการใช้กำลังม้าลากจูง และเส้นทางเดินรถยังไม่ไกลมากนัก จากสะพานยศเส ไปถึงประตูน้ำสระปทุมเท่านั้น
พ.ศ. 2456 – เนื่องจากรถม้า ต้องใช้กำลังม้าลากจูง ทำให้ต้องมีการหยุดพักบ่อยๆ และไม่รวดเร็วทันใจผู้โดยสารที่เร่งรีบมากขึ้น นายเลิศจึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนเป็นรถเมล์เป็นเครื่องยนต์ยี่ห้อแรกคือ ‘ฟอร์ด’ ซึ่งถือเป็นแบรนด์รถหรูจากอเมริกาในยุคนั้น จึงเป็นที่มาของฉายา ‘สองประตูยี่สิบหน้าต่าง’ นั่นเอง พร้อมทั้งได้ขยายเส้นทางให้ไกลขึ้น ถึงบางลำพู (ประตูใหม่ตลาดยอด) เรียกว่าตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารในยุคนั้นได้อยู่หมัดเลยทีเดียว
ใครเป็นเจ้าของกิจการรถเมล์ตัวจริง
แน่นอนว่า ยิ่งกระแสตอบรับของผู้โดยสารเมืองกรุงที่ขึ้นรถเมล์ดีมากขึ้นเท่าไร เกมการแข่งขันของนายทุนก็ยิ่งดุเดือดมากขึ้นเท่านั้น เมื่อถามว่า ใครเป็นเจ้าของกิจการรถเมล์ตัวจริง ชื่อของนายเลิศที่เป็นผู้ริเริ่ม อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสียแล้ว
พ.ศ. 2476 – ในสมัยนั้นกิจการรถเมล์เป็นการเปิดเสรี ใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ ทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่มากขึ้น พ่อค้าชาวจีนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มองเห็นถึงช่องทางสร้างรายได้และเป็นกิจการที่มั่นคง จึงได้ริเริ่ม บริษัท ธนนครขนส่ง เพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดขึ้น และหลังจากนั้นก็มีผู้ลงทุนตั้งบริษัทกิจการรถเมล์เพิ่มขึ้นอีกมากมาย รวมจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดขณะนั้นมีมากถึง 28 รายเลยทีเดียว
พ.ศ. 2497 – เมื่อมีกิจการรถเมล์ที่มากขึ้น ก็ย่อมเกิดปัญหาขึ้นตามมา ทั้งการเดินรถทับเส้นทางกัน แก่งแย่งผู้โดยสาร การบริการก็ไม่เป็นมาตรฐาน และที่สำคัญการมีจำนวนรถเมล์มากเกินความจำเป็น ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด นับเป็นปัญหาที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคนั้น ทางการจึงเริ่มออกกฎหมายควบคุม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางต้องขออนุญาตประกอบการขนส่งก่อน
จุดเริ่มต้นของ ขสมก.
จากปัญหาของผู้ประกอบการรถเมล์ที่มากเกินความต้องการของคนกรุงเทพฯ และการออกกฎหมายขออนุญาตประกอบการ ก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาทุเลาลง ปัญหารถติดไม่ได้มาจากรถยนต์ส่วนตัวเหมือนยุคนี้ แต่เป็นรถเมล์เสียอย่างนั้น ชื่อของ ขสมก. จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
พ.ศ. 2518 – มีการรวมกิจการรถโดยสารในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ให้เป็นผู้ประกอบการรายเดียวในชื่อ บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด เพื่อแก้ไขปัญหาเดินรถทับเส้นทาง แย่งผู้โดยสาร และการบริการที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
พ.ศ. 2519 – มีการออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม โดยรวมรถโดยสารทั้งหมดจาก บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด มาอยู่กับ ขสมก. จนกลายเป็นชื่อเรียกที่ติดปากและติดอยู่ในความทรงจำของคนกรุงเทพฯ มาจนถึงทุกวันนี้
รถเมล์ ขสมก. จากอดีตถึงปัจจุบัน พัฒนาไปถึงไหนแล้ว
ยิ่งโลกพัฒนาไปมากขนาดไหน ความต้องการของผู้โดยสารก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ขสมก. จึงไม่หยุดพัฒนา ทั้งการปรับปรุงบริการและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้
พ.ศ. 2521 – ให้บริการรถโดยสารวิ่งตลอดคืน (กะสว่าง) ตอบสนองคนที่เลิกงานดึก และเริ่มนำรถโดยสารปรับอากาศมาวิ่งให้บริการ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การเดินทางด้วยรถเมล์สะดวกสบายมากขึ้น
พ.ศ. 2522 – ให้บริการรถโดยสารขึ้นทางด่วน ถึงที่หมายได้รวดเร็วขึ้น
พ.ศ. 2536 – นำรถโดยสารปรับอากาศ NGV มาวิ่งให้บริการในบางเส้นทาง ตอบสนองกับกระแสเรื่องประหยัดพลังงาน และหันมาใช้พลังงานทางเลือก
พ.ศ. 2554 – ให้บริการตั๋วโดยสารรายเดือน – รายสัปดาห์ (แบบกระดาษ) ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้โดยสารที่เดินทางเป็นประจำ
พ.ศ. 2560 – มีการติดตั้งระบบ GPS และกล้อง CCTV บนรถเมล์ทุกคัน สร้างมาตรฐานใหม่ด้านความปลอดภัย
พ.ศ. 2561 – นำรถโดยสารปรับอากาศ NGV แบบชานต่ำ (Low Floor) มาให้บริการในบางเส้นทาง เป็นการให้ความสำคัญกับ Universal Design หรือการออกแบบเพื่อทุกคน ให้ทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการสามารถขึ้นลงรถได้อย่างสะดวกสบาย
พ.ศ. 2562 – ขสมก. เปิดรับชำระค่าโดยสารผ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งบัตรเดบิตและบัตรเครดิต ก้าวเข้าสู่ยุคไร้เงินสดแบบเต็มตัว
นอกจากบริการดังกล่าวที่เล่าไปแล้ว ในด้านอื่นๆ ยังมีการปรับปรุงและพัฒนาไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะเส้นทางเดินรถที่ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ หรือจุดถนนที่ไม่มีรถโดยสารอื่นเข้าถึง สมกับเป็นระบบขนส่งที่เป็นหัวใจของคนกรุงอย่างแท้จริง
ถึงแม้รถเมล์ในความทรงจำของเรากับตอนนี้อาจจะมีเรื่องราวที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่กลิ่นอายของความสุขยามที่ได้นั่งรถเมล์ก็ยังคงอยู่ในใจของเราทุกคนเสมอ