ต่อให้มั่นแค่ไหนก็เชื่อว่าต้องมีความรู้สึกไม่มั่นใจกันบ้างเวลาที่กินอาหารกลิ่นแรงอย่างกระเทียม สะตอ ทุเรียน ฯลฯ เข้าไป
เพราะสารเคมีตัวที่แพร่กระจายกลิ่นของอาหารเหล่านี้จะติดตามเราไปทุกที่อีกนาน แม้จะแปรงฟันก็แล้วบ้วนปากก็แล้ว อย่างกลิ่นกระเทียมนั้นสามารถติดอยู่ในลมหายใจของเราได้นานถึง 72 ชั่วโมง! กลิ่นตุๆ ยามเช้าในช่องปากเป็นเรื่องปกติสามัญอย่างที่สุด สำหรับทุกคนในทุกๆ วัน เนื่องจากในตอนที่เรานอนหลับน้ำลายจะผลิตออกมาได้ช้าลง ทำให้แบคทีเรียในช่องปากออกมาสังสรรค์รื่นเริงกันอย่างเต็มที่ มีความพยายามที่จะกำจัดกลิ่นเหล่านี้ด้วยหลากหลายวิธีสารพัดสารเคมี เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียอันเป็นตัวการของกลิ่นปาก ที่เกิดขึ้นในยามที่ร่างกายของเรากำลังหลับพักผ่อน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องกลิ่นนั้นส่งผลต่อบุคลิกภาพได้มากทีเดียว เพราะกลิ่นปากนั้นเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากหลีกเลี่ยง เราจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ปากของเราหอมสดชื่น รู้สึกสะอาดสะอ้าน มั่นใจ เรื่องของกลิ่นจึงเป็นเรื่องที่มนุษย์เราให้ความสนใจตลอดมา หนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างยาสีฟันก็ให้ความสำคัญเรื่องกลิ่นด้วยเช่นกัน แต่กลิ่นของยาสีฟันนั้นไม่ได้ใส่ไว้เพื่อกลบกลิ่นปากหรอกนะมันมีประโยชน์มากกว่านั้น
ความเป็นมาของกลิ่นในยาสีฟันนั้นเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวต้นศตวรรษที่ 20 นี่เองเมื่อ Betty White วางขายยาสีฟันกลิ่นมินต์เป็นเจ้าแรกๆ และกลายเป็นจุดกำเนิดของการนำความสดชื่นจากธรรมชาติมาใส่ไว้ในสารเคมีสำหรับทำความสะอาดฟัน สาเหตุหนึ่งก็เพื่อกลบกลิ่นส่วนผสมอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ อีกสาเหตุก็เป็นเพราะรสชาติของมินต์ที่ทำให้เรารู้สึกเย็นสดชื่น อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์อย่างง่ายๆ คือ ตัวรับรสมากมายในปากเราทำงานจำเพาะเจาะจงกับสัญญาณสัมผัสที่แตกต่างกันไป มีตัวรับตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่คอยรับความรู้สึกเย็นโดยเฉพาะ ส่งสัญญาณไปยังสมองว่าช่องปากของเรามีความรู้สึกเย็น ซึ่งตัวรับนี้ทำปฏิกิริยากับมินต์ด้วย เมื่อเรารู้สึกถึงกลิ่นมินต์ในปาก สมองก็จะรับรู้ทันทีว่าปากของเรารู้สึกเย็นสร้างความรู้สึกสะอาด สดชื่นจนทำให้รสของมินต์ได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้
ส่วนรสชาติของยาสีฟันที่ยังคงค้างอยู่เป็นตัวช่วยให้เรารู้สึกสดชื่นหลังการแปรงฟันได้สักระยะ แต่ก็ส่วนผสมในยาสีฟันก็มีผลข้างเคียงที่ทำให้เมื่อเราดื่มน้ำส้มหลังแปรงฟันจะทำให้รสชาติของเปรี้ยวหวานแสนอร่อยที่คุ้นเคยผิดเพี้ยนไปเป็นความขมเฝื่อนชวนร้องอี๋ นั่นเป็นเพราะในยาสีฟันทั่วไปมี SLS (Sodium Lauryl Sulfate) ส่วนผสมสำคัญที่ทำให้เกิดฟองเวลาเราแปรงฟัน ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้จำเป็นต่อการทำความสะอาดฟันแต่อย่างใด ซึ่งสารตัวนี้แหละที่จะทิ้งรสขมๆ ไว้ในปากของเราราวครึ่งชั่วโมง จนกว่าน้ำลายจะชำระล้างสารนี้ออกไปหมด ลิ้นส่วนที่รับรสจึงจะกลับมาทำงานได้ตามปกติอีกครั้ง
แต่รู้หรือไม่ว่า จากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ใน Journal of Clinical and Aesthetic Dermatology เมื่อปี 2010 กลิ่นหอมสดชื่นจากการใช้สารเคมีปรุงแต่งกลิ่นรสให้คล้ายชินนามอน (Cinnamon) สเปียร์มินต์ (Spearmint) เปบเปอร์มินต์ (Peppermint) น้ำมันหอมระเหยคาร์โวน (Carvone) และน้ำมันหอมระเหยชนิด Anethole ซึ่งเป็นส่วนผสมในยาสีฟันคิดเป็น 93% ของยาสีฟันในท้องตลาดยาสีฟันที่มีขายตามท้องตลาดในสหรัฐอเมริกา ล้วนแต่ส่งผลให้ผู้ใช้งานเกิดอาการแพ้เป็นอันดับหนึ่ง! อาการแพ้ที่ว่ามีตั้งแต่เนื้อเยื่อในช่องปากหลุดลอก ระคายเคืองรอบปาก ปากดำ ปากลอก ไปจนถึงมีอาการผื่นแดงบวมขึ้นรอบปาก
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้มีการพัฒนากลิ่นยาสีฟันที่สร้างความหอมสะอาด ให้ความรู้สึกสดชื่นด้วยกลิ่นรสชนิดอื่นๆ ทดแทน เพื่อให้ผู้ที่แพ้กลิ่นมินต์ได้มีทางเลือกในการทำความสะอาดฟันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสารสกัดจากผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ แอปเปิ้ล และสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นซึ่งให้กลิ่นที่คุ้นเคย น่าใช้ไม่แพ้กลิ่นมินต์เลยทีเดียว
ยาสีฟันจะเป็นกลิ่นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะทำให้รู้สึกเย็น สดชื่น หรือมีรสหวานอร่อยที่เราชอบหากมันช่วยให้เรารู้สึกอยากแปรงฟันมากขึ้น เพราะกลิ่นหอมในยาสีฟันนั้นมีหน้าที่หลักคือการจูงใจให้เราอยากแปรงฟัน ทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุกไปกับการลิ้มรสชาติอร่อยๆ ระหว่างทำความสะอาดช่องปาก สร้างนิสัยที่ดีในการแปรงฟันนั่นเอง
รู้อย่างนี้แล้ว เราอยากให้ลองหมั่นสังเกตอาการของร่างกายตัวเองในระหว่างการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ครั้งต่อไปก่อนหยิบยาสีฟันใส่ตะกร้า อย่าลืมสังเกตส่วนผสมของยาสีฟันแต่ละหลอดอย่างละเอียดถี่ถ้วนขึ้นสักหน่อย เพื่อที่จะได้ดูแลสุขภาพช่องปากของเราให้สะอาดสดชื่นได้อย่างสบายใจ ห่างไกลอาการแพ้จากสารเคมีโดยไม่จำเป็น
บทความนี้สนับสนุนโดย CuraproxTH
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://lifehacker.com/5991693/why-toothpaste-makes-everything-else-taste-bad-and-how-to-fix-it
https://www.nationaldentalcare.com.au/whats-taste-toothpaste/
http://bluevalleysmiles.com/food-tastes-different-brushing-teeth/
https://spoonuniversity.com/lifestyle/the-real-reason-why-toothpaste-is-mint-flavored
https://www.livestrong.com/article/73827-ingredients-shampoos-conditioners-cause-hair/
https://mintdentalar.com/blog/why-mint-herb-of-choice-dental-products/
https://slate.com/culture/2012/02/an-excerpt-from-charles-duhiggs-the-power-of-habit.html