“อยากให้มองว่าทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากัน คือมองฉันที่เป็นฉัน ไม่ต้อง judge กันที่เพศหรือรูปร่างหน้าตา ทรีตเราให้เป็นเหมือนคนธรรมดาปกติทั่วไป ไม่ต้องทรีตว่าเราคือ LGBTQIA+”
คำกล่าวโดย มิน – นวมินทร์ ศิวสรานนท์ พนักงาน foodpanda ตัวแทนของ LGBTQIA+ ที่เคยต้องแอ๊บ ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพียงเพื่อให้ได้ตำแหน่งงาน ก่อนจะตัดสินใจปลดแอก กล้าที่จะเป็นตัวเอง โดยไม่สนใจระบบตีตรา พร้อมทั้งใช้ชีวิตอีกด้านในการเป็น Drag influencer ในนาม Miss Slater เปิดเผยตัวตนให้โลกและสังคมยอมรับ
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของ ‘เพศสภาพ’ คือหนึ่งในประเด็นที่สังคมได้สร้างกรอบกำแพงหรือตีตราให้ LGBTQIA+ ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างอิสระเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องของอาชีพหรือหน้าที่การงานบางตำแหน่ง ที่ยังไม่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายมากเพียงพอ
เนื่องในโอกาส Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ The MATTER อยากชวนไปสำรวจเรื่องราวชีวิตของมิน กับการต่อสู้กว่าจะมาเป็นตัวเองทุกวันนี้ได้ พร้อมทั้งเบื้องหลังการทำงานกับ foodpanda แพลตฟอร์มส่งอาหาร และของกินของใช้ ที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลาย ทั้งทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความคิด รวมถึงมีวัฒนธรรม นโยบายในการทำงานที่เปิดกว้าง และสนับสนุนในความหลากหลายอย่างแท้จริง
อยากให้เล่าชีวิตในวัยเด็ก เริ่มค้นพบตัวเองตอนไหน
เราจะรู้ตัวตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้ว คือคุณครูเวลาเขียนในสมุดพก จะมีคอมเมนต์ว่าตุ้งติ้งมากเกินไป ครอบครัวก็ไม่ได้ว่าอะไรมากมายในเรื่องนี้ แต่เขาจะดูในเรื่องของพฤติกรรม ความมีระเบียบวินัย การเรียนมากกว่า ก็เลยไม่ได้เป็นปัญหาหลักอะไรพอโตขึ้นมา ก็มีหลายพฤติกรรมที่ทำให้ครอบครัวรู้มากขึ้น อย่างเช่น เราจะคบแต่เพื่อนผู้หญิงหรือว่า LGBTQIA+ มากกว่า
แล้วพอครอบครัวรู้จริงๆ เขาติดใจอะไรไหม
ใช้คำว่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะคนสมัยก่อนเขาก็จะห่วงว่า คนที่เป็น LGBTQIA+ ไม่มีครอบครัว มีไลฟ์สไตล์แบบนี้ เขาจะใช้ชีวิตในสังคมได้ยังไง เรียกว่าไม่ได้สนับสนุนเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้ห้ามให้เราเป็นแบบนี้ จะเป็นทางสายกลางมากกว่า
อะไรที่ทำให้รู้สึกว่ากำลังถูกสังคมตีตราอยู่ และจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร
ตอนเด็กๆ โดนล้อ จะมีคำว่า อีตุ๊ด เป็นคำที่เขาเรียกกัน เราอาจจะรู้สึกจิ๊จ๊ะที่คนมาล้อเรา แต่เราเลือกที่จะไม่เทคแอกชันหรือรู้สึกอะไรกับตรงนั้น ปล่อยมันไป ทำให้กลายเป็นเกราะป้องกัน พอเราโตขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น เกราะก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น
มีเหตุการณ์ไหนที่รู้สึกว่า ไม่อยากจะแอ๊บต่อไปแล้ว
มีเหตุการณ์หนึ่งที่ใช้คำว่า “ปลดแอก” ก็ได้ ช่วงตอนที่เรียนจบ แล้วต้องสมัครงาน ก็จะมีเรื่องการสัมภาษณ์ เข้าใจว่าจะมีบางที่ ที่เขามีกฎระเบียบของบริษัทที่คุณจะต้องอยู่ในเพศสภาพของตัวเอง แต่มีจุดพีคคือได้สัมภาษณ์ไปถึงรอบสุดท้าย ผู้สัมภาษณ์บอกประมาณว่า คุณไม่แมนพอสำหรับงานนี้ หรือคุณไม่ masculine พอที่จะทำงานนี้ ทำให้เรามานั่งคิดกับตัวเองว่า ฉันจะต้องทำตัว ทำเสียง ทำท่าทางให้เป็นผู้ชาย เพื่อให้ได้งานนั้นมั้ย? สุดท้ายเราก็ตัดสินใจไม่ไปต่อ ไม่ได้งานนั้น เพราะเราพอใจกับตัวเราแบบที่เป็น และเราก็อยากให้คนอื่นเคารพความเป็นตัวเรา
ตอนนั้นให้กำลังใจตัวเองยังไง
คิดว่าอาจจะมีงานอื่นๆ ที่เราสามารถเป็นตัวเองได้มากกว่า ไม่ต้องแอ๊บ เสียงเรา ท่าทางเรา gesture เราเป็นแบบนี้ มันน่าจะมีงานที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้จริงๆ มีความรู้สึกว่าต่อไปนี้ ทั้งการคุย การสื่อสาร หรือการทำงานต่อไป ฉันจะไม่แอ๊บอีกต่อไปแล้ว เป็นช่วงที่ปลดล็อกเลย
การไม่เป็นตัวเองส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงานมากน้อยขนาดไหน
จริงๆ แล้วมันเหนื่อยนะ เพราะทำให้เราดูไม่เป็นธรรมชาติ เวลาคุยกับใคร เขาก็รู้สึกว่าเราดูฝืนเกินไป ดู tense ดูตึงเครียดไปหมด สู้เป็นเรา เป็นธรรมชาติของเราดีกว่า นึกภาพเวลาคุยงาน แล้วต้องคิดคำตอบ ต้องมานั่งปรับโทนให้เป็นผู้ชายอีก มันเหนื่อยนะ ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องสร้างภาพลักษณ์ เราอยากเป็นตัวของตัวเอง แค่นั้นเอง
จำความรู้สึกวันแรกที่ได้ปลดแอกเป็นตัวเองได้ไหม
เราเรียกแทนตัวเองว่าหนู จากที่เรียกตัวเองว่าผม ทุกอย่างมันก็ไหลลื่น โฟลว์ไปเลย แต่งตัวก็เป็นเรา จากที่ต้องใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงสแล็ค รองเท้าหนัง กลายเป็นเสื้อผ้าที่มีสีสัน colorful หน่อย พอเป็นแบบนี้ จะทำอะไรก็ง่ายไปหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยากจะเสริมว่า การเป็นตัวของตัวเองได้ ก็ต้องมีเรื่องของกาลเทศะที่ต้องระวังด้วย
มาถึงจุดนี้แล้ว ครอบครัวเขาโอเคกับเราแล้วใช่ไหม
ช่วงแรกๆ จะมีการเบรกมาจากพ่อแม่นิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่การห้าม จะเป็นแบบว่าให้อยู่ในร่องในรอย เป็นเรื่องของความห่วงใยที่เขาคอยดูแลมากกว่า แต่เราก็เข้าใจบริบทของสถานการณ์ต่างๆ ถ้าต้องติดต่อกับผู้ใหญ่ หรือประชุมทางการ ก็จะแต่งตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะ คือเราสาวได้ แต่ก็เรียบร้อยได้ด้วย แล้วก็มีวันที่แต่งเต็มสุด จัดใหญ่ ก็ต้องทำให้ครอบครัวเขาเห็นว่าบางครั้งเราก็มีกิจกรรมแบบนี้ ให้เขารับรู้ว่านี่คือรสนิยมอย่างหนึ่งของเรา แต่อีกด้านก็ยังมีชีวิตประจำวันที่เป็นเราในอีกเวอร์ชั่นนึงอยู่เหมือนกัน
อยากให้เล่าถึงที่มาของ Miss Slater
Miss Slater มาจากชื่อตัวละครในทีวีซีรีส์เรื่อง Ugly Betty ที่เคยดู ซึ่ง related กับเรามาก เพราะเป็นเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งชื่อ Betty ตัวร้ายของเรื่องเป็น Creative Director ชื่อ Wilhelmina Slater เป็นผู้หญิงเก่ง นำแฟชัน มีความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็น role model ใน career path ของเรา ฉันอยากจะเป็นผู้หญิงที่เก่ง เป็นผู้หญิงที่ทำงานที่มีความเฟียสแบบนี้ แล้วเวลาที่เราแต่งหญิง คือองค์แม่ Wilhelmina Slater เข้าร่าง พอองค์ลง ความคิด attitude ต่างๆ ก็มา ทั้งๆ ที่ตอนปกติเราก็เป็นมินที่มีความหน่อมแน้มเรียบร้อย แต่พอเป็น Miss Slater ก็รู้สึกมั่นใจมากขึ้น
ฟีดแบ็กจากการเป็น Miss Slater พอใจมากน้อยขนาดไหน
เริ่มต้นจากการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับบิวตี้ แล้วก็ต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ บ้าง มีทั้งคนที่คอมเมนต์บวกและลบ ในแง่ของการผลิตผลงาน LGBTQIA+ จะมีจริตในการเล่าเรื่องที่เป็นสไตล์ของตัวเอง มีคนคอมเมนต์ว่าบางทีก็เกินที่คนปกติเขาจะเสพกัน แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ความตั้งใจของเรา ซึ่งเราไม่ได้วัดว่าเราเป็น LGBTQIA+ มาทำคอนเทนต์ แล้วจะมีคนสนใจหรือเปล่า แต่เป็นสิ่งที่เราอยากจะแสดงออกมา คิดว่าถ้าทำด้วยใจรัก มี passion กับมันผลตอบรับก็น่าจะโอเค
มองว่าการเป็น Miss Slater ได้มีโอกาสส่งต่อแรงบันดาลใจ ให้กับสังคมรอบตัวอย่างไรบ้าง
คิดว่าอยากจะส่งพลังนี้ไปให้น้องๆ เหมือนกัน อยากเป็นแรงบันดาลใจให้เขามีความมั่นใจ ถ้าเป็นตุ๊ดหัวโปกเหมือนพี่ แล้วอยากจะลุกขึ้นมาแต่งหญิง ก็ทำด้วยความมั่นใจไปเลย อาจจะไม่ใช่แค่น้องๆ ที่เป็นเหมือนกัน จริงๆ เด็กวัยรุ่นทุกคนที่รู้สึกไม่เป็นตัวเอง อย่าให้กรอบหรือสังคมตีตราได้ ลองลุกขึ้นมาเป็นตัวเอง อยากจะส่งแรงบันดาลใจและความมั่นไปให้ทุกคน
หลังจากที่ได้ทำงานกับ foodpanda ประทับใจในวัฒนธรรมอะไรของที่นี่บ้าง
foodpanda เป็นบริษัทที่มีออฟฟิศอยู่ในหลายประเทศ เพราะฉะนั้นเรื่องพนักงานจะมีหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัย แล้วก็ยังมีความหลากหลายทางเพศด้วย diversity & equality ถือว่าเป็น Common culture ขององค์กร คือติดอยู่ใน DNA แบบไม่ต้องฝืน ยิ่งช่วง pride month บริษัทแม่ที่เบอร์ลิน จะ active มากกับกิจกรรมในการฉลอง pride month เรามาทำงานที่นี่ เขาไม่ได้ judge ว่าเราเป็นเพศไหน ถ้าคุณมีไอเดีย มีสิ่งต่างๆ ที่อยากจะทำ คุณก็สามารถเสนอได้ discuss ได้ ถือเป็น culture ที่ดี รู้สึกประทับใจที่ได้มาทำงานที่นี่
รู้สึกยังไงกับนโยบายที่สนับสนุนพนักงานเกี่ยวกับ Diversity & Equality ของ foodpanda
foodpanda มี Core value ที่เป็นคุณค่าขององค์กรเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของ Win through diversity การโอบรับความหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติ อายุ รวมถึงเพศด้วย ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็สามารถมาทำงานที่ foodpanda ได้ ถ้าจะให้ลงลึกในเรื่องของนโยบายที่น่าสนใจจริงๆ คือนโยบาย Gender affirmation leave คือพนักงานสามารถลาได้สูงสุดถึง 10 วัน เพื่อจัดการธุระที่เกี่ยวกับเพศสภาพของตัวเอง อย่างเช่น ผ่าตัดแปลงเพศ หรือพบนักจิตวิทยาได้ แล้วก็อีกหลายนโยบายที่หลากหลายมาก อย่างเช่นใครจะแต่งตัวอะไรมาก็ได้ วันดีคืนดีอยากสวย จิกวิกใส่ส้นสูงมาก็ไม่มีใครว่า และอีกนโยบายที่อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่บางคนอาจนึกไม่ถึงว่าที่นี่มี คือห้องน้ำเป็น Non-binary toilet คือไม่ว่าเพศสภาพไหน ก็สามารถใช้ห้องน้ำได้เหมือนกันทุกคน มันก็เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับชาว LGBTQIA+ มันเป็นจุดเล็กๆ ที่แสดงถึงการยอมรับความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกเลยนะ
ปัจจุบันที่กระแสสังคมเริ่มเปิดกว้างเรื่อง LGBTQIA+ ทำให้แฮปปี้มากขึ้นไหม
ถึงจะดูเปิดกว้างมากขึ้น แต่จริงๆ ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ยังมีแนวคิดที่ conservative สังคมจะตีตราเราตลอด ไม่ใช่แค่กับ LGBTQIA+ เท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นกับทุกคน เราจะถูกประเมิน ถูกตั้งความคาดหวังเสมอ ดังนั้นอยากให้มองกลับกันมากกว่า ไม่ว่าจะเพศไหนหรือเป็นใคร ก็แค่ใช้ชีวิตอย่างที่เราอยากจะใช้ ใช้ชีวิตให้มีความสุข และไม่ต้องไปกดดันว่าใครจะมองเราแบบไหน แค่การกระทำของเรามันไม่ได้สร้างความเดือดร้อนหรือเบียดเบียนคนอื่น เราก็มีความอิสระมากพอที่จะมีความสุขกับชีวิตของเรา
อยากให้สังคมมองเรื่องความหลากหลายและเท่าเทียมอย่างไร
อยากให้มองว่าทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากัน มีสิทธิ์มีเสียง เป็นคนคนหนึ่งทั่วไป คือมองฉันที่เป็นฉัน ไม่ต้อง judge กันที่เพศหรือรูปร่างหน้าตา ทรีตเราให้เป็นเหมือนคนธรรมดาปกติทั่วไป ไม่ต้องทรีตว่าเราคือ LGBTQIA+ ฉันก็เป็นเพื่อนร่วมโลกของเธอ เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งเหมือนกัน ส่วนเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียม จริงๆ ทุกวันนี้สังคมเปิดและตื่นรู้ในเรื่องนี้แล้ว แต่ถ้าให้พูดลบๆ หน่อย ก็ยังมีคนที่ปากว่าตาขยิบอยู่ อาจจะเหมือนว่ายอมรับ แต่ลึกๆ แล้วยังไม่ยอมรับ ในมุมกลับกัน อยากจะให้มองกลับมาที่กลุ่ม LGBTQIA+ อย่างเราเองด้วย ที่บางทีก็รู้สึกว่ากลุ่มเราก็ push ให้สังคมยอมรับในเรื่องนี้แบบ pressure หรือกดดันมากเกินไปเหมือนกัน เพราะสังคมเราตื่นรู้แล้ว สามารถปรับการยอมรับกันได้ อาจจะประนีประนอม ปรับกันไปเรื่อยๆ จะไปสุดโต่งทางใดทางหนึ่งทันทีไม่ได้
อยากฝากอะไรถึงเพื่อนๆ ชาว LGBTQIA+ บ้าง
อยากฝากถึงสถาบันครอบครัวมากกว่า เพราะจากชีวิตส่วนตัว มีความรู้สึกว่า ถ้าเราได้เคลียร์ใจเรื่องนี้กับครอบครัวแล้วเขาโอเคแล้ว มันจะเป็นด่านแรกที่เราสามารถปลดล็อกได้ รู้สึกปลอดภัย และมีพลังไปทำอย่างอื่น พลังบวกที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้กับสังคมได้ ไม่ต้องมาคอยพะวงว่าครอบครัวหรือพ่อแม่จะคิดยังไง ส่วนสิ่งที่อยากจะฝากไว้ให้กับชาว LGBTQIA+ เหมือนฝากให้ตัวเองด้วย คือใช้ชีวิตให้มีความสุข ไม่ต้องไปตีกรอบให้กับความคิด บางครั้งอาจรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ทำสิ่งนี้ เพราะสังคมบอกเราแบบนี้ ใช้ชีวิตให้แฮปปี้ อย่าให้สังคมมาตีกรอบหรือตีตราว่าเราควรจะใช้ชีวิตแบบไหน เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด
ติดตามรายละเอียดกิจกรรมของ foodpanda ได้ที่
https://www.facebook.com/FoodpandaThailand
foodpanda.co.th
https://www.instagram.com/foodpandathailand
สามารถดาวน์โหลดแอปฯ foodpanda ได้ที่ App Store และ Google Play