หากพลิกหน้ากระดาษเปิดตำราศึกษาอย่างจริงจัง จะพบว่ากระบวนการออกแบบนั้นมีหลากหลายรูปแบบ สารพัดวิธีขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นนักออกแบบสายไหน แต่ไม่ว่าจะเริ่มคิดจากอะไรสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ Insight หรือการเข้าใจปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค เพราะสุดท้ายแล้วแม้ผลิตภัณฑ์จะสวยงามแค่ไหน แต่ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ ผลิตภัณฑ์นั้นก็หมดความหมาย
ฉะนั้นจุดตั้งต้นของการออกแบบเลยต้องเริ่มจากการเข้าใจปัญหาของผู้บริโภคก่อน ว่าผู้บริโภคติดปัญหาอะไร ผู้บริโภคมองหาอะไร แล้วค่อยนำมาปัญหาหรือที่เรียกว่า Insight เหล่านั้นมาพัฒนาให้ตอบสนองในแง่ของการใช้งาน (Function) หรือแม้แต่เชิงอารมณ์ความรู้สึก (Emotion)
ดังนั้นในครั้งนี้ The MATTER จะหยิบหยกตัวอย่าง 5 หลักคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ว่า มีอะไรบ้างที่ช่วยให้ใครก็ตามที่อยากออกแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นมาได้นำไปปรับใช้กัน
ออกแบบมาเฉพาะคุณ
แต่ก่อนรถยนต์มีไม่กี่รุ่นและไม่กี่ยี่ห้อ ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ขับรถหน้าตาคล้ายๆ กันหมด แต่ทุกวันนี้นอกจากรถจะมีหลายยี่ห้อ ยังมีหลายสีหลายสไตล์ เหตุผลก็เพราะคนเราแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน การทำผลิตภัณฑ์ทุกอย่างเหมือนกันให้คนที่ชอบอะไรไม่เหมือนกัน จึงกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ดังนั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ยุคนี้ จึงต้องคำนึงต่อการตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะเจาะจงลงแบบรายบุคคลเลย
ยกตัวอย่างเช่น NIKEiD ที่ทำให้วงการสปอร์ตแฟชั่นก้าวไปอีกขั้นด้วยการให้ลูกค้าสามารถออกแบบ เลือกสี เลือกวัสดุที่ประกอบขึ้นเป็นรองเท้าด้วยตัวเอง ก่อนจะส่งให้ถึงบ้านภายใน 3-5 สัปดาห์นอกจากจะตอบสนองการใช้งานแล้วยังสร้างความรู้สึกถึงการเป็นคนพิเศษ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องกลัวซ้ำใคร อันเป็นความต้องการลึกๆ ภายในใจของทุกคนที่ต้องการแสดงออกถึงตัวตนของตนเอง
พฤติกรรมนำชีวิต
นอกจากเข้าใจเรื่องความชอบของผู้ใช้แต่ละคนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งก็คือการเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น Pillpack อุปกรณ์ที่ช่วยจัดยาให้ผู้ป่วยแต่ละคนเป็นซองเล็กๆ ตามเวลาที่ต้องกินในแต่ละวัน ทำให้ป้องกันการกินยาผิด หรือลืมกินยา ซึ่งตัวอย่างอุปกรณ์ของ Pillpack นี้บ่งบอกว่า การออกแบบซองยาไม่ได้คิดแค่ในแง่ว่ามันสะดวก ใช้ง่าย พกพาง่าย แต่ลงลึกไปถึงปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้ซึ่งก็คือ การกินยาผิดและกินยาไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นการออกแบบผลิตภัณ์ที่ดีบางครั้งไม่ใช่แค่ทำให้คนชื่นชอบได้เท่านั้น แต่ยังสามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมหรือช่วยชีวิตคนได้เลย
ปลอดภัยไว้ก่อน
แน่นอนว่าสิ่งจำเป็นพื้นฐานของการออกแบบ ก็คือ คำนึงถึงความปลอดภัยที่ผู้ใช้ ทั้งต่อผู้ใช้เองหรือคนที่พวกเขารัก ยกตัวอย่างเช่น Lechal สตาร์ทอัพจากอินเดีย ที่ออกแบบอุปกรณ์นำทางในรูปแบบแผ่นรองเท้า ที่ช่วยลดความกังวลให้ลูกหลานสามารถติดตามคุณปู่คุณย่าเมื่อออกไปข้างนอกได้ตลอดเวลา ไม่ต้องกลัวพลัดหลง รวมไปถึงช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ทำให้ผู้พิการทางสายตาเดินทางออกนอกบ้านได้ปลอดภัยขึ้นด้วย
เต็มไปด้วยสไตล์
มากกว่าฟังก์ชันการใช้งาน สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการตามมาด้วยก็คือความสวยงาม กล่าวคือ พอใช้แล้วทำให้ตัวเองดูดีขึ้น หรือใช้แล้วมีดีต่อใจ เพราะสิ่งของทุกอย่างที่เราซื้อหามานั้นล้วนสะท้อนบุคลิก ความชอบ ความสนใจได้เป็นอย่างดี แม้สิ่งของเหล่านั้นจะไม่ได้มีโอกาสอวดใครต่อใครมากนัก แต่มันก็ฟินอยู่ในใจเวลาได้จับหรือเป็นเจ้าของมัน ยกตัวอย่างเช่น Dyson เครื่องดูดฝุ่นขวัญใจพ่อบ้านแม่บ้านยุคใหม่ที่งานดี สไตล์จัดทุกรุ่น หน้าตาเท่จนเรียกได้ว่าทำความสะอาดบ้านเสร็จแล้วตั้งโชว์ไว้แต่งบ้านต่อได้อย่างไม่ขัดเขิน
เป็นมิตรต่อโลก
ยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากเรื่องการใช้งานและความสวยงาม คนจำนวนไม่น้อยเริ่มเป็นกังวลเรื่องนี้มากๆ ก็คือ การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น Bambooee กระดาษอเนกประสงค์ที่ผลิตจากเยื่อไผ่ 100% แต่ซักทำความสะอาดมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ ทำให้ผู้ใช้งานอุ่นใจว่าไม่ทำร้ายโลกตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงปลายทาง
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลกแห่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มองเห็นความสำคัญในการคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ทำให้สร้างอุปกรณ์ที่แก้ปัญหาเล็กๆน้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ได้อย่างตรงจุดและนำหลักจิตวิทยามาจับกับอินไซต์หรือความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับการใช้ชีวิตได้มากที่สุดอีกด้วย
บทความนี้สนับสนุนโดย CURAPROX แปรงสีฟันที่ทําให้คุณอยากแปรงฟัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.ideou.com/blogs/inspiration/why-is-generating-insights-an-important-skill
http://intelligence.masci.or.th/upload_images/file/customer%20inside.pdf
https://positioningmag.com/13450
http://www.lechal.com/#The-Inspiration