ท่ามกลางความสับสนของสิ่งแวดล้อมในชั่วระยะหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ คนหันมาสนใจการเยียวยาโลกและสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้ดิ่งลงเหวมากกว่าเดิม
เพื่อต่อลมหายใจให้ตัวเราเองและลูกหลานในอนาคต เริ่มจากการสนับสนุนเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวันอย่างพลาสติก เรื่อยไปจนเรื่องสำคัญอย่างการใช้พลังงานทดแทน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์
แล้วคุณเอง มีวิธีการเยียวยาดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้อย่างไรบ้าง เราอยากชวนมาแลกเปลี่ยนด้วยกัน
นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มนุษย์เริ่มเฝ้าฝันถึงการไปเหยียบดาวดวงอื่นในจักรวาล พร้อมทั้งอยากตั้งรกรากในพื้นที่แห่งใหม่เมื่อดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ ก็ดูเหมือนจะรองรับมนุษยชาติไม่ได้อีกต่อไป เพราะเหล่าประชากรเดินหน้าทำลายสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานจนเกิดภาวะโลกร้อน ขั้วโลกเหนือกลายเป็นทะเลสาบขนาดยักษ์เมื่อปราศจากภูเขาน้ำแข็ง และมีหมีขาวผู้อาภัพผอมโซเพราะอดอยากเดินคอตกสิ้นหวังให้ได้เห็น เหล่านี้คือสัญญาณที่โลกเตือนเรามาอย่างยาวนานตลอดว่า ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ -ซึ่งยังหาทางอพยพไปยังดาวดวงอื่นไม่ได้- ต้องหยุดยั้งวิกฤตินี้ให้ได้โดยไวที่สุด
ชั่วระยะไม่กี่ปีให้หลัง จึงเกิดการรณรงค์ให้ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่ากันอย่างกว้างขวาง เงื่อนไขสำคัญคือพลังงานที่จะใช้นั้นต้องไม่เบียดเบียนธรรมชาติมากกว่าที่เป็นอยู่
หรือว่านี่จะเป็นวิธี ‘ช่วยโลก’ ในแบบที่ได้ผล ยั่งยืน โดยที่ยังไม่ต้องหาทางอพยพผู้คนไปที่ไหน แล้วยังมีวิธีไหนอีกที่เราจะเยียวยาเจ้าดาวเคราะห์อันเป็นบ้านเกิดดวงนี้ให้อยู่กับเราไปนานๆ
จนถึงนาทีนี้ ยากมากที่จะใจแข็งไม่รับรู้ข่าวคราวความเสียหายของสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศโลก เมื่อข่าวรายวันล้วนต้องมีอย่างน้อยหนึ่งเหตุการณ์ที่ว่าด้วยผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ไฟไหม้ป่า อย่างรุนแรงและชัดเจนที่สุดในเวลานี้ คือข่าวไฟไหม้ป่าแอมะซอน เพิ่งมีรายงานว่าราว 10 เปอร์เซ็นต์ของผืนป่ากำลังเผชิญหน้ากับไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุด ทั้งยังเกิดไฟป่าถี่ขึ้นกว่าปีก่อนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และล่าสุด เกิดไฟป่ากินพื้นที่กว่าหนึ่งพันเอเคอร์ในป่าทางใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียจนส่งผลกระทบในวงกว้าง
และไม่ว่าจะทั้งเหตุการณ์ในแอมะซอนหรือเหตุการณ์ในแคลิฟอร์เนีย เราก็ดูเหมือนจะยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน รวดเร็วและทรงพลังมากพอจะจัดการไฟป่าเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืนเลย
สืบเนื่องมาจากไฟป่า น่าจะพอเดากันได้แล้วว่าผลกระทบที่ตามถัดมาหลังจากเปลวเพลิงคืออะไร
หากเรายังไม่ลืมกัน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ และคนเชียงใหม่ต้องเผชิญสภาพอากาศเลวร้ายจากฝุ่นควันพิษ PM 2.5 จนหายใจแทบไม่ได้ มีการประเมินกันว่า สาเหตุของฝุ่นเหล่านี้นั้นมาจากการเผาป่าหรือการก่อเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ ที่ทำให้เกิดฝุ่นควันที่ลมหอบเข้ามายังอีกพื้นที่หนึ่ง ทั้งในทางตรงและทางอ้อม มันยังทำให้วงจรฟันเฟืองต่างๆ หยุดชะงัก โลกร้อนส่งผลให้อุณภูมิโลกเข้าสู่สภาวะสุดขั้ว นั่นคือร้อนจัดและหนาว
นี่คือสัญญาณว่าโลกกำลังย่ำแย่ มนุษย์เผชิญสภาพอากาศแปรปรวน… แล้วจะทำอย่างไร
ว่ากันว่า อีลอน มัสก์ คือนักธุรกิจผู้เป็น Iron Man ตัวจริงบนโลกมนุษย์ เขาคือนักธุรกิจพันล้าน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เทสลา ที่ทุ่มเทความสามารถและเงินตราให้กับความรุ่งโรจน์ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาฝันอยากเห็นมนุษย์อยู่กับเทคโนโลยีล้ำยุคที่อำนวยความสะดวกสบายให้เรา นำมาสู่การผลิตรถยนต์ไร้คนขับ รวมถึงโครงการ SpaceX ที่หวังจะพามนุษยชาติก้าวไปเหยียบดาวอังคาร ที่ลืมไม่ได้คือ โครงการของมัสก์มีใจความสำคัญที่น่าสนใจอย่างการที่นำจรวดใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำได้อีกครั้ง
ปัจจุบันจรวดหลายลำของมัสก์สามารถขนส่งอุปกรณ์ต่างๆ ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติได้แล้ว และนับเป็นความสำเร็จก้าวใหญ่… หากแต่การอพยพมนุษย์คนอื่นๆ ไปดาวอังคารด้วยยานอวกาศเหล่านี้ จะยังเป็นก้าวที่ไกลกว่าความเป็นจริงมากพอสมควร
มนุษยชาตินั้นมาพร้อมแรงผลักดันและความทะเยอทะยานเสมอ เราฝันอยากอพยพมนุษย์ไปสู่ดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในความเป็นจริง การหาบ้านใหม่ก็ดูไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเกินไปนัก เมื่อกลางปี 2019 ที่ผ่านมานี้ มีรายงานว่าค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่อยู่นอกระบบสุริยะ แม้ไม่แน่ใจว่าองค์ประกอบหลักของดาวดวงนี้ จะเป็นหินทั้งหมดหรือเปล่า แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้มากว่ามันจะมีน้ำปนอยู่ด้วย นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งชื่อให้มันว่า K2-288Bb พร้อมปักธงว่า นี่อาจเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของวงการดาราศาสตร์ และพลิกโฉมหน้าของมนุษยชาติไปเลยก็ได้
แต่ง่ายอย่างนั้นเลยหรือ เพราะเอาเข้าจริงๆ เจ้าดาวดวงใหม่นี้ อยู่ห่างจากโลกถึง 226 ปีแสง จนแม้มันจะเป็นโปรเจกต์ที่ดูมีความหวังมากแค่ไหน ก็ต้องคอยย้ำเตือนตัวเองเสมอว่ามันเป็นความคาดหวังที่ต้องใช้เวลาในการเดินไปหานานหลายสิบปีมากทีเดียว
พลังงานฟอสซิลและถ่านหินคือเชื้อเพลิงหลักๆ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แน่นอนว่ามันเป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เกิดจากการสะสมของซากพืชซากสัตว์ ในอีกพันปีต่อมา แต่มีการปรากฏเป็นข่าวใหญ่ที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ที่ประชาชนนับร้อยชีวิตต้องเผชิญสภาวะแล้งไร้ไม่มีน้ำดื่มกิน เนื่องมาจากน้ำที่พวกเขาใช้ในชีวิตประจำวันนั้นปนเปื้อนไปด้วยาสารพิษจากการทำเหมือง แต่ถึงกระนั้นแล้วมนุษย์ยังคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานนี้ได้มากนัก และยังคงมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการลดมลพิษลง อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานชีวภาพที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า
ดาวดวงใหม่ที่จะเป็น ‘บ้าน’ ของเราก็ยังดูห่างไกลจากความเป็นจริง ทั้งโลกที่เราอาศัยอยู่ในทุกวันนี้ ก็บีบคั้นให้เราต้องตระหนักแล้วว่า สิ่งแวดล้อมกำลังแย่ลงทุกขณะ จนเราไม่อาจหลีกหนีข้อเท็จจริงไปได้ว่า หากยังอยากอยู่ในดาวดวงนี้อย่างยั่งยืน คงไม่แคล้วต้องหาทางปรับตัว อยู่กันต่อไปแบบรักษ์โลกให้มากขึ้น
แน่นอนว่านี่ก็ไม่ใช่คำตอบที่ ‘ใหม่’ หมดจดเสียทีเดียว ในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามีความพยายามขับเคลื่อนการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก จนล่าสุดกระแสรักษ์โลกได้จุดติดในหมู่โลกออนไลน์และคนรุ่นใหม่จำนวนมาก มันจึงเป็นภาพสะท้อนอย่างดีว่า แท้จริงแล้ว เราอาจยังไม่ต้องย้ายบ้านไปที่ดาวดวงไหน เราเพียงแค่ต้องหาทางอยู่ร่วมกับโลกอย่างประนีประนอมเช่นเดิม หากแต่ต้องจริงจังมากขึ้น… ถามว่าจริงจังในระดับไหน ก็อาจจะในระดับที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง
เพื่อจะหาวิธีใช้พลังงานที่เป็นมิตรและประนีประนอมต่อสิ่งแวดล้อมนอกจากการใช้พลังงานฟอสซิลและถ่านหินเพียงอย่างเดียว มนุษย์จึงหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นกว่าเดิม จนปี 2007 มีการสำรวจว่าพลังงานหมุนเวียนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์จากสิบปีก่อน ขณะที่ในปี 2018 ที่ผ่านมา มีรายงานว่าประเทศแถบสหราชอาณาจักรที่มีการใช้พลังงานเพื่อขนส่ง ทำอุตสาหกรรมเป็นหลักนั้น เปลี่ยนถ่ายมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีอย่างน่าสนใจ และผลผลิตต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมานั้น ราว 33 เปอร์เซ็นต์ล้วนเป็นผลลัพธ์ที่ได้จากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานทดแทนเป็นหลัก
และพลังงานทดแทนที่ป๊อปปูลาร์กว่าใครเพื่อนคือพลังงานแสงอาทิตย์ เห็นได้จากการที่ญี่ปุ่นเปิดสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเป็นจริงเป็นจัง หรือประเทศจีนที่เปิดโรงไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ ที่มีแผงเซลล์แสงอาทิตย์นับแสนแผง จนเป็นประเทศที่มีโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกไปโดยปริยาย หลังปี 2016 ที่รัฐบาลจีนมุ่งมั่นจะเดินหน้าลดภาวะโลกร้อนอย่างเต็มตัว และปักธงไว้ว่าภายในปี 2030 จีนจะต้องผลิตไฟฟ้า 20 เปอร์เซ็นต์จากพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดภาวะสิ่งแวดล้อมที่กินเวลามาอย่างยาวนาน และนั่นทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์สูงล้ำหน้าประเทศเยอรมนีที่ถือครองตำแหน่งนี้มาตลอดด้วยโรงไฟฟ้า 38,250 เมกกะวัตต์ ตามมาด้วยประเทศในแถบตะวันตกจำนวนมากที่หันมาก่อตั้งโรงไฟฟ้าเหล่านี้อย่างเป็นทางการและตั้งเป้าหมายจะให้มันเป็นแหล่งพลังงานหลักในอนาคตให้ได้
เมื่อราวปี 2017 มีการเผยแพร่งานวิจัยว่ามีความเป็นไปได้มากทีเดียวที่พลังงานแสงอาทิตย์จะกลายมาเป็นพลังงานหลักของโลก
มิหนำซ้ำยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการผลิตพลังงานในปัจจุบันทั้งในแง่เงินตราและในแง่ความคุ้มค่าทางสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากราคาจะถูกลงกว่าเดิมแล้ว มันยังให้ผลผลิตที่มหาศาลยิ่งกว่าพลังงานรูปแบบอื่นๆ
การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จึงกลายเป็นความตื่นตัวที่น่าจับตาในหลายๆ อุตสาหกรรมและหลายๆ ประเทศ ชื่อของพลังงานแสงอาทิตย์ที่เคยดูไกลตัวและห่างจากความเข้าใจของผู้คน ค่อยๆ เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นสมาร์ทโฟนที่หันไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการชาร์ตแบต หรือแม้แต่ Xiaomi โทรศัพท์สัญชาติจีนก็จดสิทธิบัตรในการเป็นสมาร์ทโฟนใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างเป็นจริงเป็นจังแล้วในที่สุด
นั่นจึงนำมาสู่เรื่องของโซลาร์เซลล์ ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าแผงโซลาร์เซลล์คืออะไร อย่างรวบรัดที่สุด มันคืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แปลงพลังงานแสงให้เป็นพลังงานไฟฟ้า สามารถนำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ตอนกลางวันมาเก็บไว้ในแบตเตอรี่แล้วเอามาใช้ในตอนกลางคืน มันจึงเป็นพลังงานที่สามารถใช้งานได้อย่างทันที หรือจะออมไว้ใช้ได้ในยามที่ต้องการได้ด้วย
การติดตั้งนั้นใช้เงินราว 200,000 บาท ซึ่งมันจะช่วยเราลดค่าใช้จ่ายราวเดือนละ 1,600 บาท และหากคิดตลอดทั้งปีก็นับเป็นเงิน 20,000 บาท แถมยังมีการวิเคราะห์เสร็จสรรพว่า ในแง่สิ่งแวดล้อม มันเท่ากับการช่วยโลกปลูกต้นไม้เกือบ 40 ต้นในหนึ่งปีทีเดียว [1]
แต่แผงโซลาร์เซลล์ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นที่นิยมในยุคหลังๆ เมื่อหลายปีก่อน มันก็เป็นปรากฏการณ์ฮอตฮิตของเหล่าออฟฟิศหรือสำนักงานใหญ่ในการจะติดตั้งแผงนี้เช่นกัน (ถ้ายังจำกันได้ เหมยลี่ ตัวละครเอกจาก รถไฟฟ้า มาหานะเธอ เมื่อสิบปีก่อนก็ทำหน้าที่เป็นเซลล์สาวขายแผงโซลาร์เซลล์นะ!) แน่นอนว่ามันต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนมากมาย แถมยังชวนกังขาว่าจะใช้งานได้จริงหรือเปล่า แต่ในปัจจุบัน ก็เป็นอันวางใจได้ว่าการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นั้นจะปลอดภัยและใช้งานได้แน่นอน เพราะหน่วยรายการใหญ่ๆ อย่างศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะที่เป็นหน่วยงานราชการที่ติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย
การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มันจึงไม่ใช่เรื่องยากและเรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแค่หน่วยราชการเท่านั้นที่มีส่วนในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพิ่งจะเปิดตัวโปรเจกต์ใหญ่ โซลาร์ภาคประชาชน ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ เชื่อมระบบไฟฟ้าของประเทศและขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือเข้าสู่ระบบได้ในราคาไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลาสิบปี ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาเพื่อใช้เอง หากมีส่วนที่เกินจากการใช้งานก็สามารถนำไปขายต่อให้รัฐ โดยกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าดูรายละเอียดขั้นตอนการรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ http://solar.erc.or.th เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตพลังงานอย่างยั่งยืนและไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน โดยที่ผ่านมา กกพ. มีบทบาทอย่างมากในเรื่องกิจการไฟฟ้า ไม่เพียงแต่จะออกใบอนุญาตสำหรับผลิตไฟฟ้าหรือดูแลควบคุมระบบไฟฟ้าต่างๆ ยังมีโครงการน่าจับตาอย่าง กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนให้ทุกชุมชนมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และเป็นเสมือนหัวเรือในการนำไฟฟ้าเข้าไปสู่ท้องถิ่นทั้งใกล้และไกล
การจะย้ายไปดาวดวงอื่นก็ดูเป็นเรื่องริบหรี่ โคโลนี่ใหม่ที่เฝ้าฝันถึงก็ยังไม่เห็นแวว ดังนั้น สิ่งที่เราพอจะทำได้ในตอนนี้คือต่อลมหายใจสะอาดให้ดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่เป็นบ้านหลังเดิมของเรา ด้วยการใช้พลังงานที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในวิธีเยียวยาคือการหันมาใช้โซลาร์เซลล์ที่เป็นมิตรทั้งตัวผู้ใช้และต่อโลก
เป็นการช่วยเหลือแบบใกล้ตัว ที่ได้ผลในระยะประชิดคือตัวเราเอง… และในวงกว้างอย่างสิ่งแวดล้อมด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] https://www.aecexport.com/solar-cell/free-solar-cell-break-event-point/