นอกเหนือไปจากเบียร์ลาเกอร์ที่เราดื่มกัน รู้ไหมว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ประกอบด้วยยีสต์ ฮอป และมอลต์นั้น แท้จริงแล้วมันแตกออกได้เป็นหลายตระกูลเลยล่ะ
IPA, Double IPA, Stout, Porter, Saison และ Wheat Beer เหล่านี้คือตัวอย่างเบียร์ตระกูลอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งเกิดจากความสนุกสนานของการหยิบจับวัตถุดิบที่ให้รส กลิ่น และสัมผัสอันมีเอกลักษณ์ นำมาผสมและต้มให้เกิดความแตกต่าง ทำให้ในหลายประเทศนิยมทำ ‘คราฟต์เบียร์’ หรือต้มเบียร์ดื่มเองที่บ้าน บ้างก็นำขายเพื่อให้ชีวิตได้ดื่มด่ำกับรสชาติที่หลากหลาย นอกเหนือไปจากรสชาติที่วางขายตามตลาด
แล้วรู้กันไหมว่าที่จริงแล้ว ประเทศไทยมีนักคราฟต์เบียร์มากฝีมืออยู่เต็มไปหมดเช่นกัน เพียงแค่สปอตไลต์อาจจะยังส่องไปไม่ถึง อย่าง ‘HYENA HOWL’ เบียร์สัญชาติไทย ที่เพิ่งได้รับรางวัล Best Taste of Belgian Wheat Beer จากเวทีประกวด World Beer Awards 2020 เมื่อไม่นานมานี้ และด้วยกฎหมายไทยที่ทำให้พวกเขาต้องเข้ารับรางวัลในนามของเบียร์ประเทศเบลเยียม
The MATTER จึงได้ไปคุยกับ ดิว-พัชญ์จิฑา ศุภศิริโภคา กรรมการบริหาร และ จิ๋ว-ชลัชธร แสงประกาย ผู้จัดการฝ่ายขาย ซึ่งพวกเขาก็ได้เล่าเรื่องราวการเดินทางของ HYENA HOWL จากวันแรกที่เริ่มก่อตั้ง คิดค้นสูตร จนมาถึงจุดที่คว้ารางวัลระดับโลกมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
‘เสียงหัวเราะของไฮยีน่า’ ที่มาของวีทเบียร์สีเหลืองทองสว่าง
เรื่องราวของคนที่ริเริ่มการหมักเบียร์ มักจะไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากไปกว่าการทำด้วยใจรัก เช่นเดียวกันกับที่ดิวเล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นของ HYENA HOWL เกิดจากความชื่นชอบในการดื่มของเธอ และความคิดที่อยากจะแบ่งปันรสชาติที่น่าหลงใหลให้คนอื่นได้ลิ้มลองบ้าง
“ง่ายๆ เลยเราเป็นคนชอบดื่มค่ะ ดื่มเบียร์เป็นพื้นฐานเลย (หัวเราะ) ซึ่งเราก็ได้ลองดื่มเบียร์ไทย เบียร์นอก ดื่มไปเรื่อย จนถึงจุดหนึ่งเราก็มานั่งคิดว่า ถ้าเราชอบดื่มเบียร์ขนาดนั้น ทำไมเราไม่ลองทำเบียร์ให้คนอื่นดื่มบ้างล่ะ เราได้ดื่มเบียร์อร่อยๆ มา เราก็อยากทำเบียร์อร่อยๆ ให้คนอื่นดื่มบ้าง”
“ทีนี้เราก็มานั่งคิดว่า ถ้าอย่างงั้นเราควรจะตั้งชื่อแบรนด์ว่าอะไรดี จู่ๆ ก็คิดว่าชื่อ HYENA HOWL ดีมั้ย แปลกดี เพราะดิวมองว่าไฮยีน่าเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เวลาล่าเหยื่อก็ล่ากันเป็นกลุ่ม ที่นี้เวลาที่เราพูดถึงเบียร์ ดิวมักจะนึกถึงคำว่า Community ซึ่งมันก็คือการรวมกลุ่มคน”
“แล้วทำไมถึงต้องเป็น HOWL มันคือเสียงหอนของไฮยีน่าค่ะ ซึ่งเสียงจะคล้ายกับเสียงหัวเราะของคนเลย เป็นเสียง กิกๆๆๆ เราเลยมองว่า ในเมื่อเราสร้างกลุ่มคนขึ้นมาเป็นชุมชนได้ นั่นก็หมายความว่าเสียงหัวเราะของไฮยีน่าก็น่าจะสร้างความสุขให้กับคนเหล่านั้นได้เหมือนกัน ก็เลยเป็นที่มาของ HYENA HOWL”
ดิวกล่าวว่า เธอเริ่มออกแบบรสชาติเบียร์ในแบบที่เธอชอบร่วมกันกับพี่น้องอีก 3 คน ซึ่งจากการสังเกตตลาดคราฟต์เบียร์ในประเทศไทย เธอเห็นว่า Wheat Beer หรือเบียร์ที่มีส่วนผสมของข้าวสาลีเป็นหลัก ยังมีคนผลิตไม่มากนักเมื่อเทียบกับตระกูลอื่นๆ โดยวีทเบียร์เป็นเบียร์ที่มีสีเหลืองทองสว่าง ให้รสชาติที่นุ่มนวล เบาบาง และสดชื่น หากใครที่ไม่เคยดื่มคราฟต์เบียร์มาก่อน หรือเป็นคนที่ไม่ชอบดื่มเบียร์เป็นชีวิตจิตใจเท่าไหร่นัก อาจจะเปิดใจให้กับตัวนี้ก็ได้
“เบียร์มันก็เหมือนศิลปะ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ หนึ่ง ดิวมองว่ามันเป็นความท้าทาย จริงๆ แล้ววีทเบียร์มันทำง่ายนะ แต่ทำให้อร่อยมันยาก ดิวเจอมาค่อนข้างเยอะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ปัญหาของมันก็คือ Over-Carbonation จะทำยังไง ให้ Carbonation มีปริมาณที่ค่อนข้างพอดี รู้สึกท้าทายค่ะเลยคิดว่างั้นเอาเป็นวีทเบียร์แล้วกัน
“เบียร์มันก็เหมือนศิลปะ
เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์”
“สอง ดิวมองว่าวีทเบียร์เป็นเบียร์ที่จับคู่ได้กับอาหารหลายอย่าง โดยเฉพาะอาหารไทยที่มีรสจัดจ้าน หรือจะเป็นอาหารฝรั่งก็ยังได้เพราะมันไม่เข้าไปกลบรสชาติ”
“สาม ดิวมองว่าวีทเบียร์ดื่มได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง สามารถเป็นตัวเริ่มต้นก่อนที่คุณจะไปเบียร์ตัวแรงๆ”
เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะสรรค์สร้างเบียร์ตระกูลไหนให้กับแก๊งไฮยีน่า ดิวและพี่ชายก็ได้ค้นคว้าหาข้อมูลตามประสานักต้มเบียร์มือใหม่ เพราะเธอมองว่าการไปจ้างคนมาบริหารจัดการให้โดยไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับเบียร์เลยก็คงจะไม่ดีนัก เธอจึงสั่งหนังสือวิธีทำคราฟต์เบียร์จาก Amazon มาศึกษาเพิ่มเติม ทดลองต้มเบียร์ และลองผิดลองถูกกับมันอยู่สักพัก
และเมื่อได้สูตรเบียร์ตามที่ต้องการ ดิวก็ได้เลือกโรงเบียร์ในประเทศเบลเยียมเป็นฐานผลิต โดยเธอบอกกับเราว่า จริงๆ โรงผลิตเบียร์ในประเทศเพื่อนบ้านมีเยอะมาก ทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม ไต้หวัน แต่ที่เธอเลือกไปผลิตที่เบลเยียมนั้น เพราะเธอรู้สึกว่ารสชาติที่ได้กลับมาในแต่ละรอบมีความคงที่ และถ้าพูดถึงเบียร์สายวีท ทางยุโรปน่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด
“จริงๆ มันก็แพงนะ ต้นทุนสูงด้วย แต่คุณภาพที่ได้กลับมามันดี เราก็อยากให้คนดื่มได้ดื่มอะไรที่มันดีๆ ไปเลยดีกว่า ยีสต์ ฮอป มอลต์ ทั้งหมดเป็นของเบลเยียมหมดเลยค่ะ แต่ถ้าวันหนึ่งไทยสามารถเป็นฐานผลิตเองได้ ดิวมองว่ามันไม่ใช่แค่ยีสต์ ฮอป มอลต์แล้ว แต่เราอาจจะได้เห็นเบียร์มะม่วง เบียร์ทุเรียน ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากบ้านเราเอง”
“ถ้าประเทศไทยเปิดให้มีการคราฟต์เบียร์ได้อย่างเสรี
คนจะมาแข่งกันเยอะมาก
มันน่าสนุก แล้วมันก็ช่วยพัฒนาคนได้ด้วย”
ไม่เพียงแค่สานฝัน แต่ยังคว้ารางวัลระดับโลก
ภายในปี ค.ศ.2020 นี้ แม้จะมีเหตุการณ์ให้ใจแป้วมากมาย แต่ข่าวดีก็เกิดขึ้นในวงการคราฟต์เบียร์ เนื่องจากมีหลายแบรนด์ส่งตัวเองเข้าประกวดใน World Beer Awards และได้รับชัยชนะกลับมา สร้างขวัญกำลังใจให้กับบรูวเวอร์คนอื่นๆ ให้มีแรงที่จะทำตามความฝันต่อ โดย HYENA HOWL ก็เป็นอีกความน่ายินดีของวงการคราฟต์เบียร์ไทย
จิ๋วอธิบายเกี่ยวกับงานประกวดครั้งนี้ให้เราฟังว่า World Beer Award 2020 ถ้าเปรียบกับวงการภาพยนตร์ มันก็คืองานประกาศรางวัลออสการ์ที่มีหลายสาขา และเป็นรางวัลสูงสุดของคนทำคราฟต์เบียร์ก็ว่าได้ โดยเบียร์ที่เข้าประกวดในครั้งนี้ มีจำนวนหลายพันแบรนด์จากทั่วโลกที่เป็นตระกูลวีทสายเบลเยียม แต่สุดท้าย HYENA HOWL ก็ได้รับรางวัล Bronze Winner มาได้ แม้จะเข้าสู่วงการคราฟต์เบียร์ได้ไม่ถึง 2 ปีก็ตาม
“คือเริ่มต้นเลย ตอนที่เราส่งเบียร์เข้าไป จะมีให้ประกวด 2 แบบคือ ดีไซน์กับรสชาติ แต่เราไม่ได้ส่งในส่วนของดีไซน์ เราส่งประกวดแค่รสชาติอย่างเดียว ซึ่งการชิมในเบื้องต้นก็คือการทำ Blind Taste หรือเสิร์ฟเบียร์โดยที่คุณไม่รู้ว่าเป็นเบียร์ยี่ห้ออะไร แล้วก็ประเมินให้คะแนนหลักๆ ก็เรื่องของรสชาติกลิ่นและ Appearance ของเบียร์” ดิวเล่า
‘Brew The Great’ คือประโยคที่จิ๋วบอกกับเรา นอกจากจะเป็นสโลแกนของแก๊งไฮยีน่าแล้ว ก็ยังเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า อะไรที่ทำให้ HYENA HOWL คว้ารางวัลนี้มาได้
“ทุกอย่างเราต้อง Brew The Great ให้หมด มันเหมือนเป็นสโลแกนของเรา ให้เราทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของรสชาติ เซอร์วิส หรือการเลือกใช้วัตถุดิบ” จิ๋วกล่าว และดิวก็เสริมอีกว่า ในเรื่องของกลิ่นเองก็ถือเป็นจุดแข็งของ HYENA HOWL ที่ทำให้ชนะรางวัลนี้มา ด้วยความหอมที่สดชื่นจากสมุนไพรและผลไม้ รวมไปถึงบอดี้ของเบียร์ ที่ไม่จางและไม่หนาจนเกินไป
“วีทเบียร์ของเราจะมีบอดี้หนากว่าวีทเบียร์ปกติ และด้วยส่วนผสมที่เราใส่เข้าไป มันเลยทำให้มีกลิ่นพิเศษ มีหลายคนบอกว่ามันมีอยู่กลิ่นหนึ่งที่เขาไม่รู้ว่ามันคือกลิ่นอะไร ซึ่งนั่นก็คือ…ความลับค่ะ (หัวเราะ) ดิวคิดว่ามันอาจจะเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ของเราคว้ารางวัลมาได้”
อนาคตคราฟต์เบียร์ไทย ที่ต้องอาศัยกฎหมายเกื้อหนุน
แต่นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เมื่อได้รู้ว่า HYENA HOWL ได้รับรางวัลในฐานะ ‘เบียร์จากเบลเยียม’ ไม่ใช่เบียร์จากประเทศไทย ด้วยกติกาการแข่งขันที่ระบุว่า แหล่งผลิตอยู่ที่ไหนต้องส่งเข้าประกวดในนามที่นั่น และด้วยกฎหมายไทยที่การจำหน่ายคราฟต์เบียร์ที่มียอดผลิตไม่ถึงที่กำหนดยังถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่
“เราส่งไปในนามเบลเยียม เพราะที่ขวดมันเขียนว่าผลิตที่เบลเยียม ถามว่ารู้สึกยังไง มันก็ต้องมีบ้างแหละที่รู้สึกว่าทำไมไม่เป็นชื่อเรา มันควรจะเป็นชื่อเรา แต่ด้วยกฎหมายที่เป็นแบบนี้ มันก็ยังต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ แต่อีกอย่างหนึ่งก็คือเรารู้อยู่แก่ใจอยู่แล้ว ว่ามันเป็นสูตรของเรา ความภาคภูมิใจของเรา” ดิวเผย
และนอกจากมีการกำหนดขั้นต่ำการผลิต กฎหมายยังไม่เอื้อต่อการโฆษณา และการจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์อีกด้วย เราจึงอยากรู้ว่า HYENA HOWL ต่อสู้กับปัญหานี้อย่างไร
จิ๋ว ในฐานะผู้จัดการฝ่ายขาย จึงได้เล่าถึงปัญหาที่เกิดจากข้อกำหนดของกฎหมายต่อการทำการตลาดแบรนด์ให้ฟังว่า ด้วยพ.ร.บ.ห้ามโฆษณาแอลกอฮอล์ ทำให้ HYENA HOWL รวมถึงคราฟต์เบียร์แบรนด์อื่นๆ ไม่สามารถทำการตลาดแบบฮาร์ดเซลได้ขนาดนั้น ทำให้อาจจะต้องบิดการตลาดบนสื่อออนไลน์ ไปในเชิงของไลฟ์สไตล์ หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแทน
“มันคือสิ่งที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกๆ เจ้าต้องเจอครับ เราเลยจะเน้นทำการตลาดแบบออฟไลน์ ตามผับ บาร์ ร้านอาหาร และพยายามที่จะเลือกกลุ่มลูกค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเรา ซึ่งลูกค้าเราก็น่ารัก มีการบอกต่อกันไปเรื่อยๆ ถ้าอะไรที่เขาคิดว่ามันดีเขาก็จะบอกต่อกันอยู่แล้ว
ในเรื่องของการขยายการตลาด เบื้องต้นเราจะเจาะไปที่กัมพูชาก่อน เพราะประเทศเขาบริโภคเบียร์กันมากกว่าเรา จากนั้นก็อาจจะไปที่เวียดนาม และมาเลเซีย ส่วนทางฝั่งยุโรป เราก็กำลังคุยกับโรงผลิตเบียร์อยู่ว่าจะสามารถขยายตลาดไปที่ไหนได้บ้าง ซึ่งในเบลเยียมตอนนี้ก็พอมีแล้ว ย้อนกลับมาที่ไทย เราก็พยายามจะนำเบียร์ของเราไปวางไว้ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศเหมือนกัน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหลักๆ ของภูมิภาคต่างๆ เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา สุราษฎ์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ โดยจะนำไปจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Villa Market, Tops Supermarket และ Gourmet
เราเชื่อว่ามันน่าจะสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกค้าได้มากขึ้น และการที่เราเข้าตลาดเหล่านี้ได้ หมายความว่าเราจะต้องมีดีสักอย่างหนึ่ง เขาถึงได้ให้พื้นที่กับเรา และเราจะบอกกับตัวแทนขายของเราเสมอว่าให้ขายด้วยความจริงใจ เพราะเราเน้นให้เกิดการซื้อซ้ำมากกว่าการขายครั้งเดียว ถ้าไม่มีความจริงใจ หรือไม่ใช่ตลาดที่แท้จริง สุดท้ายเราก็จะขายไม่ได้”
เมื่อถามทั้งสองว่า ถ้าสุดท้ายกฎหมายเปิดเสรีเรื่องการคราฟต์เบียร์ วงการนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน และมีความสนุกอย่างไรบ้าง จิ๋วบอกกับเราว่า ถ้ากฎหมายเปิดเสรีมันคงสนุกมาก เพราะต้องยอมรับเลยว่าบรูวเวอร์ในเมืองไทยมีคนเก่งๆ อยู่มากมาย เพียงแต่ว่าพวกเขาถูกปิดกั้นด้วยกฎหมาย
“สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ ถ้าเรามีความฝัน เราสู้เพื่อมันเถอะ ทำในสิ่งที่เราทำได้ครับ แล้ววันหนึ่งก็คงมีโอกาสได้โชว์ความสามารถของเรา เพราะอย่างที่บอก คราฟต์เบียร์มันเป็นเรื่องของศิลปะ ถ้าคุณมีความฝันที่จะทำให้ดี ก็ทำออกมาให้ดีที่สุดนะครับ อยากฝากบรูวเวอร์ทุกคนให้เต็มที่กับมัน ยังไงเราก็เป็นเพื่อนกันทั้งหมดอยู่ดี”
และดิวก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “การเติบโตของคราฟต์เบียร์ตอนนี้มันอยู่แค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ดิวหวังว่าในอนาคตเปอร์เซ็นต์จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมันอาจจะไม่เพิ่มมาในทีเดียวหรอก แต่ถ้าวันนี้เราทุกคนเกาะกลุ่มกันไว้ แล้วพยายามสร้างฐานของบรูวเวอร์ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ให้กำลังใจกัน ดิวมองว่ามันจะเป็นไปได้ในอนาคตแน่นอน”
“และคนดื่มคงได้รู้จักเบียร์ทางเลือกมากขึ้น เข้าถึงคราฟต์เบียร์ได้มากขึ้น สำหรับใครที่อยากเปิดใจให้กับคราฟต์เบียร์ ขอแค่คุณเปิดโอกาสให้กับตัวเอง เอาตัวคุณเข้าไปนั่งในร้านคราฟต์เบียร์ พูดคุยกับเจ้าของ กับคนรอบข้างคุณก็จะรู้จักคราฟต์ดีๆ อีกมากมาย”
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.hyenahowl.com
Facebook : https://www.facebook.com/Hyenahowlbeer